เล่าเรื่องทีวีสาธารณะ

นวลน้อย ตรีรัตน์
หนังสือพิมพ์มติชน

 

มีการถกเถียงเรื่องทีวีสาธารณะกันมาก ทั้งในเรื่อง มีทำไม ใช้เงินภาษีจำนวนมากแล้วจะเป็นประโยชน์จริงหรือ ทีวีสาธารณะเป็นอย่างไร ต่างจากช่อง 11 หรือไม่ จะป้องกันการแทรกแซงจากผู้มีอำนาจได้จริงหรือ คุณภาพรายการจะดีหรือไม่ และอีกมากมาย บ้างก็สนับสนุน บ้างก็คัดค้าน บ้างก็เป็นคำถาม ผู้เขียนรู้สึกเป็นเรื่องดีที่จะมีการถกเถียงและเสนอแนะต่างๆ เพราะทีวีสาธารณะเป็นเรื่องใหม่ของสังคมไทย จึงได้รวบรวมบางประเด็นที่มีผู้เขียน หรือค้นคว้าเอาไว้ จากต่างประเทศและในประเทศบางส่วนมานำเสนอ แลกเปลี่ยน

1.บทบาทของสื่อสาธารณะเป็นอย่างไร

จากหนังสือ คู่มือแนวทางการปฏิบัติที่ดีของบริการกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะ ขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือที่เราเรียกสั้นๆ ว่า UNESCO ได้กล่าวถึงบทบาทและความจำเป็นของสื่อสาธารณะเอาไว้ดังนี้

“สื่อสาธารณะมีบทบาทสำคัญยิ่งในการสร้างโอกาสเข้าถึงและสร้างการมีส่วนร่วมในพื้นที่สาธารณะของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนา สื่อสาธารณะเป็นเครื่องมือในการให้การศึกษาและวัฒนธรรม พัฒนาความรู้ และเป็นเวทีสร้างปฏิสัมพันธ์ในหมู่พลเมือง ด้วยเหตุที่ประชากรโลกส่วนใหญ่ของโลกอาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบท และมีระดับการศึกษาต่ำ ที่ผ่านมา สื่อวิทยุและโทรทัศน์จึงเป็นสื่อที่เข้าถึงประชาชนในวงกว้างมากที่สุด”

ทั้งนี้ สื่อสาธารณะที่ประสบความสำเร็จในประเทศต่างๆ แม้จะมีเป้าหมายที่เหมือนกัน แต่จะต้องมีลักษณะและรูปแบบการบริหารจัดการที่เป็นไปได้จริงแตกต่างกันไป ตามสภาพการเมือง เทคโนโลยี และเศรษฐกิจ

ซึ่งแตกต่างกันในแต่ละประเทศ

2.คุณสมบัติที่จำเป็นของสื่อสาธารณะ ควรเป็นอย่างไร

จากหนังสือดังกล่าวข้างต้น ยังได้มีการกล่าวถึงคุณสมบัติที่จะต้องสร้างให้เกิดในสื่อสาธารณะ ประกอบด้วยลักษณะ 4 ประการ คือ

– ความทั่วถึง ต้องสามารถเข้าถึงพลเมืองทุกคนของประเทศ ซึ่งเป็นเป้าหมายด้านความเสมอภาคและความเป็นประชาธิปไตย

– ความหลากหลาย ต้องมีความหลากหลายอย่างน้อยที่สุด 3 ด้าน คือ ประเภทของรายการที่นำเสนอ กลุ่มเป้าหมาย และประเด็นถกเถียง

– ความเป็นอิสระ ต้องเป็นเวทีกลางสำหรับการแสดงความคิดที่เป็นอิสระ เป็นเวทีเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ความคิดเห็นและข้อวิจารณ์

– ความแตกต่างเฉพาะตัว เนื้อหาของสื่อสาธารณะต้องแตกต่างจากเนื้อหาของสื่ออื่น ผู้ชมต้องสามารถแยกแยะความแตกต่างในเชิงคุณภาพและคุณลักษณะเฉพาะของรายการสื่อสาธารณะได้

จากการศึกษาบทเรียนความสำเร็จของสื่อสาธารณะในประเทศอังกฤษ พบว่าความสำคัญประการหนึ่งก็คือ การให้มีการผลิตรายการที่ผสมผสานระหว่างการผลิตภายในสถานีเอง และผู้ผลิตอิสระภายนอก ซึ่งจะช่วยเพิ่มความหลากหลายให้เนื้อหาและทิศทางของรายการรวมทั้งช่วยสร้างบรรยากาศการแข่งขันในตลาดสื่อสาธารณะ

3.หลักเกณฑ์ในการประเมินผล

สื่อสาธารณะโดยทั่วไปจะใช้เงินจากสาธารณชน ไม่ว่าจะมาในรูปแบบของเงินภาษี เงินอุดหนุน เงินบริจาค หรือค่าธรรมเนียมสมาชิก องค์กรระหว่างประเทศหลายแห่งจึงได้มีการพัฒนาหลักเกณฑ์ มาตรฐานต่างๆ เพื่อตรวจสอบระดับความเป็นสื่อสาธารณะ ประเด็นการตรวจสอบประกอบด้วย

