ทีวีสาธารณะ

Public Service Broadcasting (PBS) หรือทีวีสาธารณะ
หนังสือพิมพ์ข่าวสด

 

คอลัมน์ คอลัมน์ที่13

สื่อสาธารณะ Public Service Broadcasting (PBS) หรือทีวีสาธารณะ มีปรัชญาและแนวทางในการดำเนินการที่ยึดหลักประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศเป็นพลเมือง สื่อมีฐานะเป็นพื้นที่สาธารณะ และมีเป้าหมายให้เกิดประโยชน์แก่สาธารณะอย่างแท้จริง

แตกต่างจากทีวีในเชิงพาณิชย์ตรงที่ประชาชนมีฐานะเป็นเพียงผู้บริโภค เป้าหมายในการดำเนินงานคือเพื่อหาผลกำไรสูงสุด

จากปรัชญาและแนวคิดดังกล่าว สถานีโทรทัศน์สาธารณะจึงควรมีลักษณะดังนี้

1. มีความเป็นอิสระในการดำเนินงาน โดยมีหลักประกันทางกฎหมายที่ป้องกันการแทรกแซงทางการเมือง และให้ความมั่นคงทางการเงิน ควบคู่ไปกับการห้ามโฆษณา เพื่อให้ปลอดจากการถูกแทรกแซงจากกลุ่มทุน

2. ผลิตรายการที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะที่มีคุณภาพสูง เช่น รายการข่าว และรายการเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งให้ข้อเท็จจริงอย่างครบถ้วนรอบด้านในประเด็นที่มีความสำคัญต่อสาธารณะ รายการการศึกษาสำหรับเด็กและเยาวชน รายการที่ให้ความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน

3. ผลิตและเผยแพร่รายการอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม โดยมีข้อกำหนดด้านมาตรฐานของรายการ (programming standard) และจริยธรรมทางวิชาชีพ (code of conduct)

4. มีกลไกให้สังคมมีส่วนร่วม เช่น การสนับสนุนผู้จัดทำรายการโทรทัศน์และวิทยุอิสระ ทั้งผู้ประกอบการรายย่อยและชุมชนให้สามารถใช้ประโยชน์จากสื่อวิทยุและโทรทัศน์ในการสื่อสารเพื่อเรียนรู้ระหว่างกัน และมีกลไกสำรวจความพึงพอใจของประชาชนเป็นประจำ ตลอดจนมีกลไกที่ประชาชนสามารถให้คำแนะนำและข้อคิดเห็น ร้องเรียน และการตรวจสอบการดำเนินงานของสถานีโทรทัศน์สาธารณะได้โดยง่าย

รายได้ของทีวีสาธารณะมักจะมาจากงบประมาณของรัฐเสียเป็นส่วนใหญ่ นอกนั้นเป็นรายได้จากแหล่งอื่น เช่น เงินอุปถัมภ์ซึ่งอาจมาในรูปของการโฆษณาประชาสัมพันธ์องค์กรหรือที่เรียก คอร์ปอเรต แอด เงินบริจาคจากองค์กรที่สนับสนุนอุดมการณ์สื่อสาธารณะ เป็นต้น

ต้นแบบของทีวีสาธารณะที่เป็นที่รู้จักกันทั่วไปคือ สถานีโทรทัศน์บีบีซี หรือ British Broadcasting Corporation (BBC) ดำเนินการโดยบรรษัทการกระจายเสียงแห่งอังกฤษ ซึ่งก่อตั้งขึ้นในค.ศ.1936

บีบีซีได้รับการสนับสนุนด้านการเงินจากค่าธรรมเนียมใบอนุญาตมีเครื่องรับ (licensing fees) ของเจ้าของเครื่องรับโทรทัศน์เป็นสำคัญ โดยชาวอังกฤษที่เป็นผู้ชมรายการของบีบีซีจะเป็นผู้จ่ายเงินค่าธรรมเนียมในการรับชมรายการ

รัฐบาลไม่ได้เป็นเจ้าของและไม่ได้ควบคุมการดำเนินงานของบีบีซี แต่จะมีคณะกรรมการที่เรียกว่า Board of Governors ซึ่งแต่งตั้งโดยพระบรมราชินีนาถแห่งอังกฤษทำหน้าที่บริหารงาน

นอกจากนี้ ในสหรัฐอเมริกาก็มีสถานีโทรทัศน์ PBS เป็นทีวีสาธารณะเช่นกัน ขณะที่ประเทศญี่ปุ่นมีสถานีโทรทัศน์ NHK เป็นทีวีสาธารณะ

สำหรับในเมืองไทยก็มีการมองว่า สถานีโทรทัศน์ช่อง 11 ถือเป็นทีวีสาธารณะ ซึ่งดำเนินการโดยกรมประชาสัมพันธ์ ในฐานะหน่วยงานของรัฐบาล

แต่ในทางปฏิบัติ สถานีโทรทัศน์ช่อง 11 ถูกมองว่าไม่ใช่สื่อสาธารณะอย่างแท้จริง เพราะยังทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงของรัฐบาลอยู่

ในส่วนของสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี หรือไอทีวีเดิม ที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 24 เมษายน ให้เป็นสื่อสาธารณะ โดยจะมีคณะทำงานกำหนดรูปแบบ โครงสร้าง การบริหารงาน ที่มาของรายได้ให้ชัดเจน

นอกจากนี้ จะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมากำกับดูแลรายการเพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ

หากพบว่ารายการใดมีการโน้มเอียง หรือมีการสั่งให้ทำเพื่อประโยชน์ส่วนตัว ก็จะมีการกำหนดโทษอาญาไว้ด้วย

ต้องจับตาดูกันต่อไปว่าทีไอทีวีจะเป็นทีวีสาธารณะที่แท้จริงหรือไม่

ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวสด วันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2550 ปีที่ 17 ฉบับที่ 5993 หน้า 2

แท็ก คำค้นหา