บทบาท ท่าน “สนธิ” ทั้งที่ “กกต.” ทั้งที่ “คตส.” บทบาท องค์กรอิสระ

หนังสือพิมพ์มติชน

 

คอลัมน์ วิภาคแห่งวิพากษ์
การทำหนังสือลาออกจากกรรมการคณะกรรมการดำเนินการตามวาระแห่งชาติว่าด้วยการรณรงค์และแก้ไขปัญหาการซื้อสิทธิขายเสียง ของ น.ส.นาตยา เชษฐโชติรส นายกสมาคมนักข่าวหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

น่าศึกษาอย่างเป็นพิเศษ

น่าศึกษาตรงที่เหตุผลอันเป็นเนื้อใหญ่ใจความ คือ การเข้าร่วมเป็นกรรมการในคณะกรรมการดังกล่าวอาจจะทำให้เป็นข้อจำกัดในการทำหน้าที่สื่อมวลชนได้

“จึงขอลาออกจากการเป็นคณะกรรมการ”

มิใช่เพราะรังเกียจต่อการดำรงอยู่ในฐานะกรรมการแห่งคณะกรรมการ หากแต่เกรงว่าการดำรงอยู่ในฐานะกรรมการแห่งคณะกรรมการอาจทำให้กลายเป็น “ข้อจำกัด” ในการทำหน้าที่ “สื่อมวลชน”

แม้ น.ส.นาตยา เชษฐโชติรส ไม่ได้ระบุเอาไว้ด้วยว่า-ในการทำหน้าที่สื่อมวลชนที่มีความรับผิดชอบ

แต่แท้จริงแล้วสามารถเติมข้อความนี้ไปได้ในระหว่างบรรทัด

เหตุผลของ น.ส.นาตยา เชษฐโชติรส ควรที่ “กกต.” จะเก็บรับมาเป็นข้อสังวรอย่างยิ่ง

มีความขัดแย้งดำรงอยู่ภายในคณะกรรมการดำเนินการตามวาระแห่งชาติว่าด้วยการรณรงค์และแก้ไขปัญหาการซื้อสิทธิขายเสียง ที่จัดตั้งโดยที่ประชุม ครม.อย่างเห็นได้ชัด

ทั้งๆ ที่นายกรัฐมนตรีได้ออกมาแยกจำแนกบทบาท

เป็นบทบาทของคณะกรรมการ เป็นบทบาทของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ในฐานะประธานคณะกรรมการ

นั่นก็คือ บทบาทอันเป็น “ผู้ช่วย” มิใช่บทบาทอันเป็น “พระเอก”

เพราะว่าพระเอกตัวจริงในการควบคุมและจัดการการเลือกตั้ง คือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

กระนั้น ภายในคณะกรรมการก็ยังมีเลขาธิการ กกต.รวมอยู่ด้วย

กลายเป็นว่า เลขาธิการ กกต.อันเป็นหน่วยงานอิสระต้องเป็นกรรมการและทำงานในลักษณะขึ้นต่อประธานคณะกรรมการซึ่งแต่งตั้งมาจากรองนายกรัฐมนตรี

นี่คือสภาวะอันเรียกได้ว่า เป็นหัวมังกุ ท้ายมังกร

ทำให้แยกไม่ออกระหว่างงานหลัก งานรอง ทำให้แยกไม่ออกระหว่างรัฐบาลกับองค์การอิสระ

อย่าคิดว่าคณะกรรมการในลักษณะนี้จะไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เพียงแต่ว่าต่างกรรมต่างวาระกันเท่านั้นเอง

คงจำกันได้ในรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

ภายหลังการยุบสภาเมื่อเดือนพฤษภาคม 2529 กองทัพบกได้จัดตั้งคณะกรรมการติดตามผลการเลือกตั้งขึ้นมี พล.อ.จุไท แสงทวีป รอง ผบ.ทบ.เป็นประธาน

เป็นการจัดตั้งขึ้นในยุคที่ พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก เป็น ผบ.ทบ.

น่าสนใจก็ตรงที่ในวันที่ 29 พฤษภาคม 2529 พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก ก็ถูกคำสั่งปลดกลางอากาศจากตำแหน่ง ผบ.ทบ.

คงเหลือเพียงตำแหน่ง ผบ.ทหารสูงสุดตำแหน่งเดียว

ขณะเดียวกัน พล.อ.จุไท แสงทวีป ก็ถูกย้ายจากตำแหน่งรอง ผบ.ทบ.ไปเป็นจเรทหารทั่วไป

จากนั้น คณะกรรมการติดตามผลการเลือกตั้งก็ยุติลงโดยพื้นฐาน

การแต่งตั้งและการยกเลิกครั้งนั้นอาจสะท้อนความขัดแย้งทางความคิดระหว่าง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี กับ พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก ผบ.ทบ.และ ผบ.ทหารสูงสุด แต่ก็เป็นบทเรียนอันล้ำค่ายิ่งในทางการเมือง

คำถามก็คือ เรื่องใหม่นี้รัฐบาลต้องการมอบบทบาทอะไรให้ พล.อ.สนธิ บุญยรัตนกลิน

ที่น่าสนใจก็คือ บทบาทและการเคลื่อนไหวแต่ละก้าวย่างของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน

วันหนึ่งไปเยี่ยมและติดตามงานที่ กกต. วันหนึ่งไปเยี่ยมและติดตามงานที่ คตส. เป็นการติดตามงานด้วยความเอาการเอางานอย่างยิ่ง

เอาการเอางานราวกับว่า กกต.และ คตส.มิได้เป็นองค์กรอิสระ

ที่มา มติชน วันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2550 ปีที่ 30 ฉบับที่ 10819 หน้า 3

แท็ก คำค้นหา