– ความพึงพอใจของผู้ชมและผู้ฟัง

– คุณภาพและความถูกต้องของข้อมูลข่าวสาร

– คุณภาพและความหลากหลายของรายการ

– นวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์

– ความเป็นอิสระและความโปร่งใสในการบริหารจัดการ

– การส่งเสริมและเคารพหลักจริยธรรมในการประกอบวิชาชีพ

– ความเป็นตัวแทนของชนกลุ่มน้อยในชาติ

– การเข้าถึงประชาชนอย่างทั่วถึง

– ความสนใจประโยชน์สาธารณะ

4.ความคาดหวังต่อทีวีสาธารณะในประเทศไทย

คุณสมชัย สุวรรณบรรณ อดีตเจ้าหน้าที่ของบีบีซีภาคบริการโลกที่ลอนดอน ให้ข้อคิดไว้ว่า

“สื่อสาธารณะที่ดีจะต้องมุ่งรับใช้ผู้ชมผู้ฟัง โดยไม่มองพวกเขาว่าเป็นลูกค้าหรือผู้บริโภค แต่มองว่าเป็นสมาชิกของสังคมที่ควรได้รับบริการที่มีคุณภาพ บริการดังกล่าวมีอยู่สามอย่างเป็นหลักใหญ่ๆ คือ หนึ่งให้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องแท้จริงและเป็นธรรม สองให้ความรู้การศึกษา และสามให้สาระบันเทิงที่มีคุณภาพและมีรสนิยม (taste and decency)”

ขณะเดียวกันโครงการศึกษาและเฝ้าระวังสื่อเพื่อสุขภาวะของสังคม (Media Monitor) ซึ่งทำการศึกษาเกี่ยวกับรายการโทรทัศน์ที่มีเนื้อหาเพื่อประโยชน์สาธารณะในประเทศไทย ได้ให้ความเห็นในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ “คุณค่าเนื้อหา” เพื่อประโยชน์สาธารณะไว้ว่าควรประกอบด้วยคุณค่าใน 5 ประการ คือ

– คุณค่าด้านประชาธิปไตย หมายถึงเนื้อหารายการที่สนับสนุนและส่งเสริม แนวคิดประชาธิปไตย การมีส่วนร่วมในวิถีประชาธิปไตย หรือประเด็นสาธารณะ

– คุณค่าด้านวัฒนธรรมที่สร้างสรรค์ หมายถึงเนื้อหารายการที่สนับสนุนและส่งเสริม แนวคิด วิถี ผลผลิตทางวัฒนธรรมที่ดีงามและสร้างสรรค์ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ ทั้งในระดับชาติ ท้องถิ่น และนานาชาติ แสดงถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมของชนกลุ่มน้อย ทั้งทางศาสนา ชนชั้น เพศ และกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ

– คุณค่าด้านการศึกษา หมายถึงเนื้อหารายการที่สนับสนุนและส่งเสริม การพัฒนาทักษะ ปัญญา ด้วยข้อมูล ความรู้ ที่มีคุณค่า เพิ่มพูนความรู้ ประสบการณ์ นำไปใช้ประโยชน์ในการดำเนินชีวิต โดยมีทั้งสาระและความบันเทิง

– คุณค่าด้านสังคมและชุมชน หมายถึงเนื้อหารายการที่สนับสนุนและส่งเสริม ความสมานฉันท์ ความสามัคคี ความแตกต่าง หลากหลาย ทางความคิด ความเชื่อ เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ การยอมรับซึ่งกันและกัน

– คุณค่าด้านสังคมโลก มีเนื้อหาสนับสนุนข้อมูลในระดับนานาชาติ ทั้งด้านข้อมูล ข่าวสาร ความรู้ ความเข้าใจในเรื่องราวต่างๆ ทั้งสาระและบันเทิงจากต่างประเทศทั้งในแง่การเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ที่ถูกต้องตามความเป็นจริง

ท่านอาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ได้เขียนบทกวีเกี่ยวกับทีวีสาธารณะในประเทศไทย ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 20 มกราคม พ.ศ.2551 ขออนุญาตนำบางส่วนของบทกวีของอาจารย์มาเสนอไว้ในที่นี้ด้วย

จงเป็นสื่อสาธารณะกล้า

ถือประโยชน์ของประชาเป็นที่ตั้ง

เอาความเห็นของประชาเป็นพลัง

จงจริงจังจริงใจด้วยใจจริง

จงคืนจอคืนใจให้ประชา

อย่าเป็นจอพ่อค้าผีบ้าสิง

ห้ามอำนาจรัฐล่วงเข้าช่วงชิง

อย่าทอดทิ้งคนไทยให้หลงทาง

คงมีอีกหลากหลายความคิดเห็น และเป็นเรื่องดี ที่จะเข้ามาเสนอความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ติดตาม ตรวจสอบ ว่าทีวีสาธารณะบ้านเราสามารถทำได้ดีจริงหรือไม่ สามารถตอบสนองกับเป้าหมายที่ตั้งไว้หรือไม่

ที่มา มติชน วันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 10910 หน้า 6

แท็ก คำค้นหา