อย่าดูแคลนทีวีสาธารณะ

โดย สุวัฒน์ ทองธนากุล
ผู้จัดการออนไลน์

 

“ผู้บริโภคสื่อกับสื่อ ใครเป็นฝ่ายกำหนดให้เกิดคุณภาพที่เป็นอยู่ทุกวันนี้”

นั่นเป็นประเด็นที่ ดร.พิรงรอง รามสูต หัวหน้าภาควิชาวารสารสนเทศ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชงลูกมาให้ผมเมื่อวันร่วมเวทีเสวนาในรายการของกรรมาธิการวิสามัญศึกษาและส่งเสริมการสร้างคุณธรรมและจริยธรรม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ

มันก็คล้ายคำถาม “ไก่กับไข่” นั่นแหละ ไม่มีประโยชน์ที่จะไปโทษว่าอะไรเป็นเหตุปัจจัย แต่ที่แน่ๆ ธุรกิจสื่อ แม้ต้องดำเนินการเชิงธุรกิจที่เป็นเป้าหมายเพื่อขยายผู้ชม-ผู้อ่าน จึงต้องรู้ว่ากลุ่มเป้าหมายต้องการอะไร แบบ และเนื้อหาให้น่าสนใจเพื่อดึงดูดความนิยม จะได้มีรายได้ค่าโฆษณาเพิ่ม

แต่ธุรกิจสื่อ ก็เป็นธุรกิจที่มีลักษณะพิเศษเช่นเดียวกับ ธุรกิจการศึกษา และธุรกิจการรักษาโรคภัยไข้เจ็บ

นั่นคือเป้าหมายทางธุรกิจต้องควบคุมไปกับความรับผิดชอบต่อสังคม

รายการโทรทัศน์ที่ถูกวิจารณ์ว่าไม่ประเทืองปัญญา จึงยังมีอยู่เป็นส่วนใหญ่ เพราะคนดูชอบและเจ้าของเงินโฆษณาพอใจ

การที่ประเทศไทยจะมีช่อง “โทรทัศน์สาธารณะ” จึงเป็นเรื่องที่ไม่คาดฝัน และบังเอิญเป็น “ความดีของความไม่ดี” ที่ผู้บริหารไอทีวี ทำผิดสัญญาและไม่ยอมจ่ายค่าสัมปทานที่ค้าง จนถูกยึดคลื่นคืนรัฐ

คณะรัฐมนตรีเพิ่งมีมติรับร่างกฎหมายจัดตั้งองค์กรมหาชนมาดำเนินการกับโทรทัศน์ระบบยูเอชเอฟที่กำลังมีปัญหาเพื่อปรับเป็นทีวีสาธารณะ

โทรทัศน์ช่องใหม่จะไม่มีโฆษณา โดยมีเงินสนับสนุนเอามาจาก 15% ของภาษีเหล้าและบุหรี่ ปีแรกจะได้ 1,500 ล้านบาท

รวมทั้งอาจมีเงินสนับสนุนจากกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) หรือเงินบริจาคของธุรกิจเอกชน ซึ่งอาจได้ตอบแทนแค่คำขอบคุณท้ายรายการ

โครงการทีวีสาธารณะยังถูกปรามาสจากคนที่ไม่เชื่อว่าจะทำได้อย่างในต่างประเทศเช่น NHK (ญี่ปุ่่น) BBC (สหราชอาณาจักร) ZDF (เยอรมัน) หรือ YLE (ฟินแลนด์)

วันก่อน ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ กรรมการศึกษาเตรียมการเรื่องทีวีสาธารณะ ได้รับเชิญไปแสดงปาฐกถาอิสรา อมันตกุล ประจำปี 2550 เรื่อง “เส้นทางสื่อสาธารณะ-สื่อเสรี”ทำให้ได้ข้อมูลชัดเจนขึ้น

ดร.สมเกียรติ บอกว่า “คนไทยไม่มีจินตนาการและศรัทธาว่าสิ่งดีๆ สามารถเกิดในประเทศได้”

ก็ใช่เลยแหละ เพราะที่แล้วมาคลื่นและความถี่สำหรับวิทยุและโทรทัศน์ รวมทั้งวิทยุ โทรคมนาคม ซึ่งเป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติที่ควรต้องจัดสรรใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะ แต่ได้ถูกผู้มีอำนาจทางการเมืองร่วมกับผู้บริหารราชการ นำไปให้สัมปทานแก่เอกชนเอาไปทำเป็นธุรกิจ

แล้วก็ได้แบ่งปันผลประโยชน์กันไปเป็นของบุคคลและธุรกิจ

สังคมไทยกำลังจะได้พิสูจน์ความเชื่อที่ว่าสิ่งดีๆ ที่ไม่ใช่รัฐไม่ใช่ธุรกิจ แต่เป็นการทำเพื่อประโยชน์สาธารณะจะเกิดได้สมบูรณ์แบบแค่ไหน

