จับกระแสต้านพ.ร.บ.รักษาความมั่นคง

หนังสือพิมพ์ข่าวสด

 

คอลัมน์ รายงานพิเศษ
ร้อนแรงมาตลอดสัปดาห์ เมื่อครม.เห็นชอบในหลักการพ.ร.บ.รักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร ตามที่สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เสนอ หลายฝ่ายเกรงว่าร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว เป็นการรวมศูนย์อำนาจด้านความมั่นคงไว้ที่ผบ.ทบ. ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (ผอ.รมน.) แต่เพียงผู้เดียว และอาจเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง

เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. คณะอนุกรรมการด้านกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมและการสูญหายของบุคคล ร่วมกับ องค์การนิรโทษกรรมสากล ประเทศไทย หรือ Amnesty International (Thailand) จัดสัมมนาเรื่อง “ชำแหละร่างพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร พ.ศ…” โดยมีผู้ร่วมอภิปรายและเนื้อหา ดังนี้

-ไพโรจน์ พลเพชร
เลขาธิการสมาคมสิทธิและเสรีภาพเพื่อประชาชน

“ขณะนี้รัฐบาลมีกฎหมายความมั่นคงอยู่แล้ว 2 ฉบับ คือ กฎหมายอาญาว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย ที่แก้ไขเมื่อปี 2546 เพิ่มเติมเรื่องภัยคุกคาม และพ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน การออกพ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร ถ้าพูดตรงไปตรงมาคือการเปิดบทบาทให้กองทัพเข้ามาจัดการบ้านเมืองได้หลายเรื่อง เช่น มาตรา 9 ให้จัดตั้งกอ.รมน. มาตรา 10 ให้กอ.รมน.จัดการเรื่องความมั่นคงทั้งในภาวะปกติและไม่ปกติอย่างเต็มที่ ทั้งที่มีกฎหมายที่จะประกาศใช้ตรงไหนก็ได้ ห้ามการชุมนุมได้อยู่แล้ว

ขอบเขตความมั่นคงในราชอาณาจักรหรือภัยคุกคามกว้างมาก เป็นความมั่นคงในทรรศนะที่แปลก ให้มีอำนาจจัดการทั้งในยามปกติและไม่ปกติ ซึ่งพ.ร.บ.นี้สร้างบทบาทให้กองทัพมีอำนาจล้น และตรวจสอบไม่ได้ ถือว่าท้าทายหลักนิติธรรมของประเทศอย่างมาก ขัดต่อการมีส่วนร่วมของประชาชน หากโครงการของรัฐที่ประชาชนได้รับความเสียหายมาเรียกร้องจะถือว่ากระทบต่อความมั่นคงหรือไม่

พ.ร.บ.นี้ยังขัดกับการกระจายอำนาจ เป็นสิ่งย้อนยุค ผบ.ทบ.เป็นผู้มีอำนาจและใช้ดุลยพินิจสูงมาก แม้นายกฯจะเป็นประธานคณะกรรมการรักษาความมั่นคงภายใน แต่ไม่มีอำนาจ จึงไม่ควรออกกฎหมายในยุคนี้ ควรประเมินการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินว่าใช้ได้หรือไม่ ไม่ใช่รวบอำนาจให้กอ.รมน. กองทัพบก เพราะเป็นการสร้างอำนาจซ้อนรัฐ

ยิ่งรัฐบาลชุดใหม่อ่อนแอเพราะเป็นรัฐบาลผสม กอ.รมน.จะมีบทบาทสูงเรื่องความมั่นคง ผมไม่เห็นด้วยที่จะออกกฎหมายนี้”

-นฤมล ทับจุมพล
อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

“เมื่อเทียบพ.ร.บ.นี้กับต่างประเทศ คือ สหรัฐอเมริกา มาเลเซีย สิงคโปร์ และอิสราเอล ประเทศอื่นมีกฎหมายรักษาความมั่นคงภายในเพราะกลัวภัยคุกคาม ภัยคอมมิวนิสต์และทำกันมา 4 ทศวรรษที่แล้ว แต่การออกกฎหมายนี้ของไทยไม่ใช่ภัยก่อการร้าย แต่พยายามรักษาโครงสร้างของกอ.รมน.ไว้ หางานหาพื้นที่ให้ทำ เท่ากับรื้อฟื้นความมั่นคงแบบอำมาตยาธิปไตย

พ.ร.บ.นี้กินพื้นที่มากมาย ทั้งการจับกุมสอบสวน ห้ามออกนอกเคหสถาน จำกัดการพูดแสดงความเห็น การชุมนุม ไม่มีหลักการว่าออกกฎหมายโดยอะไรและเสนออย่างกว้าง พ.ร.บ.นี้จึงไม่ถูกหลักการสิทธิมนุษยชน สิทธิพลเมือง

รัฐบาลนี้ไม่ชอบธรรมเพราะไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่มาออกฎหมายเช่นนี้ ขอให้ทุกฝ่ายร่วมกันวิจารณ์เรื่องนี้ให้มากที่สุด เพราะแม้แต่ปัญหาเขื่อนปากมูล ชาวบ้านจะเข้ามาเจรจากับนายกฯที่กรุงเทพฯ แต่ถูกรถถังล้อม มีการจับคนขับรถเพราะกลัวจะไปรวมกับกลุ่มต้านคมช.

