สื่อสาธารณะ มีแล้วจะได้อะไรขึ้นมา?

โดย อำนาจ เกิดเทพ
ผู้จัดการออนไลน์

 

ถูกใช้กันให้เกร่อทีเดียวสำหรับคำว่า “พอเพียง” ในช่วงเวลานี้

บ้างก็ไปปรากฏอยู่ในโฆษณา บ้างก็ไปปรากฏเป็นแก่นการบริหารงานทั้งในส่วนของของรัฐฯ หรือเอกชน บ้างก็ถูกนำไปเล่นเป็นมุกตลก ฯลฯ

ด้วยความเยอะนี้เอง เป็นที่น่าสังเกตว่าหลายครั้งที่มีการวิพากษ์ไปยังภาคส่วนต่างๆ ที่ใช้คำว่า “พอเพียง” จนเกร่อจากนักวิชาการ คอลัมนิสต์ และผู้รู้อีกหลายคนต่างตั้งเป็นข้อสงสัยที่ส่วนใหญ่มักจะมองว่าบรรดาคนที่เอาคำเหล่านี้ขึ้นมาใช้อย่างโก้หรูล้วนแล้วแต่มีท่าทีว่าจะไม่เข้าใจในความหมายที่แท้จริงของคำที่ว่าเอาเสียเลย

หลายฝ่ายมีเหตุผลน่าเชื่อถือ แต่อีกหลายส่วนก็ดูเหมือนจะขอด่าไปตามกระแสกับเขา

ด้วยความสัตย์จริง ผมว่าทุกคนล้วนเข้าใจเป็นอย่างดีในความหมายของคำ 2 คำที่ว่า เพียงแต่ที่มันมิสามารถเป็นไปได้จริงในเชิงปฏิบัติจนเห็นเป็นภาพในระดับองค์รวมก็เพราะสิ่งที่แต่ละคนมีไม่เหมือนกันก็คือมาตรฐานในการวัด “ระดับ” ของความพอเพียงที่ว่า เรื่อยไปกระทั่งความมุ่งหวังของการใช้คำว่า “พอเพียง” นี้ต่างหากว่าแต่ละคนต้องการให้เกิดเป็น “ประโยชน์” หรือ “ผลประโยชน์” ขึ้นมากันแน่

ที่น่ากลัวก็คือดูเหมือนว่าระดับของความพอเพียงในชีวิตของคนส่วนใหญ่ของบ้านเราจะยิ่งเพิ่มสูงจนกู่ไม่กลับตามแรงขับของกระแสสังคมที่คนส่วนหัวจำนวนน้อยทว่ามากด้วยอำนาจและเงินตราหันไปนับถือบูชาในระบบของ “ทุน” กระทั่งก่อให้เกิดสังคม “บริโภคนิยม” เรื่อยไปจนถึง “วัตถุนิยม” ขึ้นมาโดยมีเครื่องมือหลักอยู่ที่การโฆษณาซึ่งมีอำนาจทะลุทะลวงสูงในการไปทำมาหากินกับเหยื่อที่ถูกระบุไว้ว่าเป็น “กลุ่มเป้าหมาย” “กลุ่มตลาด”

คู่แต่งงานใหม่บางคู่รู้สึกว่ามาตรฐานของชีวิตที่เป็นอยู่ยังขาดความสมบูรณ์ยังรักกับแฟนได้ไม่เต็มอิ่ม เหตุเพราะยังไม่มีบ้าน ยังไม่มีคอนโดฯ ในโครงการหรูๆ ราคา 2 – 3 ล้านอยู่(กันแค่ 2 คน)เหมือนในโฆษณา, พ่อ – แม่หลายคนให้รางวัลลูกที่เรียนจบปริญญาตรีด้วยรถเก๋งคันงามราคาแพงทั้งๆ ที่ตัวของลูกชายลูกสาวยังไม่รู้เลยว่าจากนี้จะไปทำงานอะไร, เด็กวัยรุ่นเพิ่มความเท่ห์เพราะหวังแค่จะให้สาวมองด้วยการหามอเตอร์ไซค์ยี่ห้อที่นักร้องดังเป็นพรีเซ็นเตอร์มาขี่, เด็กบางคนขวนขวายหามือถือรุ่นใหม่เพียบพร้อมไปด้วยฟังก์ชันนับสิบนับร้อยมาใช้เพราะกลัวถูกมองว่าเชย(ทั้งที่ส่วนใหญ่ที่ได้ใช้ประโยชน์จริงๆ ก็แค่โทรออกกับรับสาย), หลายคนไม่มีเงินไม่เป็นไร แต่ขอให้มีของที่มียี่ห้อดังๆ มาประดับเนื้อประดับตัว(แม้จะเป็นของที่คนทั่วไปดูออกว่าเป็นของปลอมก็ตาม) ฯลฯ

