สะท้อนบทบาทสื่อวิทยุ – โทรทัศน์ จากข้อสังเกตรางวัลแสงชัย

ผศ.สุรสิทธิ์ วิทยารัฐ
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

 

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : การให้ข้อสังเกตของคณะกรรมการตัดสินรางวัล แสงชัย สุนทรวัฒน์ ประจำปี 2549 นับเป็นข้อสรุปที่สะท้อนถึงภาพจริงของการทำบทบาทหน้าที่ คนวงการสื่อวิทยุกระจายเสียง และวิทยุโทรทัศน์ในรอบปีที่ผ่านมาได้ดีทีเดียว แม้รางวัลอาจไม่ใช่เป้าหมายของคนทำงานสื่อ แต่การมีรางวัลก็เป็นการกระตุ้นคนวงการสื่อในการทำหน้าที่ได้บ้างไม่มากก็น้อย ที่สำคัญหากข้อสังเกตนั้นได้เรียกร้องหาบทบาทของสื่อวิทยุและโทรทัศน์บางหน้าที่ที่ขาดหายไป ย่อมมีความสำคัญ

งานประกาศผลรางวัลแสงชัย สุนทรวัฒน์ ประจำปี 2549 ปีที่ 11 ซึ่งมูลนิธิแสงชัย สุนทรวัฒน์เป็นเจ้าของรางวัล และดำเนินการประกวดโดยสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เมื่อวันพุธที่ 11 เมษายน ที่ผ่านมา โดยปีนี้มีการถ่ายทอดการประกาศผลรางวัลทางสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ ทีวี นับเป็นการประกาศรางวัลที่น่าชื่นชมผู้ที่ได้รับรางวัล แม้ว่าบางประเภทรางวัลคณะกรรมการมีมติว่าไม่มีผลงานถึงขั้นได้รับรางวัลยอดเยี่ยมก็ตาม แต่ผลงานที่ได้รับรางวัลในปีนี้มีความตั้งใจมากอย่างเห็นได้ชัดเจน

ในโอกาสการประกาศผลรางวัลดังกล่าว คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ได้นำเสนอข้อสังเกตที่พิจารณาแล้วเห็นว่ามีความสำคัญยิ่ง ที่คนในวงการสื่อ และผู้รับสื่อ นักศึกษาสื่อ ควรได้พิจารณาทบทวนบทบาทหน้าที่ของสื่อในรอบปีที่ผ่านมา

ข้อสังเกตในภาพรวมจากคณะกรรมการตัดสินรางวัลข่าว – สารคดีโทรทัศน์ มีที่สำคัญคือ ปี 2549 มีประเด็นข่าวมากมายที่สามารถสืบค้นและนำเสนอข้อมูลเชิงลึกเป็นข่าวสืบสวนสอบสวนได้ โดยเฉพาะประเด็นทางการเมืองที่พบการทุจริตและฉ้อฉลหลายกรณี แต่ปรากฏว่า ข่าวสืบสวนสอบสวนโทรทัศน์ที่ส่งเข้าประกวดกลับไม่มีเรื่องเหล่านี้

คณะกรรมการตั้งข้อสังเกตอีกว่าสถานีโทรทัศน์บางแห่งที่ถูกคาดหวังว่าจะนำเสนอเรื่องดังกล่าว กลับไม่พบประเด็นสอบสวนในเชิงทางการเมืองเลย

“สิ่งนี้สะท้อนภาพการทำงานของสื่อโทรทัศน์ ที่เป็นสื่อมีข้อได้เปรียบเรื่องความรวดเร็วในการนำเสนอ แต่ยังมีจุดอ่อนด้านการรายงานข้อมูลเชิงลึกและวิเคราะห์ รวมทั้งการติดตามเปิดโปงเรื่องราวที่เป็นผลกระทบต่อส่วนรวม ไม่ได้ทำหน้าที่ในการเปิดประเด็นต่อสังคม”

ที่สำคัญในประเด็นเหตุการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเรื่องใหญ่ที่สื่อมวลชนหลายหน่วยงานเห็นความสำคัญ และพยายามเสนอปัญหาให้ชัดเจน โดยมีเป้าหมายเดียวกันคือ นำไปสู่การหาแนวทางแก้ไข และยุติความรุนแรง แต่ปรากฏว่าปัญหาจากระบบโครงสร้างความเป็นเจ้าของสื่อ นโยบายสถานี และปัจจัยอื่นๆ ได้กลายเป็นข้อจำกัด อีกทั้งขัดขวางการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน ด้วยการเซ็นเซอร์ ไม่ให้บางเนื้อหาได้ออกอากาศ

ข้างต้นแม้ว่าจะเป็นเจตนาดี ที่ไม่ต้องการให้เกิดความรุนแรงในสังคม แต่ก็ส่งผลให้การทำงานข่าวในภาพรวมมีปัญหา แต่ไม่สามารถทำงานได้ตามหลักวิชาชีพอย่างแท้จริง อีกทั้งส่งผลกระทบต่อคุณค่าเชิงข่าวของผลงานที่ออกอากาศด้วย

อย่างไรก็ตาม ข้อสังเกตของคณะกรรมการมีสิ่งที่น่ายินดีสำหรับข่าวโทรทัศน์ท้องถิ่น ในปีนี้ แม้ว่าจะเป็นปีแรกที่จัดการประกวด มีสถานีเคเบิลทีวีในภูมิภาค ส่งผลงานเข้าประกวดเป็นจำนวนมาก หลายประเด็นมีความน่าสนใจมาก แต่อาจต้องปรับปรุงด้านการเขียนบทสคริปท์และกระบวนการผลิตทางโทรทัศน์

ข้อสังเกตประเภทรางวัลข่าว – สารคดีวิทยุ ที่น่าสนใจคือ ทำอย่างไรคนวิทยุจะลุกขึ้นมาผลิตรายการสารคดีให้มากขึ้น นอกจากนั้น พบว่าการประกวดนี้สถานีวิทยุไม่ว่าสื่อเล็ก เช่น สถานีวิทยุจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สื่อใหญ่ต่างมีสิทธิเท่าเทียมกัน ดังนั้น ถ้าสถานีวิทยุเครือข่ายระดับชาติ เช่น สถานีวิทยุ อสมท สถานีวิทยุกองทัพ ได้จัดสรรเวลาแก่รายการข่าวประกอบเสียง โดยเฉพาะสำหรับรายการสารคดี ทั้งที่เป็นสารคดีทั่วไปและสารคดีเชิงข่าว ให้สอดคล้องกับสัดส่วนของสถานีที่ครอบครอง คนไทยก็จะได้ประโยชน์จากความถี่ที่เป็นทรัพยากรของชาติอย่างคุ้มค่า

เท่านี้พอจะเป็นเหตุพอเพียงหรือไม่ ที่คนในวงการสื่อวิทยุและโทรทัศน์ทุกระดับ จะทบทวนบทบาทหน้าที่ของสื่อที่มีความเกี่ยวข้องรับผิดชอบกันอยู่ แม้ว่ายังไม่ได้เริ่มต้นปฏิรูปสื่อตามกฎหมายกันอยู่ในเวลานี้

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 19 เมษายน พ.ศ. 2550 07:00:00

 

แท็ก คำค้นหา