เอาใจช่วย….ทีวีสาธารณะ

บุญเลิศ ช้างใหญ่
หนังสือพิมพ์มติชนนับแต่ทีไอทีวีไม่ได้ออกอากาศตั้งแต่วันที่ 15 มกราคมเป็นต้นมา มีความรู้สึกว่า สิทธิที่จะได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนที่เคยพอจะได้บ้างจากสถานีโทรทัศน์ต้องสูญเสียไป เพราะปกติก็ได้อาศัยทีไอทีวีนี่แหละในการดูข่าวเป็นหลัก ทั้งข่าวเช้า ข่าวเที่ยง ข่าว 1 ทุ่ม ข่าว 3 ทุ่ม 10 นาที (ฮ็อต นิวส์)

แม้ข่าวสารที่ได้รับรู้จะไม่ได้ดังใจ แต่ก็ถือว่ายังพอกล้อมแกล้มไปได้ ดีกว่าอีกหลายๆ ช่องที่ไม่ให้ความสำคัญกับการเสนอข่าว

เมื่อพระราชบัญญัติองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ.2551 กำหนดให้มีทีวีสาธารณะ ชื่อว่าทีพีบีเอสโดยใช้คลื่นระบบยูเอชเอฟที่ยึดคืนมาจากไอทีวี คณะรัฐมนตรี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายชั่วคราว 5 คน มาดำเนินงานไปพลางก่อน ให้นายเทพชัย หย่อง เป็นรักษาการผู้อำนวยการซึ่งประกาศว่าตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์นี้จะมีรายการต่างๆ รวมทั้งข่าวให้ดูตั้งแต่ 6 โมงเย็นไปจนถึง 6 ทุ่ม ก็นั่งนับวันรอเมื่อไรจะถึงวันนั้น

ในระหว่างที่รอดูข่าวและรายการต่างๆ ของทีวีสาธารณะพีบีเอสซึ่งเหลืออีกเวลาอีกเพียง 7-8 วันนั้นก็ได้แต่หวังว่าข่าวของทีวีสาธารณะช่องใหม่นี้จะสร้างความตื่นตา ตื่นใจให้กับผู้ชมที่จะได้เห็นสาระแปลกๆ ใหม่ๆ

ทีวีสาธารณะต้องมีความเป็นอิสระ มีเสรีภาพ มีเงินที่ใช้ในการดำเนินงานอย่างน้อยปีละไม่เกิน 2 พันล้านบาท ไม่ต้องตกอยู่ภายใต้เงินทุนของโฆษณาและอำนาจรัฐ ซึ่งเขียนไว้ชัดเจนในพระราชบัญญัติ ข่าวและรายการต่างๆ จึงควรจะทำให้สิ่งที่ผู้คนคาดหวังได้ปรากฏเป็นจริง

ด้วยความสามารถและความตั้งใจของคณะกรรมการนโยบายชั่วคราว 5 คน ที่มี นายขวัญสรวง อติโพธิ เป็นประธานและนายเทพชัย หย่อง เป็นรักษาการผู้อำนวยการ จะต้องทำงานอย่างทุ่มเท ฝ่าฟันอุปสรรคทั้งปวง พยายามวางรากฐานเหมือนกับการตอกเสาเข็มเวลาสร้างบ้านใหม่ให้แข็งแกร่ง พร้อมกับฉีดยากำจัดปลวกเพื่อให้บ้านมีความมั่นคง ไม่พังครืนเพราะถูกแรงลมพัดมากระ แทก หรือใครมาโค่น หรือแม้แต่ปลวกจะมาเจาะมาไช

การรับพนักงานมาทำงานในทีวีสาธารณะเป็นเรื่องหนึ่งที่มีความสำคัญ ผู้มีหน้าที่ในการคัดเลือกนอกจากต้องเลือก ต้องเฟ้นคนเก่ง แล้ว ยังต้องดูว่าคนนั้นมีจิตใจและวิญญาณของการทำงานเป็นทีวีสาธารณะด้วย ไม่ใช่เอาคนประเภทตัดไม่ขาดกับการเป็นสื่อของนายทุน หรือนักการเมือง ยังต้องการกลับไปเป็นทีวีเชิงพาณิชย์เข้ามาทำงาน หรือเอาคนที่คิดแต่จะคอยหักโค่นผู้บริหารทีวีสาธารณะ สู้กับกรมประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และคอยกำจัด ขัดขวางพนักงานด้วยกันที่มีความเห็นแตกต่างกันในวิธีทำงานเหมือนกับเคยเกิดขึ้นมาแล้วในไอทีวียุคเริ่มแรก กรณี “23 กบฏไอทีวี” ให้มาอยู่ร่วมในองค์การใหม่จะด้วยเหตุผลใดก็ตาม เพราะนอกจากจะทำให้ผู้ชมไม่ได้รับสารประโยชน์อย่างเต็มที่ ยังจะทำให้เกิดความขัดแย้งในองค์การจนอาจนำไปสู่ความปั่นป่วนวุ่นวาย ถูกนักการเมือง (รัฐบาลพรรคพลังประชาชน) เข้ามาแทรก แย่งยึดเอาทีวีสาธารณะไปเป็นทีวีของพ่อค้า-นักการเมือง

คณะกรรมการนโยบายชั่วคราวที่เข้ามาลงหลักปักฐานในห้วงเวลาสั้นไม่เกิน 6 เดือน ระหว่างนี้กำลังปรับปรุงองค์การ วางโครงสร้าง การรับพนักงานใหม่จะต้องมีความรอบคอบและมีเหตุมีผล มีความชอบธรรมและสื่อสารกับประชาชนว่ากำลังทำอะไรและจะเกิดอะไรขึ้นในโอกาสต่อไป

