นักข่าวทีวีพันธุ์ใหม่

โดย ผศ.สุรสิทธิ์ วิทยารัฐ
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

 

นักข่าวทีวีพันธุ์ใหม่ คือ แนวคิดหลักในหนังสือรายงานประจำปี 2550 ของสมาคมนักข่าววิทยุโทรทัศน์ไทยปีนี้ สะท้อนทิศทางของวงการสื่อสารมวลชน ประเภทวิทยุกระจายเสียง และวิทยุโทรทัศน์ชัดเจนว่า อนาคตของคนวงการนี้จะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ อันเป็นผลมาจากการปฏิวัติของเทคโนโลยีการสื่อสารที่ใช้ในการส่งสาร หรือการออกอากาศจากเดิมที่จำกัดอยู่ตรงที่คลื่นความถี่ แต่การปฏิวัติของเทคโนโลยีดิจิทัล จะทำให้เกิด “นักข่าวทีวีพันธุ์ใหม่” ขึ้นมา

รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มีสาระสำคัญของการปฏิรูปสื่อสารมวลชน โดยเฉพาะด้านความเป็นเจ้าของสื่อ กำหนดให้มีการจัดสรรคลื่นความถี่เสียใหม่ ซึ่งเป็นทรัพยากรสำคัญในการส่งสัญญาณวิทยุและโทรทัศน์ ไว้ในมาตรา 47 อย่างไรก็ตาม การออกอากาศรายการวิทยุโทรทัศน์ที่ส่งผ่านเครือข่ายเคเบิล ได้กลายเป็นช่องทางการสื่อสารที่สำคัญ ซึ่งจะไม่จำกัดเหมือนอย่างการส่งสัญญาณทางคลื่นความถี่ อย่างเช่น ฟรีทีวีเดิม

เถกิง สมทรัพย์ นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ระบุว่า ในอนาคตอันใกล้นี้ สังคมข่าวสารของประเทศไทยจะก้าวกระโดดครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง ปัจจุบันเรามีสถานีโทรทัศน์ฟรีทีวี 6 ช่อง สถานีวิทยุทั่วไปหลายร้อยสถานี วิทยุชุมชน และส่วนตัวอีกกว่าครึ่งหมื่น เคเบิลทีวี ทีวีดาวเทียมหลายร้อยช่อง มีรายการต่างๆ ให้บริการประชาชนนับหมื่นรายการ เราได้มีโอกาสเห็นการผลิตรายการที่ดีๆ จากต่างประเทศทั่วโลก เราเห็นสถานีข่าวสารยักษ์ใหญ่ของโลกทั้งหมดในจอทีวีที่บ้าน แต่เมื่อมองมายังเฉพาะรายการทีวี วิทยุที่เป็นผลผลิตของคนไทยเราเอง ยังมีคำถามถึงคุณภาพกันอยู่มาก เพราะเราไม่เพียงขาดแคลนคนเท่านั้น เรายังขาดโอกาสกันอยู่มาก

การปฏิวัติวงการสื่อสารด้วยเทคโนโลยีนั้น จะเปิดพื้นที่ให้กับ “คนใหม่” เข้าสู่วงการมากขึ้น ดังที่เราจะเห็นว่ามีรายการทีวีใหม่ๆ ผุดขึ้นในเคเบิลทีวีมากมายมหาศาล แม้จะยังจำกัดอยู่เฉพาะเรื่องง่ายๆ เช่น ขายสินค้า หมอดู ขายพระเครื่อง มิวสิควิดีโอ หรือเสริมความงาม ทำอาหาร แต่หากเราสามารถทำให้ประชาชนหันมาสนใจเรื่องที่เป็นสาระมากขึ้น เราก็จะเห็นเจ้าของรายการ เจ้าของเคเบิลทีวีหันไปผลิตรายการที่ตอบสนองความต้องการของประชาชนมากขึ้น เถกิง สมทรัพย์ มีความเชื่อมั่นแน่วแน่ว่า สถานีโทรทัศน์สาธารณะจะแจ้งเกิดได้ โดยระบุว่าอนาคตที่มองเห็นได้จากความแข็งแกร่งของเครือข่ายเคเบิลในเคเบิลท้องถิ่น วิทยุท้องถิ่น ที่มีกระจายอยู่แทบทุกซอกทุกมุมของประเทศไทย เขาจึงวาดฝันไว้ในหัวขบวนหนังสือรายงานประจำปีของสมาคมสายฟ้าปีนี้ว่า

