ทีวีกับการเลือกตั้ง

โดย บุญเลิศ ช้างใหญ่
หนังสือพิมพ์มติชน

 

รายการโทรทัศน์ยังเป็นเหมือนเดิม มีละคร เกมโชว์มาอย่างไร วันนี้ก็ยังเป็นแบบนั้น รายการข่าวก็ไม่มีอะไรแตกต่างไปจากเดิม ทั้งๆ ที่ประเทศกำลังจะมีการเลือกตั้งในอีกไม่กี่วันนี้แล้ว

เปิดโทรทัศน์ดูข่าวเลือกตั้ง แต่ละช่องก็นำเสนอคล้ายๆ กัน คือ ใครไปหาเสียงที่ไหน มีผู้สมัครให้สัมภาษณ์สองสามคำ นอกจากนั้นก็เป็นข่าวเกี่ยวกับการเมืองอีกเล็กๆ น้อยๆ เกี่ยวกับเอกสารลับ คมช. กกต. เรื่องวุ่นๆ ในพรรคมัชฌิมาธิปไตย คนในบ้านเลขที่ 111 โพล ฯลฯ ข่าวที่นำเสนอเป็นแบบสรุปแล้วก็ให้ภาพพร้อมกับมีรายการที่เป็นสีสัน เบาๆ ดูแล้วเพลิดเพลิน จากนั้นก็จบรายการข่าวภาคเที่ยง ข่าวภาคค่ำรอบ 1 ทุ่ม ข่าวรอบ 3 ทุ่มเศษ

แม้โทรทัศน์บางช่องจะถ่ายทอดสดด้วยการเปิดเวทีสัญจรไปต่างจังหวัด เชิญตัวแทนพรรคมาขึ้นเวทีตอบคำถามในปัญหาต่างๆ ให้เวลาตอบเท่าๆ กัน

บอกตามตรงว่าเป็นรายการข่าวเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่น่าเบื่อที่สุด ไม่มีสาระอะไรพอจะเป็นโล้เป็นพายให้ประเทืองปัญญาของประชาชนที่ดูโทรทัศน์ได้เลย

ไม่อยากจะเชื่อว่าโทรทัศน์เมืองไทยที่เจริญก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี อุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือที่ทันสมัย เวลามีข่าวสำคัญๆ เช่น อุบัติภัยครั้งใหญ่ จำพวกสึนามิถล่มจังหวัดแถบทะเลอันดามัน น้ำป่าไหลทะลักทำให้คนล้มตายและบาดเจ็บจำนวนมาก เครื่องบินตกมีคนตายทั้งลำ ฯลฯ โทรทัศน์ทำหน้าที่รายงานข่าวสารได้อย่างน่าชื่นชม ทั้งในแง่ของความรวดเร็ว ความครบถ้วนของข่าวสาร เกี่ยวกับสาเหตุ ความเสียหาย การช่วยเหลือ

แต่ทำไม พอถึงการเลือกตั้งกลับทำกันไม่ได้

ข่าวเลือกตั้งที่โทรทัศน์แต่ละช่องนำเสนอเพียงแค่ผู้สมัครไปหาเสียงกันที่ไหน มีคนออกมาพูดถึงปัญหาอย่างโน้นอย่างนี้ หรือพูดสิ่งที่เรียกว่า นโยบาย แล้วก็ปัญหาความขัดแย้งในประเด็นต่างๆ ตั้งแต่ระดับหัวหน้าพรรคลงมาถึงผู้สมัคร มีแค่นี้จริงๆ ครั้นออกจากบ้านก็เห็นแผ่นป้ายติดกันหนาตาขึ้นในขนาดที่เท่าๆ กัน มีชื่อผู้สมัคร หมายเลข นโยบาย คำขวัญประจำพรรค-ประจำตัวผู้สมัคร อีกส่วนหนึ่งก็เป็นป้ายหมายเลขที่ลงสมัคร

แบบสัดส่วน ไม่รู้ว่าคนอื่นๆ จะรู้สึกแบบเดียวกับผมหรือเปล่าที่เห็นป้ายแบบตาลาย เกิดอาการเวียนหัว ด้วยเหตุที่จำแนกแยกแยะไม่ถูกว่าใครและพรรคไหนควรจะได้รับคะแนนจากผม

เสียงรณรงค์โฆษณาประชาสัมพันธ์จากโทรทัศน์ทุกช่องยังก้องอยู่ในหู บอกว่าให้เลือกคนดี มีความรู้ ความสามารถ เลือกคนที่ซื่อสัตย์สุจริต ไม่โกงไม่กิน และอย่าเลือกคนซื้อเสียง แต่ดูป้ายตามถนนและดูข่าวเลือกตั้งจากโทรทัศน์ ดูเท่าไรก็หาคำตอบให้กับตัวเองไม่ได้ว่าจะเลือกใครดี

เวลามีการเชิญตัวแทนพรรคมาออกรายการโทรทัศน์ ทั้งระดับหัวหน้าพรรค รองหัวหน้าพรรค กรรมการบริหารพรรค หรือผู้สมัครธรรมดามาร่วมรายการที่เรียกว่าประชันวิสัยทัศน์ แล้วตอบคำถามผู้ดำเนินรายการก็อดสงสัยไม่ได้ว่าสิ่งที่พูดๆ กันมาจนน้ำลายท่วมหน้าจอนั้น ไม่มีสักคำที่ผู้ดำเนินรายการจะถามว่า ที่แต่ละคนพูดมานั้นจะทำได้อย่างไร จะเป็นพรรคแกนนำรัฐบาล หรือหากเข้าร่วมรัฐบาลจะขอรับผิดชอบดูแลกระทรวงใด และนโยบายที่ประหลาดกว่าพรรคอื่นๆ ถ้าพรรคแกนนำรัฐบาลเขาไม่ยอมรับล่ะ

