ไอทีวี…ทีวีอภิสิทธิ์ชน

โดย จักรกริช ธรรมศิริ
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

 

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : คนที่เคยผ่านเหตุการณ์พฤษภาทมิฬมาด้วยตัวเองย่อมรู้ดีว่า ไอทีวีเกิดขึ้นมาอันเนื่องมาจากปัญหาการควบคุมปิดกั้นสื่อประเภทโทรทัศน์ของรัฐบาลสุจินดา ในช่วงที่มีการชุมนุมประท้วงขับไล่รัฐบาลเมื่อเดือนพฤษภาคม 2535

ครั้งนั้น…คนที่จะทราบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นที่ถนนราชดำเนิน หรือที่ลาน สวป.มหาวิทยาลัยรามคำแหง จะต้องดูข่าวผ่านจานรับดาวเทียมที่ไม่ถูกบล็อกจากรัฐบาล หรือต้องออกไปดูนอกประเทศ

ภายหลังเหตุการณ์…สังคมที่บาดเจ็บจากเหตุการณ์ทมิฬ ได้มีการหยิบยกเรื่อง การพึ่งพาอาศัยไม่ได้ของสื่อโทรทัศน์ที่มีอยู่ในขณะนั้นทุกช่อง เสนอรัฐบาลอานันท์ 2 คาบเกี่ยวไปถึงรัฐบาลชวน หลีกภัย จัดตั้งสถานีโทรทัศน์ที่เป็นของประชาชนอย่างแท้จริง และไม่อยู่ภายใต้การครอบงำของรัฐบาล

ไอทีวีจึงถือกำเนิดขึ้นมาพร้อมกับการแบกความหวังของประชาชนไว้เต็มบ่าด้วยสโลแกน “ไอทีวี…ทีวีเสรี” และมีหลักประกันที่เปรียบเสมือนสัญญาประชาคมก็คือ รายการต่างๆ ของไอทีวีจะต้องประกอบด้วยรายการประเภทสาระไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ของเวลาที่ออกอากาศ และเพื่อป้องกันการผูกขาดผู้บริหารไอทีวีจะต้องประกอบด้วยกลุ่มบริษัทไม่น้อยกว่า 10 บริษัท และแต่ละบริษัทถือหุ้นได้ไม่เกิน 10%

การดำเนินงานของไอทีวีในช่วงแรกไม่ได้ทำให้ประชาชนผิดหวังในการทำหน้าที่เป็น “หมาเฝ้าบ้านที่ซื่อสัตย์ ดุดัน และตรงไปตรงมา” ไอทีวีได้สร้างความหวาดผวาให้กับ “การคอร์รัปชันทุกวงการ” แต่ที่ซาบซึ้งที่สุดน่าจะเป็นวงการสีกากี

นอกจากการทำหน้าที่ในการ เห่า กัด ทุรชนอย่างไม่เกรงหน้าอินทร์หน้าพรหมแล้ว ไอทีวียังได้ปฏิวัติวงการข่าวอย่างพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ ทำให้ช่วงข่าวกลายเป็นช่วงที่ประชาชนให้ความสนใจมากที่สุดอย่างไม่เคยมีมาก่อน ช่วงข่าวกลายเป็นช่วงที่อัตราค่าโฆษณาสูงที่สุดช่วงหนึ่ง…พิธีกรเล่าข่าวขาใหญ่อย่าง “เสี่ยสรยุทธ” สื่อมวลชนที่รวยที่สุดในโลกคนหนึ่งก็เกิดจากไอทีวี

ไอทีวี ได้ทำหน้าที่ตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งมาได้ในระดับที่น่าพอใจ จนกระทั่ง ปี 2538 กลุ่มสยามทีวีคอมมูนิเคชั่น จำกัด ภายใต้การนำของธนาคารไทยพาณิชย์ ได้เสนอเงินตอบแทนค่าสัมปทานให้กับรัฐบาลสูงถึง 25,200 ล้านบาท เพื่อให้ได้ครอบครองสัมปทานไอทีวีภายใต้บรรยากาศความมึนงงของคนทำธุรกิจสื่อมวลชน ว่าสยามทีวีฯ จะไปขอดเงินมาจากไหนเพื่อจ่ายให้รัฐปีละ 800-1,000 ล้านบาท จากการทำรายการทีวีที่เน้นสาระและข่าวสาร

