อิทธิพลของข่าว

โดย ผศ.สุรสิทธิ์ วิทยารัฐ
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

 

ในที่สุด รัฐมนตรี 5 รายที่มีข่าวว่าได้ถือหุ้นเกิน 5 เปอร์เซ็นต์ในบริษัทเอกชน ก็ได้ทยอยประกาศลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี ภายหลังจากเป็นข่าวในสื่อมวลชนอย่างต่อเนื่องเพียงไม่ถึงสัปดาห์ แสดงให้เห็นถึง “อิทธิพลของข่าว” ที่มีต่อสังคม รวมถึงบุคคลที่เกี่ยวข้องกับข่าวนั้นๆ

ไม่ใช่เป็นกรณีแรกของอิทธิพลของข่าว แต่ความสำคัญของอิทธิพลของข่าว ทำให้ผู้ที่มีความเข้าใจความสำคัญข้อนี้ นำความรู้ความเข้าใจเรื่องนี้ไปประยุกต์ใช้ โดยการกำหนดวาระข่าวสารในสื่อ (agenda setting) จนข่าวสามารถมีอิทธิพลต่อสังคม นำไปสู่เป้าหมายต่างๆ ที่ต้องการได้สำเร็จ

กรณีรัฐมนตรี 5 รายที่ทยอยลาออกจากตำแหน่งในระยะเวลาไล่กันไปนั้น สามารถเห็นได้ว่า ถ้าไม่ใช่เพราะอำนาจของข่าวที่เป็นกระแสจนสามารถเป็นจุดเริ่มต้นของการเปิดประเด็นการวิพากษ์วิจารณ์ในสังคม จนกลายเป็นกระแสสังคม รัฐมนตรีบางท่านยังอาจจะไม่ลาออกจากตำแหน่ง

ผลงานข่าวในอดีตที่แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของข่าว คือ ข่าวคดีวอเตอร์เกตของหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ ของสหรัฐอเมริกา ที่นักข่าวหนุ่ม 2 คน คือ บ็อบ วูดเวิร์ด และคาล เบิร์นสเตียน ได้ใช้ “แหล่งข่าว” ที่มีชื่อรหัสว่า “ดีพโทรต (Deep Throat)” เป็นผู้ให้ข้อมูลลับสุดยอด ทำให้นักข่าว 2 คนนี้ สามารถแกะรอยและนำไปสู่การเปิดโปง จนทำให้ประธานาธิบดีนิกสันต้องหลุดจากตำแหน่งในที่สุด

สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจกันให้ดี คือ นักข่าวต้องเข้าใจกันเสียก่อนว่า ตัวเองมีหน้าที่ทำให้ข่าวมีอิทธิพลในการเปลี่ยนแปลงสังคม แต่ไม่ใช่ตัวเองเอาข่าวที่ตัวเองทำมาสร้างอิทธิพลให้กับตัวเอง และเมื่อรู้แล้วว่าข่าวมีอิทธิพลในตัวเอง นักข่าวจะต้องระมัดระวังมิให้แหล่งข่าวใช้ข่าวที่นักข่าวนั้นรายงานเป็นเครื่องมือในการสร้างอิทธิพล หรือหวังผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตามที่แหล่งข่าวต้องการ

อิทธิพลของข่าว (Influence of News) นั้น หมายถึงการที่ข่าวที่นำเสนอผ่านสื่อมวลชน ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นกับบุคคลที่เป็นผู้รับสารในด้านต่างๆ อันได้แก่ การเปลี่ยนแปลงความรู้ (Knowledge) ทัศนคติ (Attitudes) และพฤติกรรม (Behavior) ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนั้น อาจเป็นการเปลี่ยนแปลงระดับจุลภาคหรือระดับบุคคล (Individual Level) หรือระดับระหว่างบุคคล(Interpersonal Level) ซึ่งเป็นผลในระดับเล็กหรือระดับจุลภาค (Micro level) รวมถึงระดับมหภาค (Aggergate Level) ซึ่งเป็นผลของการสื่อสารมวลชนที่กระทบกับสังคมส่วนใหญ่ เรียกว่า “ผลกระทบระดับใหญ่” (Macro Level)

