โทรทัศน์สาธารณะ : อย่างไรให้ประสบความสำเร็จ

ผศ.สุรสิทธิ์ วิทยารัฐ
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

 

ทันทีที่มีความคิดเห็นต่อทางเลือกในการดำเนินการสถานีโทรทัศน์สาธารณะ ของคณะกรรมาธิการ ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีมากกว่าหนึ่งทางเลือก คืออาจจะเสนอให้ปรับปรุงสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยช่อง 11 แทนที่จะปรับสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวีเป็นสถานีโทรทัศน์สาธารณะ ก็มีความน่าสนใจว่าการดำเนินงานสถานีโทรทัศน์แบบใด ที่น่าจะประสบความสำเร็จตามแนวคิดสื่อโทรทัศน์สาธารณะ

โทรทัศน์สาธารณะที่ประสบความสำเร็จก็มีให้เห็นกรณีของสถานีโทรทัศน์บีบีซี กระนั้นก็ตาม องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ “ยูเนสโก”

(UNESCO) ก็ยังคงมีโครงการส่งเสริมให้เกิดสื่อวิทยุและโทรทัศน์สาธารณะในประเทศต่างๆ ทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง โดยพยายามถอดตัวแบบที่ประสบความสำเร็จ เพื่อนำเสนอให้ประเทศต่างๆ ในโลก ได้นำไปสู่การผลักดันให้เป็นจริง

น่าสนใจว่าแนวความคิดจะเริ่มก่อตั้งทีวีสาธารณะในเมืองไทย ไม่ได้เริ่มต้นจากการนับศูนย์ แต่เริ่มต้นจากการติดลบ คือในวงการสื่อไม่ค่อยมีความเชื่อมั่นว่า ทีวีสาธารณะมีความเป็นไปได้ในเมืองไทย

ซึ่งหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า อาจเป็นเพราะเราเข้าใจและดูตัวอย่างจากสถานี ช่อง 11 ที่ในปัจจุบันไม่สามารถรักษาแนวคิดในการเริ่มต้นไว้ได้ และคนส่วนใหญ่เข้าใจว่า ทีวีสาธารณะก็มีลักษณะอย่างช่อง 11 นี่เป็นประเด็นปัญหาสำคัญในการสื่อสารสร้างความเข้าใจถึงรูปแบบทีวีสาธารณะให้มากกว่าความเข้าใจที่มีมาแต่เดิม

กล่าวคือ เราขาดตัวอย่างที่ชัดเจนให้เห็น จึงไม่มีความมั่นใจ ถึงกับผู้เชี่ยวชาญในวงการสื่อบางท่านระบุว่า ไม่มีวันที่สังคมไทยและวงการสื่อจะเกิดความเชื่อมั่นว่า ทีวีสาธารณะจะเป็นจริงในเมืองไทยได้ หากยังไม่มีตัวอย่างของจริงขึ้นมาเสียก่อน

องค์กรหลายองค์กร เช่น ยูเนสโก สมาคมนักข่าววิทยุโทรทัศน์ไทย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และคณะกรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภค สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้ร่วมกันจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการนานาชาติ เรื่อง “โทรทัศน์สาธารณะ : ประสบการณ์และบทเรียนโทรทัศน์สาธารณะ ทำอย่างไรให้ประสบความสำเร็จ” ขึ้น เมื่อเดือนมิถุนายน 2550

ทั้งนี้ องค์กรร่วมมือข้างต้น ได้รวบรวมแนวคิดจากผู้เชี่ยวชาญและคนในวงการโทรทัศน์เมืองไทยจากการสัมมนาครั้งนั้น จัดพิมพ์ขึ้นเป็นหนังสือเล่มเล็กๆ เล่มหนึ่ง ชื่อ “ประสบการณ์และบทเรียนโทรทัศน์สาธารณะ ทำอย่างไรให้ประสบความสำเร็จ” ขณะนี้ ได้เผยแพร่ในวงการสื่อและวางจำหน่ายแล้ว

