Public TV (1) “ทุกอย่างมีโมเมนตัมของมัน…ตีเหล็กต้องตีตอนที่ยังร้อน”

โดย กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
ผู้จัดการรายวัน

 

รอคอยกันมานาน ในที่สุด พระราชบัญญัติองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ.2550 หรือเรียกง่ายๆ ว่า พ.ร.บ.ทีวีสาธารณะ ก็ได้ฤกษ์ออกมาเป็นตัวเป็นตนเสียที ท่ามกลางคำถามถึงความเร่งรีบ จนการมีส่วนร่วมของประชาชนเกิดขึ้นค่อนข้างน้อย, เป็นกลยุทธ์ทางการเมืองของอำนาจใหม่ และข้อสงสัยหลายเรื่อง

ทำไมต้องมีทีวีสาธารณะ? เป็นความจริงที่ว่าสังคมได้รับบทเรียนมากมายกับการที่สื่อไม่ได้เป็นอิสระอย่างแท้จริง โดยเฉพาะโทรทัศน์ซึ่งเป็นสื่อที่มีอิทธิพลมากที่สุด แต่กลับถูกตั้งคำถามถึงความเหมาะสมในการนำเสนอข่าวและรายการมากที่สุด กลายเป็นว่าสำหรับบางคนการไม่ได้ดูโทรทัศน์ก็ใช่ว่าจะทำให้ชีวิตต้องสูญเสียอะไรไป

แต่สิ่งที่จะต้องทำความเข้าใจให้ตรงกันก่อนก็คือ การเกิดขึ้นของทีวีสาธารณะไม่ได้หมายความว่าการปฏิรูปสื่อได้เดินทางมาถึงจุดหมายแล้ว เอาเข้าจริงๆ ทีวีสาธารณะน่าจะเป็นเพียงการเริ่มต้นด้วยซ้ำ

และในขณะที่การก่อเกิดทีวีสาธารณะกำลังเคลื่อน ‘ปริทรรศน์’ ก็คิดว่าน่าจะหาใครสักคนที่ปรุโปร่งและสามารถตอบคำถามและข้อกังวลต่างๆ ของประชาชนมานั่งพูดคุยกัน และชื่ออันดับต้นๆ ที่เรานึกถึงก็คือ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ผู้อำนวยการวิจัย (เศรษฐกิจยุคสารสนเทศ) สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ ผู้ที่มีบทบาทสูงมากคนหนึ่งในการผลักดันกฎหมายฉบับนี้ เขายอมรับว่าเป็นความตั้งใจที่ต้องการออกกฎหมายให้เร็ว แต่ทำไมต้องเร็ว คำตอบมีอยู่หลังจากนี้

(เนื่องจากความยาวของการพูดคุยเราจึงแบ่งเนื้อหาออกเป็น 2 ตอน)

*มีคำถามเกิดขึ้นว่าความเร่งร้อนในการออก พ.ร.บ.ทีวีสาธารณะ ทำให้การมีส่วนร่วม การรับรู้ การตระหนักรู้ของประชาชนมีค่อนข้างน้อย

จริงๆ มันมีกระบวนการมาตลอดนะครับ ไม่ใช่เพิ่งจะทำกันและไม่ได้รีบร้อน พยายามทำให้เร็วนี่ใช่ แต่ว่ารีบร้อนเร็วเกินไปหรือเปล่า คงไม่ใช่ ผมเห็นกฎหมายหลายฉบับใน สนช. ที่มีมาตรามากกว่านี้ เข้าหลัง ออกก่อนเยอะแยะเลย เพราะฉะนั้นเมื่อเทียบกับเกณฑ์ สนช. แล้วคงไม่ใช่

