ใครแทรกแซงข่าวคำสารภาพของนักข่าวโทรทัศน์ (1)

โดย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย

 

ข้อเท็จจริงทุกวันนี้ ก็คือทีวีเข้าถึงบ้านคนทุกหลัง มีอิทธิพลต่อการให้ข้อมูลข่าวสารและกำหนดมติสาธารณะ

แต่ปํญหาคุณภาพข่าวโทรทัศน์กับคำวิจารณ์ที่ว่า ข่าวทีวีเร็วแต่ตื้น,ทำข่าวตามกระแสตามประเด็นที่หนังสือพิมพ์เสนอ,ไม่ค้นคว้าคอยแต่ไล่ตามจ่อไมค์สัมภาษณ์แหล่งข่าวและขาดความเข้าใจในเรื่องที่ตัวเองทำแถมบางส่วนยังแบ่งเป็นฝักเป็นฝ่ายตามแหล่งข่าวด้วย

เมื่อพูดถึงคุณภาพข่าว เรื่องสิทธิเสรีภาพของสื่อและการแทรกแซงจากผู้มีอำนาจจะถูกพูดถึงคู่กันเสมอ

ต่อประเด็นต่างๆดังกล่าวสมาคมนักข่าววิทยุโทรทัศน์ไทยได้จัดทำรายงานประจำปี 2550 เพื่อตรวจสอบตัวเองและผู้คนในวงการ โดยนักข่าวทีวีผู้ที่อยู่ในสนามข่าวและบรรณาธิการข่าวจำนวนหนึ่งได้ร่วมวงสะท้อนข้อมูลจากมุมของผู้ปฎิบัติงานว่า พวกเขาและเธอ นักข่าวทีวีภาคสนามคิดว่าตัวเองทำอะไรได้และทำอะไรไม่ได้ อะไรเป็นอุปสรรค เพื่อทำให้รายการ“ข่าว” ที่ออกทางทีวีมีส่วนในการพัฒนาการสังคมสติปัญญาได้บ้าง

หรือเพราะเวลาสำหรับรายการข่าวน้อยเกินไป,หรือเพราะการแทรกแซงข่าวจากผู้มีอำนาจ หรือเพราะนักข่าวชอบเซนเซอร์ตัวเองก่อนเพื่อเอาตัวรอดหรือลึกกว่านั้นเพราะมีบางคำถามที่ไม่เคยถามตัวเอง

ในสังคมที่กล่าวกันว่าเป็นประชาธิปไตยคนไทยได้ประจักษ์กับการปิดกั้นข่าวสารผ่านทีวีอย่างโจ่งแจ้งอีกครั้งในรัฐบาลทักษิณ หลังวงการทีวีไทยเคยเปลือยตัวเองกลางสี่แยกเมื่อเหตุการณ์เดือนพค.2535 และนี่คือความจำเป็นของการถามหาสื่อเสรีสักช่องในประเทศนี้

ขณะที่ผู้ชมตั้งความหวังถึงการเปลี่ยนแปลงด้านคุณภาพข่าว และขณะที่การปฏิรูปสื่อทีวีพูดกันมาหลายปี ไม่ว่าจะเกิดขึ้นเร็วๆนี้หรือเนิ่นช้าไปอีกคงเป็นเวลาที่เราจะถามถึงนักข่าวพันธ์ใหม่ที่มีทักษะและความพร้อมรับมือกับข่าวที่เหลื่อมซ้อนและกะเทาะมายาในสังคม แทนผู้ชม

นอกจากนี้หนังสือรายงานประจำปี 2550 ของสมาคมนักข่าววิทยุโทรทัศน์ไทยยังมีเนื้อหาถึงความรู้เท่าทันข่าวสำหรับนักข่าว และความเหลื่อมล้ำต่ำสูงกันอย่างน่าตกใจในวงการทีวีระหว่างนักข่าวด้วยกัน เช่น นักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ที่ขาดความมั่นคงในอาชีพ เพราะบุคคลากรจำนวนมากทำงานในสถานะลูกจ้างชั่วคราว(แบบถาวร)