ข้อมูล (Data) หมายถึง ข้อมูลพื้นฐานโดยทั่วๆ ไป ซึ่งอาจเป็นข้อเท็จจริง ข้อมูลเหล่านี้ บางทีเรียกว่าเป็น “ข้อมูลดิบ” กล่าวคือ ยังเป็นขั้นตอนการรวบรวมมา ยังไม่ได้มีการประมวลผล

ข่าว (News) หมายถึง ประเด็นเนื้อหาที่มีความน่าสนใจและมีคุณค่าความสำคัญตามองค์ประกอบของข่าว มีการนำเสนอผ่านทางสื่อสารมวลชน (Mass Media) โดยที่ต้องยึดถือตามหลักการวารสารศาสตร์ (Principle of Journalism) อย่างเคร่งครัด เช่น การเขียนตามโครงสร้างข่าวครบถ้วนสมบูรณ์ การไม่ใส่ความคิดเห็นของผู้สื่อข่าวลงไปด้วย นอกจากนั้น คำว่า ข่าวยังยึดโยงอยู่กับความถูกต้อง ครบถ้วน ที่เป็นข้อเท็จจริง ความจริง จึงมีระดับคุณค่าที่สูงยิ่งกว่า คำว่า ข่าวลือ (Rumor/Grape) ที่มักจะมาปรากฏในสังคมไทย และวงการสื่อสารมวลชนเสมอๆ

ข่าวสาร (Information) หมายถึง ข้อมูลข่าวสารโดยทั่วๆ ไป ไม่จำเพาะเจาะจง ครอบคลุมรวมถึง ข่าว ข่าวสาร ความรู้ ความบันเทิง ทุกประเภทที่มีการนำเสนอผ่านทางสื่อสารมวลชน

ข้อเท็จจริง (Fact) หมายถึง สิ่งที่เกิดขึ้น สิ่งที่เป็นอยู่ หรือเป็นไปแล้ว ในแง่ข้อเท็จจริงที่ได้มาจากแหล่งข่าว อาจมีข้อมูลซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่มีทั้งเท็จและจริง ถ้าแหล่งข่าวต้องการใช้ ผู้สื่อข่าวจำเป็นต้องประเมินความน่าเชื่อถือของข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงที่ได้จากแหล่งข่าว เนื่องจากใน “การรายงานข่าว” (Reporting) ผู้สื่อข่าวต้องมีหน้าที่ในการแสวงหาข้อเท็จจริงจากแหล่งข่าว ไม่สามารถเขียนขึ้นมาได้เอง เพื่อนำไปสู่การเข้าถึง “ความจริง” ให้ได้มากที่สุด

ความคิดเห็น หรือความเห็น (Opinion, Viewpoint, View) หมายถึง การแสดงออกทางด้านความรู้สึกต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ไม่ว่าจะด้วยการพูด การเขียน ความคิดเห็น เป็นข้อมูลที่ยึดโยงอยู่กับความเป็นตัวตน ของแต่ละบุคคล (individual)

ความจริง (Truth) หมายถึง สิ่งสากลโดยทั่วไป เราเข้าใจกันว่า ความจริง คือ ความไม่เท็จ ไม่บิดเบือน ตรงตามลักษณะที่เกิดขึ้น เมื่อเราพูดถึงสิ่งใดก็หมายถึงสิ่งนั้นจริงๆ ความจริงมีอยู่หลายระดับ ตั้งแต่ระดับพื้นฐาน หรือความจริงที่อาศัยเพียงประสาทสัมผัส ก็สามารถเข้าถึงความจริงนั้นได้ จนถึงขั้นที่ต้องใช้ปัญญาพิจารณาว่า สิ่งที่ประสาทสัมผัสนั้น เป็นความจริงตามนั้นหรือไม่