มอเกนส์ ชมิดท์ ผู้ช่วยรองผู้อำนวยการใหญ่ยูเนสโก ฝ่ายการสื่อสาร ระบุไว้ว่า “สื่อเสรีเป็นอะไรก็ได้ เป็นของราชการ เป็นของเอกชนก็ได้ แต่สื่อสาธารณะนั้นหมายถึงประชาชนต้องเข้าไปควบคุมจัดการ จะต้องไม่ใช่เชิงพาณิชย์ หรือถูกควบคุมโดยรัฐ ต้องอิสระจากการแทรกแซงของรัฐ และจำเป็นจะต้องเป็นองค์กรเผยแพร่ความรู้ ไม่น่าเบื่อ โดยดึงดูดให้ประชาชนสนใจ กล่าวคือ เป็นทั้งสื่อการศึกษา และสื่อบันเทิงในเวลาเดียวกัน”

ข้างต้นน่าจะบ่งชี้ได้ว่า การเตรียมตัวของคนในวิชาชีพสื่อโทรทัศน์ที่จะมีผลดีต่อสังคมไทยนับเป็นความท้าทาย ที่จะต้องปรับกระบวนทัศน์การผลิตรายการโทรทัศน์ จากเชิงพาณิชย์ชัดๆ ให้มามีมิติเชิงสร้างสรรค์ต่อสังคม ที่มีลักษณะความรู้ที่บันเทิง นั่นหมายความว่า เป็นการพิสูจน์ฝีมือของคนโทรทัศน์ไทยได้ไม่น้อย จึงต้องมองการก่อตั้งทีวีสาธารณะเป็นการสร้างวิกฤติสื่อให้เป็นโอกาสของสื่อแทน

มอเกนส์ ชมิดท์ ระบุความสำเร็จของทีวีสาธารณะว่า มี 3 ประการ คือ 1. ต้องมีโครงสร้างคณะกรรมการกำกับที่เป็นอิสระ และปลอดจากเงื่อนไขเชิงพาณิชย์ 2. ต้องมีหลักประกันว่าจะมีเงินทุนสนับสนุนเพียงพอ ขณะเดียวกัน ต้องรักษาความเป็นอิสระในการแสดงความคิดเห็น และ 3. ต้องผลิตรายการซึ่งเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค

ในท่ามกลางสื่อใหม่เกิดขึ้นมาเป็นทางเลือกของผู้ชมมากมาย ทีวีสาธารณะจำเป็นต้องแข่งขันให้ได้ แหล่งข้อมูลต่างๆ ที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้มีอยู่มากมาย ทีวีสาธารณะต้องเปิดโอกาสให้กับคนกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยในสังคมไปพร้อมๆ กัน

ความพยายามก่อตั้งทีวีสาธารณะในเมืองไทย น่าจะสอดคล้องกับยุคสมัย อย่างน้อยมีแนวโน้มสอดคล้องกับมิติต่างๆ ดังนี้ สอดคล้องกับการมีส่วนร่วมทางการเมืองของภาคประชาชน ซึ่งเป็นแนวทางหลักของการปฏิรูปการเมือง

นอกจากนั้น ยังสอดคล้องกับการเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนเป็นเจ้าของสื่อ ซึ่งสอดคล้องกับหลักของการปฏิรูปสื่อ สอดคล้องกับการพัฒนาของเทคโนโลยีสื่อใหม่ (Convergence) เพราะทีวีสาธารณะไม่จำเป็นต้องอาศัยคลื่นความถี่ แต่อาจใช้สัญญาณดิจิทัลก็ได้ ทำให้พื้นที่สาธารณะของสื่อมีเพิ่มมากขึ้นอย่างไม่มีขีดจำกัด

ดังนั้น จึงน่าเชื่อว่า หลักการ แนวทาง และทิศทางการดำเนินงานของทีวีสาธารณะสอดคล้องทันเวลากับการปฏิรูปสื่อ เพื่อการพัฒนาสังคมและการเมืองไทยก็ว่าได้

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 13 กันยายน พ.ศ. 2550 07:00:00

แท็ก คำค้นหา