บทความนี้จึงขอนำเสนอสาระส่วนหนึ่งจากรายงานประจำปีดังกล่าว

ข่าว ไม่ใช่แค่ ข่าว

“เวลาดูข่าวในสื่อทีวี คุณรู้ไหมว่ามีข่าวประชาสัมพันธ์ปลอมปนอยู่ในสิ่งที่เรียกว่า “ข่าว” ทั้งจากภาครัฐและธุรกิจ”นักข่าวรายหนึ่งเปิดประเด็น

เวลาสำหรับช่วงข่าวหลัก คือ ข่าวช่วงค่ำ ดังนั้นแต่ละข่าวออกได้อย่างมากสองนาทีหรือเต็มที่สามนาที แต่กระนั้นเวลาอันจำกัดยังถูกแบ่งด้วยข่าวแฝงข่าวนายและข่าวคุณขอมา

-ขณะที่อีกช่องหนึ่งสกู๊ปข่าว(แฝง) 60 ตอนกำลังมาเบียดบังเวลาข่าว ทั้งๆที่ข่าวที่นักข่าวทำแทบจะไม่มีเวลาให้ออกอากาศ ”

แถมยังมีสกู๊ปข่าวเลือกตั้งหลายตอนจบ ใจจริงผู้บริหารสถานีโทรทัศน์และผู้บริหารสื่อตระหนักถึงการสร้างความรู้ความเข้าใจพื้นฐานในการพัฒนาสังคมประชาธิปไตย อยากให้ความรู้ผู้ชมจริงๆ หรือเมื่อองค์กรรัฐ นั้นหมดงบประมาณให้ทำทุกอย่างก็หายไปจากสถานีและทีวีก็เลิกทำไป จนกว่าจะมีงบใหม่สำหรับเรื่องใหม่มาให้ทำ

นักข่าว

“ มีหลายคนชอบพูดว่านักข่าวทีวีฉาบฉวย ซึ่งก็มีส่วน แต่ส่วนตัวเราจะตั้งคำถามว่าถ้าเราเป็นคนดูข่าว เราอยากดูอะไร” นักข่าวทีวีประสบการณ์สิบสองปีจบการศึกษาสาขา สื่อสารมวลชน จากมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ โดยส่วนตัวเธอเลือกเรียนทางด้านนี้ด้วยความตั้งใจเกริ่น แต่ “ในอาชีพที่เคยคิดว่าอิสระที่สุด เราพบว่า มันจบลงเมื่ออยู่ข่าวการเมืองของทีวี”

หลายปีก่อนเมื่อครั้งกำลังไฟแรงในฐานะนักข่าวจะด้วยเพราะคำถามไม่เหมาะสม หรือด้วยท่าที หรือเพราะลืมดูดวง หรือเหตุใดไม่แน่ชัดได้สร้างความไม่พอใจให้กับนายทหารระดับนายพลเอกผู้หนึ่งและบังเอิญขณะนั้นมีนายพลอยู่ในบอร์ดของสถานีโทรทัศน์ที่เธอทำงานด้วย

ผลคือ หัวหน้าในฝ่ายข่าวเรียกตัวไปและบอกให้ลาออก โดยให้เหตุผลเพราะ “เธอไม่เหมาะกับทำข่าวทีวีนะ เป็นนักข่าวทีวีไม่ต้องถามอะไรแบบหนังสือพิมพ์หรอก”

ขณะที่นักข่าวทีวีประสบการณ์ประมาณ 6-7 ปี จากสถานีไอทีวี สะท้อนสภาพการทำงานว่า – นักข่าวโทรทัศน์มักถูกเปรียบเทียบกับนักข่าวหนังสือพิมพ์เสมอ หัวหน้ามักถามว่าทำไมไม่ได้ประเด็นนั้น ประเด็นนี้ (หลังหัวหน้าตามอ่านหนังสือพิมพ์ ) ซึ่งการตก-ไม่ตกข่าวกระแสเป็นประเด็นหลักของการประเมินการทำงาน ทั้งที่จริงๆแล้วไม่จำเป็นต้องตามกระแส