เริ่มร่างกฎหมายตั้งแต่ก่อนเดือนนี้ของปีที่แล้วอีก ตัวกฎหมายนี้ร่างมาเป็นปีแล้ว ร่างเสร็จนำไปรับฟังความเห็นที่สภาแล้ว 1 ครั้ง รับฟังความเห็นจากเวทีต่างๆ ที่มีคนเยอะพอสมควรอีก 2-3 ครั้ง ร่างก็แจกเยอะพอสมควร มีการเชิญผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศมา Comment แล้ว มีการรับฟังความคิดเห็นประชาชนตอนที่จะโอนไอทีวีมาเป็นส่วนหนึ่งของสำนักปลัดฯ ตอนที่ยึดสัมปทานคืนว่าจะเอาไอทีวีไปทำอะไร รัฐบาลก็มีกระบวนการ 1 เดือนเต็มๆ เพื่อรับฟังความเห็นประชาชน แล้วก็มีเวทีของเครือข่ายต่างๆ อีกเต็มไปหมดเลย

ถ้าอย่างนี้ยังบอกว่ามีส่วนร่วมไม่เยอะ…ก็มองในมุมหนึ่งอาจมีส่วนจริงว่าคนยังไม่เข้าใจทั้งหมด แต่ถามว่าให้ทำอะไรมากกว่านี้ไหวมั้ย ก็คงต้องทำแบบรัฐธรรมนูญครับ ต้องมีงบประมาณพันล้าน จัดเวทีได้ทั่วประเทศ

*คุณบอกว่าต้องการออกให้เร็วเป็นเรื่องจริง แสดงว่ามีการคิดกันว่าถ้าปล่อยให้เนิ่นช้าออกไป รอให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเป็นผู้พิจารณาอาจทำให้ พ.ร.บ. ตัวนี้ออกมาไม่ได้

เรื่องทุกอย่างมันมีโมเมนตัมของมัน ไม่ใช่ว่าทำวันนี้แล้วอีก 5 ปีเสร็จ อย่างนั้นจะเป็นงานที่ไม่สำเร็จเลย ไม่ว่าจะงานไหนและอยู่ในรัฐบาลแบบไหนด้วยตีเหล็กก็ต้องตีตอนที่ร้อน ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา

อีกส่วนหนึ่งก็ไม่ได้ปฏิเสธว่าอย่างน้อยรัฐบาลนี้เข้าใจเรื่องทีวีสาธารณะมากกว่ารัฐบาลอื่นที่ผ่านๆ มา คือรัฐบาลอื่นเคยพูดแต่ไม่เคยมีการลงมือทำเป็นรูปธรรม เพราะฉะนั้นก็อาจจะมีส่วนจริงที่ว่าเรื่องอย่างนี้ต้องทำในรัฐบาลแบบนี้ เพราะตอนเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) รัฐมนตรีใน ครม. ก็สนับสนุนกัน แล้วไม่ใช่สนับสนุนแบบไม่รู้เรื่อง ทุกคนเคยดูทีวีสาธารณะต่างประเทศมา แล้ว Comment ได้ตรงจุด เป็นเรื่องเป็นราวทั้งหมด มันก็บอกอะไรหลายอย่างว่ารัฐบาลนี้สนับสนุน การดันกฎหมายนี่เป็นเรื่องหนึ่ง แต่การสนับสนุนด้วยการจัดสรรงบประมาณให้ในรูปของภาษีนี่เป็นเรื่องยากมาก ถ้าคุณทำตรงนี้ไม่สำเร็จแล้วรัฐบาลใหม่มาเปลี่ยนสิ่งที่คุณทำมา ตรงนี้ก็พังไปเลย