ในที่สุดสิ่งที่ทุกคนคาดหมายก็เป็นจริง เพราะกลุ่มสยามทีวีฯ ต้องประสบกับภาวการณ์ขาดทุนอย่างหนักจนรับภาระไม่ไหว และกลายเป็นโอกาสให้ “กลุ่มชินคอร์ป” เข้ามาเทคโอเวอร์ไอทีวีด้วยการกวาดซื้อหุ้นสามัญจำนวน 106,250,000 หุ้น ในราคาหุ้นละ 10.6573 บาท กลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่เพียงรายเดียวในไอทีวีโดยไม่สนใจกติกามารยาทที่ได้กำหนดเอาไว้

พอได้ครอบครองหุ้นส่วนใหญ่แล้ว “กลุ่มชินคอร์ป” ก็เริ่มใช้วิชาพ่อมดทางการเงินด้วยการแตกหุ้นเหลือหุ้นละ 5 บาท ทำให้หุ้นไอทีวีเพิ่มเป็น 1,200 ล้านหุ้น จากนั้นก็นำมาเปิดให้ประชาชนทั่วไปซื้อจำนวน 300 ล้านหุ้น ก่อนที่จะนำไปเปิดขายในตลาดหลักทรัพย์ในเดือนมีนาคม 2545

ในช่วงปลายปี 2546 ไอทีวีได้เพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 7,800 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น 1,560 ล้านหุ้น หุ้นละ 5 บาท และได้มีการจัดสรรให้กับพันธมิตรผู้ผลิตรายการคือ บริษัทกันตนา และบริษัท บอร์น ของนายไตรภพ ลิมปพัทธ์ ไปจำนวนหนึ่ง และในช่วงถัดจากนี้เองที่ราคาหุ้นของไอทีวีดันตัวเองไปแตะเพดาน 32 บาท…ซึ่งย่อมสร้างความร่ำรวยให้กับกลุ่มผู้บริหารและพนักงานอย่างไม่ต้องสงสัย

แม้ว่าจะสามารถสร้างราคาหุ้นให้กับไอทีวีจนสูงกว่าราคาตั้งต้นหลายเท่าตัว “กลุ่มชินคอร์ป” ก็ยังไม่หยุดที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับหุ้นไอทีวี ด้วยการไปร้องกับอนุญาโตตุลาการขอแก้ไขสัมปทานการผลิตรายการระหว่างสาระกับบันเทิงจาก 70:30 เป็น 50:50 และขอลดค่าสัมปทานที่ต้องจ่ายให้รัฐจากปีละ 800-1,000 ล้านบาท เป็นปีละ 230 ล้านบาท ซึ่งก็เรียบร้อยโรงเรียนชินคอร์ป

อย่างไรก็ตาม การกระทำการดังกล่าวของกลุ่มชิน อาจเป็นการทำการที่เหิมเกริมมากเกินไปเพราะเรื่องนี้ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ว่าเป็นการบิดเบือนเจตนารมณ์ของ “วีรชนเดือนพฤษภา” และทำให้รัฐสูญเสียรายได้เป็นจำนวนมาก จนบีบให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีออกมาฟ้องศาลปกครองอย่างไม่เต็มใจนัก…จนกระทั่งนำไปสู่การมีมติยกเลิกคำสั่งของอนุญาโตตุลาการเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2549 ทำให้ไอทีวีต้องกลับไปผลิตรายการสาระ 70% เหมือนเดิม พร้อมกับต้องจ่ายค่าสัมปทานปีละ 1,000 ล้านบาท เหมือนเดิม รวมทั้งต้องคืนเงินค่าสัมปทานที่ค้างชำระพร้อมดอกเบี้ย และต้องจ่ายเงินค่าปรับผังรายการวันละ 10% ของวงเงินค่าสัมปทานคิดเป็นรายวัน

