สื่อสารมวลชนในโลกอนาคต คนทำสื่อ ฟันธงไม่พ้นออนไลน์

โดย ณัฐพล ทองใบใหญ่
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

 

ความบางและน้ำหนักที่ลดน้อยลงสวนทางกับราคาที่เพิ่มสูงขึ้นของหนังสือพิมพ์แต่ละฉบับที่ออกมาในทุกวันนี้ หลังจากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ-การเมืองโหมกระหน่ำมาตั้งแต่เมื่อกลางปีที่แล้ว เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สามารถบ่งบอกกับผู้อ่านได้ว่า ธุรกิจหนังสือพิมพ์ประสบกับภาวะยากลำบากไม่แพ้ภาคธุรกิจอื่นๆ ในขณะที่โทรทัศน์และวิทยุโฆษณาก็เข้ามาน้อยลงและยังต้องตั้งหน้าตั้งตาต่อสู้แข่งขันกันอย่างหนักหน่วงมากกว่าเดิม

ทั้งหมดนี้ ยังไม่รวมถึงจำนวนนิตยสารอีกหลากหลายแนวที่ต้องปิดตัวเองลงไปหลายฉบับ ส่วนที่ยังสามารถพยุงตัวอยู่ได้ก็จำเป็นต้องนำกลยุทธ์ต่างๆ เข้ามาใช้ในการบริหารจัดการอย่างสุดความสามารถเพื่อความอยู่รอดขององค์กรและพนักงาน จนบางครั้งบางองค์กรถูกมองว่า บกพร่องต่อการทำหน้าที่สื่อมวลชนที่ดีในการนำเสนอข่าวสารอย่างหลายหลาย รอบด้านและเป็นธรรมตามหน้าที่ที่พึงมีพึงปฏิบัติ

สถานการณ์ที่เป็นอยู่ในขณะนี้ จึงเหมาะสมเป็นอย่างยิ่งที่สื่อมวลชนทั้งหลายจะได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน ดังนั้น เมื่อมีโอกาส IT-Digest จึงไม่พลาดที่จะเข้าร่วมการสัมมนาในหัวข้อ “สื่อสารมวลชน….ในโลกอนาคต” ที่จัดโดยบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) หรือ อ.ส.ม.ท. ในโอกาสครบรอบ 30 ปี เมื่อเร็วๆ นี้ พร้อมทั้งเก็บเนื้อหาจากการสัมมนาบางช่วงบางตอนที่น่าสนใจมาถ่ายทอดสู่ท่านผู้อ่านในวันนี้

การสัมมนาเริ่มต้นที่ นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ อสมท. ได้กล่าวถึงแนวโน้มของสื่อสารมวลชนในอนาคตว่า เทคโนโลยีดิจิตอลจะทำให้ข้อจำกัดในการออกอากาศหายไป คอนเทนท์จะสำคัญมาก ช่องทางการสื่อสารจะขยายตัว ข้อจำกัดเรื่องคลื่นความถี่จะไม่มีและจะสื่อสารได้ทุกที่โดยมีคอนเทนท์เป็นตัวขับเคลื่อน สำหรับในส่วนของฟรีทีวีการออกอากาศด้วยระบบดิจิตอลคุณภาพจะสูงกว่าระบบอนาล็อคและสามารถขยายฟรีทีวีได้เป็นร้อยช่อง

“ขณะนี้ จากการหารือกันของกลุ่มผู้ผลิตสื่อทีวีไทยเห็นตรงกันว่า ในปี พ.ศ. 2558 จะมีการยกเลิกการออกอากาศทีวีด้วยระบบอนาล็อกและหันไปใช้ระบบดิจิตอลแทน ซึ่งในหลายประเทศเริ่มมีการออกอากาศด้วยระบบดิจิตอลแล้ว โดยการออก อากาศทีวีด้วยระบบดิจิตอลจะทำให้ได้คุณภาพสูงกว่าและราคาถูกกว่า โดยเป็นไปตามแนวโน้มของเทคโนโลยีและต่าง ประเทศ” กรรมการผู้จัดการใหญ่ อสมท. กล่าวเพิ่มเติม

