เมืองไทยกับทีวีสาธารณะ

โดย อัศวิน เนตรโพธิ์แก้ว
หนังสือพิมพ์มติชน

 

ในปี พ.ศ.2551 นี้ ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าไปสู่ช่วง “เปลี่ยนผ่าน” ที่สำคัญอีกครั้งหนึ่งของประวัติศาสตร์การสื่อสารมวลชน จากผลของการผ่านร่างพระราชบัญญัติ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ…. โดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อปลายเดือนตุลาคมปีที่แล้ว

ขั้นตอนต่อจากนี้ คือการพิจารณานำร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธย เพื่อบังคับใช้กฎหมายและดำเนินงานเกี่ยวกับทีวีสาธารณะต่อไป

ความเปลี่ยนแปลงอันเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว นับตั้งแต่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ มีมติเห็นชอบให้ยกเลิกสัมปทานการดำเนินกิจการสถานีโทรทัศน์จากบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) และเปลี่ยนชื่อสถานีโทรทัศน์เป็นทีไอทีวี รวมทั้งมีมติแปลงสภาพกิจการ โดยยกระดับไปสู่บทบาทของการเป็นทีวีสาธารณะ ได้ทำให้ฝันของการ “ปฏิรูปสื่อ” ใกล้ความเป็นจริงเข้ามาทุกที

เนื้อหาหลักของร่าง พ.ร.บ.นี้ คือการจัดตั้งองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) เพื่อทำหน้าที่เป็นองค์การสื่อสาธารณะ ด้านวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ โดยมีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐ ที่ไม่ใช่ส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ แต่ดำเนินการภายใต้ทุน ทรัพย์สินและรายได้ขององค์การ

อย่างไรก็ตาม ความสับสนและปฏิกิริยาต่อต้านการเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ในสังคมประชาธิปไตยทั่วๆ ไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อพิจารณาถึงพัฒนาการของวงการโทรทัศน์ไทย รวมถึงที่ไปและที่มาของการบริหารกิจการสถานีทุกช่อง ตลอดช่วงระยะเวลาร่วมครึ่งค่อนศตวรรษ

องค์กรและบริษัทผู้ผลิตรายการ ตลอดจนพนักงาน เจ้าหน้าที่และนักวิชาชีพบางส่วน คงต้องได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน เพราะก่อนหน้านี้วงการทีวีใช้วิธีหารายได้จากการขายโฆษณาเป็นหลัก ดังนั้น รายการส่วนใหญ่จึงมุ่งเน้นไปในทางการตอบสนองความนิยม ซึ่งสำรวจวัดออกมาเป็น “เรตติ้ง”

แต่สิ่งที่กลไกตลาดเชิงพาณิชย์ได้ละทิ้งไปอย่างน่าเสียดาย คือความเอาใจใส่ต่อกลุ่มประชาชนทุกภาคส่วนภายในสังคม ซึ่งแน่นอนย่อมเป็นผู้ชมรายการโทรทัศน์ด้วยเช่นกัน แต่ทว่าอาจมิใช่กลุ่มเป้าหมายของรายการส่วนใหญ่ที่ต้องการมุ่งเน้นผลกำไรทางธุรกิจ

ผลที่เกิดขึ้นจึงกลายเป็นว่าประชาชนคนส่วนน้อย ผู้พิการ คนชราและเยาวชน ตลอดจนกลุ่มวัฒนธรรมย่อย (Subcultures) ต้องพลอยถูกมองข้ามความสำคัญ เพราะสื่อต่างๆ มัวแต่หันไปพิจารณาเฉพาะเรื่องกำลังซื้อของผู้บริโภค

อันที่จริง สรรพสิ่งในสังคมสมัยนี้ได้เดินหน้าไปไกลเกินกว่า “รูปแบบ” และ “เนื้อหา” เดิมๆ ของวงการโทรทัศน์กระแสหลัก เพราะสาเหตุจากแรงผลักทางเทคโนโลยีควบคู่ไปการตื่นตัวของผู้ชม ซึ่งเป็นปมเด่นของวัฒนธรรมยุคสารสนเทศและโลกาภิวัตน์ทางด้านการสื่อสาร