ลองหาต้นทางของข่าวทีวีว่า ปัญหาเป็นเพราะถามแบบนักข่าวนสพ.จริงๆหรือ

“ ลองถามตัวเองว่า อ่านหนังสือพิมพ์อะไร ดังนั้นเวลาทำข่าวบางประเด็นจะถูกละเลย เพราะนักข่าวทีวีก็จะอ่านมติชนเป็นหลัก พอเวลามติชนเปิดประเด็นอะไรก็จะเฮตามกันหมดกลายเป็นกระแส และถ้าเรายังยึดติดว่านักข่าวทีวิต้องตามประเด็นตามกระแสก็จะเป็นปัญหาอย่างหนึ่งของนักข่าว”

“เราคิดว่าสิ่งสำคัญคือ ทัศนคติในกองบก. โดยเฉพาะหัวหน้าข่าวและกองบก.เอง เราควรรู้ว่า วันนี้เราอยากจะเล่นประเด็นไหน ถ้าคิดว่าเป็นประเด็นที่เราคิดและอยากจะเสนอจริงๆ” ก็จะได้ไม่ต้องตามใคร แต่ธรรมชาติของข่าวทีวี คือ การต่อประเด็นข่าวเก่าที่เป็นกระแส เช่น พลเอกสนธิ (ประธนคมช.)จะเล่นการเมืองไหม ถ้าได้แค่คำพูดว่าเล่นหรือไม่เล่น แค่นี้ก็ถือว่าชนะคนอื่นแล้ว

และถึงแม้ข่าวจะไม่ได้สร้างความเข้าใจที่ดีขึ้นนักก็ไม่เป็นไร ถือว่าภารกิจสำเร็จ

ข่าวกระแสซึ่งเป็นงานหลักของนักข่าวทีวีมาช้านาน ยังคงความสำคัญยิ่งเช่นเดิม ดังที่หัวหน้าข่าวและบรรณาธิการข่าวหลายคนยอมรับ แม้ว่าข่าวที่เหมือนกันทุกช่องทำให้นักข่าวถูกนิยามว่ากำลังทำหน้าที่คล้ายกับพนักงานจ่อไมค์ผสมกับพนักงานส่งเอกสารอยู่ไม่น้อย

แต่ก็เป็นวิถีทางที่ดำรงอยู่ต่อไป จนกว่าจะมีการตั้งคำถามจากตัวนักข่าวเองว่าแท้จริงเรากำลังทำอะไรกันอยู่ ? หรือเพราะเราถูกแทรกแซง

การแทรกแซงข่าว?,วัฒนธรรมสมยอมและการเซนเซอร์ตัวเอง

“การทำงานข่าวทีวีฟังแล้วหดหู่ แต่มันก็มีวิวัฒนาการที่ดีขึ้นนะ เคยวิ่งข่าว มีอยู่กรณีหนึ่งหลายปีก่อน ตอนที่นักการเมืองจอมกร่างคุมอสมท. สัมภาษณ์ มา15 นาที นักข่าวกำลังตัดข่าวให้สั้นลงอยู่เพื่อออกอากาศ จู่ๆ เบื้องบนสั่งว่าไม่ต้องตัดข่าวแล้ว เดี๋ยวช่อง 9 จะส่งเทปมาให้พร้อมออกอากาศ เราก็ อ้าวมีอย่างนี้ด้วยเหรอ นักข่าวเลยต้องนิ่งและเฝ้าดู ว่าเราจะทำอะไรได้มากแค่ไหน” คือ คำบอกเล่าถึงตัวอย่างการแทรกแซงข่าวแบบจังๆ เมื่อหลายปีก่อนของบรรณาธิการข่าวในสถานีโทรทัศน์เรตติ้งข่าวดี

เช่นเดียวกับที่นักข่าวทีวีหญิงอีกคนหนึ่งตั้งข้อสงสัยกับวัฒนธรรมอำนาจในวงการข่าวทีวี

“ ถ้าวงการสื่อเอาจริง ทำไมคนที่ชอบไปรับคำสั่งไม่ถูกเล่นงาน ทำไมแพทย์ผิดพลาดยังถูกเล่นงาน แต่ทำไมการออกข่าวบิดเบือน ออกข่าวรับใช้ ซึ่งก็เป็นยาพิษให้สังคม แต่เราไม่เคยเห็นนักข่าวหรือบก.ข่าวทีวีที่ทำข่าวเอียงกะเท่เร่จะโดนเล่นงานสักคน”