“คนหนุ่มสาวในท้องถิ่นจำนวนมหาศาล ที่ก้าวเข้าสู่วงการสื่อสารมวลชนจะเป็นปรากฏการณ์ใหม่ของการสื่อสารมวลชนไทย เพราะคนเหล่านี้จะก้าวออกมาจากการครอบงำ และหลุดพ้นที่การผลิตรายการที่มอมเมาผู้ชม หันมาหาสิ่งสร้างสรรค์มากขึ้น เป็นคนพันธุ์ใหม่ของวงการวิทยุโทรทัศน์ที่เราต้องการ”

นอกจากนั้น รายงานประจำปี ของสมาคม “สายฟ้า” ปีนี้ ยังมีการกล่าวถึง การตรวจสอบว่านักข่าวแท้ในวงการข่าวทุกวันนี้ และนักข่าวพันธุ์ใหม่มีมากน้อย จากข้อเขียนเรื่อง “คำสารภาพหลังจอข่าว” และ “ข่าวโทรทัศน์ : คนดู คนทำ และความหวัง” ของ ยุทธนา วรุณปิติกุล ที่นำเสนอคำให้สัมภาษณ์ของ ปฏิวัติ วาสิกชาติ อดีตกบฏไอทีวี ว่า “ที่ผมเป็นห่วงที่สุด คือ ความเป็นธุรกิจข่าว ไม่ใช่องค์กรข่าว” สะท้อนถึงความห่วงใยในองค์กรข่าวโทรทัศน์ของคนในวงการได้อย่างดี

ขณะเดียวกัน มีการ “เช็คอาหาร” ของวงการข่าวโทรทัศน์ จากข้อเขียน “อนุสติจากไอทีวี กำเนิดและอวสานสถานีข่าวแห่งแรก” ของ ปฏิวัติ วาสิกชาติ และการเปิดความในใจของผู้อำนวยการฝ่ายข่าวยุคแรกของไอทีวี เทพชัย หย่อง ใน “จุดจบของไอทีวี กับความรับผิดชอบของผู้บริหาร” รวมถึงการนำเสนอโอกาสและความเป็นไปได้ของสถานีโทรทัศน์สาธารณะในเมืองไทยอีกหลายบทความ

ที่สำคัญ สิ่งใหม่ที่ควรเกิดขึ้นกับวงการโทรทัศน์เมืองไทย คือ “สภาวิชาชีพวิทยุโทรทัศน์ : ทางออกการกำกับดูแลกันเองของคนข่าววิทยุโทรทัศน์?” ที่ โสภิต หวังวิวัฒนา ผู้อำนวยการสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ ได้ลองนำเสนอโอกาสและความเป็นไปได้ขึ้นอย่างชัดเจน ทั้งนี้ ผู้อ่านสามารถดูรายละเอียดกิจกรรม ความเคลื่อนไหว รวมทั้งรายงานประจำปีได้ที่เวบไซต์ ของสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ ได้ที่ http://www.thaibja.org

การปฏิวัติวงการสื่อสารมวลชนที่มีผลมาจากการปฏิวัติเทคโนโลยีดิจิทัลในเมืองไทย ที่จะนำไปสู่นักข่าวทีวีพันธุ์ใหม่ได้เกิดขึ้นแล้ว เพียงแต่กระบวนการสื่อสารมวลชนในเมืองไทย ยังมีมุมมองเดิมๆ ไม่เปลี่ยนแปลง ขาดความเชื่อและความศรัทธา ไม่หลุดจากกรอบเดิมในการทำหน้าที่สื่อมวลชนกระแสหลักอย่างเดียว นักข่าวทีวีพันธุ์ใหม่ แบบ Citizen Reporter จะเข้ามาทำหน้าที่แทนในอนาคต

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2550 07:00:00

แท็ก คำค้นหา