จดหมายจากลอนดอนชี้แจงกรณีผังรายการโทรทัศน์สาธารณะ

สมชัย สุวรรณบรรณ
อดีตบรรณาธิการบริหาร เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บีบีซี ลอนดอน

ผมได้อ่านข่าวเกี่ยวกับเรื่องผังรายการของทีวีสาธารณะ TPBS และการให้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อนของสถานีโทรทัศน์ TITV ในหลายประเด็น โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับผังรายการตัวอย่างที่ผมร่างขึ้นเพื่อเสนอแนะ ตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว และ TITV นำไปวิพากษ์วิจารณ์ออกอากาศ ผมจึงขอชี้แจงดังต่อไปนี้
ประการที่หนึ่ง ผมใช้เวลาเพียงไม่กี่วันในการจัดทำผังรายการตัวอย่างในช่วงที่เดินทางกลับมาที่ประเทศไทย ผังรายการที่จัดทำขึ้นเป็นความคิดของผมเพียงคนเดียว โดยมิได้ปรึกษาผู้ใด แต่ใช้ประสบการณ์ส่วนตัวในการทำงานที่บีบีซี ลอนดอนเป็นเวลาหลายปี ผังรายการที่ผมแนะนำเสนอเป็นผังรายการตัวอย่าง เพื่อให้คณะทำงานนำไปถกเถียงพิจารณาต่อไป มิใช่เป็นข้อยุติ
ประการที่สอง ข้อวิจารณ์เกี่ยวกับรายการ “มองต่างมุม” เป็นความเข้าใจผิดของพนักงาน TITV เนื่องจากที่จริงแล้วผมเสนอรายการชื่อQuestion Time ซึ่งเป็นรายการสนทนาอภิปรายทางการเมืองรายสัปดาห์ของบีบีซีทีวี ที่อาจเป็นต้นแบบของรายการ “มองต่างมุม” ของมูลนิธิสื่อสร้างสรรค์ ผมไม่มีความตั้งใจใดๆ ที่จะระบุให้ ดร. เจิมศักดิ์ ปิ่นทองเป็นผู้ผลิตรายการ ทั้งนี้ ผมไม่เคยพูดคุยกับ ดร. เจิมศักดิ์หรือคุณเถกิง สมทรัพย์ เกี่ยวกับรายการนี้เลย วัตถุประสงค์ของผมคือต้องการนำเสนอรายการสนทนาทางการเมืองรายสัปดาห์ในโทรทัศน์ของประเทศไทย เพื่อให้การศึกษาทางการเมืองแก่ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ผมเชื่อว่า ผู้ดำเนินรายการอย่างคุณเทพชัย หย่อง คุณสรยุทธ สุทัศนะจินดา คุณกิตติ สิงหาปัด คุณกนก รัตน์วงศ์สกุล คุณอดิศักดิ์ ศรีสม คุณจอม เพชรประดับ หรือคนอื่นๆ ที่มีศักยภาพในระดับเดียวกันล้วนสามารถเป็นผู้จัดรายการในลักษณะนี้ได้ทั้งสิ้น
ประการที่สาม ข้อวิจารณ์ของพนักงาน TITV ที่ว่าผังรายการที่ผมจัดทำขึ้นได้ลดเวลานำเสนอรายการข่าวของ TITV จาก 8 ชั่วโมงลงไปเหลือ 4 ชั่วโมงต่อวัน เป็นการบิดเบือนความจริง ในทางตรงกันข้าม ผมพยายามจัดทำผังรายการให้มีช่วงเวลานำเสนอรายการข่าวถึง 6.30 ชั่วโมงต่อวันหรือเจ็ดชั่วโมงต่อวันหากรวมข่าวราชสำนักด้วย (ผมมิได้นำข่าวต้นชั่วโมงที่เสนอเจ็ดครั้งต่อวันมารวมในการคำนวน) ในขณะที่รายการข่าวของ TITV ระหว่างเวลา 05.30-24.00 น. มีเพียง 4.30-5.0 ชั่วโมงต่อวันเท่านั้น ผังรายการของผมจึงมีช่วงเวลาการนำเสนอรายการข่าวรวมกันมากกว่าผังรายการของไอทีวีในปัจจุบัน (ผมใช้ผังรายการของ TITV ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมาในการเปรียบเทียบ)

อนึ่ง ผมไม่ถือว่า รายการประเภท “คุยข่าว” หรือการอ่านหนังสือพิมพ์แถมความคิดเห็นส่วนตัวของผู้จัดรายการ ให้ผู้ชมฟังนั้นเป็น “รายการข่าว” หรือ Serious Journalism แต่ถือว่ารายการประเภทนี้เป็น “รายการบันเทิง” นอกจากนี้ ผมยังไม่นับรวมรายการข่าว Hot News ที่ออกอากาศซ้ำอีกครั้งในช่วงเวลาหลังเที่ยงคืน เพราะเอาของเก่ามาฉายซ้ำ

ประการที่สี่ ผมขอเสนอให้เปลี่ยนการออกรายการข่าวหลัก (Main Evening Bulletin) ช่วงค่ำที่เริ่มตั้งแต่เวลา 18.00 มาเป็นการเริ่มต้นตั้งแต่เวลา 21.00 เป็นต้นไป ด้วยเหตุผลดังนี้

