ไทยพีบีเอส ทีวีสาธารณะไทย ทางเลือกใหม่ที่ท้าทาย

โดย อภิชาติ ดำดี อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ 2550

 

ในฐานะที่ผู้เขียนเคยคลุกคลีอยู่ในวงการโทรทัศน์ไทยมากกว่าสองทศวรรษ และเคยทำหน้าที่สมาชิกร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ.2550 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมาตราที่เกี่ยวข้องกับสื่อมวลชนและคลื่นความถี่ ได้ติดตามการเกิดขึ้นของทีวีสาธารณะไทยหรือที่เรียกย่อๆ ว่าไทยพีบีเอสด้วยความสนใจอย่างยิ่ง

และมีความคาดหวังว่าไทยพีบีเอสน่าจะเป็นอีกตัวแบบหนึ่งของการดำเนินการสื่อมวลชนสาธารณะที่มีบทบัญญัติไว้ในมาตรา 47 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

สิ่งแรกที่น่าจะทำความเข้าใจก็คือ การเกิดขึ้นของไทยพีบีเอสพร้อมๆ กับการยุติลงของทีไอทีวีเป็นการปิดกั้นเสรีภาพของสื่อมวลชนใช่หรือไม่?

ปรากฏการณ์ของการที่กรมประชาสัมพันธ์ได้มีคำสั่งให้สถานีโทรทัศน์ทีไอทีวียุติการแพร่ภาพภายใน 24.00 น. ของคืนวันที่ 14 มกราคมที่ผ่านมานั้น ถ้าดูโดยผิวเผินก็เหมือนกับว่ารัฐสั่งปิดสถานีโทรทัศน์ ไม่ให้ออกอากาศคล้ายๆ กับบรรยากาศยุคเผด็จการในอดีตที่มีการล่ามโซ่แท่นพิมพ์เพื่อปิดหนังสือพิมพ์ แลดูเหมือนเป็นการปิดกั้นเสรีภาพในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารของสื่อมวลชน

แต่แท้ที่จริงแล้วปรากฏการณ์ดังกล่าว ไม่ใช่เป็นการปิดสถานีโทรทัศน์เพื่อปิดกั้นการนำเสนอข้อมูลข่าวสารของสื่อมวลชนแต่อย่างใด

หากแต่เป็นการเปลี่ยนจากสถานีโทรทัศน์ที่บริหารจัดการ โดยองค์กรภาคเอกชนที่มีเป้าหมายแสวงหากำไร (Private Profit) คือ ทีไอทีวีเดิม ไปเป็นสถานีโทรทัศน์ที่บริหารจัดการโดยองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร (Non-Profit Organization) ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อประโยชน์สาธารณะ (Public Benefit) ในนามของไทยพีบีเอส

ความเป็นสถานีโทรทัศน์และคลื่นความถี่เดิมยังคงดำรงอยู่ การนำเสนอข้อมูลข่าวสารต่างๆ ยังสามารถผ่านช่องทางสื่อนี้ได้อยู่ เพียงแต่เป็นการดำเนินงานที่อยู่ภายใต้การบริหารจัดการขององค์กรใหม่ที่มีชื่อว่า “องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย” (ส.ส.ท.) ซึ่งมีความชอบธรรมตามกฎหมาย โดยมีพระราชบัญญัติองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ.2551 ออกมารองรับการดำเนินการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว

ในความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน จึงเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้เป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงองค์กรในการบริหารจัดการสถานีโทรทัศน์ จากรูปแบบขององค์กรที่แสวงหากำไรไปสู่องค์กรที่ไม่แสวงหากำไร แต่ไม่อาจตีขลุมไปว่าเป็นการปิดกั้นเสรีภาพในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารของสื่อมวลชนแต่อย่างใด

ประเด็นต่อมาที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ ภายใต้คลื่นความถี่เดิมของทีไอทีวี ไทยพีบีเอสจะดำเนินการให้คลื่นความถี่นี้เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะได้จริงหรือ?