ภายหลังจากที่ ไอทีวี “ผิดสัญญาและบิดเบือนเจตนารมณ์ของวีรชนเดือนพฤษภา” จนส่งผลให้ไม่มีปัญญาจ่ายค่าปรับและค่าสัมปทานย้อนหลัง จึงเป็นเรื่องปกติที่รัฐจะต้องยึดคืนคลื่นอันเป็นสมบัติสาธารณะกลับคืนมา แต่… พนักงานไอทีวีกลับใช้สื่อที่มีอยู่ในมือเป็นเครื่องมือในการรักษาผลประโยชน์ของตัว ในขณะที่รัฐบาลเองก็โอนเอนเป็นไม้หลักปักขี้เลน ไร้หลักการ ไร้จุดยืน ตัดสินใจภายใต้กรอบคิดทางการเมืองมากกว่ายึดหลักเหตุผลที่ควรจะเป็น

วันนี้ แม้ว่าเรื่องต่างๆ จะได้ข้อยุติไปด้วยดีสำหรับพนักงานไอทีวี เพราะมีงานทำเหมือนเดิมไม่ต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่กระทำในช่วงที่ผ่านมา ในขณะที่รัฐบาลก็แฮปปี้เพราะไม่ต้องเสียหน้า แต่ผมในฐานะประชาชนที่เสียภาษีเต็มเม็ดเต็มหน่วยไม่แฮปปี้ด้วย และอยากจะฟื้นฝอยหาตะเข็บด้วยการตั้งคำถามสำหรับคนไอทีวีชุดปัจจุบันดังนี้…

ข้อแรก ตอนที่ไอทีวีเปลี่ยนนโยบายจากทีวีเพื่อประชาชนเป็นทีวีเพื่อนายทุน ท่านเคยออกมาปกป้อง คุ้มครองผลประโยชน์ของประชาชนบ้างหรือไม่?

ข้อสอง ตอนที่ “กบฏไอทีวี” ถูกไล่ออก เพราะพยายามรักษาจรรยาบรรณทางวิชาชีพของสื่อมวลชนที่ดี พวกท่านไปหลบอยู่ในหลืบไหน ซอกไหนของประเทศไทย หรือท่านได้พลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสด้วยการเข้าไปเสียบแทนในหน้าที่การงานของคนเหล่านั้น?

ข้อสาม ตอนที่ท่านได้ประโยชน์จากการที่ราคาหุ้นของไอทีวีปรับตัวสูงขึ้น ท่านไม่เห็นเอามาแบ่งพี่น้องประชาชนเลย แต่พอท่านตกงานทำไมต้องเอาภาษีของประชาชนไปโอบอุ้มท่านด้วย?

นอกจากคำถามถึงพนักงานไอทีวีแล้ว ผมยังมีคำถามสำหรับ “รัฐบาลต่อมความดีบวม” ดังนี้…

ข้อแรก พนักงานไอทีวี เป็นพนักงานบริษัทเอกชนบริษัทหนึ่งที่มีกฎหมายแรงงานสัมพันธ์คอยคุ้มครองดูแลอยู่แล้ว เหตุใดรัฐบาลจึงต้องพยายามทำทุกวิถีทาง เพื่อดูอย่างเป็นพิเศษเพื่อดูแลพนักงานเหล่านี้…หรือเพื่อไม่ให้ต่อมความดีมันแตก?

ข้อสอง หากมีบริษัทเอกชนอื่น เช่น โรงงานทอผ้า หรือ โรงงานปลากระป๋อง เป็นต้น เกิดเจ๊ง รัฐบาลจะให้กระทรวงอุตสาหกรรมกระโดดเข้าไปอุ้มพนักงานของโรงงานเหล่านี้ด้วยมั้ย? เพราะผมดูแล้วคนงานเหล่านี้น่าให้การช่วยเหลือมากกว่าพนักงานไอทีวีตั้งมากมาย

พนักงานไอทีวีไม่ต้องตอบผมโดยตรงหรอก แต่ขอให้ท่านหาเหตุผลอธิบายสังคมให้ได้ก็แล้วกัน ว่า “ท่านเป็นฐานันดรสี่หรืออภิสิทธิ์ชนกันแน่?” ส่วนรัฐบาลก็ตอบให้ได้ว่า “ท่านใช้หลักการอะไรในการแก้ปัญหาบ้านเมือง หลักเท่าเทียม ยุติธรรม โปร่งใส อธิบายได้ หายเข้าป่าไปหมดแล้วหรืออย่างไร?”

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ 10 มีนาคม พ.ศ. 2550 08:00:00

แท็ก คำค้นหา