มายาภาพข่าวการเมือง – ข่าวบันเทิง

โดย ผศ.สุรสิทธิ์ วิทยารัฐ
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

 

ข่าวการเมืองในช่วงก่อนการเลือกตั้ง เริ่มจะมีความคึกคัก และหวือหวาเป็นพิเศษ ขนาดว่าเปิดประเด็นข่าวรวมพรรค ที่ตื่นตะลึงสังคมแทบตั้งตัวไม่ติดกันเลยทีเลย แต่ไม่ทันข้ามวันกลับกลายเป็นเรื่องไม่เป็นเรื่องกันขึ้นมา จวบเหมาะกับข่าวบันเทิง ก็มีเรื่องราวหวือหวาขึ้นมา กรณีดาราหญิง แย่งรถ แย่งดาราชาย ความเหมือนกันของข่าวการเมือง และข่าวบันเทิงในวันนี้ คือ มายาภาพที่เกิดขึ้นสื่อมวลชน

มายาภาพที่เกิดขึ้นในประเด็นข่าวทั้ง 2 กรณีนี้ มีผู้วิเคราะห์จากบริบทแวดล้อมที่เป็นข่าวสารที่ปรากฏในพื้นที่สื่อว่าเป็น “การจัดฉากเหตุการณ์” กรณีทางการเมืองเป็นการจัดฉากเหตุการณ์ให้เห็นค่า เห็นราคาของนักการเมืองก่อนการเลือกตั้งหรือไม่ คล้ายคลึงกับกรณีเหตุการณ์วิวาทกันของดาราที่ว่ามีการจัดฉากกันให้เป็นเรื่องราวทะเลาะวิวาท คำตอบว่ามีการจัดฉากกันขึ้นมาหรือไม่นั้น อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการวิเคราะห์ผลได้ผลเสียของทั้ง 2 กรณี พอๆ กับอาจเป็นบทสรุปของข่าวนี้เช่นเดียวกัน

ประเด็นที่น่าคิด คือ ผู้มีส่วนร่วมสร้างข่าวนี้ขึ้น ได้แก่ นักการเมือง ดารา นักข่าว คอมเม้นเตเตอร์สังคม ทำอะไรกันอยู่กับประเด็นข่าวนี้ ได้ร่วมกันสร้างมายาภาพให้เกิดขึ้นกับตัวเองและสังคมหรือไม่

คำว่า “มายาภาพ” เป็นคำที่สะท้อนให้เห็นถึง มายาคติที่ฝังลึกอยู่ในข่าวสารที่นำเสนอในสื่อมวลชน ซึ่งผู้รับข่าวสารต้องระมัดระวัง และเรียนรู้อย่างเท่าทันข่าวสารในลักษณะนี้

ผลเสียที่เกิดขึ้น นอกจากมีผลต่อภาพลักษณ์ของ “บุคคลในข่าว” แล้ว ยังมีผลต่อการสร้างความหมายให้กับค่านิยมที่เป็นลบต่อวงการการเมือง หรือค่านิยมเรื่องเกี่ยวกับเพศที่เกิดจากการเลียนแบบดารา

ส่วนใหญ่เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในสื่อมวลชนแล้ว บุคคลในข่าวโดยเฉพาะคนเด่นคนดังมักจะพยายามปรับสร้างให้เกิดภาพลักษณ์บวกต่อตัวเอง ข้อมูลที่ปรากฏในสื่อมวลชนจึงเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาตามที่บุคคลในข่าว ซึ่งเป็นแหล่งข่าวพยายามกำหนดประเด็นให้เกิด ซึ่งในที่สุดก็จะมีผลต่อการเกิดความสับสนในข่าวสารให้กับผู้รับข่าวสารจากสื่อมวลชน

มายาภาพมีความเกี่ยวข้องกับวาทกรรม และภาพลักษณ์ในสื่อมวลชน ที่มีผู้ให้ความสนใจศึกษามีตำรา และผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องออกมามากมายทั้งในประเทศและต่างประเทศในห้วงเวลาที่ผ่านมา

