บทส่งท้าย จูดี้ สโตว์ นักวิเคราะห์ฝีปากกล้าวิทยุบีบีซี

โดย สมชัย สุวรรณบรรณ
หนังสือพิมพ์มติชน

 

ถอยหลังกลับไปประมาณยี่สิบปี ยุคสมัยที่คนไทยจำนวนหนึ่งยังมีความอดทนรับฟังวิทยุบีบีซีภาคภาษาไทยด้วยระบบคลื่นสั้น

ชื่อเสียงของ จูดี้ สโตว์ โด่งดังขึ้นมาเป็นที่รู้จักกันในหมู่นักการเมือง นายทหาร ปัญญาชน และสื่อมวลชน โดยเฉพาะสื่อมวลชนไทย ที่มักจะถ่ายทอด เอาบทวิเคราะห์การเมืองไทยของเธอลงตีพิมพ์เป็นระยะๆ

ทั้งนี้ เพราะการเมืองไทยในยุคนั้นเป็นยุคที่เรียกกันว่า ประชาธิปไตยครึ่งใบ เป็นยุคที่มีกระแสผลักดันให้ทหารถอยห่างจากการเมือง

กลุ่มนักวิชาการ ปัญญาชน และสื่อมวลชนกลุ่มก้าวหน้า พยายามขยายพื้นที่ประชาธิปไตยทีละคืบทีละศอก ภายในสภาพการเมืองในเวลานั้น ที่ไทยมีนายกรัฐมนตรีที่ต่อท่ออำนาจมาจากกองทัพชื่อ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์

พลเอกเปรมอยู่ในฐานะผู้นำทางการเมืองในช่วงที่กำลังมีการเปลี่ยนถ่ายอย่างสำคัญ ทั้งในทางสากลและภายในประเทศ

กล่าวคือ ขณะที่สงครามในอินโดจีนสงบลงนั้น เพื่อนบ้านรอบประเทศไทยกำลังเปลี่ยนแปลงสร้างชาติกันใหม่ กระแสลมของสงครามเย็นระหว่างโลกตะวันตกและค่ายคอมมิวนิสต์อ่อนตัวลง ส่วนภายในประเทศ กลุ่มคนที่จับอาวุธต่อสู้ก็ได้เปลี่ยนสภาพเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย

แต่ผู้นำในกองทัพบกยังคงยึดถือธรรมเนียมแต่เก่าก่อน ที่มักจะทึกทักเอาว่า “ผู้นำกองทัพ” เท่านั้นที่ควรจะได้ต่อยอดขึ้นเป็น “ผู้นำทางการเมือง”

พลเอกเปรมเอง แม้ว่าจะก้าวจากกองทัพสู่การเมือง แต่กลับตระหนักดี ว่ากระแสการเมืองภายนอกและภายในกำลังเปลี่ยนแปลงไปสู่ประชาธิปไตยเต็มใบ

การทำงานของพลเอกเปรมจึงมีอาการเสียดทานและปีนเกลียวกับกลุ่มนายทหารบางกลุ่มให้เห็นเสมอ และความขัดแย้งของนายทหารคนสำคัญมักส่งผลกระเทือนถึงการเมือง

ช่วงนี้เป็นช่วงที่ วิทยุบีบีซี ทั้งภาคภาษาไทย และภาษาเอเชียอื่นๆ มักอ่านรายงานและการวิเคราะห์สถานการณ์ทางการเมืองไทยจากนักวิเคราะห์ปากกล้าชี่อ “จูดี้ สโตว์” เป็นระยะๆ

ยิ่งการต่อสู้ทางการเมืองในประเทศไทยทวีความเข้มข้นมากขึ้นเท่าใด บทวิเคราะห์ของเธอก็ทวีความแหลมคมมากขึ้นตามลำดับเท่านั้น

จูดี้ สโตว์ เองเคยพูดถึงงานวิเคราะห์ข่าวการเมืองไทยของเธอไว้ว่า ต้องอาศัยความเข้าใจและความสามารถในการ “อ่าน” สถานการณ์อย่างมาก เพราะการทำงานในยุคนั้น แหล่งข่าวไม่เปิดเผยตัว การให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนอย่างเต็มปากเต็มคำของบรรดาบุคคลในข่าว นับเป็นของหายาก

ต่างจากในยุคปัจจุบันที่แหล่งข่าวเปิดตัวให้สัมภาษณ์รายวัน การทำงานวิเคราะห์ข่าวของเธอจึงต้องพึ่งพาความรู้ ความเข้าใจ ทั้งในตัวระบบและตัวบุคคล เป็นความรู้ที่เธอนำไปถ่ายทอดไว้ในหนังสือเรื่องการเมืองไทยที่จูดี้ได้เขียนขึ้นในเวลาต่อมา

เนื้อหาบทวิเคราะห์ของ “จูดี้ สโตว์” จึงโดดเด่นและแตกต่างจากนักวิเคราะห์รายอื่นๆ เพราะความลึก (depth) และความแตกฉานในประวัติศาสตร์การเมืองของไทย และประเทศในอินโดจีนที่ทำให้เธอมองการเมืองไทยเชื่อมโยงกับการเมืองระดับภูมิภาคและของโลกได้

