“เสรีภาพกับศีลธรรม”

โดย เกษียร เตชะพีระ
หนังสือพิมพ์มติชน

 

วาทะทุ่มเถียงในเวทีสาธารณะเกี่ยวกับสถานะที่ควรจะเป็นของพุทธศาสนาในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทำให้ผมนึกถึงงานเขียนชิ้นหนึ่งขึ้นมา…

ที่ตรงใจกลางของนิพนธ์ปรัชญาการเมืองคลาสสิคสมัยใหม่ว่าด้วยประชาธิปไตยเรื่อง Du Cantrat Social ou Principes Du Droit Politique (ว่าด้วยสัญญาประชาคมหรือหลักการแห่งสิทธิทางการเมือง ตีพิมพ์ปี ค.ศ.1762 / พ.ศ.2305 ห้าปีก่อนเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง) ของ จัง-จ๊ากส์รุสโซ (ค.ศ.1772-1778) นักปราชญ์แห่งยุครู้แจ้งชาวฝรั่งเศส มีเงื่อนปมหนึ่งเกี่ยวกับความสัมพันธ์อันเป็นปฏิทรรศน์ (paradox) ระหว่างเสรีภาพกับศีลธรรม

หากให้สรุปก็คือ ด้านหนึ่งคล้ายกับรุสโซเสนอว่า:-

1) One has to be maral to be free. เราต้องทำดีจึงจะเสรีได้

แต่ในทางกลับกัน เขาก็เสนอด้วยว่า:-

2) One has to be free to be moral. เราต้องเสรีถึงจะทำดีได้

ข้อเสนอประการแรกของรุสโซเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างเสรีภาพกับศีลธรรมในลักษณะที่ศีลธรรมเป็นเงื่อนไขอันจำเป็นแก่เสรีภาพ ปรากฏอยู่ตอนท้ายของสัญญาประชาคมฯ เล่มที่ 1 บทที่ 9 ว่าด้วยองค์อธิปัตย์ ความว่า (คำแปลที่ใช้ในบทความนี้เป็นของผู้เขียนเอง):-

“ในทางเป็นจริง ปัจเจกบุคคลในฐานะมนุษย์ปุถุชนก็อาจมีเจตจำนงเฉพาะที่ตรงข้ามหรือแตกต่างจากเจตจำนงทั่วไปที่ตัวเขาเองมีในฐานะพลเมืองได้ ผลประโยชน์เฉพาะของเขาอาจบอกเขาในสิ่งที่แตกต่างเป็นคนละเรื่องกับที่ผลประโยชน์ส่วนรวมบอก การดำรงอยู่อย่างสมบูรณ์แบบและเป็นอิสระโดยธรรมชาติของเขาอาจทำให้เขาเห็นไปได้ว่าสิ่งที่เขาติดค้างควรชดใช้แก่ภารกิจส่วนรวมเป็นการยกให้เปล่าๆ ปลี้ๆ ฉะนั้นถึงมันจะหายหกตกหล่นบ้างก็คงทำให้คนอื่นเดือดร้อนน้อยกว่าภาระ ที่จะตกหนักแก่เขาหากต้องจ่ายมันไป และโดยที่เขาเห็นว่าสัตบุรุษที่ประกอบส่วนสร้างรัฐขึ้นมานั้นเป็นองค์ภาวะแห่งเหตุผลเนื่องจากผิดวิสัยมนุษย์ปุถุชน เขาก็เลยจะหันไปใช้ประโยชน์จากสิทธิของพลเมืองโดยไม่ยอมบรรลุหน้าที่ของคนในบังคับ อันนับเป็นความอยุติธรรมที่หากปล่อยให้ลุกลามแผ่ขยายออกไปแล้วก็อาจทำให้บ้านเมืองล่มจมได้

“ฉะนั้นเพื่อไม่ให้สัญญาประชาคมนี้กลายเป็นสูตรที่เป็นหมันไปเสีย มันจึงบรรลุข้อผูกมักนี้ไว้โดยนัย ซึ่งลำพังตัวข้อผูกมัดนี้เท่านั้นที่ให้อำนาจดังต่อไปนี้แก่คนอื่นได้ กล่าวคือใครก็ตามที่ไม่ยอมเชื่อฟังเจตจำนงทั่วไปก็จะถูกคนทั้งหมดบังคับให้ทำตาม อันมิได้หมายความอย่างอื่นนอกจากว่าเราบังคับให้เขาเสรีนั่นเอง…”

วลี “ปฏิทรรศน์” ที่ยกมาท้ายสุดนั้นชวนฉงนสนเท่ห์ยิ่ง…ก็แล้วคนเราจะถูกบังคับให้เสรี (“on le forcera a” etre libre”) ไปได้อย่างไร?!?

ในทางกลับกัน ข้อเสนอประการที่สองของรุสโซเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างเสรีภาพกับศีลธรรมกลับออกมาในเชิงว่าเสรีภาพเป็นเงื่อนไขอันขาดเสียมิได้แก่ศีลธรรม มันปรากฏอยู่ตอนกลางของสัญญาประชาคมฯ เล่มที่ 1 บทที่ 4 ว่าด้วยความเป็นทาส ความว่า:-

“การสละเสรีภาพของตนก็คือการสละคุณสมบัติของมนุษย์ สละสิทธิและกระทั่งหน้าที่แห่งมนุษยภาพของตัว ย่อมไม่มีสิ่งใดจะพอชดเชยแก่ใครก็ตามที่สละทุกสิ่งทุกอย่างได้ การสละเยี่ยงนั้นขัดแย้งไปกันไม่ได้กับธรรมชาติของมนุษย์ และการลิดรอนเสรีภาพไปจากเจตจำนงของตนจนหมดสิ้นก็เท่ากับพรากเอาศีลธรรมทั้งหมดไปจากการกระทำของตัวนั่นเอง…”