ดร.สมเกียรติบอกว่า เวลาคนพูดกับบริการสาธารณะ ที่ในอดีตมักถูกปล่อยปละละเลยให้สกปรกและทรุดโทรม

แต่ทั้งส้วมสาธารณะ และตู้โทรศัพท์สาธารณะยุคปัจจุบันหลายแห่งที่มีการบริหารจัดการเอาค่าบริการที่เก็บมาจ้างคนดูแลทำความสะอาดก็ช่วยให้สภาพดีขึ้น

แน่นอนครับ โทรทัศน์สาธารณะกำลังถูกจับตาว่า จะให้ประโยชน์แก่สังคมได้คุ้มค่าน่าชมเพียงไร

ส่วนกลุ่มผู้ผลิตและผู้เกี่ยวข้องซึ่งคิดว่าจะสูญเสียผลประโยชน์ที่เคยได้จากสถานะ ITV เดิม ย่อมพากันคัดค้านโจมตีเป็นธรรมดา

ดังนั้นคณะผู้เตรียมการและคณะกรรมการ รวมทั้งผู้บริหารชุดเริิ่มต้นสร้างทีวีสาธารณะถ้าได้คนมีวิสัยทัศน์และเอาจริงเอาจังก็จะได้ชื่อว่ากำลังสร้างประวัติศาสตร์ใหม่ที่สำคัญมากต่อสังคมไทย

เพราะสื่อโทรทัศน์มีบทบาททำให้ที่สังคมได้เรียนรู้และถูกหล่อหลอมผ่านการดูภาพและฟังเสียงจนคุ้นเคยมากกว่าสื่อประเภทอื่น

การมีโทรทัศน์ช่องที่อิสระจากโครงสร้างราชการและปลอดจากการแทรกแซงของนักการเมือง จึงมีผลดีต่อการสร้างสรรค์สังคม

ถ้าเราถามหาคุณสมบัติที่พึงประสงค์สำหรับคนไทย เพื่อให้เกิดสังคมอยู่ดี-มีสุข ก็ต้องสร้างพลเมืองตั้งแต่วัยเด็กจนเป็นผู้ใหญ่ให้มีค่านิยม ทัศนคติ และพฤติกรรมในการเป็นคุณ

เราอยากเห็นคนไทย มีแนวทางชีวิตอย่างน้อย 3 ประการ ได้แก่

1. ใฝ่ดี-รอบรู้-มีปัญญา

2.ยึดมั่นในปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง คือคิดถึงความพอประมาณ มีเหตุผลและมีภูมิคุ้มกันความไม่แน่นอน ทั้งนี้มีเงื่อนไขว่าต้องมีความรอบรู้และมีคุณธรรม

3.มีธรรมาภิบาลในชีวิตและการงาน คือ ซื่อสัตย์ สุจริต ถูกต้อง เป็นธรรม โปร่งใส และตรวจสอบได้

มีคนเข้าใจผิดว่าถ้าจะทำรายการโทรทัศน์เพื่อสนองเป้าหมายเชิงอุดมการณ์อย่างข้างต้นสงสัยว่าจะเอาแต่ข่าวและสาระหรือน่าเบื่อ

แต่จากแนวทางที่ ดร.สมเกียรตินำเสนอไว้ยืนยันว่าไม่ใช่เลย และก็ควรเป็นเช่นนั้น

สาระที่ให้นั้น ทั้งข่าวสาร ความรู้และความคิด ซึ่งมีรูปแบบที่ช่องทีวีทั่วไปมีนั่น ถ้าเป็นรายการละครก็ให้สาระ เช่น ส่งเสริมคุณธรรม ส่งเสริมความรักชาติและเสียสละ ความอดทนสู้ชีวิต อย่าง “ตามรอยพ่อ” “ตากสินมหาราช” และ “แดจังกึม” หรือรายการเกมโชว์ที่ให้ความรู้ เช่น “ฉลาดสุดๆ ” “แฟนพันธุ์แท้ ” เป็นต้น

ดังนั้นจึงสำคัญที่แนวคิดเชิงยุทธศาสตร์ เรื่องคนไม่มีปัญหา เพราะสามารถจ้างผลิตโดยทีมงานมืออาชีพหรือเปิดรับโครงการดีๆ ได้

เมื่อทีวีช่องใหม่นี้เกิดสามารถเสนอรายการดีทั้งสาระ จนมีผู้นิยมกลับจะมีส่วนกระตุ้นให้ทีวีช่องปกติผลิตรายการดีๆ แก่สังคม เพิ่มมากขึ้นด้วยซ้ำ

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 20 พฤษภาคม 2550 18:05 น.

แท็ก คำค้นหา