ความท้าทาย ของ”ไทยพีบีเอส”

รุจน์ โกมลบุตร
คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

เป็นเรื่องที่น่ายินดี (ในไม่กี่เรื่อง) ที่ในที่สุดรัฐบาล “ขิงแก่” ก็สามารถผลักดันโทรทัศน์สาธารณะแห่งแรกของประเทศไทย หรือ “ไทยพีบีเอส” ออกมาได้

ชื่อก็บอกแล้วว่าเป็น “โทรทัศน์สาธารณะ” เป้าหมายในตัวของมันเองก็คือ ทำรายการเพื่อตอบสนองต่อสาธารณะ ไม่ใตอบสนองทางธุรกิจเหมือนช่อง “ฟรีทีวี” และไม่ใช่ตอบสนองต่ออำนาจทางการเมืองเหมือนในช่วงที่ผ่านมา ที่ผู้มีอำนาจสามารถแทรกแซงการทำงานของสื่อ เพื่อไม่ให้ตรวจสอบรัฐบาล จนประชาชนต้องออกไปชุมนุมในท้องถนน และกลายเป็นส่วนหนึ่งของการรัฐประหาร

หลักการสำคัญของไทยพีบีเอส ที่กฎหมายวางรากฐานไว้ให้แล้วก็คือ ไทยพีบีเอส จะปลอดจากการแทรกแซงทางธุรกิจ โดยใช้ภาษีสรรพสามิตของผู้บริโภคมาจัดและผลิตรายการ ขณะที่ก็จะปลอดจากการถูกแทรกแซงทางการเมือง โดยมีการสรรหากรรมการบอร์ดที่เป็นอิสระขึ้นมา 9 คน เพื่อบริหารสถานี อีกทั้งยังจะมีสภาผู้ชมขึ้นมาคอยส่งเสียงท้วงติงการทำงาน

ทั้งหมดนี้ก็เพื่อนำไปสู่การจัดบริการเพื่อตอบสนองให้แก่สาธารณะให้ได้ ซึ่งสาธารณะในที่นี้ก็หมายถึงพลเมืองผู้เสียภาษีทุกหมู่เหล่า นับตั้งแต่ปกากะญอ ลัวะ กะเลิง ภูไท ชอง จีน มอแกน มลายู ฯลฯ ที่รวมกันอยู่ในแผ่นดินที่เรียกว่า “ไทย”

คนต่างชาติพันธุ์ ต่างพื้นเพ ต่างเศรษฐสถานะ และต่างรสนิยมเหล่านี้คือ สาธารณะ ที่มีสิทธิอย่างเท่าเทียมในการได้รับบริการที่แตกต่างจากไทยพีบีเอส

แน่นอนละคร เกมส์โชว์ เพื่อความรื่นรมย์ของคนหมู่มากก็ยังต้องมี แต่อาจจะในสัดส่วนที่พอเหมาะ และไม่ต้องมีโฆษณาแฝง (เช่นพลิกป้ายที่มีตราสินค้า) ให้รำคาญใจ

ประเด็นสำคัญคือรายการที่คนดูไม่มากนัก ที่ไม่ตอบสนองต่อกำไรในช่องฟรีทีวีก็ควรจะมาปรากฏในช่องนี้ให้มาก เช่น เพลงซอ หมอลำ ลิเกป่า รองเง็ง มโนราห์ หรือ รายการกีฬาแข่งหมากรุก ปาลูกดอก รายการเพลงคลาสสิค ดนตรีไทย งิ้ว ฯลฯ รวมทั้งรายการความรู้ที่ดูสนุกประเภทต่างๆ เพราะผู้ชมคือพลเมืองที่หลากหลาย

ไทยพีบีเอสจึงมีหน้าที่ต้องจัดบริการที่สนองรสนิยมที่แตกต่างให้ลงตัวภายใน 24 ชั่วโมง ตลอด 7 วัน

หลักคิดที่สำคัญสำหรับเป้าหมายแบบนี้ จึงไม่ใช่จำนวนผู้ชมหรือเรตติ้ง เพราะในฟรีทีวี เรตติ้งหมายถึงจำนวนผู้ชมที่ผู้ผลิตรายการเอาไปแลกกับสปอนเซอร์เป็นเม็ดเงิน ยิ่งผู้ชมเยอะ ผู้ผลิตยิ่งได้ตังค์เยอะ แต่หากผู้ชมน้อย ก็ต้องเลิกผลิตหรือถูกถอดรายการ

แต่สำหรับพีบีเอส “เรตติ้งสูง” ควรจะแปลว่าเป็นรายการที่มีคนจำนวนมากชื่นชอบ ส่วน “เรตติ้งต่ำ” ควรจะแปลว่าเป็นรายการที่มีคนจำนวนหนึ่งชื่นชอบ ซึ่งไม่ใช่หมายความว่าต้องถอดรายการนี้ทิ้ง เนื่องจากผู้ชมเล็กๆ กลุ่มนั้นต้องได้รับบริการตามสิทธิของพลเมืองเช่นกัน

สถานีโทรทัศน์บีบีซีในอังกฤษก็ประสบกับข้อขัดแย้งทำนองนี้มาตลอด เพราะมีรายการจำนวนหนึ่งที่มีผู้ชมน้อย (เช่นรายการภาษาฮินดี เพื่อบริการชาวอินเดียในอังกฤษ) แต่บีบีซีก็ต้องให้บริการตามหลักการ ทำให้ผู้ชมที่ไม่สนใจชมรายการเหล่านั้น เกิดความไม่พอใจว่า บีบีซีเอาภาษีของ “พวกเขา” ไปทำอะไรที่ “ไม่คุ้มค่า”

ดังนั้น ฟรีทีวีของเมืองไทยที่บ่นกันว่ายากในการผลิตรายการเอาใจสปอนเซอร์และยากในการผลิตรายการ (หรือละเว้นการผลิตรายการ) เพื่อเอาใจนักการเมือง เมื่อมาเจอหลักการแบบพีบีเอสเข้า ก็อย่าเพิ่งพากันถอดใจ

เพราะมันเป็นเรื่องใหม่ที่ต้องหาความรู้กันต่อไปว่า จะทำอย่างไรถึงจะจัดบริการที่หลากหลายให้แก่สาธารณะได้จริงๆ

ที่เขียนมานี้ก็เพื่อจะร่วมเป็นกำลังใจแก่คณะผู้บุกเบิกไทยพีบีเอส รวมทั้งขอเชิญชวนให้ผู้ชมร่วมกันผลักดันโทรทัศน์สาธารณะแห่งนี้ให้เป็นจริงให้ได้

ยิ่งช่วงนี้การเมืองยิ่งมีเค้าว่า “เอ็มไพร์ (กำลัง) สไตร๊ค์แบ๊ค” การแทรกแซงสื่อต่างๆ เพื่อปิดหูปิดตาประชาชน คือความเลวร้ายในอดีตที่อาจกลายเป็นจริงได้อีกในวันนี้

ไทยพีบีเอสในนาทีนี้ จึงดูจะเป็นทางเลือกสำคัญจริงๆ ของสังคมไทย

ในทางตรงกันข้าม หากพีบีเอสถูกเตะตัดขาให้ล้มลงอีก เมืองไทยก็จะมีโทรทัศน์เพิ่มขึ้นมาอีกช่อง แต่มีรายการคล้ายกับช่องอื่นๆ

ซึ่งก็ไม่รู้จะมีไปอีกทำไมให้เปลืองไฟ

ที่มา มติชน วันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 10908 หน้า 6

แท็ก คำค้นหา