ขนาดยังไม่มีกฎหมายนี้ท่าทีทหารยังทำร้ายประชาชนมากอยู่แล้ว”

-ปริญญา เทวานฤมิตรกุล
อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

“พ.ร.บ.ฉบับนี้คัดลอกพ.ร.ก.ฉุกเฉินมา ซึ่งพ.ร.ก.จะใช้เมื่อเกิดประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ทหารมีอำนาจเข้ามาได้ และดำเนินการได้เฉพาะพื้นที่ แต่พ.ร.บ.นี้ไม่ต้องประกาศ เพราะมีอำนาจทันทีทั่วประเทศ และสามารถประกาศเคอร์ฟิวไม่ให้ประชาชนออกนอกเคหสถานได้

ส่วนการปราบปรามกลุ่มบุคคลก็คัดลอกพ.ร.ก.ฉุกเฉินเช่นกัน ที่สำคัญพ.ร.บ.นี้ได้ตัดฝ่ายตุลาการ ศาลปกครองออกไปจากการตรวจสอบ ประชาชนไม่สามารถฟ้องศาลปกครองได้หากถูกละเมิด เท่ากับไม่มีสิทธิเสรีภาพตามหลักประชาธิปไตย ทุกอย่างขึ้นกับผบ.ทบ. มีมาตรา 32 ที่ระบุว่าการรักษาความมั่นคงภายในจะคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพประชาชน แต่ก็ไม่มีมาตรการตรวจสอบว่าจะคุ้มครองประชาชนได้จริง ทุกอย่างเป็นเรื่องดุลยพินิจ

16 ปีที่ผ่านมา เมื่อปี”34 รสช.ยังไม่ออกกฎหมายขนาดนี้ รัฐบาลไม่ควรมีกฎหมายลักษณะนี้เพราะไม่เกิดประโยชน์ ฝ่ายความมั่นคงจะรักษาความมั่นคงแต่ไม่สอดคล้องวิถีประชาธิปไตย ท่านต้องไม่ลืมว่าตอนทำรัฐประหารใช้ชื่อว่าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยฯ พ.ร.บ.นี้ไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตย เพราะผบ.ทบ.มีอำนาจนิติบัญญัติและใช้อำนาจเอง ขัดกับหลักอำนาจซึ่ง 3 ฝ่าย คือนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการต้องถ่วงดุลกัน แต่พ.ร.บ.นี้ได้ตัดอำนาจตุลาการออกไป หากสนช.รับร่างพ.ร.บ.นี้ไว้พิจารณาจะไม่มีความชอบธรรม

พ.ร.บ.ฉบับนี้จะเป็นการสืบทอดอำนาจรูปแบบหนึ่ง แม้มีรัฐบาล มีรัฐธรรมนูญ แต่กองทัพก็ยังมีอำนาจมาก ซึ่งไม่ดี ไม่เหมาะสม ไม่ทำให้บรรยากาศประชาธิปไตยกลับมาได้ ประชาชนยิ่งอึดอัด ไม่ทราบครม.อนุมัติพ.ร.บ.นี้มาได้อย่างไร ไม่ต่างกับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ออกพ.ร.ก.ฉุกเฉินเช่นกัน

ห่วงการตรวจสอบจากตุลาการ เพราะผู้ใช้อำนาจต้องรับผิดชอบอำนาจที่ตัวเองใช้ เมื่อตัดตุลาการออกไปเท่ากับนิรโทษกรรมตัวเองล่วงหน้า ต่อให้ผบ.ทบ.ซื่อสัตย์จริงใจแก้ปัญหา แต่ท่านจะควบคุมเจ้าหน้าที่ทหารทุกคนได้หรือไม่ ไม่ให้ใช้อำนาจโดยละเมิด หากรู้อย่างนี้ว่าละเมิดแล้วไม่ต้องขึ้นศาลจะเกิดอะไรขึ้น

เรื่องนี้ต้องทักท้วงกันแรงๆ เพราะเข้าใจผิดหลงผิดไป เราขอท้วงดังๆว่า พ.ร.บ.นี้ไม่ดี ไม่ใช่มาตรการที่สอดคล้องประชาธิปไตย เป็นอำนาจที่น่าห่วงเพราะไม่มีการตรวจสอบ”

-สมชาย หอมลออ
เลขาธิการมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา

“พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร เท่ากับประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ใช้กฎอัยการศึกทั่วประเทศ เป็นการนำพ.ร.ก.ฉุกเฉินกับกฎอัยการศึกมารวมกัน ไม่แปลกใจที่พ.ร.บ.นี้ผ่านครม.ได้ จำเลยคดีนี้มีทั้งครม.และคมช. และสนช.จะเป็นจำเลยคนต่อไป ซึ่งคณะกรรมการกอ.รมน. 2 ใน 3 เป็นข้าราชการประจำ เสนาธิการทหารเป็นเลขาฯกอ.รมน. เป็นการเสริมสร้างอำนาจความเข้มแข็งให้ข้าราชการทหารมากขึ้น บังคับบัญชาสั่งการข้าราชการพลเรือน เป็นการสร้างกองทัพมาเป็นพรรคการเมืองหนึ่ง ในแง่ประชาธิปไตยถือเป็นพรรคนอกระบบ กลายเป็นรัฐซ้อนรัฐ อำนาจซ้อนอำนาจ น่ากลัวมาก