*ทำไมต้อง ITV ทั้งที่ช่อง 11 น่าจะมีโครงข่ายที่พร้อมกว่า

ทีวีคงไม่ใช่เรื่องฮาร์ดแวร์อย่างเดียว ถ้าอย่างนั้นหนังสือพิมพ์ก็คือแท่นพิมพ์อย่างเดียว ทีวีก็เหมือนกัน ไม่ใช่ว่าช่องที่ฮาร์ดแวร์ดีที่สุดจะเป็นช่องที่ดีที่สุด มันต้องประกอบกัน แล้วฮาร์ดแวร์เป็นส่วนประกอบที่มีเงินก็ซื้อได้ สิ่งสำคัญสุดของแต่ละช่องคือมีเงินพร้อมมั้ย ธรรมชาติของสถานีทำอะไรเป็นหลัก ถ้าเป็นสถานีที่เน้นบันเทิงเยอะก็คงจะลำบากที่จะเข็นออกมาเป็นทีวีสาธารณะ เพราะต้องไปเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กร และถึงแม้จะเปลี่ยนคนทั้งองค์กรหมด แต่ในสายตาคนดูก็ยังจะมองเป็นทีวีบันเทิง เช่น คุณไปซื้อต่อช่อง 3 จากคุณประชา มาลีนนท์มา แล้วคนที่เคยดูช่อง 3 กดมาดู ซึ่งมันเป็นช่องบันเทิงมาแต่ไหนแต่ไร แล้ววันดีคืนดีมันกลายเป็นทีวีสาธารณะ กดมาแล้วไม่ใช่บันเทิง เรื่องแบบนี้มันก็ต้องไปเปลี่ยนในใจคนดูด้วยซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลย แต่ละช่องมันมีคาแร็กเตอร์ของมัน

ไอทีวีมีจุดดีคือมีคาแร็กเตอร์เป็นสถานีข่าวและทำข่าวได้ค่อนข้างโดดเด่นจึงค่อนข้างสอดคล้องกับทีวีสาธารณะ เพราะทีวีสาธารณะต้องมีข่าวเป็นตัวหลักและประกอบด้วยรายการสาระ ไอทีวีถูกกำหนดสัดส่วน 70:30 จะเต็มใจหรือเปล่าไม่รู้ล่ะ มีสาระเป็นสัดส่วนที่สูงมาก บันเทิงก็ต้องเป็นบันเทิงแบบสร้างสรรค์ โดยรูปแบบของรายการมันก็ตั้งไว้สูงพอสมควร แล้วโดยศักยภาพของคนในการทำข่าว ทำรายการก็มีสูง

การทำอะไรให้สำเร็จคุณจะอุดมคติมากไม่ได้ ไม่ว่าคุณจะชอบหรือไม่ชอบก็ตาม รัฐบาลไทยยังอยากมีเครื่องมือประชาสัมพันธ์เป็นของตัวเอง ไม่ว่าจะรัฐบาลนี้หรือรัฐบาลต่อไป ถ้าคุณไปเอาช่อง 11 มาสำเร็จ แต่รัฐบาลใหม่เข้ามาแล้วไม่มีเครื่องมือประชาสัมพันธ์ สิ่งที่รัฐบาลใหม่จะทำก็คือไปตั้งสถานีเหมือนช่อง 11 อีก ดังนั้น ถ้าคุณคิดว่าคุณไม่ชอบช่อง 11 เพราะว่ามันมีอยู่และไม่สอดคล้องกับอุดมคติ ซึ่งอุดมคติของผมก็ไม่ใช่อุดมคติที่ว่ารัฐต้องเป็นเจ้าของทีวี แต่ถ้าความเป็นจริงในสังคมไทยยังเป็นอย่างนี้อยู่ รัฐบาลใหม่ก็จะไปเปิดช่องใหม่เพื่อทำช่อง 11 ช่องใหม่ ในเวลาเดียวกันรัฐบาลก็ต้องไปแก้ปัญหาไอทีวีที่ยึดกลับมาเป็นของรัฐอีกด้วยว่าจะทำยังไงกับมัน ถ้าปล่อยให้เป็น SDU ไปนานๆ มันก็จะกลายเป็นช่อง 11 ไปอีกแบบหนึ่ง แต่เป็นช่อง 11 ที่มีเงินเยอะกว่าช่อง 11 เดิม

