ทีวีดาวเทียม PTV กับ Propaganda Television

โดย ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง
จากผู้จัดการออนไลน์

 

“เพื่อนพ้อง น้องพี่” เหล่าบรรดาอดีตแกนนำพรรคไทยรักไทย ประกอบด้วย นายวีระ มุสิกพงศ์ นายจตุพร พรหมพันธุ์ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ฯลฯ ประกาศแถลงตัวว่าจะเปิดสถานีโทรทัศน์แห่งใหม่ ชื่อว่า สถานีโทรทัศน์ดาวเทียมพีทีวี (People’s Television) โดยจะเริ่มออกอากาศในวันที่ 1 มีนาคมนี้

เกิดเป็นประเด็นปัญหา ว่าสามารถกระทำได้ตามกฎหมาย หรือไม่? เหมาะสมหรือไม่? ภาครัฐควรจะมีท่าทีการปฏิบัติอย่างไร? จะมีมาตรฐานการปฏิบัติต่อทีวีดาวเทียมอย่างไร?

ผมเห็นว่า

1) ยืนยันในหลักการ ไม่ว่าจะอยู่ภายใต้รัฐบาลทักษิณ หรือรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ สังคมควรจะมีโอกาสได้รับข้อมูลข่าวสารรอบด้าน ทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับผู้กุมอำนาจรัฐ รัฐบาลควรปฏิบัติตามกฎหมาย ไม่ควรมีการแทรกแซงการทำงานของสื่อมวลชน เหมือนอย่างที่รัฐบาลทักษิณได้เคยกระทำผิดเอาไว้

ในระบบสื่อสารมวลชนโทรทัศน์ ก็ควรจะมีการนำเสนอข้อมูลทั้ง 2 ด้าน โดยวิจารณญาณของสื่อมวลชนมืออาชีพ ปราศจากการครอบงำแทรกแซงจากผู้มีผลประโยชน์ร่วมในประเด็นปัญหาบ้านเมือง

แม้ในปัจจุบัน ก็ยังเห็นว่า หากจะมีใครก็ตาม มีความต้องการผลิตรายการที่เป็นตัวแทนความคิดเห็นของกลุ่มอำนาจเก่า หรือ “เพื่อนพ้องน้องพี่” ของคุณทักษิณ เพื่อเป็นกระบอกเสียง โฆษณาตัวเอง หรือเป็น PTV (Propaganda Television) ก็ควรมีโอกาสที่จะได้นำเสนอความคิดเห็นของตนเองผ่านทางโทรทัศน์อย่างถูกกฎหมาย หลังจากนั้น ประชาชนคนดู จะเป็นคนตัดสินใจเองว่า จะเชื่อในสิ่งที่คนพวกนี้พูดหรือไม่ แต่ก่อนพูดอย่าง วันนี้พูดอีกอย่าง ถ้าพูดโกหกบ่อยๆ เข้า เดี๋ยวชาวบ้านก็เลิกเชื่อไปเอง

รัฐบาลใดๆ ก็ขออย่าได้ประพฤติและปฏิบัติเลวร้ายอย่างรัฐบาลทักษิณ ที่ไม่เปิดโอกาสให้คนที่มีความคิดเห็นแตกต่างจากตนได้ออกมานำเสนอความคิดเห็นผ่านโทรทัศน์ ใช้อำนาจแทรกแซงถอดรายการออกจากผัง เปลี่ยนตัวผู้ดำเนินรายการ ขึ้นบัญชีดำคนที่ห้ามเชิญมาออกรายการ ข่มขู่ผ่านทางสปอนเซอร์โฆษณา ฯลฯ

และกล่าวอย่างยุติธรรม เห็นว่า ในปัจจุบัน สภาพการณ์ของสื่อสารมวลชน แม้จะยังไม่ดีที่สุด แต่ก็ยังมีเสรีภาพ มีคุณภาพ มากกว่าสมัยรัฐบาลทักษิณหลายเท่าตัว

2) ปัจจุบัน มี พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2543 มาตรา 80 บัญญัติว่า

