บันทึกทีวีสาธารณะ

โดย ผศ.สุรสิทธิ์ วิทยารัฐ
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

 

คาดว่าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จะได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ. ….ในวันที่ 24 ตุลาคมนี้ ในช่วงเวลาที่มีกระแสข่าวว่า มีบริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และผู้สนใจซื้อหุ้นหรือกิจการของสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี แต่การเดินหน้าเพื่อให้โทรทัศน์ช่องนี้เป็นทีวีสาธารณะยังคงดำเนินต่อไป คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ ได้บันทึกเจตนารมณ์ประกอบร่างกฎหมายฉบับนี้ค่อนข้างละเอียด เพื่อแสดงเจตนารมณ์และประกันการปฏิรูปโทรทัศน์ของรัฐช่องนี้ให้เป็นทีวีสาธารณะให้ได้เป็นความหวังของสื่อเพื่อสังคมให้เกิดขึ้น การเปิดบันทึกของคณะกรรมาธิการนี้ ก็เพื่อเป็นพยานร่วมกันว่าอะไรจะเกิดขึ้น หรือไม่เกิดขึ้นกับทีวีสาธารณะที่กำลังจะถือกำเนิดขึ้น

บันทึกระบุว่า กฎหมายนี้เพื่อเป็นการจัดตั้งสถานีโทรทัศน์และสถานีวิทยุเพื่อเป็นสื่อสาธารณะที่เป็นอิสระจากรัฐ และไม่ตกอยู่ภายใต้การแทรกแซงของกลุ่มผลประโยชน์ องค์การจะทำหน้าที่เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารด้านการเมือง การศึกษา สังคม ที่จะทำให้ประชาชนได้รับข่าวสารและเรียนรู้ทันต่อเหตุการณ์ มีความเท่าเทียมกันในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร สาระบันเทิง วัฒนธรรมอันดี การพัฒนาคุณภาพของสังคม ซึ่งในปัจจุบันโทรทัศน์ทั่วไปมีการแข่งขันสูง จึงทำให้ผู้ผลิตรายการคำนึงถึงความนิยมของผู้ชมรายการเป็นหลัก แนวความคิดที่ให้มีองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะ ก็เพื่อให้มีสื่อโทรทัศน์ที่มีความเป็นอิสระ ทั้งด้านการเงิน ด้านการบริหารจัดการ ในขณะที่มีการกำกับดูแลให้องค์การสามารถผลิตรายการคุณภาพสูง และมีความรับผิดชอบต่อสังคม

ด้านการเงิน ร่างพระราชบัญญัตินี้จะมีแหล่งรายได้ที่คาดหมายได้และมีจำนวนมากพอ เพื่อไม่ต้องใช้งบประมาณแผ่นดิน อันเป็นการหลีกเลี่ยงกลุ่มผลประโยชน์ที่จะเข้ามาแทรกแซง รายได้ขององค์การส่วนใหญ่จะมาจากการแบ่งภาษีสุราและยาสูบ โดยจัดเก็บในอัตราร้อยละ 1.5 ของภาษีสุราและยาสูบ แต่ไม่เกินวงเงิน 2,000 ล้านบาท ซึ่งเมื่อคิดจากฐานภาษีในปี 2549 เงินบำรุงองค์การดังกล่าว จะตกประมาณ 1,600 ล้านบาท

และอาจเพิ่มขึ้นในอนาคตตามฐานภาษี จนอาจเกิน 2,000 ล้านบาท โดยหากเกินก็ให้นำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีอำนาจในการปรับเพิ่มรายได้สูงสุดตามมาตรานี้ทุก 3 ปี เพื่อให้องค์การมีรายได้เพียงพอต่อการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ โดยให้พิจารณาถึงอัตราเงินเฟ้อของปีที่ผ่านมา ประกอบกับขอบเขตการดำเนินงานขององค์การที่เปลี่ยนแปลงไปและผลการประเมินการดำเนินงานขององค์การ

ด้านการกำกับดูแล กำหนดให้มี “คณะกรรมการนโยบาย” ทำหน้าที่ดูแลให้องค์การสามารถดำเนินการสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ และสะท้อนความต้องการของประชาชน และกำหนดให้มี “คณะกรรมการบริหาร” และ “ผู้อำนวยการ” เป็นผู้นำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ โดยคณะกรรมการนโยบายทำหน้าที่ประกันความเป็นอิสระในการทำงานของคณะกรรมการบริหาร ด้านการกำกับดูแลเพื่อให้มีความรับผิดชอบต่อสังคม ต้องการให้มีการกำหนดกลไกที่จะเชื่อมโยงกับประชาชน หรือตัวแทนของประชาชน เช่น การกำหนดให้มีการทำ “ข้อบังคับด้านจริยธรรมของวิชาชีพ” ในด้านต่างๆ เพื่อใช้ในการผลิตและเผยแพร่รายการให้เที่ยงตรง สมดุล ส่งเสริมการเรียนรู้ และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน

สภาผู้ชมและผู้ฟังรายการ ทำหน้าที่ให้ความคิดเห็นและคำแนะนำต่อการผลิตรายการ โดยมีการประชุมอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง การรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน เพื่อตรวจสอบคุณภาพของรายการ และตรวจสอบทางด้านจริยธรรม การรายงานต่อคณะรัฐมนตรี และรัฐสภาเป็นประจำทุกปี การควบคุมภายใน การตรวจสอบภายนอก (โดยสตง.หรือผู้ตรวจบัญชีที่สตง.ให้ความเห็นชอบ) และการประเมินจากภายนอก

สำหรับเงินบำรุงองค์การนั้น เป็นเงินรายได้ส่วนใหญ่ขององค์การที่มีที่มาจากการจัดเก็บเงินบำรุงองค์การจากผู้มีหน้าที่เสียภาษีตามกฎหมายว่าด้วยสุราและกฎหมายว่าด้วยยาสูบ ในอัตราร้อยละ 1.5 ของภาษีที่เก็บจากสุราและยาสูบตามกฎหมายว่าด้วยสุราและกฎหมายว่าด้วยยาสูบ และจัดสรรให้เป็นรายได้ขององค์การ โดยใช้กลไกและกระบวนการจัดเก็บของกรมสรรพสามิตและกรมศุลกากร

รายได้สูงสุดจากเงินบำรุงองค์การกำหนดไว้ปีงบประมาณละไม่เกิน 2,000 ล้านบาท และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีอำนาจในการปรับเพิ่มรายได้สูงสุดตามมาตรานี้ทุก 3 ปี เพื่อให้องค์การมีรายได้เพียงพอต่อการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ โดยให้พิจารณาถึงอัตราเงินเฟ้อของปีที่ผ่านมา

รายได้ดังกล่าวนี้เมื่อเปรียบเทียบกับที่มาของรายได้สถานีโทรทัศน์ในต่างประเทศแล้ว มาจากการเก็บภาษีโทรทัศน์จากเจ้าของเครื่องรับโทรทัศน์ (License Fee) และบริหารเพื่อประโยชน์ของผู้ชมและผู้ฟัง สำหรับในประเทศไทยยังไม่อาจเก็บภาษีในลักษณะดังกล่าวได้ จึงจัดเก็บมาจากการบริโภคสุราและภาษียาสูบ ซึ่งน่าจะส่งเสริมการลดการบริโภคสินค้าดังกล่าว เนื่องจากเป็นโทรทัศน์สาธารณะ จึงกำหนดไว้ด้วยว่าการรับเงินหรือทรัพย์สินอื่นใดที่ได้รับจากผู้สนับสนุนองค์การ ต้องไม่เป็นการกระทำที่ทำให้องค์การขาดความเป็นอิสระในการดำเนินงาน หรือให้กระทำการอันขัดหรือแย้งต่อวัตถุประสงค์ขององค์การ เพื่อดำรงไว้ซึ่งความเป็นอิสระในการดำเนินการขององค์การ

การสนับสนุนผู้ผลิตรายการอิสระ จะต้องกระทำไปพร้อมกันด้วย จึงให้นำเงินรายได้ส่วนหนึ่ง ต้องนำไปใช้ในการสนับสนุนพัฒนาศักยภาพ และให้โอกาสสร้างสรรค์แก่ผู้ผลิตรายการอิสระในอัตราที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด

กฎหมายนี้ยังให้คณะกรรมการนโยบายมีหน้าที่ ต้องจัดทำข้อบังคับด้านจริยธรรมของวิชาชีพเกี่ยวกับการผลิตและการเผยแพร่รายการ โดยคำนึงถึงความเห็นร่วมกับผู้มีส่วนได้เสียในวงกว้างทั้งตัวแทนพนักงานและลูกจ้างขององค์การ ผู้ผลิตรายการ ผู้รับชมและรับฟังรายการ และผู้ทรงคุณวุฒิด้านนิเทศศาสตร์ วารสารศาสตร์ และสื่อสารมวลชน

โดยให้มีสภาผู้ชมและผู้ฟังรายการขึ้น เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาการให้บริการ และการผลิตรายการขององค์การให้มีคุณภาพสอดคล้องกับประโยชน์สาธารณะและสังคม และสะท้อนความต้องการของผู้ใช้บริการ รวมทั้งส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดทิศทางการผลิตรายการขององค์การ

ที่มา กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2550

แท็ก คำค้นหา