ถ้าถามว่าสร้างทีวีสาธารณะในอุดมคติแบบไหนดีที่สุด อุดมคติเลยหมายความว่ามีทรัพยากรและเวลาเยอะพอ วิธีที่ดีที่สุดคือเปิดคลื่นใหม่เลย สร้างจากศูนย์เลย จะสร้างวัฒนธรรมองค์กร จะปรับแต่งมันจะไม่ติดประวัติศาสตร์ อย่างที่ไปเอาไอทีวีมามันมีจุดเด่นบางเรื่อง แต่มันก็มีจุดด้อยบ้างเรื่องติดมาด้วย ความเชื่อเก่าๆ วัฒนธรรมองค์กรเก่าๆ บางอย่างก็เหมาะกับทีวีสาธารณะ บางอย่างก็ไม่เหมาะ มันไม่ดีเท่ากับเริ่มจากศูนย์

แต่การเริ่มจากศูนย์ภายใน 3 ปีคุณก็ทำไม่สำเร็จ และก็หมายความว่าคุณก็คงไม่สามารถทำสำเร็จได้อีกเลย เพราะฉะนั้นในความเป็นจริงคุณก็ต้องดูว่าสิ่งที่ควรจะเป็นและสิ่งที่เป็นไปได้คืออะไร อะไรเป็นจุดที่จะเอา 2 จุดมาเจอกัน

*มีคนตั้งข้อสังเกตไว้ว่าการเอาไอทีวีมาทำเป็นทีวีสาธารณะ ส่วนหนึ่งเป็นความตั้งใจที่จะล้างขั้วอำนาจเก่าด้วย

จริงๆ แล้วผมเป็นคนเสนอไอทีวีให้รัฐบาลเลือกนะ แล้วตอนแรกๆ รัฐบาลอยากจะเอาช่อง 11 ด้วยนะ ถ้าคุณฟังคุณหญิงทิพาวดีอภิปรายในสภา

*แปลว่าไม่ใช่ความพยายามที่จะล้างขั้วอำนาจเก่า

ไม่ใช่การล้างขั้วอำนาจ คือแต่ละคนคงมีความเห็นต่างๆ กันว่ามองไอทีวีเดิมเป็นยังไง มันก็มียุค มีสมัยของมัน มียุคที่ไอทีวีเข้าใกล้ทีวีเสรีจริงๆ มียุคที่ไอทีวีอยู่ภายใต้ชิน และยุคเทมาเส็ก ซึ่งแต่ละช่วงก็มีความแตกต่างของมัน แต่ยังไม่เคยมีการพิสูจน์ที่เป็นวิชาการว่าไอทีวีมีอคติในการนำเสนอรายการอย่างแตกต่างจากช่องอื่น ซึ่งไม่ได้แปลว่าไอทีวีอยู่ในมาตรฐานของวารสารศาสตร์หรือนิเทศศาสตร์ทั่วไปนะครับ แต่ช่องอื่นก็มีอคติของตัวเองอีกแบบหนึ่งเหมือนกัน

งานวิจัยอย่างของมีเดีย มอนิเตอร์ที่เคยกล่าวถึงการส่งเอสเอ็มเอสเข้าไปในรายการทีวี แล้วเอสเอ็มเอสนั้นถูกหยิบมาใช้แบบไหน ปรากฏว่าช่องที่เชียร์รัฐบาลทักษิณในตอนนั้นมากสุดคือช่อง 5 มากกว่าไอทีวีด้วยซ้ำ ไอทีวีจะออกมาอยู่กลางๆ แต่ว่าทุกช่อง Discourse ตัวเอสเอ็มเอสหมด คือไม่ได้เลือกเอสเอ็มเอสแบบสุ่มหรือแบบเป็นธรรม

แต่ตัวที่ไม่เป็นหลักฐานทางวิชาการมีข้อสังเกตเยอะว่าไอทีวีเป็นขั้วอำนาจเก่าหรือไม่ ก็เป็นที่ถกเถียงกัน เพราะว่าตัวพนักงานบางส่วนก็ยืนยันตลอดว่าตัวเองไม่ใช่ แต่คนกลุ่มใหญ่พอสมควรเชื่อว่าไอทีวีเป็นส่วนหนึ่งของระบอบทักษิณ ก็เป็นประเด็นที่มันเปิดอยู่

