สาธารณะ

คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่ 12
โดย สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร

 

สัปดาห์ที่แล้ว แสดงความกังวล และห่วงใยเกี่ยวกับการสรรหาวุฒิสภา

เกรงว่าจะมีการเสนอชื่อผู้เข้ารับการคัดสรรไม่มาก ทำให้มีตัวเลือกน้อย ไร้คุณภาพ

อันจะส่งผลให้ วุฒิสภา ที่มาจาก “ลากและเลือก” ตั้ง กลายเป็นองค์กรทางการเมือง “พิการ” ไปอีกองค์กรนั้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อครบกำหนดการเสนอชื่อ เมื่อวันที่ 17 มกราคม ที่ผ่านมา ก็โล่งใจขึ้น เพราะจำนวนผู้ถูกเสนอชื่อมีมากพอสมควร และมีคนดีๆ จากหลากหลายอาชีพ อยู่ไม่น้อย

ที่คิดว่าจะขี้เหร่มาก ก็คงกล้อมแกล้มไปวัดไปวาได้

ต่อจากนี้คงฝากความหวังไว้กับคณะกรรมการสรรหา ที่จะเลือกเฟ้น คนดีจากหลากหลายอาชีพเข้ามาให้ได้มากสุด

โล่งใจไปหนึ่งเกี่ยวกับองค์กรที่จะต้องทำงานเกี่ยวกับสาธารณะ

แต่ก็มีความหนักใจเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่ง นั่นก็คือองค์กรที่เพิ่งเกิดขึ้นสดๆ ร้อนๆ ซึ่งก็คือ “องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย”

โดยจะเริ่มเปิดตัวด้วย “สถานีโทรทัศน์ ไทยพีบีเอส”

ความหนักใจที่ว่าก็คงสอดคล้องกับหลายๆ คน เพราะเพียงแค่ขยับตัว ปัญหาก็ยุ่บยับ ทั้งทางกฎหมาย ทางเทคนิค และทางการเมือง

ถือว่า ฤกษ์ “ตกฟาก” ไม่ดี

โดยส่วนตัว สนับสนุนองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะ ซึ่งไม่ใช่เพียงโทรทัศน์ หากแต่กว้างไปถึง วิทยุ อินเตอร์เน็ต อยากให้เกิดขึ้นเป็นจริงสำหรับสังคมไทย

ซึ่งการจะเกิดขึ้นได้ คงต้อง อาศัย “ใจใหญ่ๆ” ของทุกฝ่าย ในการมอง

หากหยิบเอาเฉพาะส่วน โดยเฉพาะเรื่อง “การเมือง” มาฟาดฟันกันตั้งแต่แรก ก็คงไม่สามารถเดินหน้าไปได้

อย่าง เช่น นพ.เหวง โตจิราการ ตัวแทนสมาพันธ์ประชาธิปไตย บอกว่า อยากให้เปลี่ยนแปลงตัวคณะกรรมการไทยพีบีเอสชั่วคราวทั้ง 5 คนใหม่ เพราะหลายคนในนั้นมีบทบาทในการทำให้เกิดรัฐประหาร

หรือสื่อ ในฟากที่สนับสนุนฝ่ายอำนาจเก่าอย่างไม่ปิดบังอำพรางนั้น ทุบโต๊ะ โครมครามเปรี้ยงปร้างไปในบัดดล ว่า สถานีไทยพีบีเอส เป็นมรดกบาปของ “ทหาร”

จงใจที่จะตั้งกรรมการชั่วคราวทั้ง 5 คนขึ้นมา เป็นหอกข้างแคร่ รัฐบาลใหม่ เพราะปูมหลังของกรรมการ มีทัศนคติในเชิงลบต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และพรรคพลังประชาชน

และจะใช้ “สถานีโทรทัศน์ ไทยพีบีเอส” เป็นกระบอกเสียงของฝ่ายค้าน

คิดเพียงแค่นั่น ก็คงทะเลาะกันตาย

ความจริงฝ่าย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ฝ่ายอดีตไทยรักไทย ฝ่ายพลังประชาชน ฝ่ายนายสมัคร สุนทรเวช ก็ควรตระหนักอยู่เหมือนกัน มีคนในสังคมจำนวนมาก กำลังพยายาม “ทำใจใหญ่” อยู่

นั่นคือ ทั้งไม่ชอบ พ.ต.ท.ทักษิณ แถมเกลียดนายสมัคร

แต่ก็ทำใจว่า เมื่อเสียงส่วนใหญ่ตามระบอบประชาธิปไตยเลือกให้พรรคพลังประชาชนที่มีนายสมัคร เป็นหัวหน้าพรรค เป็นเสียงข้างมาก ก็มีความชอบธรรมที่จะบริหารประเทศ

ส่วนจะบริหาร ดีเลว อย่างไรก็มาว่ากันอีกที

ไม่ใช่ เหมือนบางฝ่ายที่จ้อง “ล้มโต๊ะ” กันตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่มทำอะไรกันเลย

นี่เป็น “กระแส” ที่ไม่เห็นด้วยกับฝ่ายที่มีพฤติกรรม “ล้มลูกเดียว” ที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งเป็นสิ่งที่กองเชียร์ นายสมัคร พรรคพลังประชาชนและรวมถึง พ.ต.ท.ทักษิณ ต้องคำนึงเช่นกัน

ดังนั้น ก็ควร “ใจใหญ่” กลับคืนเช่นกัน ด้วยการให้โอกาส สถานีไทยพีบีเอส ให้โอกาสกรรมการชั่วคราวทั้ง 5 คน ในการทำงาน เพื่อพิสูจน์ ความเป็น “สื่อสาธารณะ” ที่แท้จริง

หาก สถานีไทยพีบีเอส และกรรมการชั่วคราวทั้ง 5 คน เอียงกระเท่เร่ เอาแต่มุ่งโค่นล้มรัฐบาลใหม่ “สาธารณชน” ก็คงไม่ยอมและออกมาเคียงข้างรัฐบาลใหม่เพื่อตรวจสอบ “สื่อสาธารณะ” อย่างแน่นอน

จึงอยากย้ำว่า เรื่อง “สื่อสาธารณะ” ควรจะแสดงอาการ ใจใหญ่ ต่อกัน

หาก “กาหัว” ให้ตั้งแต่ต้นว่า เป็น “มรดกบาป” ของคณะรัฐประหาร จะไม่ยอมรับอย่างเด็ดขาด ก็คงเป็นเรื่องน่าเศร้า

ว่าที่จริง ฝ่ายที่จะกุมอำนาจรัฐ ซึ่งก็คือพรรคพลังประชาชน ก็น่าจะได้เปรียบอยู่หลายขุม คือถ้าหากจะคิดล้างบาง ก็ใช้เสียงส่วนใหญ่ ในสภาแก้กฎหมาย “องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย” โดยยกเหตุผลต่างๆ นานา ให้เป็นอื่น ได้ไม่ยาก

โดยเฉพาะ ในภาวะ ตั้งไข่ ของสื่อสาธารณะ เงื่อนไขที่จะทำให้ล้มครืน มีมาก

ประเด็นอยู่ที่ว่า จะช่วยประคองให้ยืนอย่างมั่นคง

หรือมองเห็นเป็นหอกข้างแคร่ที่ต้องรีบ “กำจัด”

ที่มา มติชน วันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 10905 หน้า 2

แท็ก คำค้นหา