ความจริงเราไม่ต้องไปตีความหรือศึกษาปรัชญาอะไรกันให้วุ่นวายหรอกครับ ง่ายๆ เลยถ้าอยากจะทำให้ 2 คำนี้เป็นจริงและเกิดประสิทธิผลขึ้นมาก็แค่ทำตัวเป็นให้เป็น “ผู้ให้(ที่ดี)” มากกว่าเป็น “ผู้รับ” ก็น่าจะ “เพียงพอ” แล้ว…

นอกจากคำว่า “พอเพียง” มีอีกหนึ่งคำที่เราจะได้ยินกันบ่อยมากในช่วงเวลานี้ ก็คือคำว่า “สื่อสาธารณะ”

ในความเป็นจริงเรื่องของวิทยุ – โทรทัศน์สาธารณะมีการพูดกันมานานพอสมควรแล้วครับ ก่อนที่จะถูกผลักดันเข้าไปอยู่ในมาตราที่ 40 ของรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2540 มุงหวังใหการใชคลื่นความถี่เปนไปเพื่อประโยชนสาธารณะ โดยมีแนวคิดพื้นฐานบนความเป็นอิสระ ปราศจากการเข้าครอบคลุมทั้งในส่วนของรัฐฯ และเงินทุน ด้วยการนำเสนอแต่เนื้อหาของรายการที่มีสาระเพื่อประโยชนสูงสุดของประชาชนทั้งในระดับชาติและระดับทองถิ่น

ผมว่าเป็นไปได้ยากเหลือเกินที่มันจะเป็นไปได้เช่นนั้นจริงๆ (ในวงกว้าง) หากวิสัยทัศน์หรือความต้องการของคนที่รับผิดชอบต่อเรื่องนี้ในรัฐบาล (ซึ่งก็ไม่รู้ว่าต้องการอะไร รู้แต่เพียงว่าทำอะไรออกมาขัดกับประโยชน์ที่ประเทศชาติและประชาชนส่วนใหญ่จะได้รับอยู่ตลอดเวลา) ยังคงเป็นอยู่เช่น ณ. วันนี้

คิดกันง่ายๆ ขนาดแค่ทีวีช่องเดียวอย่าง “ไอทีวี” ที่ตั้งใจทำผิดสัญญากระทั่งทำให้รัฐฯ เสียหายเป็นเงินหลายพันล้านบาท รัฐฯ เองยังทำอะไรไม่ได้ ซ้ำร้ายกว่านั้นยังไปช่วยเหลือด้วยวิธีการที่ผิดกฏหมายจนกลายเป็น “ทีไอทีวี” ให้ทำข่าวออกอากาศมาด่า คมช. ด่ารัฐบาลอยู่ตลอดเวลา (จริงๆ ผมไม่เห็นว่าพวก “พีทีวี” จะต้องมาเดือดร้อนอะไรเลยที่ไม่ได้ออกอากาศ ก็ในเมื่อช่องทีไอทีวีเขาทำข่าวให้ทุกแง่ทุกมุมมากกว่าช่องอื่นๆ อยู่แล้ว)

