เสรีภาพสื่อ คือเสรีภาพประชาชน

บทนำมติชน

เพียงแค่ พล.อ.วินัย ภัททิยกุล ปลัดกระทรวงกลาโหม ในฐานะเลขาธิการคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) พร้อมคณะนายทหารที่อยู่ใน คมช.เชิญผู้บริหารสื่อโทรทัศน์และวิทยุทุกช่องและทุกคลื่น รวมทั้งผู้บริหารวิทยุชุมชน ประมาณ 50 คน มาพบเพื่อหารือเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2550 โดยที่ผู้เชิญยังไม่ได้พูดอะไรก็คงทำให้ผู้ถูกเชิญหวาดหวั่นอยู่ไม่น้อย เมื่อ พล.อ.วินัยขอความร่วมมือไม่ให้เสนอข่าวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และแกนนำพรรครัฐบาลที่แล้ว พร้อมกับยกกรณีแถลงการณ์ของ พ.ต.ท.ทักษิณที่เขียนด้วยลายมือ ถูกนำมาแถลงผ่านที่ปรึกษาทางกฎหมายได้มีสื่อมวลชนบางสถานีซึ่งชื่นชอบรัฐบาลที่แล้วนำไปออกอากาศและขยายความทั้งตอนเช้า กลางวัน ตอนดึก เป็นการสร้างความสับสนให้บ้านเมือง ทาง คมช.มีกฎอัยการศึกและประกาศ คมช. ที่จะดำเนินการกับผู้ที่ไม่ให้ความร่วมมือ ถ้าไม่เชื่อฟังก็ให้ตัดรายการออกไปจากสถานี ถ้าใช้วิจารณญาณไม่เหมาะสม พล.อ.วินัยจะช่วยบริหารงานให้เอง เชื่อว่าผู้ที่ได้รับฟังก็คงจะเครียดไปตามๆ กัน

เมื่อคนทำสื่อวิทยุและโทรทัศน์ตกอยู่ในความเครียด หวาดหวั่นกับอำนาจทางการเมืองที่จะลงโทษลงทัณฑ์ไม่ว่าจะหนักหรือเบา ย่อมส่งผลถึงการทำหน้าที่เสนอข่าวสาร การแสดงความคิดเห็นที่จะเบี่ยงไปจากความถูกต้อง ความครบถ้วน รอบด้าน ความเป็นธรรมและการเป็นปากเสียงของประชาชนเพื่อตรวจสอบการใช้อำนาจตามครรลองแห่งวิชาชีพที่ควรจะเป็นในฐานะอยู่ในประเทศเสรีประชาธิปไตยก็ถูกกระทบกระเทือน ในรอบ 5 ปีที่รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณบริหารประเทศ ได้ใช้อำนาจทางการเมืองเข้าไปแทรกแซง ครอบงำ ควบคุมสื่อด้วยวิธีการต่างๆ จนขาดความเป็นอิสระซึ่งถูกโจษขาน วิพากษ์วิจารณ์อย่างเซ็งแซ่ไปทั้งประเทศและกระฉ่อนไปทั่วโลกและเป็นตราบาปอย่างหนึ่งที่สร้างความสมเหตุสมผลในการเข้ายึดอำนาจของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549

