สื่อสาธารณะ ใช่แค่แก้ปัญหาไอทีวี แต่คือการปฏิวัติการต่อสู้ของประชาชน

โดย สนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม

 

“สื่อสาธารณะ” เครื่องมืออันสำคัญทางข่าวสารของประชาชนที่ได้ถูกผลักดันให้ถูกจัดตั้งขึ้นเป็น “องค์การพิเศษ” ตามกฎหมายที่มีชื่อเรียกว่า “ร่าง พ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย” ภายใต้รัฐบาลและ สนช.ที่มาจากการ “ยึดอำนาจ”

“องค์การ” แห่งนี้มีความสำคัญยิ่งที่ประชาชนควรให้ความสนใจว่าจะทำให้เกิด “ประโยชน์กับประชาชน” และ “ประเทศชาติ” ได้อย่างไร? แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าความสนใจขององค์การแห่งนี้ถูกนำไปเกี่ยวข้องกับกรณีปัญหา “ไอทีวี” ซึ่งคาราคาซังมาแต่เดิม เพราะ “มาตรา 56” ของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้บทเฉพาะกาลได้ไประบุเอาไว้ว่า “ให้โอนบรรดากิจการ อำนาจ หน้าที่ ทรัพย์สิน งบประมาณ หนี้ สิทธิคลื่นความถี่ และภาระผูกพันของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เฉพาะที่เกี่ยวกับสถานีโทรทัศน์ไอทีวีไปเป็นขององค์การ”

ประเด็นแห่งความสนใจจึงมุ่งไปที่ “กรณีของไอทีวี” มากกว่าสาระสำคัญของกฎหมายและเจตนารมณ์รวมทั้งหน้าที่ของ “องค์การ” แห่งนี้

001

หากยกเอาเรื่องของ “ไอทีวี” ออกไปแล้ว ลองมาพิจารณาสาระสำคัญจะพบว่า

“องค์การ” แห่งนี้มีวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ตามมาตรา 7 และมาตรา 8 ดังนี้

1.จัดให้มีสื่อในสังกัด 3 สื่อคือ

1.1 สถานีวิทยุกระจายเสียง

1.2 สถานีวิทยุโทรทัศน์

1.3 การเผยแพร่รายการในระบบอื่นหรือเทคโนโลยีทันสมัยอื่น (อินเตอร์เน็ต เป็นต้น)

โดยมีเครือข่ายครอบคลุมทั้งประเทศเพื่อสนับสนุนการพัฒนาสังคมที่มีคุณภาพผ่านข่าวสารที่เที่ยงตรง เท่าเทียม มีสาระประโยชน์ทางการศึกษา และสาระบันเทิงอย่างเหมาะสม ให้ประชาชนรู้ทันการเปลี่ยนแปลงของโลก เพื่อประโยชน์ทั้งระดับ “ชาติ” และระดับ “ท้องถิ่น”

เฉพาะเรื่องของข่าวสารจะเห็นได้ว่า “ขอบเขตอำนาจหน้าที่” นั้นกว้างขวางเป็นอย่างยิ่งและสื่อที่มีในสังกัดก็ไม่ใช่เฉพาะ “ทีวี” เท่านั้น แต่ยังรวมถึง “วิทยุ” และ “อินเตอร์เน็ต” หรือสื่อทันสมัยอื่นๆ ที่จะเกิดในอนาคต และสื่อทั้งหมด “ต้องครอบคลุมทั้งประเทศ” เพื่อความ “เท่าเทียม” ในการรับรู้ข่าวสาร

ไม่ใช่เพียงเท่านี้ “องค์การ” นี้ยังมีหน้าที่สำคัญอีก 2 ประการคือ

2.สนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนทั้งทางตรงและทางอ้อมในการเป็น “เจ้าของ” และ “กำหนดทิศทาง”

002

3.สนับสนุนกิจกรรมสาธารณประโยชน์อื่นผ่านสื่อที่มี

นี่คือ อำนาจหน้าที่ของ “องค์การสื่อสารสาธารณะ” ซึ่งจะเห็นได้ว่าผู้ร่างกฎหมายได้เขียนไว้ทั้ง “ทางกว้างและทางลึก” อย่างชัดเจนที่จะยกระดับความรับรู้ของประชาชน

ดังนั้น ทิศทางการบริหารข่าวสารอย่างการมีส่วนร่วมของประชาชนและมีกิจกรรมสาธารณะด้วยนั้นจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญยิ่งกว่าเรื่องที่ถกเถียงกันในปัจจุบัน ซึ่งถ้าจะสรุปออกมาเป็นแผนผังก็จะเห็นได้ดังภาพแผนภูมิ (1)

“องค์การ” นี้ได้ถูกกำหนดความเป็น “อิสระ” ไว้ด้วยการไม่ให้มี “โฆษณา” เพื่อให้ “ปลอด” จาก “การแทรกแซง” ของ “อำนาจทุน” โดยเงินที่จะได้มาบริหารให้ได้มาจาก “ภาษีเหล้า” และ “ยาสูบ” ตามมาตรา 11

และยังกำหนดให้ “ปลอด” จาก “การแทรกแซง” ของ “อำนาจรัฐ” โดยให้มีคณะกรรมการมาควบคุมดูแลนโยบาย 9 คน ที่มาจากการสรรหาของคณะกรรมการ 11 คน ซึ่งเป็นตัวแทนจากองค์การสื่อ เอ็นจีโอ (NGO) และภาครัฐ ที่จะถ่วงดุลกัน แถมยัง “ห้าม” คณะกรรมการมีธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับกิจการสื่อด้วย

ด้วยเหตุนี้ผู้ที่ผลักดันกฎหมายฉบับนี้หรือที่ได้ศึกษากฎหมายฉบับนี้จึงให้ความสำคัญกับ “สื่อของภาคประชาชน” ที่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทยนี้อย่างยิ่ง

คาดว่าในระยะเวลา 2-3 ปี จากงบประมาณปีละ “2,000 ล้าน” ที่มาจากภาษีเหล้าและยาสูบ ก็น่าจะสามารถผลักดันให้ “สื่อสาธารณะ” ดังกล่าวนี้เกิดศักยภาพได้อย่างเต็มที่ดังภาพแผนภูมิ (2)

หวังเป็นอย่างยิ่งว่า “สังคมไทย” และประชาชนจะให้ความสำคัญในการติดตามเรื่องของ “องค์การสื่อสาธารณะ” ในเชิงประโยชน์ที่จะ “เข้าร่วม” และผลักดันให้เกิดการ “ยกระดับความรับรู้” ของประชาชน โดยผ่าน “การเรียนรู้” ระหว่างกันและกันของชุมชนสู่ชุมชนขององค์การประชาชนสู่องค์การประชาชน จนนำไปสู่การพัฒนา “การต่อสู้” ของประชาชนให้เป็นส่วนหนึ่งใน “การขับเคลื่อน” พลังของสังคมไทยให้เคลื่อนไปข้างหน้าอย่าง “สร้างสรรค์และสันติ”

ไม่ปล่อยให้ชะตากรรมของประชาชนและประเทศตกอยู่ในมือของ “ทุนสามานย์” และ “เผด็จการขุนนาง” เพียงเท่านั้น

ที่มา มติชน วันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 10904 หน้า 7

 

แท็ก คำค้นหา