สิทธิเสรีภาพสื่อ

คอลัมน์ วัยทวีนส์
เอกลักษณ์ ยิ้มวิไล หลายครั้งผมรู้สึกเอียนกับการที่ผู้คนต่างลั่นคำพูดออกมาจากปากว่า “ทำเพื่อสังคม” แต่ที่ไหนได้ คำว่า “สังคม” นั้นมีใครบ้างเข้าใจถึงความหมายอันลึกซึ้งอย่างละเอียดถ่องแท้ นอกเสียจากการพูดออกมาอย่างพร่ำเพรื่อ

ผมว่า “สังคม” เป็นคำที่ศักดิ์สิทธิ์นะครับ มิใช่เป็นแค่การอยู่ร่วมกันเพียงอย่างเดียว แต่คือการอยู่ร่วมกันอย่างมีศิลปะ โดยมีความจำเป็นต้องยึดหลักการของสิทธิมนุษยชน ความเป็นธรรม จริยธรรม มารยาทสังคม และอิสรเสรีภาพ โดยที่มุ่งเน้นผลประโยชน์ของปวงชนด้วยการเคารพหลักการดังกล่าว มิใช่เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวอย่างเป็นกอบเป็นกำทางธุรกิจของตนเองหรือพวกพ้อง ซึ่งในเวลานี้ความสวยงามทางสังคมและวัฒนธรรมได้ถูกกลบเกลื่อนด้วยกิเลสตัณหาของคนบางกลุ่มกล่าวคือ “นายทุน” ที่พยายามผลักดันให้สังคมไทยอยู่ภายใต้บริบทของระบบทุนนิยมที่มุ่ง “ทำเม็ดเงิน” จนมิได้คำนึงถึงผลกระทบต่อส่วนรวมและความเป็นธรรมของสังคม

ความจริงแล้วสังคมไทยมีเสน่ห์อย่างหนึ่งคือ การเป็นสังคมที่ให้ความสำคัญต่อ “ความเป็นมิตรสหาย” หรือง่ายๆ คือการ “นับญาติ” ซึ่งเป็นพื้นฐานของชาวเอเชีย ทั้งนี้ ไม่ว่าเราจะไปสารทิศไหนพอเจอใครก็ต้องเรียกขานด้วย “พี่ น้อง ลุง ป้า น้า อา…” โดยถือว่าเป็นการให้เกียรติซึ่งกันและกัน ดังนั้น สังคมไทยจึงมีความเป็นเอกลักษณ์ตรงที่มีความอ่อนน้อมถ่อมตน สุภาพเรียบร้อย และมีความนุ่มนวล

ทั้งนี้ เมื่อนับญาติกันแล้วก็ต้อง “เปิดเผย” พร้อมทั้ง “ตรงไปตรงมา” มิใช่พอเจอกันทีก็ยกมือไหว้ ยิ้มแย้มให้ดูดี แต่ที่ไหนได้ในใจกลับคิดจะหักหลังทิ่มแทง ซึ่งก็ไม่ได้แตกต่างจากละครน้ำเน่าดีๆ นี่เองนะครับ ถึงแม้ว่าสังคมสามารถเปรียบเสมือนดั่ง “ละคร” เรื่องหนึ่ง แต่ควรจะเป็นละครที่ดีมีประโยชน์และมอบสาระให้กับคนดู มากกว่าเต็มไปด้วยบทน้ำเน่าที่นิยมนำเสนอฉากการทรยศ “ลอบทำร้ายข้างหลัง” โดยที่ไม่มีการบอกกล่าว ก็มีให้เห็นกันอยู่บ่อยๆ

ทั้งหมดที่ผมกล่าวมาคงหนีไม่พ้นเหตุการณ์ที่พึ่งเกิดขึ้นกับ “น.ส.พ.มติชน” ที่ผมปักหลักเขียนอยู่นานร่วมสองปีซึ่งเป็นสถาบันหนึ่งที่มอบโอกาสให้กับคนรุ่นใหม่อย่างกระผม ในการเรียนรู้ถึงหน้าที่คนทำสื่อเพื่อเป็นกระจกสะท้อน และมอบสิ่งดีงามมีคุณค่าคืนแก่สังคม ซึ่งมีหน้าที่เหมือนกับนักวิพากษ์วิจารณ์หนังว่าตกลงเรื่องนี้มีสาระ น้ำเน่า หรือเน่าเฟะ

การมาทำหน้าที่ดังกล่าวได้สอนให้กระผมเข้าใจถึง “จิตวิญญาณของสื่อมวลชน” โดยมีจุดประสงค์เพื่อดำรงรักษาความสมดุลทางสังคม และมอบประโยชน์สุขทางความคิด เพื่อให้คนในสังคมเกิดสติปัญญาความรู้จากการรับรู้ข้อมูลข่าวสารและสามารถวิพากษ์วิจารณ์ต่อปรากฏการณ์ทางสังคม การเมือง วัฒนธรรม เทคโนโลยีที่เกิดขึ้นทั้งในประเทศและทั่วโลก ทั้งนี้ จุดประสงค์หลักคือการพัฒนาองค์ความรู้และประสิทธิภาพของคนในสังคมเพื่อให้เกิดความสงบสุข ดังนั้น “อิสรเสรีภาพของสื่อ” ถือว่าเป็นอำนาจของประชาชนอย่างแท้จริง

ทั้งนี้ สื่อที่ดีต้องสามารถผลักดันให้ผู้อ่านเกิดความคิด “เชิงวิพากษ์” ซึ่งเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนสังคมให้มีประสิทธิภาพทางความคิดและสามารถอยู่ร่วมกันอย่างผาสุก ดั่งที่ประชาธิปไตยควรจะเป็น ถึงแม้ว่า น.ส.พ.มติชน จะประสบกับ “การถูกละเมิด” แต่สุดท้ายจิตวิญญาณของปวงชนกลับลุกขึ้นมาเพื่อดำรงรักษาอุดมการณ์ในการเป็นสื่อสารมวลชนอย่างแท้จริง

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้แสดงให้เห็นว่าความรักใคร่กลมเกลียวดั่งมิตรสหายระหว่างท่านผู้อ่านและมติชนยังไม่เสื่อมคลาย แต่กลับเข้มแข็งยิ่งกว่าเดิมเสียอีก การที่ประชาชนลุกขึ้นยืนเพื่อเรียกสิทธิของตนเองผ่านทางหนังสือพิมพ์เช่นนี้ ถือว่าเป็นนิมิตหมายอันดีที่ชาวมติชนได้กระทำหน้าที่ในการเป็นสื่อกลางของประชาชนอย่างแท้จริง ผมรู้สึกตื้นตันใจที่ความเป็น “สาธารณชน” ยังไม่หายสาบสูญ แต่กลับกลายเป็นก้าวสำคัญในการเรียกอำนาจอธิปไตยคืนแก่ปวงชน

คนรุ่นใหม่อย่างผมให้ความสำคัญกับ “อิสรเสรีภาพ” ของสื่อ และผมขอกราบขอบพระคุณท่านผู้อ่านทุกท่านที่ได้มีบทบาทหน้าที่ในการดำรงรักษาความเป็น “มติ” ของปวงชนด้วยครับ

หน้า 20 มติชนรายวัน 2 ต.ค.48

แท็ก คำค้นหา