นวัตกรรมการสื่อสารออนไลน์และการหันกลับมาเป็นฝ่ายรุกของผู้รับสาร ทำให้กระบวนการรับ-ส่งข้อมูลและข่าวสาร เกิดการย้อนศรป้อนกลับในอัตรา/ปริมาณที่มากมหาศาล จนยากยิ่งต่อการแทรกแซง หรือแม้กระทั่งปิดกั้น คุกคามและควบคุม ดังเช่นที่เคยเป็นมาแล้วหลายครั้งในอดีต

ด้วยเหตุนี้เอง การรีบเร่งจัดตั้งทีวีสาธารณะขึ้นมาในประเทศไทย จึงเป็นก้าวใหม่ที่สำคัญของการปฏิวัติภูมิทัศน์ด้านสื่อและการสื่อสาร (Media&Communication Landscape) โดยยึดหลักแนวทางตอบสนองความต้องการของประชาชนทุกกลุ่มผู้เป็นเจ้าของประเทศ เพื่อเป้าหมายในการเสริมสร้างคุณประโยชน์แก่สาธารณะและสังคมส่วนรวมอย่างแท้จริง

กระบวนทัศน์ใหม่ที่ว่านี้ มีความสอดคล้องกับบริบทของสังคมไทย ซึ่งกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทั้งในด้านความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรม ซึ่งโน้มนำไปสู่กระบวนการเรียกร้องสิทธิพลเมืองอย่างเข้มแข็งของคนกลุ่มต่างๆ รวมจนถึงการแสวงหาแนวทางปรับตัวเพื่อความอยู่รอดท่ามกลางสภาวะอันผันผวนของสังคมโลก

ในอดีต สภาพธุรกิจของวงการโทรทัศน์ไทยอาศัยปัจจัยทางด้านโครงสร้างเศรษฐกิจการเมืองแบบ “อำนาจนิยม” และ “ทุนนิยมอุปถัมภ์” จนทำให้กิจการสื่อสารมวลชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งวงการทีวี ไม่อาจหลีกหนีจากร่มเงาอิทธิพลของกลุ่มชนชั้นนำ ผู้ถือครองอำนาจรัฐและกลุ่มทุนผลประโยชน์ ซึ่งต่างถ้อยทีถ้อยอาศัยกันมาเป็นระยะเวลาต่อเนื่องยาวนาน

มาตรการเชิงโครงสร้างต่างๆ ทั้งเรื่องความเป็นเจ้าของและที่มาของรายได้ ตลอดจนนโยบายด้านกำกับดูแลรายการและการสร้างความมีส่วนร่วม ฯลฯ ได้พยายามวางประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง โดยหวังว่าประสบการณ์ทั้งในและนอกประเทศ จะสามารถกำหนดเขตปลอดอำนาจรัฐ/ทุนขึ้นมาให้ได้

ในเมื่อสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ช่อง 5 ช่อง 7 ช่อง 9 ต่างได้ครอบครองสิทธิสัมปทานอันยาวนาน โดยดำเนินงานผ่านกลไกตลาด ภายใต้การถือครองของสำนักนายกรัฐมนตรีและกองทัพบก ขณะที่ช่อง 11 เป็นสถานีของกรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งทำหน้าที่สื่อสารให้กับรัฐบาลและหน่วยงานราชการทั้งหลาย จึงอาจกล่าวได้ว่าสถานีโทรทัศน์ในเมืองไทย โดยทั่วๆ ไปประกอบด้วย “ทีวีธุรกิจ” และ “ทีวีราชการ”

กระนั้นก็ดี กงล้อแห่งประวัติศาสตร์กำลังทำให้สถานีโทรทัศน์ช่องใหม่ก่อกำเนิดเกิดขึ้นบนผืนแผ่นดินไทยในระยะเวลาอันใกล้ ซึ่งถึงแม้ทีวีสาธารณะแห่งแรกนี้อาจมีลักษณะแปลกใหม่และคงต้องใช้เวลาไม่น้อยในการสร้างความนิยมและพลังศรัทธาให้เกิดขึ้นมาในหมู่ประชาชนผู้ชมโทรทัศน์

แต่ความสำเร็จและผลลัพธ์ระยะยาวต่อประเทศชาติ น่าจะคุ้มค่าสมกับที่หลายฝ่ายได้พยายามฟันฝ่าอุปสรรคและเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสื่อมาเป็นระยะเวลานับสิบปี

ที่มา มติชน วันที่ 04 มกราคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 30 ฉบับที่ 10891 หน้า 6

แท็ก คำค้นหา