สิ่งที่ได้เหมือนกัน

อาจารย์พิทักษ์ศักดิ์ ทิศาภาคย์
คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
หนึ่งในทีมวิทยากรและพี่เลี้ยงนักข่าวสายฟ้าน้อย รุ่นที่ 4 โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ “นักข่าวสายฟ้าน้อย” รุ่นที่ 4 ประจำปี 2549 ได้ผ่านพ้นไปแล้วอย่างราบรื่นและด้วยความประทับใจ สำหรับผู้เข้ารับการอบรมครั้งนี้ยังคงเป็นนักศึกษาหัวกระทิสาขานิเทศศาสตร์และสื่อสารมวลชน ซึ่งผ่านการคัดเลือกมาแล้วจากสถาบันขั้นอุดมศึกษาทั่วประเทศ

เมื่อนักศึกษาจำนวน 63 คนจากต่างถิ่นฐาน หลากสถาบันมากิน อยู่ อบรม และฝึกปฏิบัติร่วมกันเป็นเวลา 4 วัน 3 คืน สิ่งที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่งนั่นก็คือเรื่องของศักดิ์ศรีสถาบันและความมั่นใจในความรู้ด้านการสื่อข่าวและรายงานข่าวที่แต่ละคนมีพื้นฐานอยู่ สิ่งที่ประจักษ์ชัดหลังเสร็จสิ้นการอบรมทั้งหมดนั้น คือการแข่งขัน แต่ไม่ใช่เป็นการแข่งขันชนิดชิงดีชิงเด่น ตัวใครตัวมัน แต่กลับเป็นการกลมเกลียวสามัคคีกันระหว่างสมาชิกภายในกลุ่ม ช่วยเหลือ พึ่งพา เพื่อให้กิจกรรมต่าง ๆ ที่ได้รับมอบหมายจากพี่เลี้ยงประสบความสำเร็จ

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญอีกมุมหนึ่งของการอบรมครั้งนี้คือการบรรยายให้ความรู้ ถ่ายทอดประสบการณ์การทำงานข่าวจากทีมวิทยากรทั้งทางวิทยุและโทรทัศน์ เนื้อหาโดยรวมกล่าวถึงธรรมชาติของสื่อแต่ละประเภทและการเขียนข่าวให้มีสำนวนภาษาที่เหมาะสม นอกเหนือไปจากเรื่องการนำเสนอข่าววิทยุให้น่าสนใจ และการสื่อความหมายด้วยภาพในข่าวโทรทัศน์แล้ว หัวใจสูงสุดของการทำงานข่าวยังต้องแสดงออกถึงความรับผิดชอบต่อสังคมด้วย วิทยากรทุกคนต่างเน้นย้ำให้นักข่าวสายฟ้าน้อยตระหนักถึงบทบาทการทำหน้าที่เป็นสื่อมวลชน โดยเฉพาะเรื่องจรรยาบรรณ ดังนี้

(1) บอกความจริง นักข่าวต้องกล่าวความจริงเสมอในการรายงานข่าว ทำทุกทางที่ทำได้เพื่อนำเสนอข้อมูลที่เที่ยงตรง สมบูรณ์ เป็นธรรม ไม่บิดเบือนความจริงและไม่ใส่ความคิดเห็นของตนเองลงไปในข่าว

(2) อย่าพูดเกินจริง คุณค่าข่าวประการหนึ่งคือเรื่องความขัดแย้ง แต่นักข่าวต้องไม่แต่งเติมข้อขัดแย้งในข่าวหรือนำเสนอภาพเกินจริงจนเสริมให้สถานการณ์นั้นเลวร้ายลงไปอีก นักข่าวต้องไม่ใช่ผู้สร้างความแตกแยกกันระหว่างประชาชน สังคม ศาสนา ฯลฯ

(3) ทำงานรับใช้ประชาชน นักข่าวต้องตระหนักอยู่เสมอว่ากำลังทำหน้าที่เพื่อประโยชน์ของประชาชน ไม่ควรใช้วิชาชีพนี้หาความร่ำรวยใส่ตัว ไม่ควรหาผลประโยชน์ทับซ้อนทางธุรกิจกับแหล่งข่าว อย่ายอมถูกใช้เพื่อผลกำไรของคนกลุ่มใดหรือสังคมใดโดยเฉพาะ

