กม.จำกัดสิทธิสื่อมวลชน

โดย บุญเลิศ ช้างใหญ่
หนังสือพิมพ์มติชน

 

ขณะกำลังดีใจที่ทราบว่าร่าง พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ 2550 ได้ผ่านความเห็นชอบวาระ 3 ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา และจะนำมาบังคับใช้เป็นกฎหมายเร็วๆ นี้ เท่ากับว่าได้ปิดฉาก พ.ร.บ.การพิมพ์ 2484 เพราะจะถูกยกเลิกตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ 2550

พลันก็เกิดอาการตกใจเมื่อพบว่า พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว 2550 ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 14 สิงหาคมที่ผ่านมา และจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 15 พฤศจิกายนนี้ (พ้นกำ หนด 90 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป) มีเนื้อหาที่จำกัดเสรีภาพในการนำเสนอข่าวสารของสื่อมวลชนและเสรีภาพในการสื่อสารของผู้คนไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดๆ

บทบัญญัติของ พ.ร.บ.นี้ปรากฏในมาตรา 9 ซึ่งมี 2 วรรค ดังนี้

เมื่อมีการแจ้งตามมาตรา 5 หรือมีการร้องทุกข์ตามมาตรา 6 แล้ว ห้ามมิให้ผู้ใดลงพิมพ์โฆษณา หรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนด้วยวิธีใดๆ ซึ่งภาพ เรื่องราว หรือข้อมูลใดๆ อันน่าจะทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัวหรือผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวในคดีตามพระราชบัญญัตินี้

ผู้ใดฝ่าฝืนบทบัญญัติในวรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

การห้ามสื่อมวลชนทุกแขนงนำเสนอข่าวสาร รวมทั้งภาพและใครต่อใครก็จะถูกห้ามเผยแพร่เรื่องราวต่อสาธารณชนไปด้วยเมื่อมีการแจ้งตามมาตรา 5 นั่นคือ เมื่อถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว หรือผู้ที่พบเห็นหรือทราบการกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว ได้แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่

และมาตรา 6 ที่บัญญัติว่า หลังจากเจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่ได้รับแจ้งตามมาตรา 5 แล้วหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ได้พบเห็นการกระทำด้วยความรุนแรง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเข้าไปในเคหสถานหรือสถานที่เกิดเหตุเพื่อสอบถามผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัว ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวหรือบุคคลอื่นที่อยู่ในสถานที่นั้นเกี่ยวกับการกระทำที่ได้รับแจ้ง รวมทั้งให้มีอำนาจจัดให้ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครอบครัวเข้ารับการตรวจรักษาจากแพทย์ และขอรับคำปรึกษาแนะนำจากจิตแพทย์ นักจิตวิทยา หรือนักสังคมสงเคราะห์ ในกรณีที่ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครองครัวประสงค์จะดำเนินคดี ให้จัดให้ผู้นั้นร้องทุกข์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แต่ถ้าผู้นั้นไม่อยู่ในวิสัยหรือมีโอกาสที่จะร้องทุกข์ได้ด้วยตนเองให้พนักงานเจ้าหน้าที่เป็นผู้ร้องทุกข์แทนได้

พูดง่ายๆ ก็คือ เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้รับแจ้งว่ามีผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวเกิดขึ้นที่ใด สื่อมวลชนจะถูกห้ามเสนอข่าวสารเรื่องนั้นทันที บรรดาองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนหรือมูลนิธิปวีณา หงสกุลก็ไม่มีสิทธิจะแถลงข่าวเกี่ยวกับกรณีนั้น

แม้ว่าในมาตรา 9 จะเขียนเงื่อนไขไว้ว่า การห้ามนำเสนอข่าวสารของสื่อมวลชนหรือการแถลงข่าวขององค์กรเอกชนที่เข้าไปช่วยเหลือในกรณีที่น่าจะทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัวหรือผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว แต่การเขียนกฎหมายแบบห้วนๆ หยาบๆ เช่นนี้ได้สร้างความหวาดกลัวให้กับสื่อมวลชนทั้งในส่วนกลางและในต่างจังหวัดอยู่ไม่น้อย เพราะไม่รู้ว่าเสนอข่าวสารอย่างไรถึงจะไม่ถูกกล่าวหาว่าน่าจะเกิดความเสียหายทั้งต่อผู้กระทำความรุนแรงและผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรง

ยิ่งเมื่อมาตรา 9 กำหนดโทษทั้งจำคุกและปรับหรือทั้งจำทั้งปรับ สื่อมวลชนส่วนหนึ่งอาจตัดปัญหาด้วยการไม่เสนอข่าวสารและภาพต่อสาธารณชนเสียเลย จะได้ไม่ต้องไปเสี่ยงกับคุกตะรางหรือโดนปรับ

การให้ความคุ้มครองกับผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวซึ่งหมายถึง “เหยื่อ” จากการนำเสนอข่าวสารของสื่อมวลชนนั้นมีเหตุผล เพราะข่าวสารและภาพอาจไปซ้ำเติมความเจ็บปวดทางจิตใจให้กับเหยื่อเพิ่มขึ้นอีก แต่สื่อมวลชนก็มีจริยธรรมที่ประกาศโดยสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติเมื่อปี 2541 กำกับอยู่แล้ว เช่น การปกปิดชื่อจริงของเหยื่อ การไม่เปิดเผยใบหน้าของเหยื่อ นอกจากนี้ยังมีกฎหมายตามประมวลกฎหมายอาญาว่าด้วยการหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณามาตรา 328 ซึ่งโทษจะหนักกว่าการหมิ่นประมาทที่ไม่ได้มีการโฆษณา แต่กระนั้นประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 ก็ยังมีข้อยกเว้น ซึ่งไม่ถือว่ามีความผิดฐานหมิ่นประมาท

ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 423 ก็ยังให้ความคุ้มครองการนำเสนอข่าวสารหรือการสื่อสารต่อสาธารณชนโดยถ้ากล่าว หรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง เป็นที่เสียหายแก่ชื่อเสียงหรือเกียรติคุณของบุคคลอื่น หรือเป็นที่เสียหายแก่ทางทำมาหาได้ หรือทางเจริญของเขา กฎหมายถือว่าต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้ได้รับความเสียหาย

แต่ถ้าการกล่าวหรือไขข่าวไม่ได้ฝ่าฝืนต่อความจริง (ไม่ได้เป็นเท็จ) กฏหมายก็ถือว่าไม่ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน

ในกรณีความรุนแรงที่เกิดขึ้นในครอบครัว ชื่อของกฎหมายคือ “พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครองครัว พ.ศ.2550” เหตุผลที่ออกกฎหมายนี้ก็เขียนไว้ชัดแจ้งว่า ต้องการคุ้มครองผู้ถูกกระ ทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว หรือที่เรียกกันว่าเหยื่อ แต่ในกฎหมายกลับไปคุ้มครองผู้กระทำรุนแรงที่จะไม่ต้องถูกเสนอข่าวสารและภาพด้วยซึ่งถือว่าเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง แม้ว่าเขาหรือเธอผู้นั้นยังถือว่าเป็นบริสุทธิ์จนกว่าศาลจะตัดสินถึงที่สุดว่าเป็นผู้กระทำผิด แต่ความโหดเหี้ยม ทารุณ เช่น พ่อเลี้ยง แม่เลี้ยงทุบตีทำร้ายลูก ผัวทุบตีเมียเพราะเมาหรือบันดาลโทสะ หรือ พ่อเลี้ยงข่มขืนลูกเลี้ยง ฯลฯ สมควรหรือที่สื่อมวลชนจะถูกห้ามเสนอข่าวสารและภาพต่อสาธารณชนและสมควรหรือที่องค์กรสิทธิเด็กหรือสตรีก็ไม่มีสิทธิที่จะเข้าไปช่วยเหลือและนำเสนอรายละเอียดของความรุนแรงให้สาธารณชนได้รับรู้เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่รับแจ้งหรือได้รับการร้องทุกข์

พ่อเลี้ยงใจโหดที่ข่มขืนลูกเลี้ยง หรือตาเฒ่าตัณหากลับที่ข่มขืนหลานตัวเองซึ่งยังไร้เดียงสาซึ่งถูกจับได้คาหนังคาเขา คนเหล่านี้นะหรือที่จะยังมีหน้ามาอ้างชื่อเสียง เกียรติยศของตัวเองอีกหรือ ไม่โดนชาวบ้านละแวกนั้นรุมประชาทัณฑ์ไปเสียก่อนก็บุญแล้ว

พระราชบัญญัติฉบับนี้จะให้คุ้มครองคนพวกนี้ไปถึงไหน แค่เพียงจะบอกเล่าเรื่องราวข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นให้สังคมรับรู้ก็กลัวว่าเขาหรือเธอจะเสียหายต่อชื่อเสียง เกียรติยศ

รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 45 ได้คุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา การจำกัดเสรีภาพจะต้องเข้าเงื่อนไขตามที่กฎหมายกำหนดไว้เพื่อคุ้มครองเป็นการเฉพาะเท่านั้น ในมาตรา 35 ที่คุ้มครองสิทธิในครอบครัว ชื่อเสียงเกียรติยศของบุคคลก็ยังเขียนยกเว้นให้การกล่าวหรือไขข่าวไปยังสาธารณชนที่แม้ละเมิดหรือกระทบถึงสิทธิของบุคคลในครอบครัว เกียรติยศ ชื่อเสียงก็สามารถกระทำได้ถ้าเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน

นี่คือหลักการสำคัญที่รัฐธรรมนูญ 2550 และรัฐธรรมนูญในอดีตก็บัญญัติไว้เช่นนี้ ด้านหนึ่งเป็นการเคารพในเสรีภาพสื่อมวลชนในการเผยแพร่ข่าวสาร หากข่าวสารนั้นเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน อีกด้านหนึ่งเป็นการเคารพในสิทธิที่จะรับรู้ข่าวสารของประชาชนว่ามีเรื่องอะไรเกิดขึ้นในโลกและในสังคม ทั้งสื่อมวลชนและประชาชนมีเสรีภาพที่จะสื่อสารถึงกัน

การปิดกั้นเสรีภาพตามมาตรา 9 ย่อมขัดต่อรัฐธรรมนูญ และจะเกิดปัญหาในการนำไปปฏิบัติ ทั้งจะถูกตราหน้าว่ากฎหมายมาตรา 9 มุ่งคุ้มครองผู้ก่อความรุนแรงในครอบครัวจำพวกพ่อเลี้ยงข่มขืนลูกเลี้ยง และทำลายการรับรู้ข่าวสารของสาธารณชน

ที่มา : มติชน วันที่ 06 กันยายน พ.ศ. 2550 ปีที่ 30 ฉบับที่ 10771 หน้า 6

แท็ก คำค้นหา