ปัญหาทีวี-วิทยุ

คอลัมน์ งานเป็นเงา
โดย ลำแข

 

รัฐบาลพยายามคิดแก้ไขปัญหาโทรทัศน์ ขณะเดียวกับฝ่ายอดีตรัฐบาลออกมาวิตกวิจารณ์กับการที่นาย “สนธิ ลิ้มทองกุล” เข้าไปทำรายการทางช่อง 11 ก็โต้ตอบกันไป ตอนนี้ส่วนมากก็ขอติดตามการทำงานของนายสนธิแต่ละคืนดูก่อน

การจัดสรรคลื่นวิทยุและโทรทัศน์นั้น มีความจำเป็น หากยังจำกันได้เพราะเวลาเพิ่งล่วงมาไม่นานนัก รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ก็กำหนดไว้แล้ว ให้มีคณะกรรมการจัดสรรคลื่นความถี่ที่เรียกว่า “กสช.” ขึ้นมาคณะหนึ่งเพื่อจัดการ นอกเหนือจากคณะจัดการคลื่นโทรคมนาคม “กทช.” แต่ กสช. ก็เป็นองค์กรอิสระคณะเดียวที่รัฐบาลทักษิณตั้งให้สำเร็จไม่ได้

หากมีการจัดสรรคลื่นวิทยุและโทรทัศน์ อย่างที่นานาอารยประเทศเขาทำกัน ให้เอกชนที่ทำงานสื่อสารมวลชนได้ทำงานอย่างที่ต้องการ สิ่งที่สังคมต้องการ หรือแม้ที่รัฐบาลต้องการคือรายการโทรทัศน์ที่มีคุณภาพ ก็ไม่ต้องกังวล

ไม่ต้องมาเสียเวลารัฐมนตรีประชุมหาทาง ว่าทำไมจะให้สถานีโทรทัศน์ทำรายการคุณภาพอย่างไร ให้ประชาชนดู

เพราะในความเป็นจริงที่เป็นอยู่ ย่อมเป็นไปได้ยาก ในเมื่อสถานีโทรทัศน์หลักเป็นของรัฐ มีเอกชนมาได้สัมปทานต่ออยู่สองสถานี กับอีกสถานีเอกชนที่เดี๋ยวนี้ขายสิงคโปร์ไปแล้ว รายการก็เป็นไปอย่างที่เห็นๆ

สถานีของรัฐก็บริหารไปอย่างรัฐๆ คือหารายการน่าดูไม่ค่อยได้ แล้วแต่ใครจะวิ่งเต้นได้เวลาดีๆ ไปแต่ทำรายการแย่ๆ หาโฆษณาอย่างเดียว จนช่อง 5 รวนเรไปพักหนึ่ง ก่อนที่ปีนี้จะกลับมาตั้งหลักหารายการดีๆ เข้ามาให้ดูได้มาก ส่วนช่อง 9 ที่ถูกนำเข้าตลาดไปก็ยังคงรายการน่าดูอยู่ต่อมาได้หลายรายการ

ช่อง 3 ช่อง 7 นั้นไม่ต้องพูดถึงเลย เขาต้องสนใจเสนอรายการซึ่งทำรายได้ให้สถานีได้มากที่สุด ซึ่งไม่ใช่รายการเด็กหรือรายการสิ่งแวดล้อมแน่

ทำไมสถานีโทรทัศน์จะต้องจำกัดอยู่แค่นี้ ในเมื่อคลื่นวิทยุและโทรทัศน์ยังสามารถแพร่เสียงและภาพสู่ประชาชนได้อีกมากมาย ทำไมไม่จัดสรรคลื่นให้เอกชนทำโทรทัศน์หรือวิทยุกันได้อย่างอิสระ อย่างบ้านเมืองอื่นเขา

ใครอยากทำหรือสามารถทำสถานีโทรทัศน์ได้ ก็ให้เขาทำไปสิ “อาร์เอส.” ก็ทำไปสถานีหนึ่ง “แกรมมี่” ก็ทำไปสถานีหนึ่ง “ประวิทย์” หรือ “ประชา มาลีนนท์” หรือ “สุรางค์ เปรมปรีดิ์” หากยังอยากทำก็ให้ไปอีกรายละสถานี จะได้ไม่ต้องถูกนินทาเรื่องวิ่งเต้นต่อสัมปทาน

หรือใครมีกำลังสามารถจะทำสถานีโทรทัศน์หรือวิทยุได้ อย่าง “สุทธิชัย หยุ่น” หรือแม้แต่ สนธิ ลิ้มทองกุล ก็ให้เขาทำ ไม่ต้องให้เขาหาวิธีเลี่ยงไปทางโน้นทางนี้แล้วมาว่าเขา

หรือแม้แต่วิทยุหรือโทรทัศน์ชุมชนที่รัฐหรือท้องถิ่นอาจต้องอุดหนุนในเบื้องต้น

ไม่เห็นในหนังหรือ ฝรั่งเขามีห้องแถวเดียวเขาก็ทำสถานีวิทยุให้คนทั้งเมืองติดตามได้

ไม่เห็นยากเย็นอะไรตรงไหนเลย

ทำไมพอใครมาเป็นรัฐบาลหรืออยู่ในอำนาจบริหารแล้ว ต้องหาทางควบคุมสื่อกันให้ได้ ต้องบงการสื่อให้ได้ ไม่มีเหตุผลอะไรตรงไหนที่จะต้องทำอย่างนั้นเลย

สถานีวิทยุและร้อยสถานีโทรทัศน์เป็นสิบๆ สถานี จะต้องไปกลัวหรือว่าไม่มีรายการคุณภาพให้ประชาชนดู เขาต้องแข่งขันกันหาสิ่งดีๆ ตอบสนองความต้องการประชาชนให้ได้กันอยู่แล้ว ใครอยากจะทำแต่รายการเน่าๆ ก็ลองดูสิ ในยามที่ชาวบ้านมีทางเลือกมากมายอย่างนั้น

ทำไมรัฐบาลถึงจัดการไม่ได้ เรื่องง่ายๆ แค่นี้

ที่มา : มติชน วันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550 ปีที่ 30 ฉบับที่ 10572 หน้า 25

แท็ก คำค้นหา