อิทธิพลของข่าวเกิดขึ้น โดยข้อเท็จจริง ที่เป็นความจริงในระดับพื้นฐาน ที่มีความสำคัญต่อความจริงในระดับที่เป็นความจริงแท้ที่เป็นสากล ข้อเท็จจริง เป็นข้อมูลที่ผู้สื่อข่าวได้รับจากการลงพื้นที่ข่าวภาคสนาม ข้อเท็จจริง เป็นข้อมูลพื้นฐานที่ผู้สื่อข่าว จะต้องอาศัยในการทำงานข่าว เพราะการสื่อข่าวเป็นการสืบค้นหาข้อเท็จจริงต่างๆ ของเหตุการณ์ ที่เกิดขึ้น หรือจากแหล่งข่าว (News source) แล้วนำข้อเท็จจริง มาสืบค้นหาความจริง การสื่อข่าวที่แสดงให้เห็นแนวทางนี้ได้ชัดเจนที่สุด คือ การรายงานข่าวเชิงสืบสวน (Investigative Reporting)

ผู้สื่อข่าวต้องมีความพยายาม ในอันที่จะสืบหาข้อเท็จจริงมานำเสนอให้ได้มากที่สุด แต่สิ่งที่นำเสนออาจจะยังไม่ใช่ความจริงทั้งหมด เนื่องจากเป็นเพียงข้อเท็จจริงจากแหล่งข่าวเท่านั้น ซึ่งอาจเป็นจริง หรือเท็จหากแหล่งข่าวมีความต้องการปล่อยข่าว หรือใช้สื่อมวลชนเป็นเครื่องมือ ผู้สื่อข่าวจึงต้องมีความระมัดระวังในอิทธิพลของข่าวที่มีผลต่อสังคม และผู้ที่เกี่ยวข้องกับข่าวก่อนการนำเสนอข่าว

ความคิดเห็นของแต่ละบุคคลที่เกี่ยวข้องที่นักข่าวนำมาประกอบในการรายงานข่าว จะมีความหลากหลาย มีความแตกต่างกันไป เนื่องจากบุคคลมีพื้นความรู้ ประสบการณ์ และสภาพแวดล้อม ที่แตกต่างกันไป ซึ่งอาจได้รับการยอมรับ หรือการปฏิเสธจากผู้อื่นก็ได้ ความคิดเห็นมีความสำคัญต่อการรายงานข่าวของนักข่าว ในลักษณะดังนี้

1. ทำให้น้ำหนักความน่าเชื่อถือมีมากขึ้น ในกรณีที่เป็นการยืนยันต่อความคิดเห็น หรือคอมเมนท์ (Comment) ที่จะนำเสนอในสื่อมวลชนในประเด็นข่าวนั้นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องรับผิดชอบโดยตรงในประเด็นข่าวนั้นๆ

2. เป็นสีสัน (Colourful) ให้กับการรายงานข่าว ให้เห็นถึงอารมณ์ และความรู้สึกที่ปรากฏในเหตุการณ์ สถานการณ์ที่มีการหยิบยกขึ้นมารายงาน โดยการแสดงให้เห็นถึงอารมณ์ และความรู้สึกของแหล่งข่าว

การนำเสนอความคิดเห็น ผู้สื่อข่าวและทีมงานจะต้องตระหนัก ความรับผิดชอบ ทั้งทางสังคม และทางกฎหมาย เพราะการฟ้องร้องความผิดฐานหมิ่นประมาท จำเลยในกรณีการนำเสนอความคิดเห็นที่หมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา คือ ผู้เขียน แหล่งข่าว และบรรณาธิการ ผู้สื่อข่าวต้องประเมินความน่าเชื่อถือของแหล่งข่าวในกระบวนการสื่อข่าว เพื่อสืบหาให้สามารถ “เข้าถึงความจริง” ให้ได้มากที่สุด เพื่อให้ข่าวมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงสังคม

ที่มา กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2550 07:00:00

แท็ก คำค้นหา