เศรษฐศาสตร์จานร้อน:สิทธิเสรีภาพของสื่อ

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

 

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : แม้ประเทศไทยขณะนี้จะอยู่ภายใต้สภาวการณ์ที่ไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างเต็มรูปแบบเพราะไม่มีสภาผู้แทนราษฎร และคณะรัฐมนตรีก็มาจากการแต่งตั้ง แต่ก็จะไม่ค่อยรู้สึกว่าสิทธิเสรีภาพโดยเฉพาะการรับรู้ข่าวสารนั้นถูกลิดรอนมากนัก เพราะประเทศไทยมีสื่อที่มีสิทธิเสรีภาพที่ค่อนข้างจะกว้างขวาง โดยเฉพาะสื่อสิ่งพิมพ์ที่ให้ข้อมูลและข่าวสารทั้งในเชิงของความหลากหลายและการวิเคราะห์ในเชิงลึกได้ที่ค่อนข้างมีคุณภาพ

จะเห็นได้ว่าสิ่งที่สื่อกลัวมากที่สุดคือ การแทรกแซงจากภาครัฐโดยเฉพาะการใช้อำนาจรัฐในการควบคุมข้อมูล และการรายงานข่าวโดยอาศัยกฎหมายด้านความมั่นคง นอกจากนั้นก็จะเป็นห่วงว่าการที่ภาครัฐเป็นเจ้าของสื่อวิทยุและควบคุมการรายงานข่าวของสถานีวิทยุและโทรทัศน์อย่างใกล้ชิด ข้อเรียกร้องของสื่อจึงมักจะเน้นสิทธิเสรีภาพของการทำข่าวอย่างมีความรับผิดชอบและการลดการควบคุมสื่อ โดยเฉพาะโทรทัศน์และวิทยุ

อันที่จริงแล้วหากรัฐไม่แทรกแซงสื่อโทรทัศน์และวิทยุ ปล่อยให้รายงานและวิจารณ์ข่าวได้อย่างเสรี ก็คงจะส่งผลกระทบในเชิงลบต่อสื่อสิ่งพิมพ์เป็นอย่างยิ่งเพราะคนก็จะหันมารับรู้ข่าวจากโทรทัศน์และวิทยุมากขึ้นและเห็นความจำเป็นของการติดตามข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์น้อยลง

สิ่งที่น่าเสียดาย คือ คนที่มีการศึกษาค่อนข้างสูงจึงจะสามารถเข้าถึงสื่อสิ่งพิมพ์ได้ ซึ่งเป็นคนส่วนน้อยในเมืองใหญ่ คนส่วนใหญ่นั้นพึ่งพาข่าวสารจากโทรทัศน์และวิทยุเป็นหลัก จึงเสียเปรียบด้านข้อมูลข่าวสารที่เป็นกลาง การที่รับรู้ข่าวสารได้น้อยกว่าจึงถูกชักจูงได้ง่าย เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การเมืองในระบอบประชาธิปไตยของไทยพัฒนาได้ไม่ดีเท่าที่ควร

สิ่งที่คุกคามสื่ออีกเรื่องหนึ่งคือ การที่รัฐบาลหรือนักการเมืองกดดันรัฐวิสาหกิจมิให้อนุมัติงบโฆษณาให้กับสื่อสิ่งพิมพ์ที่เขียนข่าวโจมตีรัฐบาล ตรงนี้นักข่าวเล่าให้ผมฟังว่าเกิดขึ้นมากในรัฐบาลที่แล้ว แต่หากเกิดขึ้นได้ครั้งหนึ่งแล้วก็คงจะเกิดขึ้นได้อีก

ตรงนี้ทำให้เห็นถึงความเสี่ยงที่รัฐบาลซึ่งมีอำนาจ จะอยากใช้อำนาจของตนในการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของสื่อเพื่อควบคุมความคิดเห็นของประชาชนเพื่อประโยชน์ในการรักษาอำนาจของตน พรรคการเมืองทุกพรรคที่เป็นฝ่ายค้านจะโจมตีประเด็นนี้อย่างมากแต่เมื่อกลับกลายมาเป็นรัฐบาลก็มิได้สร้างความประทับใจในการปกป้องสิทธิและเสรีภาพของสื่อมากนัก

เราจึงอยากให้มีการเขียนกฎหมายไม่ให้รัฐบาลแทรกแซงสื่อได้ แต่อย่างที่ทราบกันดีว่าการเขียนกฎหมายนั้นรัฐบาลเป็นผู้นำเสนอ ดังนั้นรัฐบาลก็จะปกป้องอำนาจของตนไม่ยอมลดอำนาจ จึงไม่สามารถมองเห็นความสำเร็จได้ในระยะสั้น