“ในวาระเริ่มแรกที่การคัดเลือกและแต่งตั้ง กสช. หรือ กทช. แล้วแต่กรณี ยังไม่แล้วเสร็จ ให้นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ อธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลข และเจ้าหน้าที่ของรัฐอื่นใดที่เกี่ยวกับการบริหารคลื่นความถี่ การจัดสรรคลื่นความถี่ การอนุญาต และการกำกับดูแลหรือการควบคุมการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ตามกฎหมายว่าด้วยวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ กฎหมายว่าด้วยวิทยุคมนาคม กฎหมายว่าด้วยโทรเลขและโทรศัพท์ และกฎหมาย อื่นที่เกี่ยวข้อง มีอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติจนถึงวันพ้นกำหนดเวลาตาม มาตรา 77 แต่ในระหว่างนั้นจะพิจารณาจัดสรรคลื่นความถี่ ออกใบอนุญาตประกอบกิจการ หรืออนุญาตให้ประกอบกิจการเพิ่มเติมไม่ได้”

หมายความว่า ห้ามมิให้ออกใบอนุญาตให้ผู้ประกอบการรายใดดำเนินการจัดตั้งสถานีโทรทัศน์ใหม่ หรือออกอากาศโทรทัศน์เพิ่มเติม จนกว่าจะมี กสช. ขึ้นมาเป็นผู้ดูแลและออกใบอนุญาตดังกล่าว

ในเมื่อปัจจุบัน ยังไม่มีการจัดตั้งคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ (กสช.) มาทำหน้าที่ออกใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ ดังนั้น ผู้ประกอบการที่ออกอากาศสถานีโทรทัศน์ โดยไม่มีใบอนุญาตดังกล่าว จึงถือว่ากระทำผิดกฎหมายทั้งสิ้น

3) ในช่วงรัฐบาลทักษิณ ปรากฏว่า มีสถานีโทรทัศน์ใหม่ ออกอากาศเพิ่มเติมจำนวนมาก ทั้งๆ ที่ ยังไม่ได้รับใบอนุญาตจาก กสช. ส่วนใหญ่เป็นการส่งสัญญาณผ่านดาวเทียมไทยคมของบริษัทชินแซทเทิลไลท์ ไม่ว่าจะเป็น โทรทัศน์ผ่านดาวเทียมของธรรมกาย บริษัทเบรฟฮาร์ท สไมล์เน็ตเวิร์ก (Smile Network) บริษัท เอ็มวี เทเลวิชั่น (ไทยแลนด์) จำกัด MVTV ฯลฯ

และมีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม อีก 2 ราย ที่ไม่ได้ใช้บริการดาวเทียมของชินแซทฯ คือ บริษัท เอเชีย บรอดคาสติ้ง เทเลวิชั่น จำกัด (ABTV) ผ่านดาวเทียม ST-1 และบริษัท ไทยเดย์ ดอทคอม จำกัด ผลิตรายการและขายรายการให้เอเอสทีวี(ASTV)ที่ฮ่องกง ทางอินเทอร์เนต แล้วส่งสัญญาณขึ้นดาวเทียม NSS 6 ของเนเธอร์แลนด์ โดยส่งสัญญาณขึ้นจากฮ่องกง ประเทศจีน ซึ่งอยู่นอกเหนือเขตอำนาจของกฎหมายไทย

รัฐบาลทักษิณ ปล่อยปละละเลยให้มีการออกอากาศโทรทัศน์ดาวเทียมได้ ทำให้บริษัทชินแซทฯ ได้ผลประโยชน์ทางธุรกิจ และบริษัทเหล่านั้นเป็น “เพื่อนพ้องน้องพี่” ของกลุ่มทุนพรรคไทยรักไทย

แต่รัฐบาลทักษิณ โดยความควบคุมดูแลของพรรคไทยรักไทย ก็ได้ให้กรมประชาสัมพันธ์ ดำเนินคดีแต่เฉพาะเอเอสทีวี (ASTV) เพื่อต้องการจะปิดเอเอสทีวี(ASTV)ที่นำเสนอข้อมูลความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลทักษิณ

จนในที่สุด เอเอสทีวี (ASTV) ได้ไปร้องขอต่อศาลปกครอง กระทั่ง ศาลปกครองมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว เอเอสทีวี (ASTV) จึงยังคงดำเนินการออกอากาศมาได้จนถึงทุกวันนี้

4) ในยุคปัจจุบัน รัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ กรมประชาสัมพันธ์ยุคนี้ก็ยังยืนยันท่าทีเดิม คือ ดำเนินคดีกับเอเอสทีวีต่อไป

อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ยืนยันว่า “ไม่ได้มีการถอนแจ้งความกับทางเอเอสทีวีใดๆ ทั้งสิ้น กระบวนการดำเนินคดีทั้งหมดอยู่ในขั้นของอัยการที่จะพิจารณาฟ้องหรือไม่ฟ้อง แม้ว่าจะเคยมีการปรึกษาหารือเรื่องการถอนแจ้งความ แต่ก็เพราะเห็นว่าการแจ้งความกับเอเอสทีวีในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ไม่เป็นธรรมกับเอเอสทีวี เพราะถูกดำเนินคดีอยู่เจ้าเดียว ทั้งๆ ที่ มีสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมที่ออกอากาศผิดกฎหมายอีกว่า 10 สถานี แต่ไม่สามารถถอนแจ้งความได้เพราะเรื่องไปอยู่ในชั้นของอัยการแล้ว”

พูดง่ายๆ กรมประชาสัมพันธ์ยืนยันความเห็นว่า กรณีเอเอสทีวี(ASTV) เป็นการทำผิดกฎหมาย และสถานีทรทัศน์ดาวเทียมอีก 10 กว่าสถานี ก็ผิดกฎหมายด้วย

มาถึงกรณีของพีทีวี (PTV) ของ “เพื่อนพ้องน้องพี่พรรคไทยรักไทย” กรมประชาสัมพันธ์ก็ยังคงยืนยันตามเดิมว่า ผิดกฎหมาย ไม่สามารถกระทำได้ และได้แจ้งให้ “เพื่อนพ้องน้องพี่ฯ” ได้รับทราบตรงกันมาโดยตลอด แต่“เพื่อนพ้องน้องพี่ฯ” ก็ยังดื้อดึงจะดำเนินการต่อไป

กรมประชาสัมพันธ์ จึงจำเป็นต้องดำเนินคดีกับพีทีวี (PTV) เพื่อรักษาบรรทัดฐานความเท่าเทียมกัน กับกรณีเอเอสทีวี (ASTV)

5) ศาลปกครอง จำเป็นต้องมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวแก่พีทีวี(PTV) เหมือนที่คุ้มครองเอเอสทีวี(ASTV) หรือไม่?

น่าเป็นห่วงแทน “เพื่อนพ้องน้องพี่พรรคไทยรักไทย” เพราะศาลปกครองย่อมจะพินิจพิจารณาตามข้อเท็จจริง สภาพปัญหา เจตนา และผลกระทบที่เกี่ยวข้อง

ปัญหากรณีเอเอสทีวี (ASTV) และพีทีวี (PTV) แตกต่างกัน

กรณีเอเอสทีวี (ASTV) เริ่มดำเนินการออกอากาศมาก่อน โดยขณะนั้นยังไม่มีข้อพิพาททางคดี และการดำเนินการของเอเอสทีวีในขณะนั้น ก็เป็นประโยชน์แก่สังคมส่วนรวม ทำให้สังคมได้รับข้อมูลข่าวสารที่รัฐบาลในขณะนั้นพยายามปกปิดบิดเบือน กรณีจึงสมควรได้รับความเมตตาคุ้มครอง

กรณีที่พีทีวี (PTV) เป็นการพยายามทำตัวให้เป็นปัญหา เพราะรู้ทั้งรู้ว่า การกระทำเช่นนี้จะทำให้เกิดข้อพิพาททางกฎหมาย ดังที่เอเอสทีวี(ASTV)กำลังถูกดำเนินคดีอยู่ แม้หน่วยงานราชการจะตักเตือนแล้ว แต่ก็ยังแสดงท่าทีและลงทุนเตรียมการต่อไป ทั้งๆ ที่รู้ว่าจะเป็นปัญหา

ถามสามัญสำนึก กรณีเยี่ยงนี้ สมควรจะได้รับความเมตตาคุ้มครอง จากศาลปกครอง หรือไม่?

ไม่แปลกใจ หากเรื่องนี้ไปถึงศาลปกครอง และศาลปกครองจะพิจารณากรณีพีทีวี (PTV) แตกต่างจากกรณีเอเอสทีวี(ASTV) โดยพิจารณาบนบรรทัดฐานของยุติธรรรม ศีลธรรมอันดี และผลประโยชน์ส่วนรวม

6) รัฐบาลทักษิณ โดยการควบคุมของพรรคไทยรักไทย เคยวินิจฉัยการส่งสัญญาณและออกอากาศของเอเอสทีวี(ASTV) ว่าเป็นการกระทำผิดกฎหมาย ถึงกับให้กรมประชาสัมพันธ์แจ้งความดำเนินคดี แต่น่าสนใจว่า เวลานี้ “เพื่อนพ้องน้องพี่ของพรรคไทยรักไทย” กลับออกมาบอกกล่าวว่า สามารถดำเนินการได้อย่างเอเอสทีวี

26 กุมภาพันธ์ 2550

 

แท็ก คำค้นหา