บทบาทสื่อมวลชน ภายใต้วิกฤตความขัดแย้งของชาติ

โดย สดศรี เผ่าอินจันทร์
หนังสือพิมพ์มติชน

 

ท่ามกลางวิกฤตของชาติไทยในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ทางภาคใต้ ที่นับวันจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ทหาร ตำรวจ ประชาชนผู้บริสุทธิ์ ไม่ว่าจะเป็นพุทธหรือมุสลิม ต้องสังเวยกับภัยมืดที่คุกคามรายวัน ราวกับประเทศไทยของเราใน 4 จังหวัดภาคใต้ตกอยู่ในภาวะสงคราม

เช่นเดียวกับสถานการณ์ทางการเมือง ที่มีความขัดแย้งแตกขั้วแยกข้าง นับตั้งแต่ก่อนรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 หลังรัฐประหาร จนถึงวันพิพากษาของตุลาการรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2550 ให้ยุบพรรคทรงอิทธิพลอย่างพรรคไทยรักไทย และตัดสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรค จำนวน 111 คน รวมทั้งพรรคนอมินีจำนวนหนึ่ง ส่วนพรรคประชาธิปัตย์คู่กรณีไม่มีความผิด

แม้คนส่วนใหญ่ที่มีดุลพินิจและฟังการพิจารณาคดีอย่างต่อเนื่องตลอดวัน จะมีความเห็นว่าการพิจารณาคดีประวัติศาสตร์ในครั้งนี้เปี่ยมไปด้วยหลักนิติศาสตร์เพียงใด

แต่แน่นอนว่าสำหรับผู้สูญเสียผลประโยชน์แล้วไม่ผิดอะไรกับการนำน้ำมันราดเข้าไปในกองเพลิง ไฟแห่งโทสะ โมหะ และอวิชชา สุมรุมเกิดบรรยากาศของการชุมนุมต่อต้าน

ซึ่งทำให้หลายฝ่ายคาดการณ์ถึงความไม่สงบที่จะเกิดขึ้น และอาจเกิดปฏิวัติซ้ำหรือปฏิวัติซ้อน หรืออาจเกิดกระบวนการชักใยคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับร่วมคิด ร่วมสร้าง ร่วมร่างรัฐธรรมนูญ ในการลงประชามติที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำลังจะดำเนินการเร็วๆ นี้ ด้วยงบประมาณจำนวนมหาศาล

นอกจากนี้ สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในเวลานี้ ก็อยู่ในภาวะซบเซาอย่างยิ่ง ทั้งนี้เนื่องจากทั้งปัจจัยภายนอก เช่น ราคาน้ำมันที่ยังถีบตัวสูงขึ้นอย่างไม่หยุด ปัจจัยภายในอันเนื่องจากการเมืองไม่นิ่ง นักลงทุนขาดความเชื่อมั่น การทำมาหากินฝืดเคืองในทุกระดับ ซึ่งส่งผลให้การเก็บภาษีของรัฐไม่ตรงตามเป้า

รวมทั้งฐานะทางการเมืองของประเทศซึ่งได้รับผลกระทบจากรัฐบาลที่ผ่านมาในการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำและขี่ช้างจับตั๊กแตนกับโครงการประชานิยมหลายๆ โครงการที่ล้มเหลว

ทุกสถานการณ์ดังกล่าวที่เอ่ยมาทั้งหมด ผู้เขียนเชื่อว่าย่อมส่งผลกระทบต่อจิตใจของประชาชนทั่วไปที่ติดตามข่าวต่างๆ จากสื่อมวลชนทุกแขนง คนไทยอาจมีภาวะเครียด อัตราความทุกข์เพิ่มขึ้น ขณะที่อัตราความสุขลดลง

อาจมีคำถามว่า สังคมอยู่ดีมีสุข ดังที่ระบุไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 จะเกิดขึ้นได้หรือไม่

ผู้เขียนมีคำตอบเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า คนไทยในเวลานี้ไม่มีความสุขเท่าที่ควรจริงๆ โดยอ้างข้อมูลจากรายงานการจัดอันดับประเทศที่มีความสงบสุข (Global Peace Index) เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2550 จัดทำโดยสถาบัน “The Economist Intelligence Unit” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ The Economist Group ผู้จัดทำนิตยสารเกี่ยวกับเศรษฐกิจ The Economist ที่มีอิทธิพลต่อโลกเสรีนิยมสูงสุด เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2550 พบว่าประเทศไทยอยู่อันดับที่ 105 จากทั้งหมด 121 ประเทศที่มีความสงบสุขต่ำกว่าเอธิโอเปียอยู่ที่อันดับ 103 และพม่าตามมาติดๆ โดยหลายประเทศในเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น ไต้หวัน จีน และเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย อยู่ในอันดับที่สูงกว่า