โดยเฉพาะการพิจารณารับพนักงาน มีความละเอียดอ่อน ผู้รับผิดชอบในเรื่องนี้จะเลือกคนผิดไม่ได้เด็ดขาด เพราะจะสร้างปัญหาให้กับคณะกรรมการนโยบายชุดถาวร และคณะกรรมการบริหารที่มีผู้อำนวยการเป็นประธานที่จะเข้ามาปฏิบัติงานหลังจากนั้นอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

ระหว่างคนเก่ง คนมีประสบการณ์แต่ใจไม่อยู่กับทีวีสาธารณะ กับ คนไม่มีประสบการณ์และยังไม่เก่งแต่พร้อมเทใจให้กับการเรียนรู้ในการเป็นทีวีสาธารณะ จะเลือกเอาแบบไหน และจะแยกแยะได้ถูกไหมว่าคนไหนเป็นอย่างไร

การทดลองงาน 3 เดือน เป็นเงื่อนไขหนึ่งที่จะพิสูจน์คน แต่กระนั้นก็ยังต้องระมัดระวัง เพราะ 3 เดือนอาจสั้นเกินไปในการรู้จักคนให้ถึงแก่นแท้

น่าเสียดายที่ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากทีไอทีวีมาเป็นทีวีสาธารณะซึ่งมีเวลาอยู่หลายเดือน พนักงานฝ่ายข่าวของทีไอทีวีไม่ได้ทำหน้าที่นำเสนอข้อมูล ข่าวสารเพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจว่าทีวีสาธารณะเป็นอย่างไรและไม่ได้แสดงฝีมือให้เห็นว่านี่คือ

ตัวอย่างของข่าวสารที่ทีมข่าวของทีไอทีวีต้องการจะฝากเอาไว้เพื่อให้สาธารณชนและผู้บริหารของทีวีสาธารณะเกิดความมั่นใจว่า หากรับพนักงานทีไอทีวีเข้ามาทำงานแล้วจะสามารถนำพาทีวีสาธารณะไปสู่ความยอมรับของผู้ชมทั้งประเทศได้ แม้ว่าจะเห็นใจพนักงานทีไอทีวีที่อาจมีส่วนหนึ่งไม่ได้เข้าทำงานในทีวีสาธารณะ แต่เมื่อเทียบกับทีวีสาธารณะต้องอยู่ได้และทำหน้าที่เพื่อยังประโยชน์ต่อสาธารณะได้อย่างแท้จริง ประการหลังสำคัญกว่า

ยิ่งในภาวการณ์ที่การเมืองเปลี่ยนขั้ว ล่อแหลมที่จะมีการเช็คบิล แก้แค้นกันตามนิสัยของนักการเมืองที่ไม่เคยมองอะไรไกลไปกว่าปลายจมูกตัวเอง เห็นแต่ประโยชน์ของตัวเองและพวกพ้องต้องมาก่อนคนอื่น มีอำนาจก็ใช้อย่างมัวเมา การทำงานของทีวีสาธารณะจึงไม่ใช่เรื่องเล่นๆ และไม่ใช่เรื่องง่ายๆ

เพราะแม้จะนำเสนอรายการข่าวสารและอื่นๆ ดีอย่างไร มีความเป็นกลางและเป็นอิสระแค่ไหน ก็ไม่แคล้วถูกนักการเมืองนิสัยพาลคอยหาเรื่องและแว้งกัดเอาจนได้ คนพวกนี้ไม่ต่างไปจากพวกผีเปรตที่กลัวแสงสว่าง กลัวคนฉลาดจะรู้เท่าทัน จึงพยายามจะคอยหาเรื่องเพื่อกำจัดไม่ให้ทีวีสาธารณะได้ก่อกำเนิดขึ้น

การเกิดทีวีสาธารณะในวันที่ 15 มกราคม 2551 เป็นผลมาจากความล้มเหลวของไอทีวี ซึ่งใช้เวลานานถึง 11-12 ปี (2538-2550 ) ถึงได้รู้ว่าไม่ได้เป็นทีวีเสรีตามที่กล่าวอ้าง แท้ที่จริงคือการเอาคลื่นความถี่ระบบยูเอชเอฟไป เพื่อเป็นกระบอกเสียงของนักการเมืองและพ่อค้านักธุรกิจนั่นเอง ประชาชนไม่ได้รับสารประโยชน์เท่าที่ควร นับเป็นการสูญเสียโอกาสของประเทศและประชาชนอย่างน่าเสียดาย

ในรอบ 11-12 ปีที่ผ่านมา ได้เกิดวิกฤตระบอบทักษิณ เกิดการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และปัจจุบัน ระบอบทักษิณกำลังจะฟื้นคืนชีพเมื่อพรรคพลังประชาชนซึ่งเป็นนอมินีพรรคไทยรักไทยได้เป็นรัฐบาล ไม่ว่ารัฐบาล “สมัคร 1” จะเป็นอย่างไร จะไปรอดหรือจะล่มเสียก่อน แต่ทีวีสาธารณะต้องอยู่ให้รอด

สาธารณชนต้องช่วยกันปกป้อง คุ้มครองทีพีบีเอสไม่ให้ใครมาทำลายล้าง เพราะตราบใดที่ประเทศมีแต่ทีวีเชิงพาณิชย์ก็อย่าหวังเลยว่าความจริง ความชอบธรรม ความดีงามทั้งหลายจะถูกตีแผ่ให้สังคมได้รับรู้

ที่มา มติชน วันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 10911 หน้า 6

แท็ก คำค้นหา