*ในช่วงเริ่มต้นซึ่งมีความสำคัญมากและถือเป็นตัวกำหนดวัฒนธรรมองค์กรต่อไป ก็มีข้อกังวลว่าจะปล่อยให้คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งกรรมการกันเองดีหรือ อีกทั้งคุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์เองก็เคยมีแนวคิดสนับสนุนให้ไอทีวีเป็น SDU

คือมันแฟร์และเป็นธรรมที่จะกังวลเพราะมันสำคัญมากๆ แต่คำถามก็คือแล้วทางเลือกคืออะไร ทางเลือกคือไม่ต้องมีกรรมการอะไรเลย แต่กฎหมายมันออกมาแล้ว กว่าจะสรรหากันได้ตามกฎหมายมันใช้เวลาพอสมควร ถ้าอย่างนั้นช่วงเวลาก่อนนั้นคุณจะบริหารจัดการยังไง ถึงที่สุดก็ต้องมีใครสักคนมาดูแล ใครที่ว่านั้นมาจากไหนเท่านั้นเอง ถ้าคุณไม่ให้มาจากรัฐบาลแล้วคุณจะให้มาจากไหน คุณก็ต้องมีทางเลือก

ถ้าไม่มีทางเลือกคุณก็รอดูว่าหน้าตาของคนที่ออกมาจะเป็นคนยังไง ออกมาแล้วยี้หรือออกมาแล้วใช่เลย ก็ต้องพิสูจน์กัน และผมว่ามันจะเป็นการพิสูจน์รัฐบาลด้วยว่ารัฐบาลมองทีวีสาธารณะยังไง สำหรับตัวผมเองซึ่งไม่ใช่คนตั้ง เพราะฉะนั้นผมก็อยากรู้เหมือนกันว่ารัฐบาลจะเลือกคนที่สังคมเชื่อถือหรือเปล่า หรือจะเลือกคนที่เชื่อฟังรัฐบาล

ผมก็กังวล ผมก็อยากได้กรรมการที่ออกมาแล้วทุกคนบอกว่าใช่เลย และประกอบด้วยส่วนที่หลากหลายพอสมควร มีคนที่มีความสามารถในการบริหารจัดการ มีคนที่เข้าใจสื่อ มีคนที่เข้าใจโลกสมัยใหม่ เข้าใจภูมิปัญญาแบบเดิม หลายๆ อย่างจะต้องสมดุล ต้องสมดุลทางเพศด้วย แต่ว่าจะหาคนได้ 5 คนแบบนี้ แล้วคนเหล่านั้นจะยอมมาเป็นกรรมการหรือเปล่า มันไม่ใช่เรื่องง่าย แต่นี่ไม่ใช่หน้าที่ผม มันเป็นหน้าที่รัฐบาล ผมก็ลุ้นอยู่เหมือนกันว่ารัฐบาลจะเลือกได้ใช่เลยขนาดไหน

แต่คณะกรรมการชุดแรกนี่จะอยู่แค่ 6 เดือน แล้วหลังจากนั้นถ้าไม่ดียังไง ให้ประชาชนไปบอก 15 องค์กรที่จะมาเป็นผู้คัดเลือกว่าอยากจะได้แบบไหน

*พ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ กับการสรรหา กสทช. ที่จะเกิดตามมาในอนาคตจะมีผลกระทบกับทีวีสาธารณะบ้างหรือเปล่า

มันมีกฎหมายทีวีสาธารณะซึ่งสมบูรณ์ในตัวเอง มีกฎหมายประกอบกิจกรรมซึ่งเข้าไปเมื่อวันที่ 14 และมีกฎหมายองค์กรจัดสรรคลื่นซึ่งยังอยู่ที่กฤษฎีกาอยู่ มันมีเกี่ยวอยู่บ้างคือไม่มีข้อยกเว้นว่าทีวีสาธารณะไม่อยู่ภายใต้ กสทช. เพราะฉะนั้นเมื่อไม่ยกเว้นก็แปลว่ายังอยู่