ข้อมูลที่สถาบันดังกล่าวนำมาประกอบการวิเคราะห์ว่า ประเทศใดจะสงบสุขไม่สงบสุขมากน้อยเพียงใดนั้น ประกอบด้วยปัจจัยต่างๆ เช่น การครอบครองอาวุธของคนในประเทศ ระดับอาชญากรรม (weapons of minor destruction), ค่าใช้จ่ายของกองทัพประเทศนั้นๆ ว่าสูงเพียงใด (military expenditure), การคอร์รัปชั่น (corruption), การให้ความใส่ใจต่อสิทธิมนุษยชนแก่ประชาชนในประเทศ (the level of respect for human rights) เป็นต้น

(อ้างอิงจากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2550)

มีหลายคนตั้งคำถามกับผู้เขียนว่า วิกฤตความขัดแย้งที่เกิดขึ้นกับสังคมไทยในเวลานี้ สื่อมวลชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สื่อหนังสือพิมพ์ สื่อวิทยุ และสื่อโทรทัศน์ มีส่วนอย่างมากในการแพร่กระจายข่าวสาร ซึ่งบางครั้งมีการใส่สีตีไข่ บางครั้งรายงานแบบแบ่งข้างชัดเจน

หนังสือพิมพ์บางฉบับตั้งตนเป็นปฏิปักษ์หรือคู่อริกับอดีตผู้นำพรรคการเมืองใหญ่และขับไล่จนสำเร็จ

สื่อมวลชนบางสื่อ เช่น วิทยุและโทรทัศน์ กลัวอำนาจรัฐหรืออำนาจทุน ยอมที่จะไม่รายงานข่าวในสิ่งที่จะทำให้ผู้บริหารสถานี เกิดปัญหาหรือเลือกที่จะรายงานข่าวแบบเรียบๆ ไม่กระทบกระทั่งใคร โดยอ้างว่านั่นคือความเป็นกลางแบบเอาตัวรอด

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คำถามเกี่ยวกับบทบาทสื่อมวลชนในการทำข่าวสถานการณ์ภาคใต้ ผู้ถามเป็นสื่อมวลชนแขนงหนึ่งซึ่งต้องสูญเสียบิดาด้วยการฆ่าตัดคอที่ จ.นราธิวาส ด้วยฝีมือของคนร้ายในขบวนการก่อความไม่สงบ

เธอผู้นี้เสนอความเห็นในที่ประชุมสัมมนาว่า สื่อมวลชนไทยควรไม่เสนอข่าวความรุนแรงอันเกิดจากการสังหารโหดทุกคดีที่เกิดจากขบวนการเหล่านี้ เพราะยิ่งสร้างความฮึกเหิม ทำให้เกิดตัวชี้วัดแห่งความสำเร็จของคนกลุ่มนี้ และยิ่งทำให้ประชาชนคนไทยในพื้นที่ยิ่งอยู่ในภาวะตึงเครียดมากยิ่งขึ้น

เป็นคำถามที่ตอบยากมาก เพราะเท่ากับต้องล้มทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสารมวลชนและหลักการรายงานข่าวไปเสีย

ทั้งนี้ เพราะการไม่รายงานเหตุการณ์ที่มีความสำคัญและมีผลกระทบต่อสาธารณะก็เท่ากับปกปิดข้อมูลข่าวสาร การไม่นำเสนอความจริงที่เกิดขึ้นในสังคม ก็เป็นการทำหน้าที่ที่ขัดต่อข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมในวิชาชีพด้านสื่อมวลชนด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนมีความเห็นว่า ภายใต้สภาวิกฤตความขัดแย้งในชาติเช่นนี้ สื่อมวลชนควรมีบทบาทในการสะท้อนความเป็นไปในสังคมอย่างสร้างสรรค์ เป็นธรรม และละเอียดอ่อนกับข้อมูลบางส่วนที่ล่อแหลม

การละเลงสี การรายข่าวอย่างเอามันเพียงเพื่อยอดขาย หรือเพื่อสนองความสะใจในการแบ่งข้างของตนเอง โดยไม่คำถึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประเทศชาติและประชาชน อาจถือได้ว่าสื่อมวลชนมีบทบาทในการเป็นผู้สร้างภัยคุกคามแบบใหม่เสียเอง

ที่มา : มติชน วันที่ 08 มิถุนายน พ.ศ. 2550 ปีที่ 30 ฉบับที่ 10681 หน้า 7

 

แท็ก คำค้นหา