แต่ในเมื่อธุรกิจของสื่อนั้นเป็นธุรกิจที่เอกชนสามารถประกอบธุรกิจเองได้ก็ควรจะให้แปรรูปออกมาเป็นของเอกชนไม่มีความจำเป็นจะต้องให้รัฐ (หรือหน่วยงานของรัฐ) เป็นเจ้าของและกินหัวคิวดังที่เป็นอยู่ในขณะนี้ กล่าวคือ การลดบทบาทของรัฐในธุรกิจสื่อไม่ใช่เพียงแต่การเขียนกฎหมายเพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพของสื่อ แต่จะเป็นวิถีทางในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพด้านข้อมูลให้กับประชาชนด้วย

ในกรณีของสื่อโทรทัศน์ซึ่งเป็นสื่อที่มีความสำคัญมากที่สุดนั้น เทคโนโลยีทำให้เราสามารถแจกคลื่นความถี่ทำให้มีสถานีโทรทัศน์เป็นสิบหรือร้อยช่องก็ได้ ซึ่งควรใช้เทคโนโลยีดังกล่าวอย่างยิ่ง มิควรจำกัดจำนวนช่องโทรทัศน์ เปรียบได้กับประเทศไทยสามารถสร้างถนน 50-100 ช่องทางให้รถยนต์สามารถขับเคลื่อนได้โดยสะดวก แต่กลับจำกัดเอาไว้ให้มีเพียง 6 ช่องทาง (แต่คนร่ำรวยก็ยังสามารถรับข้อมูลได้อีกหลายสิบช่อง โดยการเป็นสมาชิกโทรทัศน์แบบเคเบิล) ดังนั้นการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชนทั่วไป คือการเพิ่มจำนวนช่องโทรทัศน์ให้มีเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการมีสถานีโทรทัศน์เพิ่มขึ้น มีอยู่ 3 ประการคือ

1. ภาครัฐจะควบคุมข้อมูลข่าวสารไม่ได้และภาครัฐจะอ้างถึงความจำเป็นในด้านความมั่นคงของประเทศ

2. จะมีข้อมูลสาระมากมายจนผู้บริโภคอาจเกิดความสับสน แต่ตรงนี้ผมเชื่อว่าหากให้ผู้บริโภคปรับตัวและผู้ผลิตสร้างรายการที่มีคุณภาพจนเป็นที่รู้จักและน่าเชื่อถือ ก็จะมีรายการโทรทัศน์บางช่องที่ได้รับการยอมรับสูง

3. สื่อหนังสือพิมพ์จะต้องปรับตัวและหันไปลงทุนในสื่อโทรทัศน์ เพื่อจะได้สามารถแข่งขันและอยู่รอดได้

ดังนั้นสิ่งที่จะขัดขวางการเปิดเสรีดังกล่าว จึงน่าจะมาจากฝ่ายความมั่นคงของภาครัฐและผู้ที่ถือสัมปทานสถานีโทรทัศน์ปัจจุบันเป็นหลักเพราะมูลค่าของสัมปทานจะสูญหายไปในทันทีหากจำนวนช่องโทรทัศน์เพิ่มขึ้นจาก 6 ช่องเป็น 50-100 ช่อง

ขณะนี้เรากำลังจะออกกฎหมายจัดตั้งสถานีโทรทัศน์ในรูปแบบสื่อสาธารณะ โดยอยากให้เป็นโทรทัศน์แบบบีบีซี ที่มีการโฆษณาแต่มีสาระ ดังนั้นจึงต้องพึ่งพางบประมาณจากรัฐปีละกว่า 1 พันล้านบาท ผมเป็นคนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางนี้ เพราะประเทศไทยไม่ได้ขาดแคลนช่องโทรทัศน์ แต่ขาดแคลนผู้จัดรายการ (content provider) ที่มีคุณภาพ การให้เงินอุดหนุนผู้ทำรายการที่มีคุณภาพและเพิ่มจำนวนช่องโทรทัศน์จะเป็นแนวทางที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากกว่า โดยการปล่อยให้การจัดตั้งสถานีโทรทัศน์นั้นเป็นการลงทุนของภาคเอกชน มิใช่ตกเป็นภาระของผู้เสียภาษี

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 07:00:00

แท็ก คำค้นหา