ยกตัวอย่างเช่นในกฎหมายทีวีสาธารณะมีกระบวนการรับเรื่องร้องเรียน คุณดูแล้วพบว่าไม่ได้นำเสนอตรงตามที่กฎหมายเขียนเลย แล้วคุณไปร้องซึ่งตามกฎหมายทีวีสาธารณะก็จะมีวิธีร้องเรียน แต่ตามกฎหมายประกอบกิจการฯ และอำนาจของ กสทช. ก็มีอำนาจรับเรื่องร้องเรียนด้วย ทีนี้การที่กฎหมายทีวีสาธารณะไม่ได้เขียนยกเว้นไว้ หมายความว่าถ้าคุณร้องเรียนกับทีวีสาธารณะแล้วไม่พอใจก็ยังสามารถไปร้องเรียนกับ กสทช. ได้อีก มันก็ไม่ถึงกับไม่เกี่ยวข้องกันเลย และถ้าทีวีสาธารณะอยากจะทำทีวีอีกช่องหนึ่ง ทำเคเบิลทีวี ทำทีวีดาวเทียม หรืออะไรก็แล้วแต่ ก็ต้องไปขออนุญาต กสทช. แต่สำหรับคลื่นตัวแรกนี้ กฎหมายนี้รับประกันไว้แล้ว

แต่จะไม่ส่งผลต่อการทำงานหรือความเป็นกลางใดๆ ทั้งสิ้นต่อทีวีสาธารณะ เพราะกฎหมายเขียนไว้ชัดว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐคนใดไปแทรกแซงให้ทีวีสาธารณะดำเนินการโดยขัดต่อข้อกำหนดจริยธรรม ถือว่าการแทรกแซงนั้นไม่มีผลและไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก็แปลว่าถ้าเกิดทีวีช่องนี้เสนอข่าวเป็นกลางแล้ว กสทช. มาบอกให้เสนออีกแบบหนึ่ง กสทช. มีสิทธิหลุดจากตำแหน่งเลย เพราะใช้อำนาจโดยมิชอบ กสทช. ถือว่าเป็นพนักงานตามกฎหมายอาญาด้วย

*ในฐานะคนดูทั่วๆ ไป เชื่อว่าคงเกิดคำถามในใจว่าตั้งทีวีสาธารณะขึ้นมาแล้ว ประชาชนคนดูจะได้อะไรจากทีวีช่องนี้ มันจะมีความแตกต่างจากช่องอื่นๆ ยังไง

ต้องแตกต่าง ถ้าไม่แตกต่างก็ไม่รู้จะมีไปทำไม เช่น เวลามีข่าวสำคัญคนจะมาดูข่าวช่องนี้ เพราะมั่นใจได้ว่าข่าวช่องนี้ไม่โดนรัฐแทรกแซง ไม่โดนธุรกิจแทรกแซง เชื่อได้ในคุณภาพของข่าว ไม่ได้แปลว่าข่าวไม่มีวันผิด มีโอกาสผิดได้บีบีซีก็ยังผิด เพียงแต่ว่าจะมีความระมัดระวังในการนำเสนอสูง มาตรฐานจะต้องสูงที่สุด