คำถามนี้คงล่องลอยในความคิดของใครต่อใครมานาน “ เพราะคนที่บก.เป็นผู้อาวุโสคิดได้ยังงั้นถึงเป็นอย่างนี้ พวกเขาคิดเซนเซอร์ตัวเองยืนยันนะข่าวหลายข่าวเกิดจาก เราเซนเซอร์ตัวเอง” นักข่าวจากช่องที่สวัสดิการดีที่สุดยืนยัน

ไม่ต่างนักจากสภาพการณ์สถานีโทรทัศน์เชิงพาณิชย์ในการบริหารของเอกชนแห่งหนึ่ง

“สถานีโทรทัศน์ของเราก็มีบก.กุ้งอยู่แยะ คือ ขี้ขึ้นไปอยู่บนหัว เพราะบางครั้งผู้มีอำนาจเขายังไม่ได้ว่าอะไรเลยนะ แต่เรากลัวไปก่อน” บรรณาธิการข่าวผู้หนึ่งกล่าวถึงท่าทีแบบปลอดภัยไว้ก่อน Safety first หนึ่งในสาเหตุแท้จริงของการเซนเซอร์ตัวเอง

จากสองสถานีตัวอย่าง สภาพของสถานีโทรทัศน์อื่นไม่ต่างจากนี้ หรือไม่ก็อาการหนักกว่า โดยเฉพาะสองสถานีในความดูแลของกองทัพและกรมประชาสัมพันธ์ อย่างททบ.5 ก็กลั่นกรองตัวเองหนักกว่าสถานีอื่นและมีหมายข่าวเจ้านายเป็นประจำ ส่วนช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์ก็อยู่ในวัฒนธรรมราชการเต็มที่

ด้วยสภาพการทำงานในองค์กรข่าวแบบนี้ “นศ.ที่จบนิเทศมาใหม่ ๆ พอเข้าไปทำงานที่ช่อง 11 ก็เปลี่ยนไปเลย ทำสัก สองปี กู่ไม่กลับเลย น้องคนหนึ่งจบเกียรตินิยมถูกวัฒนธรรมแบบราชการกลืนไปเลย” นักข่าวสาวที่เคยอยู่ทั้งไอทีวีและช่อง11 เล่าประสบการณ์

ช่อง 11 เลยเป็นเหมือนที่ฝึกหัดนักข่าวทีวีของวงการ ซึ่งตอนนี้ก็ไปอยู่ตามช่องต่างๆ “ถ้าเขาเข้ามาทำงานเป็นเพียงทางผ่านมาเรียนรู้การใช้เครื่องมือต่างๆก็ดีไป แต่ถ้ารับความคิดการทำข่าวและปลูกฝังความคิดแบบนี้ติดตัวไปด้วยก็น่าห่วง เพราะเรื่องของความตั้งใจของคนมันสู้วัฒนธรรมไม่ได้และจะกลายเป็นความสมยอม ” สภาพข้างต้นก็คล้ายกับช่อง5ในแง่ของการเป็นที่ฝึกงานให้ช่องอื่น และเป็นทางผ่านไปสู่ช่อง อื่นที่ดีกว่า โดยเฉพาะช่อง 9ที่สวัสดิการดี ค่าล่วงเวลาดี ช่อง 7 รับจ๊อบได้ โบนัสดี ทั้งที่ “ ช่อง 5 มีความพร้อมทุกอย่างยกเว้นนาย เพราะเปลี่ยนบ่อยตามผบ.ทบ. และธรรมเนียม ข่าวนาย ข่าวผู้ใหญ่ ต้องอยู่ข่าวเมน(ข่าวหลัก) ทำให้ข่าวอื่นก็ไม่ได้ออกหรือได้ออกสั้นๆ” คือคำบอกเล่าของคนในททบ. 5

นอกจากวัฒนธรรมอำนาจและการเอาตัวรอดแล้ว ในสายตานักข่าวยังมีโครงสร้างของข่าว มีข่าวแฝงทั้งจากธุรกิจและภาครัฐ จนนักข่าวบางคนต้องรับผิดชอบงานส่วนนี้เป็นหลัก