(4) อย่าขโมยงานผู้อื่น นักข่าวต้องไม่นำข้อมูล เนื้อหา หรือภาพข่าวของผู้อื่นมาใช้ในงานของตนเว้นแต่ได้รับอนุญาต และควรระบุแหล่งที่มีของข้อมูลหรือเจ้าของผลงานไว้ด้วย

(5) ให้ความเป็นธรรม นักข่าวต้องนำเสนอข่าวให้ครบถ้วนและรอบด้านโดยเฉพาะประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างบุคคลสองฝ่าย เขียนข่าวให้สมบูรณ์โดยรักษาข้อเท็จจริงสำคัญไว้ทั้งหมด เปิดโอกาสให้ผู้เสียหายหรือผู้ถูกกล่าวหาได้บอกกล่าวข้อมูล

(6) ให้เกียรติและมีเมตตา นักข่าวต้องมีรสนิยมในการใช้ภาษาข่าวและนำเสนอภาพข่าว หลีกเลี่ยงสิ่งอนาจารหรือน่าสะเทือนใจโดยเฉพาะข่าวอุบัติเหตุ ภัยพิบัติ หรืออาชญากรรมทางเพศ บางครั้งไม่จำเป็นต้องเห็นสภาพศพหรือระบุชื่อจริง ควรคำนึงถึงความรู้สึกของญาติผู้ประสบเคราะห์นั้นด้วย

(7) เคารพสิทธิส่วนบุคคลของประชาชน นักข่าวต้องรู้จักข้อจำกัดในการบันทึกเสียงหรือถ่ายภาพข่าว สังคมไทยเป็นสังคมที่ให้เกียรติผู้หญิง เคารพผู้อาวุโส รู้จักที่สูงที่ต่ำ ฉะนั้นต้องระมัดระวังการล่วงละเมิดหรือก้าวล้ำสิทธิส่วนบุคคลในบริบทของสังคมไทย

(8) เคารพแหล่งข่าว นักข่าวไม่เพียงแต่รับผิดชอบต่อสังคมเท่านั้น ยังต้องเคารพแหล่งข่าวด้วย การนอบน้อมถ่อมตน การไม่โอ้อวดความมีอำนาจในหน้าที่สื่อมวลชน ตลอดจนการสงวนรักษาชื่อแหล่งข่าวที่ไม่ต้องการให้เปิดเผย เป็นสิ่งที่ควรกระทำ

(9) ปรึกษาเพื่อนร่วมงาน นักข่าวร่วมอาชีพเป็นทางออกที่ดีในเวลาที่เกิดปัญหา ซึ่งจะช่วยเหลือ ให้คำปรึกษา หรือตกลงกติกาการทำงานร่วมกันในสถานการณ์ข่าวบางเรื่อง

การอบรมครั้งนี้จะลุล่วงไม่ได้ หากขาดส่วนใดไปไม่ว่าจะเป็นผู้ให้และผู้รับ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยขอขอบคุณคณาจารย์จากสถาบันการศึกษาด้านนิเทศศาสตร์ทุกแห่งที่ให้การตอบรับ ขอบคุณนักศึกษาทั้ง 63 คนที่เอาใจใส่ ตั้งใจจริงกับการฝึกปฏิบัติ ขอบคุณทีมวิทยากร ทีมงานตัดต่อ พี่เลี้ยงทั้งจากสายวิชาชีพและวิชาการที่มาร่วมเติมเต็มความรู้นอกตำราด้านการทำงานข่าว ขอบคุณบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้สนับสนุนงบประมาณ แม้ทุกภาคส่วนในโครงการนี้จะระบุไม่ได้ว่าใครคือผู้ให้ ใครคือผู้รับ แต่ประโยชน์ทั้งหลายที่ได้รับ คือสิ่งที่ทุกคน “ได้เหมือนกัน”

แท็ก คำค้นหา