วาทกรรม (Discourse) เป็นระบบ และกระบวนการในการสร้าง หรือการผลิต (constitute) เอกลักษณ์ (identity) และความหมาย (significance) ให้กับสรรพสิ่งต่างๆ ในสังคมที่ห่อหุ้มเราอยู่ ไม่ว่าจะเป็นความรู้ ความจริง อำนาจ หรือตัวตน นอกจากนั้น ยังทำหน้าที่ตรึงสิ่งที่สร้างขึ้นให้ดำรงอยู่ และเป็นที่ยอมรับของสังคมในวงกว้าง

นักวิชาการต่างประเทศที่ให้ความสำคัญในการใช้วิธีวิทยาวาทกรรม (discourse) ในการศึกษาวิเคราะห์ ก็คือ มิเชล ฟูโก (Michel Foucault) นักคิด นักเขียน และนักปรัชญาชาวฝรั่งเศสที่มีชื่อเสียง และ โรลอง บาร์ธส์ (Roland Barthes) นักคิดชาวฝรั่งเศส ผู้จุดเริ่มต้นของการให้ความสำคัญแก่ การวิเคราะห์ตามแนวสัญวิทยา (Semiological Analysis) ซึ่งว่าด้วยการศึกษาวิเคราะห์ความหมายของภาษาที่มีเบื้องหลังของการกำหนดความหมาย ซึ่งสอดคล้องกับความสนใจของมิเชล ฟูโก

ในปัจจุบัน แนววิเคราะห์แบบสัญวิทยา ได้รับการนำมาเป็นเครื่องมือในการศึกษาวิเคราะห์เชิงวัฒนธรรม (Semiological Analysis of Culture) ในเนื้อหา และข่าวสารที่ปรากฏผ่านสื่อสารมวลชน รวมทั้ง เนื้อหาทางวรรณกรรมต่างๆ ว่ามีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมอย่างไร ที่เรียกกันในแวดวงนักวิชาการสาขาสื่อสารมวลชนและนิเทศศาสตร์ไทยว่า “มายาคติ” (Mythologies)

ย้อนกลับมาดูข่าวการเมือง กรณีการประกาศรวมพรรคการเมืองโค้งสุดท้ายก่อนการลงสมัครรับเลือกตั้ง มีอะไรเป็นแรงจูงใจหรือไม่ นักการเมืองที่มีประสบการณ์ในทางการเมือง จะใช้สื่อมวลชนในการเผยแพร่ข่าว เช่น การกำหนดประเด็นข่าว (agenda setting) การให้ข่าวลือ การเต้าข่าว บางกรณี เพื่อหยั่งเสียงคะแนนนิยม หรือเพื่อรู้เห็นความคิดของประชาชน เป็นต้น ข่าวการเมืองที่ปรากฏอยู่ในสื่อบางครั้งเป็นผลมาจากแหล่งข่าวที่เป็นนักการเมืองปล่อยข่าว และเต้าข่าวก็เป็นไปได้

กรณีที่เกิดขึ้น นักข่าวจะไม่สามารถไปพบกันในสถานที่เกิดเหตุการณ์ข่าวประชุมรวมพรรคนั้นได้เลย หากไม่มีบุคคลในวงการการเมืองได้ให้นัดหมายมายังสื่อ

ส่วนกรณีข่าวบันเทิงเหตุการณ์วิวาทนั้น ผลที่เกิดขึ้นดารา และแหล่งข่าวบางรายที่ทำหน้าที่ “คอมเม้นเตเตอร์” (Commentator) ซึ่งมีน้ำหนักในการแสดงความคิดเห็น ที่อาจทำให้เกิดกระแสในสังคม มากกว่าการแก้ไขปัญหาอย่างสร้างสรรค์เป็นรูปธรรมในกรณีนั้นๆ ได้ ปัญหาที่เกิดขึ้นกรณีดาราเป็นกรณีที่จำเป็นต้องแก้ไขเป็นรายกรณี เพราะเป็นปัญหาทางสังคมที่มีบริบทของเรื่องราวที่แตกต่างกันไป จะเหมารวม และสรุปง่ายๆ ไม่ได้

