ประเด็นกฎหมายประกอบกิจการ สื่อวิทยุ – โทรทัศน์

ผศ.สุรสิทธิ์ วิทยารัฐ
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

 

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : เวทีการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดทำกฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการวิทยุและโทรทัศน์ ที่คณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็น ซึ่งสำนักนายกรัฐมนตรี ดำเนินการขึ้นทั่วประเทศ เพิ่งเสร็จไปเมื่อวานนี้ (4 เมษายน 2550) ที่โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค แต่หัวข้อการปฏิรูปสื่อดูจะเป็นประเด็นเก่า จนอาจกล่าวได้ว่ากำลังจะกลายเป็นตำนานในประวัติศาสตร์สื่อสารมวลชนไทยไปเสียแล้ว กระนั้นก็ตามเกิดประเด็นใหม่ๆ ขึ้นมามากมายในห้วงเวลาของการรอคอยการปฏิรูปสื่อ แต่บางประเด็นปัญหาได้เกิดขึ้นเมื่อไม่กี่วันนี่เอง

กฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์มีจุดประสงค์เพื่อให้การกำกับดูแลกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน เอื้อต่อการใช้คลื่นความถี่ตลอดจนทรัพยากรด้านการสื่อสารของชาติอื่นๆ เพื่อประโยชน์สาธารณะ และนำไปสู่การปฏิรูปกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ทั้งระบบ เพื่อประโยชน์ในการยกร่างกฎหมายดังกล่าว คณะอนุกรรมการศึกษาและรวบรวมข้อมูลการจัดทำกฎหมาย ได้กำหนดประเด็นการรับฟังไว้รวม 10 หมวด แต่ละหมวดมีความสำคัญต่อทิศทางการปฏิรูปสื่อที่จะเกิดขึ้นในเร็ววันดังนี้

หมวด ๑ การอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์

หมวดนี้เกี่ยวข้องกับการอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ว่าควรแบ่งประเภทของใบอนุญาตเป็นระดับชาติ ระดับภูมิภาค ระดับจังหวัด และระดับท้องถิ่น หรือไม่ และควรกำหนดลักษณะของใบอนุญาตประกอบกิจการให้แตกต่างกันระหว่างใบอนุญาตประกอบกิจการบริการสาธารณะ บริการชุมชน บริการธุรกิจ หรือไม่ อย่างไร เพื่อให้บริการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์สามารถสนองตอบต่อความต้องการที่หลากหลายของประชาชนในแต่ละกลุ่มได้มากที่สุด

หมวดนี้ยังครอบคลุมประเด็นเรื่องความเป็นเจ้าของกิจการที่ได้รับอนุญาต เช่น ควรจำกัดสัดส่วนการถือหุ้นสูงสุดของผู้ถือหุ้นแต่ละรายหรือไม่ และควรกำหนดสัดส่วนผู้ถือหุ้นของคนต่างด้าวในกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์อย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดการครอบงำสื่อจากกลุ่มทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากทุนต่างชาติ

ในหมวดนี้ยังครอบคลุมประเด็นที่ว่า ควรมีข้อกำหนดในเรื่องของการถือครองในสื่อเดียวกันและการถือครองข้ามสื่อ (Cross media ownership) หรือไม่ อย่างไร เพื่อให้กิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ไม่มีการผูกขาด เอื้อต่อการมีความหลากหลายทางความคิดเห็น และเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะมากที่สุด

นอกจากนี้ หมวดนี้ยังมีคำถามที่เกี่ยวข้องกับสื่ออิเล็กทรอนิกส์ใหม่ (New Media) ซึ่งไม่ได้ใช้คลื่นความถี่ที่มีอยู่จำกัด เช่น โทรทัศน์ผ่านสาย (Cable TV) หรือใช้คลื่นความถี่ซึ่งเทคโนโลยีสมัยใหม่ทำให้มีอยู่เพียงพอเช่น โทรทัศน์ผ่านดาวเทียม (Direct-to-Home Satellite TV หรือ DTH) หรือสื่อใหม่อื่นๆ เช่น โทรทัศน์ผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ (mobile TV), ไอพีทีวี (IPTV) เป็นต้น ซึ่งมีลักษณะที่แตกต่างจากกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แบบเดิม หลายประการเช่น

• การเข้าสู่ตลาดเพื่อประกอบการไม่มีข้อจำกัดเรื่องการใช้คลื่นความถี่

• สามารถให้บริการได้หลายช่อง (multi-channel)

• สามารถให้บริการแบบบอกรับสมาชิก (subscription) ซึ่งเก็บค่าบริการจากผู้รับชม

• อาจให้บริการแบบในรูปแบบตามเวลาที่ต้องการของผู้รับชม (on-demand)

• มักมีการใช้อุปกรณ์ปลายทางอื่นนอกจากเครื่องรับโทรทัศน์โดยปกติ เช่น กล่องรับสัญญาณ (set-top box)

