เรตติ้งหนัง

โดย เสาวรส รณเกียรติ
หนังสือพิมพ์มติชน

 

เรื่องการจัดเรตติ้งทีวี หรือที่เรียกเป็นทางการว่า “การจัดระดับความเหมาะสมของสื่อโทรทัศน์” แม้จะเป็นเพียงข่าวเล็กๆ แต่เชื่อว่าเป็นที่สนใจของหลายคน โดยเฉพาะบรรดาผู้ปกครองเด็กๆ ที่คงอยากจะกระโดดออกมาร่วมวงแสดงความเห็นเรื่องนี้ด้วย

เพราะเวลานี้ “ทีวี” ถือเป็นความบันเทิงของแทบทุกหลังคาเรือน หากอยู่บ้านก็จะใช้เวลาอยู่กับหน้าจอทีวีมากที่สุด

เรื่องการจัดเรตติ้งเป็นประเด็นขึ้นมา เมื่อกรมประชาสัมพันธ์ จัดทำคู่มือขึ้นมาเพื่อจะบังคับใช้กับผู้ผลิตรายการทีวี แต่ปรากฏว่าในการเรียกผู้ผลิตรายการกว่า 100 ชีวิตไปหารือเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม ปรากฏว่า คู่มือดังกล่าวถูกคัดค้านอย่างรุนแรง

ประเด็นที่คัดค้านสำคัญ คือ เป็นข้อกำหนดที่ไม่สามารถทำงานได้จริง โดยคุณลักษณะที่ไม่พึงประสงค์ของสังคมไทย 3 เรื่อง คือ เพศ ภาษา และพฤติกรรมและความรุนแรง

โดยเรื่องเพศ มีกำหนดว่า การผลิตรายการต้องดูให้ครอบคลุมเรื่องการแต่งกาย การแสดงออกทางเพศ การแสดงกิริยาที่ไม่เหมาะสม ฯลฯ ซึ่งผู้ผลิตบอกว่า เขียนไว้กว้างมาก แค่ให้พระนางจับมือกัน ก็ไม่รู้ว่าเข้าข่ายการแสดงออกทางเพศหรือไม่ เป็นต้น

เช่นเดียวกับข้อกำหนดอื่นๆ เช่นเรื่องความรุนแรง ที่รวมถึงแสดงภาพอาวุธ ยาเสพติด เนื้อหาที่ขัดต่อศีลธรรม เป็นต้น จนผู้ผลิตแทบกระดิกตัวไม่ได้

แต่ที่ผู้ผลิตเดือดดาลมากที่สุด คงไม่พ้นเรื่องช่วงเวลาการออกอากาศ เพราะรายการ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็น “ละคร” ที่ส่อเค้าว่าจะเข้าข่ายคุณลักษณะที่ไม่พึงประสงค์ทั้ง 3 ข้อ หรือเรตติ้ง “ฉ” นั้นถูกเตะโด่งให้ไปออกอากาศหลัง 22.00 น. เลยเวลาไพรม์ไทม์ คือช่วง 18.00-22.00 น. ไปแล้ว

งานนี้ถ้า “แรมพิศวาส” หรือ “รากราคะ” ที่คนรู้จักไม่จบไปก่อน มีสิทธิ์ต้องไปถ่างตารอดูหลัง 22.00 น.

อย่างไรก็ตาม ก่อนจะตัดสินว่า เรื่องเรตติ้ง ดีหรือไม่ดี ควรนำมาใช้หรือไม่ น่าจะมาดูผลการสำรวจของเอแบคโพลล์เป็นข้อมูลพื้นฐานก่อน

เอแบคเขาสำรวจพบว่า ช่วงเวลาที่เด็กดูทีวีมากสุดคือ 18.00-20.00 น. แต่ละวัย (ตั้งแต่ 5-18 ขวบ) ดูทีวีช่วงนี้มากกว่า 50% และแต่ละวัยเห็นฉากตบตี ด่าทอ ข่มขืน ทะเลาะหรือทำร้ายร่างกาย มากที่สุด ถึง 75-85% โดยเป็นฉากที่พบในละครช่อง 7 มากที่สุด รองลงคือช่อง 3, 5

นี่คงเป็นสาเหตุที่เตะโด่งรายการเรตติ้ง “ฉ” ไปอยู่เสียดึกดื่น

นอกจากนี้ยังมีผลวิจัย เรื่อง “รู้เท่าทันละครไทย” โดย ผศ.ดร.พรทิพย์ เย็นจะบก คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ศึกษาละคร 150 เรื่อง พบว่า ส่วนใหญ่เต็มไปด้วยความรุนแรง การกดขี่ทางเพศ ชู้สาว การนอกใจ การมีเพศสัมพันธ์ การทิ้งลูก

ผศ.ดร.พรทิพย์ ยังบอกด้วยว่า หากเป็นละครรุนแรงก็ไม่ควรออกอากาศในเวลาที่เด็กดู แต่เรื่องนี้คงมีอุปสรรค เพราะเม็ดเงินโฆษณาช่วงเวลานี้สูงถึง 280 ล้านบาทต่อเดือน

อีกข้อมูลหนึ่ง มาจากจิตแพทย์เด็ก พญ.พรรณพิมล หล่อตระกูล ที่ระบุว่า การเสนอความรุนแรงและเรื่องเพศเป็นภาพเคลื่อนไหวซ้ำไปซ้ำมา และมีเนื้อหาเกินกว่าวิจารณญาณเด็ก จะทำให้เกิดความก้าวร้าว โดยเฉพาะเด็กอายุ 6-12 ปี เป็นวัยอยากรู้อยากเห็น อยากเลียนแบบ ขณะที่เด็กอายุ 13-18 ปี เริ่มรู้จักกลั่นกรอง แยกแยะข้อมูลได้บางส่วน แต่ก็ต้องการทำตัวเหมือนผู้ใหญ่ ก็จะเลียนแบบพฤติกรรมโดยไม่คำนึงถึงความรับผิดชอบ โดยเรื่องทางเพศ

พญ.พรรณพิมล เทียบให้เห็นง่ายๆ ว่า การให้เด็กแยกแยะผิดชอบชั่วดี ก็เหมือนให้เด็กกินส้ม เราจะให้เด็กกินส้ม ก็ต่อเมื่อรู้ว่าเด็กคายเม็ดเป็น เช่นเดียวกันจะให้เด็กดูหนัง หรือละครประเภทใด ก็ต้องถึงวัยที่เหมาะสม

ฉะนั้น หากมองในแง่สังคม การหล่อหลอมเด็กวันนี้ให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในอนาคต ผู้ผลิตก็คงปฏิเสธเรื่องการจัดเรตติ้งและช่วงเวลาการออกอากาศไม่ได้

แต่ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่รัฐ ก็ไม่ควรออกข้อกำหนดที่กว้าง หรือตีกรอบจนไม่สามารถปฏิบัติได้จริง

ไม่เช่นนั้นเราอาจจะได้ดูรายการที่น่าเบื่อ จนแม้กระทั่งเด็กก็เบือนหน้าหนีก็ได้

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 09 กรกฎาคม พ.ศ. 2550 ปีที่ 30 ฉบับที่ 10712 หน้า 6

แท็ก คำค้นหา