คมช.และรัฐบาลกำลังใช้ผีระบอบทักษิณ เพื่อให้ประชาชนวางเฉยต่อการสืบทอดอำนาจคมช.ด้วยการออกกฎหมายนี้ อยากเรียกร้องประชาชนให้ช่วยกันจับตาดูอย่างใกล้ชิด เรากำลังจะเจอเผด็จการตัวใหม่ เหมือนหนีเสือปะจระเข้ อ้างว่าทำเพื่อไม่ให้เกิดการฟื้นฟูระบอบทักษิณ

ขณะนี้ข้าราชการก็ใช้อำนาจบาตรใหญ่กับประชาชนอย่างกว้างขวางอยู่แล้ว ไม่มีข้าราชการถูกดำเนินคดีเลยทั้งทางอาญา วินัย เกิดเป็นวัฒนธรรมข้าราชการชั่วลอยนวลอยู่มากมายเหนือประชาชน”

-พิภพ ธงไชย
คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย

“พ.ร.บ.นี้เป็นการสืบทอดอำนาจที่ชัดเจน หากกฎหมายผ่านจะมีรัฐ 2 รัฐปกครองประเทศ รัฐธรรมนูญจะหมดความหมาย คงต้องให้คมช.ไปออกรัฐธรรมนูญของตัวเอง ทำให้สุดๆ เราจะได้ต่อสู้อย่างสุดๆ แต่ขณะนี้ยังอ้างความหวังดีอยู่ ยังดันทุรังให้อำนาจเผด็จการอยู่

ถือว่าสืบทอดอำนาจเนียนกว่าสมัยพล.อ.สุจินดา คราประยูร และยิ่งกว่ามาตรา 17 สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ คิดไม่ถึงว่าจะออกกฎหมายที่เลวร้ายมากๆ อาจจะกลัวพ.ต.ท.ทักษิณ ผมพูดด้วยความเคารพทหาร หากนายกฯและประธานคมช.ซึ่งคิดผิด ยังจะออกกฎหมายนี้อยู่จะถูกต่อต้านอย่างหนัก

อยากให้ตีความมั่นคงใหม่ให้เกิดความสมดุล ทั้งอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ และอำนาจประชาชน หากผ่านกฎหมายนี้ ครม. สนช. ส.ส.ร. องค์กรอิสระ โดยเฉพาะกรรมการสิทธิมนุษยชน นักวิชาการ ต้องรวมตัวกันประท้วงด้วยการประกาศลาออกให้หมด เราต้องร่วมกันทำเชิงสัญลักษณ์ หากยังไม่หยุดก็ต้องออกมาปฏิเสธรัฐธรรมนูญปี”50 ทั้งที่ดีกว่ารัฐธรรมนูญปี”40 ส่วนประชาชนก็ต้องรวมตัวกันเผาบัตรประชาชน เป็นยุทธวิธีปฏิเสธอำนาจเผด็จการ

เห็นกฎหมายแล้วขนลุกเพราะเท่ากับรัฐประหารระยะยาว ต่ออำนาจไม่มีที่สิ้นสุดให้กับผบ.ทบ. โดยศาลไร้ความหมาย หากประธานคมช.ซึ่งบอกว่ารักประชาธิปไตยจริง ต้องถอนกฎหมายไปยื่นต่อสภาในสมัยหน้า”

-เสน่ห์ จามริก
ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

“พ.ร.บ.นี้สวนทางกับเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ ทำให้อนาคตประชาธิปไตยมืดมน รัฐบาลบอกว่าจำเป็นโดยอ้างสหรัฐก็มีกฎหมายนี้ ไม่ควรพูดเลี่ยงบาลี เป็นตัวอย่างที่เลวๆ สหรัฐซ้อมนักโทษจะไปเอาอย่างด้วยหรือ กฎหมายนี้กระทบสิทธิประชาชนแน่นอน ทำให้การแสดงความเห็นถูกลิดรอน ที่สำคัญคือการมีอำนาจทำลายเครดิตรัฐบาล น่าจะทำคะแนนมากกว่านี้

เตือนด้วยความหวังดี ท่านห้อมล้อมด้วยข้าราชการไม่ค่อยคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพประชาชน รัฐบาลสะสมปัญหาหลายเรื่อง เช่น การทำเอฟทีเอกับญี่ปุ่น และทำงานไม่มีประสิทธิภาพเท่าใด ทำให้ความรู้สึกประชาชนไม่ค่อยดี

ปัญหาตอนนี้ไม่ได้อยู่ที่กำลัง แต่อยู่ที่ความนิยมของประชาชน”

ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวสด วันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2550 ปีที่ 17 ฉบับที่ 6053

 

แท็ก คำค้นหา