เรื่องที่น่าเศร้าก็คือ ผู้บริโภคเองจะรู้ หรือรู้แล้วรู้สึกอย่างไรหรือไม่ว่า? การปรากฏออกมาของ “เนื้อหา” ทั้งในรูปของข่าว ข้อมูล ฯ ตามสื่อเล็กสื่อใหญ่นั้น ส่วนใหญ่หรือเกือบจะทั้งหมดมิได้เกิดขึ้นบนพื้นฐานของความต้องการจะให้สาระอะไรกับผู้เสพเลย…หากแต่เป็นเรื่องของกลวิธีที่จะทำอย่างไรถึงจะขายเนื้อหาที่ว่าให้เอเยนซีเจ้าของโฆษณาทั้งหลายเกิดความพึงพอใจที่จะซื้อหรือไม่ซื้อต่างหาก

สังเกตมั้ยครับว่า แม้ภาครัฐฯ จะเป็นส่วนสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการบริหารประเทศ แต่ถ้ามองดูไปยังส่วนย่อยที่เป็นภาคชุมชนหรือหมู่บ้านต่างๆ ที่ถือได้ว่าเป็น “ตัวอย่าง” ของ “ความสำเร็จ” ในการจัดการ การบริหารงาน การจัดทำโครง การวิจัย หรือการผลิตต่างๆ จนทำให้ชุมชนของตนเองเข้มแข็งมีชื่อเสียงขึ้นมา ส่วนใหญ่เกิดขึ้นมาจากความรู้ ความตั้งใจจริงของคนในชุมชนนั้นๆ ทั้งสิ้น

ขณะที่นโยบายจากรัฐเองที่เอาไปยัดให้ชุมชนต่างๆ โดยมิได้มองถึงเรื่องของระดับ “ปัญญา” มุ่งแต่จะเอาเงินไปฟาดหัว หาคะแนนเสียง หาเปอร์เซ็นต์จากการก่อสร้าง ส่วนใหญ่ต่างล้มเหลวไม่เป็นท่าทั้งนั้น!

สัปดาห์ที่ผ่านมา ผมลองนั่งนับๆ คร่าวถึงงานสัมนา – เสนานา ฯ ที่เกี่ยวกับเรื่องรัฐธรรมนูญ เรื่องสื่อฯ เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงและอีกมากมายที่น่าสนใจทั้งที่จัดโดยภาครัฐฯ องค์กรอิสระ มูลนิธิต่างๆ ได้มากกว่า 20 งานด้วยกัน

หลายงานมีการถ่ายทอดสดผ่านทาง ASTV หลายงานถ่ายทอดผ่านทางช่องเนชั่นฯ แต่ไม่มีสักงานที่จะโผล่ออกไปผ่านทางช่องฟรีทีวีที่สามารถเข้าถึงคนส่วนใหญ่ในประเทศได้ทุกระดับ

หากคิดว่าเรื่องเหล่านี้มีประโยชน์ มีสาระแล้วละก็ รัฐฯ กล้าสักหน่อยได้มั้ยล่ะครับที่จะถ่ายทอดให้กับคนส่วนใหญ่ของประเทศได้รับรู้ในระดับปริมาณที่ใกล้เคียงหรือมากกว่าช่วงเวลาละคร รายการเกมโชว์ วาไรตี้ รายเพลง ต่างๆ นานาทั้งหลาย

ผมเชื่อว่าทำแบบนี้บ่อยๆ ผู้คนในบ้านเราเองจะเกิดความคุ้นเคย คุ้นชิน กับเรื่องที่มีสาระ(มากกว่าละคร เกมโชว์) ขึ้นมาเองโดยไม่รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องที่เข้าใจหรือเข้าถึงยาก ดูแล้วหนักหัวแต่อย่างใด ที่สำคัญเราอาจจะไม่ต้องไปเสียเวลาหาช่องทีวีสาธารณะอะไรหรอก

เพราะต่อให้มี คิดหรือว่ามันจะได้ผล หากส่วนใหญ่ของฟรีทีวีก็ยังคงเป็นอยู่เช่นนี้

กล้ามั้ยครับที่จะเปลี่ยนแปลง หรือกลัวว่าคนไทยจะฉลาดขึ้นครับ…

ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์ 8 เมษายน 2550

แท็ก คำค้นหา