กรณี PTV ไม่เพียงใช้กฎหมาย แต่ต้องให้ความยุติธรรม

ดย เถกิง สมทรัพย์
นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย

ผมติดตามเรื่องของ PTV มาหลายวัน ทำท่าว่าจะบานปลายใหญ่โตเป็นเรื่องความขัดแย้งทางการเมืองไปอีกยาว ดังนั้น เลยอยากจะแสดงความเห็นเพื่อเสนอแนะบ้าง

1. เป้าหมายของ PTV ชัดเจนว่าต้องการพื้นที่ในการสื่อข่าวส่งความของฝ่ายไทยรักไทยไปยังรัฐบาล , ฝ่ายตรงกันข้ามไทยรักไทยและประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มประชาชนที่สนับสนุนไทยรักไทย

2. ย้อนกลับไปก่อนการรัฐประหาร ไทยรักไทยไม่สามารถใช้สื่อมวลชนที่มีอยู่มากมายในอำนาจสร้างความเข้าใจกับประชาชนได้เลย เพราะขาดความเชื่อถือ และสื่อส่วนใหญ่ไม่ยอมรับในการชี้แจงของคุณทักษิณกับไทยรักไทยจึงเห็นไทยรักไทยใช้พื้นที่เฉพาะกิจตามหน้าหนังสือพิมพ์ส่งข่าวสื่อความถึงคนรักทักษิณเป็นการเฉพาะ

3. ครั้นเกิดรัฐประหารพื้นที่ข่าวของไทยรักไทยไม่ถูกปิด แต่กลับเปิดกว้างให้มีการวิพากษ์วิจารณ์คมช.และรัฐบาลอย่างกว้างขวาง คนหันมาฟังไทยรักไทยและคุณทักษิณมากกว่าตอนเป็นรัฐบาล ทำให้ข่าวของคุณทักษิณครอบครองพื้นที่และอยู่ในความสนใจของประชาชน จนสามารถสร้างปัญหาให้รัฐบาลได้อย่างที่ปรากฏ

4. ครั้นเมื่อ คมช.และรัฐบาลเริ่มออกมาตรการควบคุมและจำกัดพื้นที่การใช้สื่อในประเทศของคุณทักษิณ เราจึงเห็นการออกตะเวนให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศเพื่อให้เป็นข่าวกลับมายังเมืองไทย

5. ในระหว่างนั้นเราจะได้ยินข่าวเรื่องของการเปิดช่องทีวีของคุณทักษิณกับคณะเพื่อสื่อสารกับคนไทยมาโดยตลอด เช่น ตั้งสถานีที่จีนส่งมาไทย เป็นต้น

6. ทั้งหมดนี้คือความพยายามในการมีพื้นที่เสนอข่าวสารนั่นเอง ซึ่งเหมือนกับเมื่อตอนที่คุณทักษิณมีอำนาจแล้วเที่ยวปิดพื้นที่ของฝ่ายตรงกันข้ามเช่นกัน

7. ในยุคทักษิณครอบงำสื่อ บรรดาผู้ถูกปิดพื้นที่ข่าวต่างแสวงหาช่องทางสื่อสารความคิดทางการเมืองของตนด้วยวิธีการต่างๆ เช่น ออกหนังสือ ตั้งวิทยุชุมชน สร้างเว็บไชต์ ออกเคเบิล ทำตัวเป็นข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ ฯลฯ และในที่สุดก็กลายมาเป็น เอเอสทีวี ที่เป็นหัวหอกให้คนอึดอัดกับระบอบทักษิณมาใช้ต่อสู้กับรัฐบาลจนเกิดการเปลี่ยนแปลง

8. ถ้าเราเรียนรู้จากบทเรียนที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ เราจะพบว่า การใช้อำนาจรัฐ การใช้กฎหมายไปจัดการกับสื่อที่ต่อสู้กับรัฐ หรือ แม้กระทั่งการใช้การฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายหลายพันล้านก็หยุดยั้งไม่ได้

9. ดังนั้น ในกรณี PTV ที่กำลังจะมีการใช้กฎหมายเข้าควบคุมเพื่อไม่ให้ออกอากาศหรือทำอะไรก็ตามที่รัฐบาลทักษิณทำกับสื่อในยุคนั้น ไม่น่าจะเป็นทางออกที่เหมาะสม เพราะยิ่งจะทำให้เกิดการแข็งขืนมากขึ้นและจะมีการใช้มาตรการใหม่ๆมาต่อสู้กับรัฐบาลมากขึ้น

10. หัวใจของเรื่องนี้ก็คือฝ่ายหนึ่งมีพื้นที่ออกข่าวมากกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง ดังนั้น ทำอย่างไรจึงจะสามารถเปิดพื้นที่ข่าวให้ฝ่ายที่มีพื้นที่น้อยกว่าได้มีโอกาสบ้าง มิเช่นนั้นแล้วก็จะเกิดสภาพเดิมเหมือนในยุคทักษิณ แล้ว PTV ก็จะเป็น ASTV ในแง่ของการเป็นสัญลักษณ์ในการต่อสู้กับระบอบทหาร

11. รัฐบาลและคมช.ต้องไม่เอาเปรียบคู่ต่อสู้ ถ้าไม่เปิดพื้นที่ให้ฝ่ายตรงกันข้ามบ้าง ก็ต้องไม่ใช่พื้นที่ข่าวของตนไปถล่มฝ่ายตรงกันข้ามอย่างเกินเลย

12.เช่น เดียวกันการลงพื้นที่ของบรรดาพรรคไทยรักไทยเวลานี้ เป็นหมูไม่กลัวน้ำร้อน ยิ่งทหารจะเอาผิด คนยิ่งชอบใจไทยรักไทย เพราะสังคมไทยเวลานี้ต้องการ “คนนอก” ที่มีลักษณะ “กบฏ-ต่อต้านระบบ” เพราะภายใต้การปกครองของผู้ปกครองปัจจุบัน ประชาชนจำนวนมากไม่มีความสุข และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนที่ยังรักไทยรักไทยยิ่งที่จะชอบใจนักการเมืองของพวกเขามากขึ้นที่กล้าหือกับรัฐบาล

13. ดังนั้น ในการดำเนินการใดๆกับ PTV รัฐบาลต้องไม่คิดว่านี่คือการทำผิดกฎหมาย ท้าทายรัฐบาล แต่ต้องเข้าใจว่านี่คือความพยายามขอมีพื้นที่เสนอข่าวสารและความของฝ่ายที่ถูกปิดพื้นที่ข่าว รัฐบาลต้องหาทางระบายแรงกดดันนี้เพื่อไม่ให้มันระเบิดขึ้นเหมือนเมื่อสมัยทักษิณ

14. เป็นไปได้หรือไม่ที่จะเชิญทุกฝ่ายมาวางกติกาการใช้สื่อของรัฐในเรื่องการเมือง ทั้งพันธมิตร รัฐบาล ไทยรักไทย และพรรคอื่นๆ แล้วให้ประชาชนได้รับข่าวสารเท่าเทียมกันเพื่อการตัดสินใจด้วยพวกเขาเอง

26 กุมภาพันธ์ 2550

แท็ก คำค้นหา