หากย้อนหลังกลับไปในห้วงเกือบ 4 เดือนที่ผ่านมา คมช.ไม่ได้มีภาพของเผด็จการเหมือนในอดีต ด้านหนึ่ง เป็นเพราะสภาพการณ์ของบ้านเมืองและการเมืองไทยได้พัฒนามาไกลมากแล้ว ประชาชนตื่นตัวด้วยความสำนึกในสิทธิเสรีภาพของตนเองและเห็นว่าผู้ปกครองที่ดีจะต้องฟังเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของประชาชน จะมาปิดหู ปิดตาเหมือนเมื่อก่อนไม่ได้ อีกด้านหนึ่ง คณะผู้นำของ คมช.ได้ปรับตัว ไม่พยายามใช้ความรุนแรงหรืออำนาจอันไม่เป็นธรรมกับฝ่ายตรงข้ามตามอำเภอใจ กับสื่อมวลชนก็ให้เสรีภาพในการเสนอข่าวสารและแสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ ในขณะที่หนังสือพิมพ์ได้ทำหน้าที่ของตนอย่างตรงไปตรงมา แต่วิทยุและโทรทัศน์กลับเป็นไปตรงข้าม รายการต่างๆ ยังเหมือนเดิมคล้ายกับบ้านเมืองอยู่ในภาวะปกติ ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงบ้านเมืองอยู่ภายใต้ผู้ปกครองชุดใหม่ที่เข้ามาแก้วิกฤตการณ์ทางการเมือง ควรที่วิทยุและโทรทัศน์จะทำหน้าที่เสนอข่าวสารเพื่อนำไปสู่การสะสางปัดฝุ่นเพื่อชำระสิ่งสกปรกให้สะอาดหมดจด แต่ก็ได้ทำหน้าที่ของตนไม่ได้ กระทั่ง คมช.ถูกตำหนิจากหลายฝ่ายว่า ไม่ได้ทำอะไรให้เป็นชิ้นเป็นอันตามที่กล่าวอ้างในการยึดอำนาจเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549

ภาพลักษณ์ของ คมช.เกือบ 4 เดือนมานี้ไม่ได้ทำในสิ่งที่เสียหายต่อประเทศ ส่วนหนึ่งมาจากการรายงานข่าวและการติชมโดยชอบธรรม จากสื่อมวลชน คมช.ควรจะรู้ว่า สื่อมวลชนเป็นเครื่องชี้วัดสำคัญว่า การปกครองบ้านเมืองในยุค คมช.นั้นดำเนินไปด้วยความราบรื่นหรือกำลังประสบปัญหา เมื่อเป็นดังนี้ แทนที่จะปิดกั้นการเสนอข่าวสารและการแสดงความคิดเห็นต่างๆ ที่สื่อมวลชนนำเสนอตามวิชาชีพ ควรสนับสนุนส่งเสริมอย่างเต็มที่แล้วปรับการทำงานของผู้ปกครองซึ่งมีทั้ง คมช. รัฐบาล สภานิติบัญญัติแห่งชาติ องค์อิสระ สภาร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นฝ่ายรุก โดยช่วงชิงพื้นที่ข่าว เพราะสื่อมวลชนนำเสนอข่าวสารออกไปนั้น หาได้กระทำเพื่อประโยชน์ของตนเองไม่ หากทว่าทำไปเพื่อสิทธิในการรับรู้ข่าวสารของประชาชน ประชาชนย่อมมีปัญญาและวิจารณญาณของตนเองว่าจะเชื่อหรือไม่เชื่อใคร อย่างไรโดยไม่ต้องไปบีบบังคับ

เสรีภาพของสื่อมวลชนคือเสรีภาพของประชาชน เป็นคำกล่าวที่มีมาช้านาน การจำกัดเสรีภาพไม่ให้สื่อมวลชนนำเสนอเรื่องราวที่ควรนำเสนอโดยถูกผู้ปกครองปกปิดโดยคิดว่าถ้าเสนอแล้วจะเกิดผลเสียหายต่อตนและหมู่คณะ นอกจากจะปิดความจริงไม่ได้เพราะสื่อมวลชนมีมากมายและมีหลายแขนงแล้ว ความพยายามใช้อำนาจเพื่อจะจัดการกับสื่อมวลชนที่ไม่ได้ดังใจยังจะทำให้เกิดภาพลักษณ์เป็นลบกับ คมช. ยังไม่สายเกินไปที่ คมช.จะกลับตัวเสียใหม่ เลิกใช้อำนาจในสิ่งที่ผู้ปกครองในอดีตเคยใช้มาแล้วแต่ไม่มีคณะใดประสบความสำเร็จ หันมาใช้เหตุผลและความจริงใจที่มีต่อบ้านเมือง ไม่ต้องไปเกรงกลัวต่อการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน เพราะนี่คือวิชาชีพที่ต้องทำเพื่อประโยชน์ของสาธารณชน

หน้า 2 มติชน 13 ม.ค.50

แท็ก คำค้นหา