ในส่วนในประเทศนั้น เคยมีนักหนังสือพิมพ์ของไทยคนหนึ่งเขียนเอาไว้ว่า จูดี้ ทำให้อาทิตย์ (พลเอกอาทิตย์ กำลังเอก) อัสดง

ก่อนเข้าทำงานกับวิทยุบีบีซี “จูดี้ สโตว์” เคยเป็นนักการทูตประจำอยู่ในสถานทูตอังกฤษในประเทศไทยและเวียดนาม

ได้ตักตวงความรู้ความเข้าใจในด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และความรู้สึกนึกคิดของผู้คนของสองประเทศเป็นอย่างดี

ถือได้ว่าเธอเป็นหนึ่งในบรรดาไม่กี่คนที่เป็นผู้รู้ (authority) เกี่ยวกับชีวิตของ โฮจิมินห์ ผู้นำชาตินิยมเวียดนาม และยังเป็นผู้รู้เรื่องประวัติศาสตร์การเมืองไทยยุคเปลี่ยนแปลงการปกครองจนถึงสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง

ดังผลงานที่ปรากฏออกมาเป็นหนังสือเชิงวิชาการ “SIAM BECOMES THAILAND: A Story of Intrigue” ซึ่งตีพิมพ์ออกมาเมื่อปี 2534 มีเนื้อหาสาระที่เป็นการกะเทาะเปลือกการต่อสู้ทางการเมืองในสังคมไทยและบทบาทของทหารในวังวนแห่งอำนาจ

เป็นหนังสือที่เขียนโดยอ้างอิงถึงหลักฐานทางประวัติศาสตร์จากประเทศไทย หอจดหมายเหตุหรือ National Archive ในประเทศอังกฤษ และจากห้องสมุดสภาคองเกรสของสหรัฐ

ดังนั้น การวิเคราะห์ของจูดี้ สโตว์ เกี่ยวกับบทบาทของผู้นำกองทัพการเมืองในประเทศไทยจึงเจาะถึงแก่น และ “โดนใจ” คนฟังในประเทศไทยจำนวนมาก

จูดี้ สโตว์ มีชื่อเต็มว่า Judith Ann Stowe เกิดเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2477 ถึงแก่กรรมด้วยโรคมะเร็ง ที่ โรงพยาบาล Parkside Hospital เขต Wimbledon ชานกรุงลอนดอน เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2550 ที่เพิ่งผ่านมา รวมอายุ 73 ปี เธอมีบุตรชายคนหนึ่งชื่อ Michael Stowe

หลังจากจบการศึกษา จูดี้ สโตว์ ก็เข้าสู่ชีวิตราชการในกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษ ทำให้มีโอกาสท่องเที่ยวไปทั่วโลก เคยไปประจำการในประเทศเชคโกสโลวาเกีย (ในยุคสมัยโซเวียต) ฝรั่งเศส สวีเดน ก่อนมาประจำการในประเทศไทย

ซึ่งเธอเคยเล่าให้ฟังว่า เป็นช่วงที่เธอมีความสุขที่สุดและได้ใช้ชีวิตวัยสาวอย่างเต็มที่

เธอมีความผูกพันกับประเทศไทยเป็นพิเศษเพราะเป็นที่ที่เธอพบรัก แต่ทว่าเธอมาค้นพบในภายหลังว่าการเป็นผู้หญิงและต้องเลี้ยงลูกเล็กๆ จะไม่มีทางเจริญก้าวหน้าในอาชีพเป็นนักการทูต (ในยุคสมัยนั้น) แม้จะอยู่ในกระทรวงการต่างประเทศของอังกฤษซึ่งเรียกว่าเป็นประเทศที่ก้าวหน้าแล้วก็ตาม

เธอจึงเบนเข็มชีวิตลาออกจากราชการหันไปเริ่มงานการเป็นนักเขียนนักวิเคราะห์การเมือง (Talk Writer) ให้แก่วิทยุบีบีซี ภาคบริการโลก ในกรุงลอนดอน จนกระทั่งได้ขึ้นเป็นหัวหน้าทีมนักวิเคราะห์เอเชีย ตะวันออก Head of East Asia Talk Unit เมื่อปี 2520 จนถึงปี 2529 เข้ารับตำแหน่งหัวหน้าแผนกภาษาไทย

จากนั้นก็ย้ายไปรับตำแหน่งหัวหน้าแผนกภาษาเวียดนามในปี 2534 จนกระทั่งเกษียณไปใช้ชีวิตอย่างสงบ ช่วยเลี้ยงหลานที่บ้านซึ่งตั้งอยู่ที่เขต Putney ทางตอนใต้ของลอนดอน

จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต

ที่มา มติชน วันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2550 ปีที่ 30 ฉบับที่ 10792 หน้า 34

แท็ก คำค้นหา