ลักษณะที่แตกต่างเหล่านี้ ทำให้เกิดคำถามว่า ควรกำกับดูแลกิจการดังกล่าวด้วยกฎเกณฑ์ที่แตกต่างจากกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แบบเดิมหรือไม่ อย่างไร โดยเฉพาะในเรื่องดังต่อไปนี้

หมวด ๒ รายการของกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์

ประเด็นหลักของหมวดนี้คือ ควรมีการกำหนดสัดส่วนขั้นต่ำของรายการบางประเภท เช่น รายการข่าวสารและสาระ รายการที่ผลิตในประเทศ และรายการของผู้ผลิตรายการอิสระเพื่อประโยชน์สาธารณะในการรับรู้ข่าวสาร การส่งเสริมผู้ผลิตรายการในประเทศ และผู้ผลิตรายการอิสระ หรือไม่ อย่างไร นอกจากนี้ ควรห้ามการตรวจข่าวหรือรายการล่วงหน้า (เซ็นเซอร์) หรือไม่ หากจะอนุญาตให้มีการเซ็นเซอร์โดยรัฐหรือเจ้าพนักงาน ควรจะอนุญาตในกรณีไหน จึงจะไม่ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพในการสื่อสารของประชาชน และควรมีข้อกำหนดในการออกอากาศเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมทางการเมืองในช่วงที่มีการแข่งขันเลือกตั้งหรือไม่อย่างไร

ในฐานะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็น ขอเชิญทุกท่าน ร่วมแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมได้ทางช่องทางอื่นๆ เช่น จดหมายที่ได้ส่งถึงสถาบันการศึกษาที่สอนสาขานิเทศศาสตร์ และสื่อสารมวลชน หรือที่เกี่ยวข้อง และองค์กรหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง, ตู้ ป.ณ. 2 ทำเนียบรัฐบาล เขตดุสิต กรุงเทพฯ 10300 เวบไซต์ www.bclaw.pdc.go.th ทั้งนี้ ภายในวันที่ 15 เมษายน 2550 เรื่องปฏิรูปเกี่ยวข้องกับทุกคน

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 5 เมษายน พ.ศ. 2550 07:00:00

 

คิดจากข่าว:ประเด็นกฎหมายประกอบกิจการ สื่อวิทยุ-โทรทัศน์ (จบ)

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : กฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ มีจุดประสงค์เพื่อให้การกำกับดูแลกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน เอื้อต่อการใช้คลื่นความถี่ตลอดจนทรัพยากรด้านการสื่อสารของชาติอื่นๆ เพื่อประโยชน์สาธารณะ และนำไปสู่การปฏิรูปกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ทั้งระบบ เพื่อประโยชน์ในการยกร่างกฎหมายดังกล่าว คณะอนุกรรมการศึกษาและรวบรวมข้อมูลการจัดทำกฎหมายได้กำหนดประเด็นการรับฟังไว้รวม 10 หมวด

แต่ละหมวดมีความสำคัญต่อทิศทางการปฏิรูปสื่อที่จะเกิดขึ้นในเร็ววัน ตอนที่แล้วได้กล่าวถึง หมวดว่าด้วยการอนุญาตการประกอบการ, หมวดรายการวิทยุและโทรทัศน์ ในตอนนี้จะกล่าวถึง หมวดอื่นๆ ที่เหลือ ดังนี้

หมวด 3 การคุ้มครองสิทธิผู้เสียหาย

คำถามในหมวดนี้เกี่ยวข้องกับประเด็นที่ว่า ผู้เสียหายจากการละเมิดสิทธิจากการเสนอรายการของผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ควรจะได้รับการคุ้มครองสิทธิอย่างไร ควรกำหนดเงื่อนไขการร้องเรียนอย่างไร และจะอนุญาตให้ กสช.หยิบยกเรื่องขึ้นมาพิจารณาเองได้หรือไม่

หมวด 4 การส่งเสริมและควบคุมจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์

คำถามในหมวดนี้เกี่ยวข้องกับข้อถกเถียงเรื่องการควบคุมจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ซึ่งมีความเห็นแบ่งออกเป็นสองฝ่ายใหญ่ๆ โดยฝ่ายหนึ่งเห็นว่า ผู้ประกอบวิชาชีพควรจะควบคุมดูแลกันเอง โดยรัฐและกสช.ไม่ต้องเข้ามายุ่งเกี่ยว เพื่อป้องกันการแทรกแซงจากรัฐ ขณะที่อีกฝ่ายเห็นว่า ผู้ประกอบวิชาชีพไม่สามารถดูแลกันเองได้ จึงต้องให้กสช.กำหนดให้มีข้อบังคับเกี่ยวกับจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพขึ้นมาเพื่อบังคับใช้ และให้มีคณะอนุกรรมการจรรยาบรรณทำหน้าที่ดูแล

หมวด 5 การใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายในการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์

หมวดนี้เกี่ยวข้องกับกฎเกณฑ์ที่ว่า ควรกำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตมีสิทธิในการเชื่อมต่อโครงข่ายระหว่างกัน และเชื่อมต่อโครงข่ายกับกิจการโทรคมนาคม รวมทั้งให้มีสิทธิแห่งทาง (rights of way) ในการเข้าถึงการใช้โครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณูปโภค หรือไม่ อย่างไร เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าสู่ตลาดได้ง่ายที่สุด โดยไม่ต้องลงทุนมาก