แต่การที่คอมเม้นเตเตอร์สังคมออกมาตอกย้ำเรื่องราว ทำให้เกิดการผลิตซ้ำข่าวสารนี้ลงในสื่อ ซึ่งในที่สุดแล้ว จะกลายเป็นข่าวสารที่มีผลลบต่อสังคม เพราะอาจเกิดการลอกเลียนแบบของเยาวชนได้อย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของคอมเม้นเตเตอร์สังคม และนักข่าวนั่นเอง เข้าทำนองว่าคอมเม้นเตเตอร์ได้หน้าได้ตา นักข่าวได้ข่าว แต่คนอ่านไม่ได้อะไรมากนัก

คำถามคือว่า เมื่อมีเรื่องราวในประเด็นข่าวลักษณะนี้เกิดขึ้น นักข่าวจำเป็นต้องวิ่งไปหาคอมเม้นเตเตอร์สังคมเพื่อสอบถามความคิดเห็นหรือไม่ กรณีเหตุการณ์นี้ อาจเป็นหน้าที่ของนักข่าวสายอาชญากรรมมากกว่านักข่าวสายบันเทิงที่เริ่มเปิดประเด็นขึ้นมาแทน เพราะเป็นทะเลาะวิวาทของบุคคล แหล่งข่าวที่อาจต้องคลี่คลายคือ ตำรวจฝ่ายสืบสวนสอบสวนหรือไม่

ที่น่าแปลกใจ คือ ผู้เกี่ยวข้องกับข่าวบันเทิงชิ้นนี้มีการใช้สื่อที่ตนเองเกี่ยวข้องเป็นช่องทาง หรือกระบอกเสียงในการนำเสนอสารที่ฝ่ายตนเองต้องการ ซึ่งทำให้บทบาทของรายการโทรทัศน์ที่นำเสนอ ถูกตั้งคำถามถึงความเหมาะสมว่ามีประโยชน์กับใครหรือไม่ บทบาทหน้าที่สื่อมวลชนของรายการโทรทัศน์ในรูปแบบนี้จึงถูกนับเป็นตัวอย่างอีกครั้งของการมีโฆษณาแฝงไปด้วย

จากการนำเสนอข่าวในสื่อทั้ง 2 กรณี ทำให้สถานภาพ ความดำรงอยู่ในวงการนั้นๆ คือ วงการการเมือง วงการบันเทิงของนักการเมืองและดาราได้เกิดขึ้นอย่างชัดเจน แต่ภาพลักษณ์ที่ได้รับนั้นเป็นมายาภาพที่เกิดภาพลบได้อย่างคล้ายคลึงกัน

ประเด็นข่าวนี้ ยังอาจจะยังคงดำรงอยู่ในสื่อมวลชน ตราบใดที่สื่อกระแสหลักยังให้คุณค่าน้ำหนักกับประเด็นข่าวของคนเด่นคนดัง รวมทั้งคอมเม้นเตเตอร์สังคม แม้ว่ามันไม่มีความสำคัญใดๆ ต่อผู้อ่านมากนักก็ตาม สังคมก็ยังคงบริโภคข่าวที่สับสน และมีมายาภาพในลักษณะนี้กันต่อไป และเสียงของคนไม่มีความเด่นดังในสังคมก็อาจถูกมองข้ามต่อไป ทั้งๆ ที่สังคมไทยยังมีคนอีกจำนวนมากที่เดือดร้อน และยากเข็ญอยู่มากสักเพียงใดก็ตาม

ที่มา กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2550

แท็ก คำค้นหา