ข้อเสนอประการหลังนี้เข้าใจง่ายกว่าอยู่บ้าง กล่าวคือ คนเราจะทำดีได้ ก็ต้องมีเสรีภาพเสียก่อน หรือนัยหนึ่งมีเสรีภาพที่จะเลือกทำดีก็ได้, ไม่ทำก็ได้, หรือทำชั่วแทนก็ได้ แถมเพราะได้เลือกที่จะทำดีเองโดยเสรี ทั้งที่ไม่จำเป็นต้องทำ การกระทำนั้นๆ จึงมีคุณค่าความดีทางศีลธรรม

แต่หากเราถูกบังคับกะเกณฑ์ให้ต้องทำดีมิฉะนั้นจะถูกลงโทษ จับขังคุกหรือฆ่าทิ้งเสียแล้ว ต่อให้ทำ “ดี” ตามนั้น มันก็แค่คอหยักๆ สักแต่ว่าทำไปเพราะกลัวโทษ การกระทำโดยถูกบังคับนั้นเอาเข้าจริงก็หาได้มีคุณค่าความดีทางศีลธรรมใดๆ อยู่ไม่

ยกตัวอย่างเช่นเอาไม้เรียวไล่ขู่ไล่เฆี่ยนลูกให้ตื่นเช้าไปตักบาตรทำบุญซะม่ายงั้นตีตายนะ ถึงแม้ลูกกลัวลานขนลุกไปตักบาตรจริง จะได้บุญหรือ?

สำหรับปฏิทรรศน์เรื่อง “การถูกบังคับให้เสรี” ข้างต้น เราอาจพอเข้าใจมันได้หากตระหนักว่าเสรีภาพที่สำคัญเป็นหลักสำหรับรุสโซใน สัญญาประชาคมฯ คือ “เสรีภาพที่จะทำดี” (la liberte morale) ดังข้อความท้าย เล่มที่ 1 บทที่ 8 ว่าด้วยภาวะพลเมือง ว่า:-

“นอกจากที่กล่าวมาข้างต้น เราอาจระบุสิ่งที่ได้รับมาในภาวะพลเมืองเพิ่มเติมอีกอย่างหนึ่ง นั่นคือเสรีภาพที่จะทำดี ซึ่งลำพังเสรีภาพที่จะทำดีประการเดียวนี้เท่านั้นที่ทำให้มนุษย์เป็นนายของตัวเองอย่างแท้จริง ทั้งนี้ก็เพราะการถูกขับเคลื่อนด้วยความอยากแต่เพียงอย่างเดียวนั้นคือการตกเป็นทาส และการทำตามกฎหมายที่เรากำหนดให้ตนเองต่างหากคือเสรีภาพ”

กล่าวอีกอย่างหนึ่ง สำหรับรุสโซ เมื่อมนุษย์มารวมตัวกันเป็นสังคมแล้ว เสรีภาพที่แท้จริงคือเสรีภาพที่จะทำดีหรือทำตามกฎหมายที่เราเป็นผู้ตราออกมาบังคับใช้กับตัวเราเอง

ในความหมายนี้ “การถูกบังคับให้เสรี” ก็คือการถูกบังคับให้ทำตามกฎหมายที่เราออกมาบังคับใช้กับตัวเอง-นั่นเอง

โดยที่คำว่า “เรา” ในที่นี้มิได้หมายถึงปัจเจกบุคคลแต่ละคน หรือกลุ่มคนบางกลุ่ม หากหมายถึงสังคมโดยรวมซึ่งมีพวกเราทั้งหลายสังกัดเป็นสมาชิกอย่างไม่อาจแบ่งแยกได้

มาถึงตรงนี้ คำถามที่พึงถามก็คงพอจะเห็นได้เลาๆ กล่าวคือ:-

-ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ใช่กฎหมายที่สังคมไทยเลือกตราออกมาบังคับใช้กับตัวเองอย่างเสรีจริงหรือไม่? หรือเป็นเพียงการบังคับกำกับของบางคนบางกลุ่ม?

-ในการร่างรัฐธรรมนูญ เราควรถืออัตลักษณ์ตัวตนใดเป็นที่ตั้ง? อัตลักษณ์แห่งความเป็นศาสนิกชนสังกัดศาสนาหนึ่งๆ ในท่ามกลางสังคมหลากหลายศาสนา หรืออัตลักษณ์แห่งความเป็นพลเมืองสังกัดรัฐเดียวกัน โดยไม่คำนึงว่านับถือศาสนาใด?

-เจตจำนงทั่วไปและผลประโยชน์ร่วมกันของสังคมในการร่างรัฐธรรมนูญคืออะไร? ใช่สิ่งเดียวกับเจตจำนงและผลประโยชน์ของคนเฉพาะกลุ่มเฉพาะฝ่ายหรือแม้แต่คนส่วนใหญ่หรือไม่?

-การตราบทบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญเพื่อมุ่งหมายจะใช้อำนาจรัฐมาบังคับกำกับคนในสังคมได้ทำดีตามหลักศรัทธาของคนบางกลุ่มบางฝ่ายหรือแม้แต่คนส่วนใหญ่โดยปราศจากเสรีภาพที่จะเลือกนั้นมันจะได้บุญกุศลจริงหรือไม่? อย่างไร?

ที่มา : มติชน วันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 ปีที่ 26 ฉบับที่ 10660 หน้า 6

แท็ก คำค้นหา