หมวด 6 การประเมินคุณภาพรายการ

ประเด็นสำคัญของคำถามในหมวดนี้คือ กสช.ควรมีอำนาจหน้าที่ในการประเมินคุณภาพ รายการต่างๆ ของผู้รับใบอนุญาตหรือไม่ หรือควรให้ผู้รับใบอนุญาตประเมินคุณภาพรายการของตนเองควบคู่ไปกับการประเมินโดยองค์กรทางสังคม เช่น Media Monitor ส่วนกสช.ควรประเมินสภาพแวดล้อมโดยรวมในระบบสื่อแทน

หมวด 7 การกำกับดูแล

หมวด 8 บทกำหนดโทษ

ประเด็นคำถามในหมวดนี้ต้องการความชัดเจนในเรื่องอำนาจของกสช.ในการพักใช้ใบอนุญาต และในการเพิกถอนใบอนุญาต ว่าสามารถทำได้ในกรณีใดบ้าง ควรให้อำนาจ กสช. ในการพักใช้ใบอนุญาตในกรณีใดบ้าง ควรให้อำนาจ กสช. ในการเพิกถอนใบอนุญาตในกรณีใดบ้าง

หมวด 9 สื่อของรัฐและบทเฉพาะกาล

หมวดนี้มีความสำคัญมากต่อการปฏิรูปสื่อ คำถามหลักในหมวดนี้คือส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐที่ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์อยู่ในปัจจุบัน รวมถึงกรมประชาสัมพันธ์ ควรต้องขออนุญาตประกอบกิจการจาก กสช. เช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป หรือไม่ และรายได้จากค่าสัมปทานหรือค่าธรรมเนียมใบอนุญาตหรือเงินรายปี ที่หน่วยงานเหล่านี้ได้รับจากผู้รับสัมปทานควรจ่ายให้แก่หน่วยงานเดิม หรือจ่ายเข้ากองทุนพัฒนากิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์

หมวด 10 ประเด็นอื่นๆ เช่น ควรกำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตเปิดเผยรายได้ของเงินโฆษณาจากแหล่งต่างๆ ทั้งโฆษณาตรงและโฆษณาแฝงเป็นประจำทุกปี ให้แก่ผู้บริโภคและสาธารณะหรือไม่ อย่างไร, ควรวางกลไกในการเปิดเผยข้อมูลในการดำเนินงานของ กสช. เพื่อสร้างความโปร่งใส และความพร้อมรับผิดต่อประชาชนเพิ่มเติมจากที่มีอยู่ในกฎหมายองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่อย่างไรในด้านต่างๆ เช่น การเปิดเผยข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับใบอนุญาต, การเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องร้องเรียนจากผู้ประกอบการและผู้บริโภค

และควรกำหนดให้ กสช. จัดทำแผนเพื่อเตรียมการแปลงสภาพระบบวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ในปัจจุบันไปสู่ระบบวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ดิจิทัล (Digitization) เป็นการเฉพาะในการจัดทำแผนแม่บทหรือไม่ อย่างไร เช่น กรอบเวลา เป็นต้น

ควรมีบทบัญญัติทางกฎหมายเพื่อรองรับมาตรา 41 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 หรือไม่ อย่างไร โดยเฉพาะในประเด็นดังต่อไปนี้ เช่น ควรมีบทบัญญัติที่ให้ความคุ้มครองแก่ผู้ประกอบวิชาชีพที่ปฏิบัติตามหลักจริยธรรมหรือไม่ อย่างไร, ควรมีการแบ่งแยกบทบาท อำนาจหน้าที่ออกจากกันระหว่างเจ้าของ/ผู้บริหาร และผู้ปฏิบัติงานหรือกองบรรณาธิการในสื่อประเภทวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์หรือไม่ อย่างไร เพื่อเป็นหลักประกันเสรีภาพในการเสนอข่าวและแสดงความคิดเห็นของผู้ปฏิบัติงาน, ควรให้ กสช. สนับสนุนให้มีองค์กรหรือกลไกในการเฝ้าระวัง และให้การศึกษาการรู้เท่าทันสื่อ (Media Literacy) หรือไม่ อย่างไร

ในฐานะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็น ขอเชิญทุกท่าน ร่วมแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมได้ทางช่องทางอื่นๆ เช่น จดหมายที่ได้ส่งถึงสถาบันการศึกษาที่สอนสาขานิเทศศาสตร์ และสื่อสารมวลชน หรือที่เกี่ยวข้อง และองค์กรหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง, ตู้ ป.ณ. 2 ทำเนียบรัฐบาล เขตดุสิต กรุงเทพฯ 10300, เวบไซต์ www.bclaw.pdc.go.th ทั้งนี้ ภายในวันที่ 15 เมษายน 2550 เรื่องปฏิรูปเกี่ยวข้องกับทุกคน

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 12 เมษายน พ.ศ. 2550 07:00:00

แท็ก คำค้นหา