นายวสันต์ ตั้งข้อสังเกตว่า วันนี้ การสื่อสารทำได้หลายช่องทางไม่เฉพาะทีวี วิทยุและหนังสือพิมพ์ เพราะแม้แต่โทรศัพท์ มือถือก็สามารถนำมาใช้เป็นช่องทางการติดต่อสื่อสารและรับข่าวสาร ขณะที่ในวันข้างหน้าโทรศัพท์มือถือจะสามารถรับ ชมทีวีได้อย่างสมบูรณ์แบบแม้ในปัจจุบันจะต้องรับชมผ่านจีพีอาร์เอสและเอดจ์ แต่ในอนาคตการออกอากาศทีวีด้วยระบบดิจิตอลจะทำให้โทรศัพท์มือถือสามารถรับภาพทีวีได้เหมือนรับวิทยุ โดยเชื่อว่า ไม่นานจะได้เห็นในเมืองไทย

กรรมการผู้จัดการใหญ่ อสมท. มองว่า ในปัจจุบันคนไทยใช้งานอินเทอร์เน็ตมากขึ้นจากจำนวน 8 ล้านคน ในปีที่ผ่านมา และเชื่อว่าจะเพิ่มเป็น 10 ล้านคน ภายในปีนี้ แตกต่างจากในอดีตที่ต้องใช้เวลาในการออนไลน์ แต่ปัจจุบันสามารถทำได้แบบเรียลไทม์ทำให้สื่ออินเทอร์เน็ตเป็นต่อสื่ออื่นๆ ในเรื่องของความเรียลไทม์ ขณะที่เน็ตเวิร์คมีการขยายตัวอย่างรวดเร็วจนอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง หรือ บรอดแบรนด์ถูกใช้งานมากขึ้นด้วยความคุ้นเคย

“อย่างไรก็ตาม ในส่วนของ อสมท. เองกำลังจะปรับใหญ่ โดยเตรียมปรับปรุงระบบข่าวออนไลน์ของสำนักข่าวไทย ซึ่งเดิมให้บริการแก่สมาชิกและยังไม่ได้ใช้ศักยภาพเต็มที่ โดยจะทำให้เป็นเว็บเปิดและอัพเดทข่าวตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนั้น ยังจะทำให้เป็นอินเตอร์แอ็คทีฟมีเดียมากขึ้น โดยจะให้ผู้ชมและผู้ใช้บริการเว็บไซต์เข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบและผลิตคอนเทนท์เองด้วย” นายวสันต์ กล่าวถึงแผนการที่มองไว้ในอนาคต

ผู้บริหาร อสมท. สรุปเอาไว้ว่า ทุกสื่อกำลังได้รับผลกระทบจากโฆษณาที่ลดลง แต่สื่อออนไลน์กลับเติบโต และในเอเจนซี่ทุกแห่งมีแผนกเฉพาะสำหรับสื่อออนไลน์และมัลติมีเดียขึ้นมา ดังนั้น ทุกๆ สื่อ โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ จะต้องมีสื่อออนไลน์รองรับและให้ความสำคัญมากขึ้น คือ ไม่นำเอาสิ่งที่ได้เผยแพร่ไปแล้วมานำเสนอซ้ำ พร้อมกันนี้ ได้เสนอว่า หนังสือพิมพ์ในยุคอินเทอร์เน็ตจะต้องเน้นบทบาทการวิเคราะห์และวิจารณ์มากกว่าเพียงนำเสนอว่า เกิดอะไรขึ้น

