สปน. กับไอทีวี

คอลัมน์ งานเป็นเงา
หนังสือพิมพ์มติชน

 

เรื่องจะให้ไอทีวีเป็นทีวีสาธารณะนั้น ฟังความหลายข้างแล้ว ไม่แน่ใจว่า สปน.หรือสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีคู่กรณี จะสามารถจัดการให้ถูกต้องได้

เนื่องจากการที่ศาลปกครองมีคำสั่งยกคำร้องของ สปน. กับไอทีวี ทำให้การปรับเงินแสนล้าน และยกเลิกสัมปทานสถานีโทรทัศน์แห่งนี้โดย สปน. ที่คนเข้าใจว่าเรื่องจบแล้ว ยังไม่จบ

เพราะเมื่อเป็นดังนี้ ก็เท่ากับการปรับเงินและการยกเลิกสัมปทานของ สปน.นั้น กลายเป็นการใช้อำนาจที่ไม่ผ่านการพิจารณาของกระบวนการยุติธรรม เช่นที่ฝ่ายสถานีต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมแก่ตัว โดยนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของอนุญาโตตุลาการ ตามขั้นตอนและข้อตกลงในสัญญา

ให้พิจารณาว่า ฝ่ายสถานีทำอะไรผิด จึงต้องถูกปรับเงินนับแสนล้าน และถูกยกเลิกสัมปทาน แม้ สปน.จะคัดค้านไม่ให้นำเรื่องเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการก็ตาม

ดังนั้น เมื่อศาลปกครองก็เห็นว่าเรื่องนี้ต้องเข้าสู่อนุญาโตตุลาการก่อน ตามสัญญาระหว่างสถานีกับ สปน. ที่ระบุเงื่อนไขไว้ชัดเจนว่า หากมีกรณีพิพาทเกิดขึ้น คู่สัญญาจะต้องเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการ

แต่จากสิ่งที่เกิดขึ้นมาจนปัจจุบัน สปน.มิได้ปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าว ทำให้เกิดความเสียหายต่อสถานีและผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด ไม่ว่าคนทำงานหรือบรรดาผู้ถือหุ้น

นี่ว่ากันตามสิ่งที่ปรากฏมาแต่ละขั้นแต่ละตอน ซึ่งดูลักลั่นสร้างความสับสนกับผู้คนที่สนใจติดตาม

ไม่รู้ว่าสัญญายังเป็นสัญญาอยู่หรือไม่ หรือ สปน. ในฐานะฝ่ายบริหารสามารถใช้อำนาจไม่ยึดถือสัญญาได้หรือ

เมื่อศาลปกครองว่ามาอย่างนี้ เรื่องนี้ก็ย่อมยังไม่จบ แต่จะไปอย่างไรต่อ

สมมุติถ้า สปน. โดยกรมประชาสัมพันธ์เดินหน้าไปเรื่อยๆ แล้วท้ายที่สุด กระบวนการยุติธรรมซึ่งฝ่ายสถานีนำเรื่องเสนอเข้าพิจารณา เกิดมีคำตัดสินอย่างหนึ่งอย่างใด ซึ่งค้านกับที่ สปน.ดำเนินการไปทั้งหมด

อะไรจะเกิดขึ้น

สปน. หรือรัฐบาล (ไม่รู้คณะนี้ คณะหน้า หรือว่าคณะไหน) มิต้องรับผิดชอบกันใหญ่โตหรือ หากอีกฝ่ายฟ้องร้องที่ทำให้เสียหายไม่ว่าทางแพ่ง หรืออาญา?

ชาวบ้านก็งงๆ อยู่เหมือนกัน ว่ากรณีเช่นนี้ในท้ายที่สุดแล้วจะลงเอยแบบไหน

จะอธิบายสัญญากันอย่างไร จะอธิบายอำนาจบริหารกันแบบไหน หากไม่ถือสัญญาเป็นสำคัญ

ยิ่งปวดหัวยิ่งต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

ที่มา มติชน วันที่ 08 มกราคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 30 ฉบับที่ 10895 หน้า 25

แท็ก คำค้นหา