รายการบันเทิง เช่น รายการละคร ไม่ได้ห้ามว่าไม่ให้มี แต่ละครต้องไม่ใช่ละครน้ำเน่า ตบ จูบ ไม่ใช่อะไรที่วนไปวนมาแบบนี้ ของพวกนี้จะดูแล้วต่างแน่ รายการสนทนาต้องครบถ้วนรอบด้าน เขียนไว้ในกฎหมายเลยว่าทำแล้วจะต้องมีแง่มุมที่มันแตกต่าง ตอนนี้มีทีวีที่มันเอียงกระเท่เร่อยู่เยอะมาก ด้วยความที่คิดว่าต้องเลือกข้างหรืออะไรก็แล้วแต่ ซึ่งเขาก็คิดว่าเขามีมาตรฐานตามแบบของเขา แต่ทีวีสาธารณะจะมีมาตรฐานตามแบบที่กฎหมายเขียนไว้ ก็แปลว่าคนดูจะเป็นคนตัดสินใจว่าจะเลือกเชื่อใครเมื่อได้ทุกฝ่าย ไม่ใช่ว่าตัดสินใจตามใครเพราะได้ฟังแต่ฝ่ายเดียว

แล้วถ้าเป็นรายการที่ช่องอื่นมีน้อย รายการสารคดี รายการสำหรับเด็กช่องนี้จะมี เพราะไม่ต้องเป็นห่วงว่าสปอนเซอร์จะหาได้หรือไม่ได้ รายการสำหรับคนที่ไม่มีกำลังซื้อจะมี เช่น รายการของคนสูงอายุ ทีวีทั่วไปไม่อยากทำเพราะทำแล้วหาโฆษณาลงไม่ได้

รายการทอล์ก รายการข่าว เปิดมาจะดูออกเลยเพราะจะไม่มีโลโก้ใดๆ ติดอยู่บนโต๊ะ แก้วน้ำก็ไม่ใช่แก้วกาแฟที่โชว์ยี่ห้อ

*อย่างที่คุณบอกว่ามันมีความแตกต่างในตัวสินค้าแน่นอน แต่วัฒนธรรมในการเสพสื่อของคนไทยที่ถูกหลอมด้วยรายการแบบนี้มานานมาก ทีวีสาธารณะจะฝ่าไปได้หรือเปล่า

เมื่อวานนี้ผมคุยกับผู้ทำรายการรายใหญ่รายหนึ่ง รายนี้แต่เดิมตอนที่กฎหมายยังไม่ออก ท่าทีเขาก็ยังไม่อยากให้ทีไอทีวีไปเป็นทีวีสาธารณะ เขาอยากให้ทีไอทีวีเป็นทีวีเสรีคือเป็นทีวีพาณิชย์แบบเดิม แต่เมื่อวานเขาบอกว่าถ้าเขามีโอกาสได้ทำรายการให้ช่องนี้ ทำแล้วจะแตกต่างจากทุกช่องแน่ ทั้งที่เขาก็ทำอยู่หลายๆ ช่อง เขาบอกว่าละครช่องนี้จะเป็นละครที่ทำแล้วต้องขายระดับอินเตอร์ฯ ได้

แม้แต่คนที่ทำรายการมาโดยตลอดแล้วคิดว่ามันมีกรอบอยู่ เขาเห็นแล้วว่าช่องนี้มันไม่มีกรอบว่าคุณจะต้องเอาใจสปอนเซอร์ ต้องทำเรตติ้ง หรือต้องติดโฆษณาแฝงเต็มไปหมด แล้วคุณไม่ต้องห่วงว่าใครมีเส้นมาไล่เตะเข้า เตะออก เป็นแดนสนธยา

จินตนาการพวกนี้ผู้ผลิตรายการเริ่มเห็นแล้ว แต่มันยังไม่ถึงคนดูเพราะว่ามันยังไม่ได้ออกจอ ซึ่งตรงนี้จะเป็นการพิสูจน์กึ๋นของผู้ออกรายการจริงๆ แล้ว สมัยหนึ่งคุณอ้างว่าคุณต้องทำละครน้ำเน่าเพราะว่าคนลงโฆษณาอยากลงแบบนี้ เพราะคนดูแบบนี้ แต่ตอนนี้คุณไม่มีข้อจำกัดใดๆ แล้ว คุณลองทำดูสิว่าคุณทำได้แค่ไหน ต้องพิสูจน์กันครับ

โดย ผู้จัดการรายวัน 19 พฤศจิกายน 2550 18:37 น.

แท็ก คำค้นหา