ด้าน นายไพโรจน์ ปิ่นแก้ว ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. และอดีตผู้บริหารฝ่ายเทคนิคของสถานีโทรทัศน์หลายช่อง ให้ความกระจ่างในประเด็นที่ผู้ผลิตสื่อทีวีจะเปลี่ยนไปออกอากาศด้วยระบบดิจิตอลว่า ทีวีระบบดิจิตอลจะชัดเจนกว่าทีวีระบบอนาล็อก มีหลายราย การได้ในช่องเดียว ประหยัดพื้นที่เก็บข้อมูลและสามารถพลิกแพลงนำไปใช้ประโยชน์ได้มากกว่า

ที่ปรึกษา กมธ.วิทยาศาสตร์ฯ สนช. แสดงความคิดเห็นต่อว่า ในอนาคตเทคโนโลยีไอพี หรือ อินเทอร์เน็ต โปรโตคอล จะทำให้ทุกสื่อปฏิวัติตัวเองได้ง่ายขึ้น ดังจะเห็นได้จากทีวีอินเตอร์แอ็คทีฟเริ่มมีบทบาทและไอพีทีวีที่กำลังมาแรง โดยมีทั้งให้บริการผ่านอินเทอร์เน็ตและบนโทรศัพท์มือถือทั้งในรูปแบบถ่ายทอดสดและออนดีมานด์ อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้ เริ่มมีให้บริการแล้วในบ้านเรา ในขณะที่ผู้ผลิตคอนเทนท์ก็มีมากขึ้น

“ในอนาคตดิจิตอลจะทำให้ข้อจำกัดในเรื่องของการออกอากาศทีวีหมดไป ซึ่งที่ผ่านมา ผู้ผลิตทีวีในประเทศไทยได้ทดลองออกอากาศไปแล้ว เมื่อปี 2543 ไม่พบปัญหาอะไร ส่วนในประเทศอื่นๆ ก็ยังไม่มี ขณะที่ในประเทศสิงคโปร์ดิจิตอลทำให้ทีวีแอ็คทีฟและไอพีทีวีบนโทรศัพท์มือถือเป็นรูปเป็นร่างในการให้บริการและเริ่มทดลองการทำไฮเทป ที่ก้าวหน้ามากกว่าใช้ดิจิตอลแล้ว” นายไพโรจน์ บอกเล่าประสบการณ์ที่ได้สัมผัสมา

ที่ปรึกษา กมธ.วิทยาศาสตร์ฯ สนช. ยังมองว่า ในอนาคตเทคโนโลยี การออกอากาศและโครงข่ายจะไม่ใช่ปัญหา แต่ปัญหา คือ ใครจะเป็นผู้ประกอบการระหว่างผู้ที่ทำทีวีกับโทรศัพท์มือถือและจะเลือกใช้คลื่นความถี่แบบไหน ขณะที่กฎหมายใหม่เกี่ยวกับการสื่อสารโทรคมนาคมที่กำลังจะแก้ไขในเร็วๆ นี้ จะทำให้ไปสู่สังคมดิจิตอลเร็วขึ้น ส่วนการยุบรวมองค์กรกำกับดูแลเป้า หมายหลักจะเป็นเรื่องของใบอนุญาต คือ ใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่และใบอนุญาตผู้ประกอบการ

ที่กล่าวมา เป็นทรรศนะจากวิทยากรผู้คร่ำหวอดอยู่ในแวดวงสื่อสารมวลชนที่ได้มาสะท้อนมุมมองเกี่ยวกับสื่อสารมวลชในโลกอนาคตในการสัมมนาครั้งนี้ อย่างไรก็ตาม การสัมมนายังไม่จบลงเพียงแค่นี้ ดังนั้น ในครั้งหน้า เราจะนำเสนอเนื้อหาจากการสัมมนาในส่วนที่เหลือกันต่อ พร้อมทั้งมุมมอง ความคิดเห็นและกรณีศึกษาที่ถูกหยิบยกขึ้นมาโดยผู้เข้าร่วมการสัมมนาที่น่าสนใจไม่แพ้กันต่อไป…

ทีมา : ไทยรัฐออนไลน์ 29 สิงหาคม 2550

 

แท็ก คำค้นหา