หนึ่ง สถานีโทรทัศน์ไทยขณะนี้แทบทุกช่องได้เสนอรายการข่าวช่วงเย็นระหว่างเวลา 18.00-20.00 น. อยู่แล้ว ซึ่ง TPBS ไม่จำเป็นต้องนำเสนอรายการข่าวเพื่อแข่งขันกับสถานีอื่นในช่วงเวลาเดียวกันนี้ เพราะไม่ได้ทำให้ผู้ชมทางบ้านได้สาระอะไรเพิ่มมากขึ้นไปกว่าที่เสนอกันอยู่ และ

สอง เนื้อข่าวส่วนใหญ่ที่ปรากฏในช่วงเวลา 18.00-20.00 น. ในสถานีต่างๆ เป็น “ข่าวปิงปอง” ที่เน้นการโต้กันไปมา โดยหวังเพิ่มเรตติ้ง (rating) สิ่งที่ขาดหายไปก็คือ การนำเสนอข่าวเชิงวิเคราะห์เจาะลึกอย่างครบถ้วนและรอบด้าน และในความเห็นของผม “ข่าวปิงปอง” ยังลดคุณค่าของข่าวลง และอาจนำไปสู่ความเข้าใจที่ผิดพลาด หรือกระพือความเป็นปรปักษ์ต่อกันในสังคมไทย ซึ่งแสดงถึงความไม่รับผิดชอบ ไม่สร้างสรรค์ และไม่ถือว่าเป็นสื่อสารมวลชนที่มีคุณภาพ

ผมได้เสนอให้ TPBS มีรายการข่าว (Main Evening Bulletin) ในช่วงเวลา 21.00 น เป็นช่วงหลักของรายการข่าว เพื่อที่จะให้นักข่าวของ TPBS มีเวลาทำงานอย่างพิถิพิถันให้ดีขึ้น (proper journalistic treatment) สามารถเก็บมุมมองข่าวอย่างรอบด้าน นำเสนอข้อโต้แย้งจากฝ่ายต่างๆ รวมถึงนำเสนอภูมิหลังของข่าว บริบทของเรื่องราวที่นำเสนออย่างครบถ้วนในข่าวชิ้นเดียว (TV news package) ก่อนที่จะออกอากาศ จะให้ประโยชน์ต่อผู้ชมมากกว่า และในช่วงเวลาดังกล่าว ผมมีความคาดหวังว่า ผู้รับสารน่าจะพร้อมรับชมรายการข่าวอย่างจริงจัง เนื่องจากเดินทางกลับมาถึงบ้านหลังเลิกงานแล้ว ดังนั้นการนำเสนอข่าวในช่วงเวลานี้จะเป็นประโยชน์มากกว่า ในประเทศอังกฤษ โทรทัศน์ BBC และ ITV มีช่วงเวลาหลักของรายการข่าวในเวลา 22.00 น. มี Channel 4 เพียง ช่องเดียวมีช่วงเวลาหลักของรายการข่าวในเวลา 19.00 น.

ประการที่ห้า ผังรายการที่ผมเสนอในช่วงเวลา 16.00-20.00 น. ต้องการตอบสนองต่อเด็กและครอบครัวเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม ผมได้แทรกช่วงเวลาของรายการข่าว 30 นาทีเพื่อเป็นรายการข่าวสำหรับเด็ก ซึ่งคล้ายกับ Newsround ของ BBC ทั้งนี้เนื้อหาของข่าวและลักษณะของการนำเสนอข่าวในช่วงนี้จะแตกต่างออกไปจากรายการข่าวปกติ นอกจากนี้ ในเวลา 17.00 และ 19.00 น. ผมคิดว่าน่าจะนำเสนอข่าวสั้นต้นชั่วโมงเฉพาะหัวข้อข่าวช่วงละ 3 นาทีจำนวน 2 ช่วง เพื่อที่จะคอยเตือนผู้ชมที่รับชมรายการอยู่ในช่วงเวลาของรายการเด็กและครอบครัว (เวลา 16.00-20.00 น.)

ผมเชื่อว่าผังรายการที่ผมเสนอนั้นจะตอบสนองต่อผู้ชมที่กว้างและตอบสนองต่อความสนใจที่หลากหลายของผู้ชม โดยมุ่งเน้นการศึกษาและครอบครัว ผังรายการดังกล่าวดูจะแตกต่างจากผังรายการของสถานีโทรทัศน์ส่วนใหญ่ในประเทศไทย และมันก็ควรจะเป็นเช่นนั้น มิฉะนั้น เราคงต้องถามกันว่า เราต้องมีสถานีโทรทัศน์สาธารณะไปทำไม

ผมหวังว่าคำอธิบายเหล่านี้คงจะเป็นประโยชน์ต่อในการเปิดประเด็นการอภิปรายเรื่องผังรายการของทีวีสาธารณะ ซึ่งเป็นจุดประสงค์ของผมในการจัดทำผังตัวอย่างดังกล่าว

 

แท็ก คำค้นหา