การให้ตัวแทนจากแพรรคการเมืองมาออกรายการที่เรียกว่าประชันวิสัยทัศน์จึงไม่ต่างไปจากละครน้ำเน่าเรื่อง “ฝันเฟื่องเรื่องนโยบาย” หรือไม่ก็ “น้ำท่วมทุ่ง ผักบุ้งเหลือเฟือ”

นี่ยังไม่รวมถึงตัวแทนพรรคการเมืองประเภทไม้ประดับที่ออกมาจ้อทางโทรทัศน์แบบเพ้อเจ้อไปเรื่อยๆ คนที่นั่งดูโทรทัศน์จนจบโดยไม่หมุนคลื่นไปช่องอื่น ต้องยกนิ้วให้ว่าเป็นคนที่ทรหดอดทนมากที่สุด สามารถทนฟังคนขายฝันได้ครั้งละนานๆ

การเลือกตั้งครั้งนี้ หรือครั้งไหนๆ ก็ไม่ต่างกันในเรื่องที่มีผู้สมัครให้เลือก แต่ละคนต่างสังกัดพรรค มีหัวหน้าและผู้บริหารเป็นผู้นำ มีการหาเสียง มีหมายเลข มีนโยบาย แต่ด้วยเหตุที่ครั้งนี้มีปัญหาทั้งความขัดแย้งแตกแยกของขั้วการเมือง ประชาชนแบ่งฝ่ายทางความคิด ประกอบกับกติกาว่าด้วยรูปแบบการเลือกตั้งได้เปลี่ยนไปจากเดิม รวมทั้งสถานะของ ส.ส.ก็เปลี่ยนแปลง แต่โทรทัศน์ไม่มีการนำเสนอและไม่นำไปซักถามผู้สมัครหรือผู้บริหารพรรค

เช่น รัฐธรรมนูญ มาตรา 122 กำหนดว่า ส.ส.และ ส.ว.ย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย โดยไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติ มอบหมาย หรือความครอบงำใดๆ และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์ โทรทัศน์ควรจะไปถามว่า ผู้ที่อยากจะเป็น ส.ส.เคยรับรู้ข้อกำหนดนี้มาบ้างไหม คิดเห็นอย่างไร จะทำได้หรือไม่ ถ้าทำไม่ได้จะเกิดอะไร อย่างไร

มาตรา 162 กำหนดไว้อีกว่า ส.ส.มีอิสระจากมติพรรคการเมืองในการตั้งกระทู้ถาม การอภิปรายและการลงมติในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ โทรทัศน์ก็ควรไปถามเช่นกันว่าถ้าได้เป็น ส.ส.จะกล้าแสดงความอิสระในกรณีเหล่านี้หรือไม่

รวมถึงหมวด 13 ว่าด้วยจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ก็ต้องถามว่า จะควบคุมจริยธรรมนักการเมืองได้อย่างไร รู้ไหมว่ารัฐธรรมนูญบัญญัติเรื่องนี้ไว้อย่างไร ถ้าไม่รู้ สมควรไหมที่จะเป็น ส.ส.

ส.ส.ลูกพรรคกล้าวิจารณ์และเสนอแนะหัวหน้าพรรคหรือไม่ ถ้าเห็นว่าหัวหน้าพรรคทำไม่ถูก เช่น ใช้วาจาหยาบกระด้าง ก้าวร้าวคนใหญ่คนโตในบ้านเมือง ฯลฯ

ที่ยกตัวอย่างมานี้ เป็นประเด็นที่ควรจะทดสอบปัญญาและสำนึกของผู้ที่ลงสมัครรับเลือกตั้งตั้งแต่หัวหน้าพรรคลงมาถึงลูกพรรค พร้อมกับต้องคาดคั้นว่าถ้าไม่ปฏิบัติในสิ่งที่รับปากไว้จะรับผิดชอบอย่างไร ไม่ใช่มาถามในหัวข้อที่เป็นเรื่องของรัฐมนตรีที่จะบริหารงาน พูดแล้วก็จบ โดยไม่รู้ว่าความรู้ ความคิดอ่าน ความเข้าใจของผู้สมัครต่อการเมืองมีมากพอที่ชาวบ้านสมควรจะฝากผีฝากไข้หรือไม่

รวมทั้งรายการข่าวที่ควรจะมีการวิเคราะห์เพื่อให้คนไทยได้รับรู้ว่าบ้านเมืองกำลังเผชิญปัญหาอะไร พรรคการเมืองที่ส่งสมาชิกลงสมัครมีความแตกต่างกันอย่างไร สิ่งที่พรรคการเมืองเรียกว่านโยบายจะทำโน่นทำนี่นั้น ทำได้หรือไม่ได้ อย่างไร คุณสมบัติของผู้ที่ควรจะเลือกเป็นแบบใด

ดูข่าวเลือกตั้งทางโทรทัศน์เวลานี้ เหมือนกินอาหารแห้งๆ ที่ฝืดคอ แถมยังมีรสเฝื่อนจนอยากจะคายทิ้ง การแก้ปัญหาของผมก็คือ ไม่ดูเสียเลยดีกว่า จะได้ไม้ต้องหงุดหงิดรำคาญใจ

คนที่อยากเห็นการปฏิรูปสื่อโทรทัศน์นำเสนอรายการเพื่อประโยชน์ของคนดูคงจะต้องรอไปอีกนาน

ที่มา มติชน วันที่ 06 ธันวาคม พ.ศ. 2550 ปีที่ 30 ฉบับที่ 10862 หน้า 6

แท็ก คำค้นหา