กกต.-พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร

โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์
หนังสือพิมพ์มติชน

 

คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับที่จำเป็นต่อการเลือกตั้ง วางเป้าหมายจะพิจารณาให้เสร็จในเบื้องต้นภายในวันที่ 21 กันยายนนี้ ก่อนนำเสนอสภานิติบัญญัติฯพิจารณาวาระ 2-3 ต่อไป

พรรคร่วมฝ่ายค้านเดิมได้แก่ ประชาธิปัตย์ ชาติไทย มหาชน ประชุมร่วมกันเมื่อสัปดาห์ที่แล้วมีมติเสนอความเห็นต่อคณะกรรมาธิการรวม 6 ประเด็น สาระแต่ละประเด็นเป็นอย่างไรผมคงไม่เอ่ยถึงทั้งหมด แต่จะหยิบเฉพาะประเด็นที่ไม่ค่อยมีการพูดถึงกันเท่าไรนักมาอภิปรายต่อในเวทีนี้

นั่นคือ ข้อเสนอที่ 3 ที่ว่า เห็นด้วยกับการให้กรรมการการเลือกตั้งจะต้องทำคำวินิจฉัยชี้ขาดให้ใบเหลือง ใบแดงเป็นหนังสือ โดยระบุข้อเท็จจริง เหตุผล และลงลายมือ กกต.ทุกคนที่ร่วมวินิจฉัย แต่เพิ่มเติมให้คำวินิจฉัยของ กกต.อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 เพื่อที่ผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถยื่นคำร้องขอทราบรายละเอียด สามารถตรวจสอบและเปิดเผยได้

ที่หยิบเรื่องนี้ขึ้นมา ไม่ใช่อะไรหรอกครับ สอดคล้องกับประเด็นที่ผมเสนอความเห็นต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญ ขอให้เพิ่มเติมข้อความเป็นวรรคท้ายของมาตรา 26 ในร่างกฎหมายคณะกรรมการการเลือกตั้ง ดังนี้

การดำเนินงานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง และสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง อยู่ภายใต้บังคับแห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540

เหตุผลสืบเนื่องมาจากนับแต่ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารใช้บังคับ มีปัญหาหน่วยงานของรัฐบางแห่งไม่ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานอิสระตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งอ้างความเป็นอิสระและไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายข้อมูลข่าวสารของราชการ

ทำให้สังคมไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารสาธารณะซึ่งอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบขององค์กรต่างๆ ดังกล่าว และเกิดอุปสรรคไม่สามารถตรวจสอบกรณีปัญหาที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานได้เท่าที่ควร

ทำให้เจตนารมณ์แห่งกฎหมายซึ่งต้องการให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของราชการ เพื่อความเปิดเผยโปร่งใส ตามหลักการถ่วงดุล ตรวจสอบซึ่งกันและกัน ไม่บรรลุผล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตรวจสอบจากสาธารณะซึ่งน่าจะเป็นฝ่ายควบคุม กำกับ การปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุด

คณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญซึ่งมีบทบาทสำคัญยิ่งในการจัดการและควบคุมเลือกตั้งให้บริสุทธิ์ยุติธรรม เปิดเผย โปร่งใส จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่องค์กรแห่งนี้จะปฏิบัติให้เป็นต้นแบบขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญทั้งหลายให้ดำเนินการในแนวทางเดียวกัน คืออยู่ภายใต้การบังคับแห่ง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ

สำหรับประเด็นที่เป็นห่วงว่าการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร จะกระทบต่อการดำเนินงานและทำให้เกิดความเสียหายต่อรูปคดีและต่อตัวบุคคลที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้ร้อง ผู้ถูกร้องและผู้วินิจฉัยนั้น สามารถวางระเบียบ กำหนดข้อยกเว้นการบังคับบางประการไว้ได้ อาทิเช่น เปิดเผยเฉพาะข้อมูลที่ไม่อยู่ในกระบวนการพิจารณาวินิจฉัยปัญหาตามอำนาจหน้าที่ขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ เป็นต้น

แต่เมื่อทำคำวินิจฉัยเสร็จสิ้นแล้วต้องอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 เพื่อที่ผู้ที่เกี่ยวข้องยื่นคำร้องขอทราบรายละเอียด สามารถตรวจสอบและเปิดเผยได้ ดังข้อเสนอของพรรคร่วมฝ่ายค้านที่ว่าแต่ต้น

ครับ ผมเห็นว่าเรื่องนี้เป็นหลักการสำคัญ เป็นหัวใจของความเป็นประชาธิปไตย นั่นคือความเปิดเผย โปร่งใส ซึ่งจะเป็นพื้นฐานของความยุติธรรมในทุกเรื่อง ไม่เฉพาะแต่การเลือกตั้งเท่านั้น เรื่องอื่นๆ ก็เช่นกัน

โดยเฉพาะกระบวนการสรรหาวุฒิสมาชิกที่จะต้องกำหนดแนวทางปฏิบัติหลายประการ เกี่ยวกับองค์กรที่มีสิทธิเสนอชื่อบุคคล และกระบวนการเสนอชื่อ ฯลฯ ถ้าการดำเนินงานทุกขั้นตอนเปิดเผย โปร่งใส ตรวจสอบได้ มีคำอธิบายที่มีเหตุผลรับฟังได้ ปัญหาถ้าจะมีก็น้อยที่สุด

ฉะนั้น การบัญญัติให้องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารจึงมีความจำเป็น และถึงเวลาแล้วที่ควรดำเนินการให้เป็นจริง ในขั้นตอนการร่างกฎหมายเกี่ยวกับองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ นี่แหละ

ที่มา : มติชน วันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2550 ปีที่ 30 ฉบับที่ 10782 หน้า 2

แท็ก คำค้นหา