ต้องขอขยายความก่อนว่า ในเรื่องคลื่นความถี่นั้น รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2550 ยังคงรักษาสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2540 ไว้อย่างครบถ้วนในมาตรา 47 กล่าวคือ คลื่นความถี่ทั้งวิทยุ โทรทัศน์ โทรคมนาคม ล้วนเป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติที่ต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ

ให้มีองค์กรทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่เหล่านี้ ซึ่งฉบับ 2540 ให้แยกเป็น 2 องค์กรคือ คลื่นวิทยุโทรทัศน์ดูแลโดย ก.ส.ช. กับคลื่นโทรคมนาคมดูแลโดย ก.ท.ช. แต่ฉบับ 2550 ให้รวมเป็นองค์กรเดียว เพราะเห็นว่าเทคโนโลยีปัจจุบันสามารถใช้ร่วมกันทั้งกระจายเสียง แพร่ภาพ และโทรคมนาคม

การจัดสรรคลื่นความถี่ทั้งหมดต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชนในระดับชาติและระดับท้องถิ่น ทั้งในด้านการศึกษา วัฒนธรรม ความมั่นคงของรัฐประโยชน์สาธารณะอื่น นอกจากนั้นแล้วยังต้องคำนึงถึงการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม โดยฉบับ 2550 ได้เพิ่มสาระสำคัญอีกเรื่องก็คือ ต้องจัดให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการดำเนินการสื่อมวลชนสาธารณะ

แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่ว่าจะก่อนหรือหลังรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2540 ที่เริ่มมีบทบัญญัติเกี่ยวกับทรัพยากรคลื่นความถี่ นอกจากรัฐจะใช้คลื่นความถี่เป็นกระบอกเสียงของรัฐเองแล้ว รัฐก็จะจัดสรรคลื่นความถี่ให้กับภาคเอกชนที่มีผลประโยชน์ตอบแทนให้รัฐ ด้วยการให้สัมปทานคลื่นความถี่ในระยะยาว

ทรัพยากรคลื่นความถี่จึงหมุนเวียนอยู่แต่ในมือของรัฐและกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่เท่านั้น ไม่เคยปรากฏว่ามีคลื่นความถี่ใด ที่ได้รับการจัดสรรให้ดำเนินการโดยภาคประชาชนเลยแม้แต่คลื่นเดียว

ทรัพยากรคลื่นความถี่ส่วนใหญ่จึงถูกนำไปใช้ประโยชน์ เพื่อแสวงหากำไรของภาคเอกชนเป็นหลัก รองลงมาคือการทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงของรัฐ

และที่มีให้เห็นน้อยมาก คือการใช้คลื่นความถี่ในการส่งเสริมสังคมฐานความรู้ (Knowledge-based Society) และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน

เราเคยได้ยินสถานีโทรทัศน์โฆษณาว่าจะนำพาสังคมไทยไปสู่สังคมอุดมปัญญา ในขณะที่เนื้อหาของรายการส่วนใหญ่ชักนำไปในทางสังคมอุดมสตาร์ หรือสังคมอุดมดาราเสียมากกว่า

การเกิดขึ้นของไทยพีบีเอสจึงเป็นทางเลือกใหม่ที่ท้าทายและมีความหมายยิ่งสำหรับภาคประชาชนกับการดำเนินการสื่อมวลชนสาธารณะ

เพราะนี่คือสื่อที่ต้องไม่ใช่กระบอกเสียงของรัฐ และต้องไม่ใช่สื่อที่เอาใจตลาดเพื่อแสวงหากำไรไปวันๆ

แต่ต้องเป็นสื่อที่นำเสนอข้อมูลข่าวสารและรายการต่างๆ เพื่อประโยชน์สาธารณะในด้านต่างๆ ที่จะนำมาซึ่งสังคมฐานความรู้ ที่ส่งเสริมสถาบันครอบครัว และความเข้มแข็งของชุมชนตามวิถีไทย

ภายใต้การดำเนินชีวิตและกิจการงานตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างรู้เท่าทันต่อโลกาภิวัตน์