ตัวอย่าง เช่น ตอนที่กระทรวงศึกษาในรัฐบาลทักษิณทำข่าวเรื่องกองทุนการศึกษา กระทรวงศึกษามีงบประมาณทำข่าว จนถึงขั้นบางครั้งรัฐมนตรีใช้สถานที่ในสถานีโทรทัศน์เป็นที่แถลงข่าว

“ องค์กรรัฐขอให้ช่วยทำข่าวแล้วก็แถมเงินสนับสนุนข่าวให้ทำสกู๊ปข่าว และยิ่งรัฐมนตรีกระทรวงที่ไม่มีผลงานก็เหมือนกัน บางทีเราก็ต้องแจกแถมไปทำหมายข่าวยิบย่อยให้ด้วย จนนักข่าวแทบจะกลายเป็นนักข่าวประจำตัวคอยติดตามภารกิจซึ่งบางทีมันไม่มีเนื้อหาอะไร”ซึ่งลักษณะนี้มีอยู่แทบทุกสถานี

“พอเราบอกถึงปัญหาพี่ๆข้างใน เขาก็แก้ปัญหาได้แปลกมากคือ เขาบอกก็ไปถ่ายๆ มันไปเถอะ”

ดังนั้น ธุรกิจข่าวในโทรทัศน์ทุกวันนี้ จึงมีเส้นแบ่งที่บางมาก นอกจากข่าวธุรกิจ แล้ว หน่วยงานภาครัฐที่มีงบก็แทรกซึมเข้ามาในข่าวมากขึ้น จนอาจกลายเป็นองค์กรธุรกิจข่าวมากกว่าองค์กรข่าว

“ที่ผมเป็นห่วงที่สุด คือ ความเป็นธุรกิจข่าวไม่ใช่องค์กรข่าว สื่อโทรทัศน์ วิทยุ มันไม่รักกันหรอก เวลาอีกช่องมีปัญหากลายเป็นท่าทีว่า ดีสมน้ำหน้ามัน ฉันจะได้งบโฆษณาจากกระทรวงนั้นมาเข้าช่องเราแทน” ปฏิวัติ วาสิกชาติ อดีตกบฎไอทีวีกล่าว

ดังนั้นการแทรกแซงข่าวจากอำนาจภายนอก ซึ่งเป็นคำอธิบายหลักเป็นเหตุผลมาตรฐานนั้นแม้มีอยู่ แต่เอาเข้าจริงแล้วถามว่าอำนาจจากภายนอกลงลึกในการทำงานประจำวันจริงหรือ?

หรือว่าผู้บริหารฝ่ายข่าว,บก.ข่าวกระทั่งนักข่าวต่างหากที่เคยชินกับการเซนเซอร์ตัวเอง โดยเฉพาะผู้บริหารที่สมยอมกับการทำข่าวแฝงเร้นที่มาพร้อมรายได้ จนกลายเป็นมายาคติแห่งความกลัวและวัฒนธรรมเอาตัวรอดแบบง่ายๆ ที่กำหนดวิธีการทำงานในวันต่อวัน สามารถแสวงหาทางออกแบบง่าย และโอกาสทางธุรกิจในราคาถูกกำไรสูงด้วยการเล่าข่าว

“ช่อง 3 บรรยากาศแรกๆก็ เซนเซอร์ตัวเองสูง และอยู่ใต้ธุรกิจ พอบริษัทไร่ส้มเข้ามาใช้วิธีการเอาข่าวจากนสพ.มาเล่าเสนอผ่านทีวี ปรากฏว่าเรตติ้งก็ดีขึ้นเรื่อยๆ แสดงว่าที่จริงคนก็สนใจข่าวสารและเราก็หายกลัวมากขึ้น ฝ่ายบริหารก็เห็นว่าข่าวแรงๆ จากหนังสือพิมพ์ก็เสนอได้นี่ ผู้บริหารก็เลยเปลี่ยนจากอ่านข่าวมาเป็นเล่าข่าว 24 ชม. และกลายเป็นเล่าข่าวกันทุกช่องทีนี้ก็กลายเป็นเลี่ยนมาก”

ที่มา หนังสือรายงานประจำปี สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย 2550

 

แท็ก คำค้นหา