ธีรยุทธ-เสรีภาพสื่อ ภาพลวงตาใน รธน.

โดย บุญเลิศ ช้างใหญ่ นายธีรยุทธ บุญมี อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เดินทางไปให้ปากคำกับพนักงานสอบสวนเพิ่มเติมที่กองปราบฯ เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2550 ในคดีหมิ่นประมาท พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เนื่องจากมีการระบุคำว่า “โคตรานุวัตร” ในการเผยแพร่งานวิชาการ

นายธีรยุทธที่บอกว่า ในชีวิตที่ผ่านมาของตนเองถูกดำเนินคดี 2 ครั้ง ครั้งแรกสมัย 14 ตุลาคม 2516 ในข้อหากบฏและมีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ สมัยจอมพลถนอม กิตติขจร ส่วนครั้งที่ 2 เกิดสมัย พ.ต.ท.ทักษิณเป็นนายกฯ เพราะได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ ติชมและแนะนำรัฐบาล

กรณีของนายธีรยุทธเป็นปรากฏการณ์ที่สะท้อนถึงเสรีภาพของบุคคลในการพูด การแสดงความคิดเห็น การเขียน การพิมพ์และการโฆษณาที่คุ้มครองไว้ในรัฐธรรมนูญ แท้ที่จริงในทางปฏิบัติกลับกลายเป็นการไร้เสรีภาพอย่างสิ้นเชิงทั้งของบุคคลและวิชาชีพสื่อมวลชน

นายธีรยุทธและพวกรวม 13 คน ถูกจับกุมดำเนินคดีช่วง 14 ตุลาคม 2516 (เมื่อ 34 ปีก่อน) มิใช่เรื่องประหลาดเพราะขณะนั้นอยู่ในยุคเผด็จการเต็มรูป ไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับถาวรใช้เป็นกฎหมายสูง ตำรวจและทหารสมัยนั้นเป็นเครื่องมือของรัฐบาล ใช้อำนาจจากกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม จับกุมคุมขัง คุกคามและทำร้ายประชาชนที่เรียกร้องเสรีภาพและประชาธิปไตย

แต่ในยุคที่ พ.ต.ท.ทักษิณ พวกพ้องนักการเมืองพรรคไทยรักไทยและแนวร่วมอ้างว่าเป็นประชาธิปไตยร้อยเปอร์เซ็นต์กลับดำเนินคดีนายธีรยุทธ นักการเมือง และสื่อมวลชนในข้อหาหมิ่นประมาทอย่างไม่เป็นธรรม

ทั้งตำรวจในยุคสมัยของ พ.ต.ท.ทักษิณก็ใช้กฎหมายไปตั้งข้อหามากมายกับประชาชนที่รวมตัวกันเคลื่อนไหว ชุมนุมขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณให้พ้นจากตำแหน่งนายกฯ เนื่องจากมีพฤติการณ์ทุจริตโกงกิน จนถึงขณะนี้คดียังคาราคาซังอยู่ในชั้นตำรวจ อัยการและศาล ทั้งๆ ที่สภาพการเมืองได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว พ.ต.ท.ทักษิณไม่มีแผ่นดินจะอยู่ แต่การตั้งข้อหาอย่างไม่เป็นธรรมโดยมีตำรวจและอัยการเป็นเครื่องมือก็ยังตีความกฎหมายและปฏิบัติไปตามปกติเหมือนที่เคยปฏิบัติมา

กรณีของนายธีรยุทธและใครต่อใครอีกหลายคนรวมทั้งหนังสือพิมพ์ที่โดนคนเหลิงและหลงอำนาจใช้กฎหมายมาปิดปากด้วยข้อหาหมิ่นประมาทและอื่นๆ ซึ่งเท่ากับปิดหู ปิดตาประชาชนไม่ให้ได้รับข่าวสาร แสดงให้เห็นว่ารัฐธรรมนูญที่ให้การรับรองเสรีภาพประชาชนในการพูด การแสดงความคิดเห็น การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา ทางวิชาการ การชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ (รัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 39, 42, 44) เป็นแค่เพียงตัวอักษรสวยๆ ในกระดาษเท่านั้น

ในความเป็นจริง อำนาจทางการเมืองของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและกฎหมายลูกนั้นที่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นและอาจรวมไปถึงเจ้าหน้าที่รัฐในกระบวนการยุติธรรมกลับยิ่งใหญ่คับบ้านคับเมือง กระทำการละเมิดสิทธิ เสรีภาพประชาชนอย่างอุกอาจ

เมื่อพระราชบัญญัติการพิมพ์ 2484, ประมวลกฎหมายอาญาที่เคยใช้ปิดปากสื่อ มัดมือมัดเท้าประชาชนไม่ให้พูด ไม่ให้วิพากษ์วิจารณ์และปิดหูปิดตาชาวบ้านไม่ให้รับรู้เรื่องราวของผู้คนที่ต้องการมีสิทธิมีส่วนทางการเมืองซึ่งเคยใช้มาช้านานดังที่นายธีรยุทธและพวกตกเป็นเหยื่อในฐานะ “13 กบฏ” ก่อนเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ลุล่วงมาถึงรัฐบาลเลือกตั้งแห่งระบอบทักษิณก็ยังใช้กฎหมายที่เก่าคร่ำคร่าเป็นเครื่องมือ และเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งแม้จะเป็นคนละคนกับเมื่อ 34 ปีก่อนแต่ความไร้สำนึก ความไม่เข้าใจสภาพบ้านเมืองไม่เคยเปลี่ยนแปลง

รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ที่ภูมิใจกันหนักหนาว่า มีบทบัญญัติที่รับรองและคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพของประชาชนและสื่อมวลชนไว้อย่างสมบูรณ์ จะมีประโยชน์อะไรถ้าปล่อยให้กฎหมายลูกทำตัวเหนือกฎหมายแม่ และเจ้าหน้าที่ตำรวจ และเจ้าหน้าที่อื่นในกระบวนการยุติธรรมก็ปฏิบัติไปตามคำสั่งของผู้มีอำนาจโดยไม่จำแนกแยกแยะว่าสิ่งใดผิดสิ่งใดถูก สิ่งใดชอบธรรม

รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่กำลังจัดทำกันอยู่ในขณะนี้โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ หากจะให้เสรีภาพประชาชนและสื่อมวลชนอย่างแท้จริงจะต้องเพิ่มเติมข้อความให้ชัดเจนและบังคับใช้ได้จริงในทางปฏิบัติให้สมกับเจตนารมณ์ที่กำหนดไว้ ไม่ใช่บัญญัติไว้โก้ๆ เพื่ออวดชาวโลก ในความเป็นจริงกลับล่วงละเมิดกันทุกวัน ผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์ พ.ต.ท.ทักษิณ ทั้งนักการเมือง นักวิชาการ ประชาชน หนังสือพิมพ์ ฯลฯ ตกเป็นผู้ต้องหาและจำเลยข้อหาหมิ่นประมาทและอื่นๆ ไม่รู้กี่สิบกี่ร้อยคดี แจ้งความพร้อมๆ กันหลายพื้นที่ แถมยังเรียกค่าเสียหายทางแพ่งเป็นร้อยล้านพันล้าน

คนอย่าง พ.ต.ท.ทักษิณนะหรือที่อ้างว่าได้รับความเสื่อมเสียชื่อเสียงเกียรติยศ ได้รับความอับอาย ถูกดูหมิ่น เกลียดชัง แล้วการที่ประเทศชาติเสียหาย เพราะการทุจริตโกงกินในทูกรูปแบบจนต้องมีการรัฐประหารและตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบการกระทำอันฉ้อฉล

และการที่ พ.ต.ท.ทักษิณให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อและสำนักข่าวต่างประเทศจนประเทศชาติป่นปี้ในสายตาชาวต่างชาตินั้นเล่า หนังสือพิมพ์ นักวิชาการและประชาชนจะไปแจ้งความและฟ้องร้องข้อหาหมิ่นประมาทได้ที่ไหน และจะฟ้องเรียกค่าเสียหายได้ไหม

เพื่อไม่ให้รัฐธรรมนูญเป็นเสมือนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ไร้ความหมาย จึงควรจะบัญญัติให้การรับรองเสรีภาพประชาชนและเสรีภาพสื่อมวลชนให้ชัดแจ้งว่า การพูด การแสดงความคิดเห็น การเขียน การพิมพ์ การโฆษณาหากกระทำด้วยเจตนาสุจริตเพื่อเข้ามีส่วนร่วมในทางการเมืองเพื่อติชม ตรวจสอบการปกครองบ้านเมืองของบุคคลสาธารณะซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐจะต้องได้รับการคุ้มครองตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

เป็นประชาธิปไตยกันแบบไหนที่นายกรัฐมนตรีฟ้องประชาชนที่วิพากษ์วิจารณ์

เป็นประชาธิปไตยกันภาษาอะไรที่เจ้าหน้าที่รัฐยอมตกเป็นเครื่องมือให้กับผู้นำประเทศที่คละคลุ้งไปด้วยข้อกล่าวหาทุจริตและการละเมิดสิทธิ เสรีภาพประชาชนโดยไม่คำนึงถึงสถาบันของตนว่าจะมัวหมองและเสื่อมเสียในสายตาของชาวบ้าน

การที่นายธีรยุทธ นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ นายเทพไท เสนพงศ์ นายสนธิ ลิ้มทองกุล และคณะพันธมิตร ฯลฯ รวมทั้งหนังสือพิมพ์แทบทุกฉบับตกเป็นผู้ต้องหาและจำเลยคดีหมิ่นประมาทและคดีอื่นๆ เป็นผลดีในแง่การประจานให้เห็นความไม่เป็นธรรมและความไร้ค่าของรัฐธรรมนูญซึ่งจำเป็นจะต้องแก้ไขกันใหม่ให้ดีขึ้นและใช้ได้จริงในทางปฏิบัติ

ที่มา : มติชน วันที่ 08 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550 ปีที่ 30 ฉบับที่ 10561 หน้า 6

แท็ก คำค้นหา