ทางข้างหน้าของไทยพีบีเอสจึงมีความท้าทายที่ใหญ่ยิ่งหลายประการ กล่าวคือ

1.ความโปร่งใสในการดำเนินงาน ด้วยเหตุที่ไทยพีบีเอสถือกำเนิดขึ้นท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างผลประโยชน์ของเอกชนกับผลประโยชน์ของรัฐ เป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างสุดขั้วจากองค์กรที่แสวงหากำไรไปสู่องค์กรที่ไม่แสวงหากำไร สังคมไทยจึงคาดหวังถึงความโปร่งใส ความไม่มีผลประโยชน์ส่วนตัวมาทับซ้อนกับตำแหน่งหน้าที่ การดำเนินงานที่มีประโยชน์สาธารณะเป็นที่ตั้ง เป็นความคาดหวังที่สูงกว่าภาวะปกติ สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่คณะกรรมการนโยบายชั่วคราวทั้งห้า จักต้องสำแดงการพิสูจน์ตนเองให้เป็นที่ประจักษ์ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับก้าวแรกของสื่อมวลชนสาธารณะที่เกิดขึ้นในภาวะที่สังคมไทยเต็มไปด้วยความหวาดระแวงเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน

2. การส่งเสริมให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการดำเนินการสื่อมวลชนสาธารณะ ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนั้นยังเป็นภาคทฤษฎีและเป็นนามธรรม และยังต้องรอคอยกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเรื่องนี้ ซึ่งจะต้องจัดทำให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน นับแต่วันแถลงนโยบายต่อสภาตามมาตรา 305 (1)

ไทยพีบีเอสจึงเป็นพื้นที่สื่อพื้นที่แรกที่จะทำให้บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญเป็นภาคปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม นี่คือโอกาสที่จะส่งเสริมให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการดำเนินการสื่อมวลชนสาธารณะแบบตัวจริงชัดเจน โดยไม่ต้องรอผลจากกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่ยังไม่เกิดขึ้น

3. การรักษาฐานผู้ชมของทีไอทีวีเดิม และเพิ่มฐานผู้ชมใหม่ของไทยพีบีเอส ความสำเร็จของการเป็นสื่อโทรทัศน์นั้น หัวใจสำคัญประการหนึ่งก็คือ การสร้าง, รักษา, และขยายฐานผู้ชมได้อย่างต่อเนื่อง ไทยพีบีเอสเริ่มต้นโดยมีฐานผู้ชมของทีไอทีวีเดิมอยู่แล้ว ทำอย่างไรจะรักษาฐานเหล่านี้ไว้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ชมรายการข่าวและสารคดีที่ติดตามมาพร้อมๆ กับการก่อกำเนิดของไอทีวีในยุคแรกๆ และจะเพิ่มฐานผู้ชมใหม่ให้มาสนใจรายการในแนวเนื้อหาสาระได้อย่างไร

การบ้านข้อใหญ่ของไทยพีบีเอสก็คือ จะผลิตรายการในแนวเนื้อหาสาระอย่างไร ที่จะสามารถดึงดูดความสนใจของผู้ชมที่มีรสนิยมแบบไทยๆ ไว้ได้ ความผสมผสานกลมกลืนและดุลยภาพระหว่างเนื้อหาสาระกับวิธีการนำเสนอจึงเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างยิ่ง ดังที่อับราฮัม ลินคอล์น เคยกล่าวไว้ว่า “ทุกคนต้องการเรียนรู้ แต่ก็ต้องการความเพลิดเพลินจากการเรียนรู้นั้นด้วย”

ถ้าไทยพีบีเอสสามารถฝ่าข้ามความท้าทายดังกล่าวข้างต้นได้สำเร็จ ก็จะเกิดประโยชน์อย่างยิ่งต่อพัฒนาการของวงการโทรทัศน์ไทย ที่จะช่วยขับเคลื่อนทรัพยากรมนุษย์ของชาติไปสู่สังคมฐานความรู้

แต่ถ้าทุกอย่างล้มเหลว สังคมไทยก็ต้องเวียนว่ายจ่อมจมอยู่กับสังคมอุดมสตาร์ และละครน้ำเน่าเรื่องเดิมๆ อย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้

ที่มา มติชน วันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 10909 หน้า 6

แท็ก คำค้นหา