การใช้สื่อเพื่ออำนาจและผลประโยชน์

โดย สมพันธ์ เตชะอธิก มติชนขาดคู่ชกที่ยิ่งใหญ่สมศักดิ์ศรีมานาน(อ.พงษ์ศักดิ์ พยัคฆ์วิเชียร) จึงเกิดการปกป้องความเป็นหนังสือพิมพ์คุณภาพทางด้านข้อมูลข่าวสารและการวิเคราะห์เสนอทางเลือกที่ดีแก่สังคม

ด้วยความไม่ไว้วางใจในทุนขนาดใหญ่ที่มาจากรากฐานความบันเทิง ไม่มีประสบการณ์ในการทำหนังสือพิมพ์และมีความใกล้ชิดกับศูนย์กลางอำนาจ

พันธมิตรที่หวงแหนหนังสือพิมพ์มติชน จึงพากันออกมาสนับสนุนการต่อสู้ครั้งนี้อย่างล้นหลาม จนไม่น่าเชื่อว่าผู้คนในสังคม โดยเฉพาะเหล่าปัญญาชนและนักกิจกรรม/นักเคลื่อนไหวทางสังคม ได้ออกมาร่วมคัดค้านแกรมมี่จำนวนมากขนาดนี้ จนส่งผลให้แกรมมี่ต้องไปตั้งหลักที่หุ้น 20% และขายหุ้นคืนมติชน

Antonio Gramsci กล่าวว่า การครอบงำ(Hegemony) ที่ปรากฏอยู่ในสื่อมวลชนน่าจะทรงพลังกว่าด้านเศรษฐกิจและการเมือง เพราะข้อความที่ปรากฏในสื่อมวลชนเป็นการให้คำนิยามสังคม ชีวิต กลุ่มคน เหตุการณ์ ฯลฯ ในฐานะกลไกของสังคม สื่อมวลชนมักจะเปิดโอกาสให้ผู้มีอำนาจทางสังคมเข้ามาใช้เป็นส่วนใหญ่

เมื่อผู้อ่านกลุ่มหนึ่งที่เป็นแฟนประจำมติชน รู้ว่ากลุ่มนายทุนใหญ่ที่ผูกติดกับนักการเมือง จะเข้าครอบงำสื่อมวลชนเพื่อแปรเปลี่ยนให้มาสนับสนุนรัฐบาลมากขึ้นกว่าการวิเคราะห์หรือวิพากษ์วิจารณ์นโยบายและสิ่งที่รัฐบาลทำในลักษณะผลประโยชน์เชิงซ้อน จึงเป็นแนวร่วมสำคัญที่ไม่ต้องการให้มติชนถูกผู้มีอำนาจเข้ามาใช้เป็นส่วนใหญ่ โดยพื้นที่ของภาคประชาชนที่มีน้อยอยู่แล้วถูกเบียดขับออกไปให้น้อยลงอีก

ขณะนี้สถานการณ์การครอบงำทางการเมือง ได้ทะลุทะลวงลงไปสู่ระดับท้องถิ่น ตั้งแต่หมู่บ้าน ตำบล โดยผ่านการอุปถัมภ์ทางการเงินและตำแหน่งในการเลือกตั้งกำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน นายกและสมาชิก อบต.

ในระดับภูมิภาคที่ผ่านระบบราชการใช้การแต่งตั้งโยกย้านนายอำเภอ ผู้ว่าราชการจังหวัด ก็ถูกยึดกุมสภาพให้เป็นพรรคพวกของรัฐบาลและตอบสนองธุรกิจการเมืองไว้ได้อย่างเหนียวแน่น

ระบบราชการก็ถูกข้ออ้างการปฏิรูปราชการและรัฐวิสาหกิจเข้าสู่ระบบทุนผูกขาดจากเครือข่ายพันธมิตรทางการเมือง จนแปลงร่างกลายเป็นธุรกิจราชการเข้าไปทุกทีๆ

ระบบเศรษฐกิจถูกครอบงำโดยบริษัทใหญ่ที่ทำธุรกิจแตกลูกออกหน่อเชื่อมโยงสายสัมพันธ์กับอำนาจรัฐและผู้ร่ำรวยรายกลุ่มที่ผูกพันใกล้ชิดกับศูนย์กลางอำนาจจนได้รับผลประโยชน์มหาศาลมากเกินไป

ระบบองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญถูกแทรกแซงด้วยกลวิธีที่ไม่ผิดกฎหมายแต่ถามหาความบริสุทธิ์ยุติธรรมและคุณภาพมาตรฐานได้ไม่ง่ายนัก

จึงเหลือเพียงสื่อมวลชนที่ต้องยึดกุมให้ได้ ตามแนวคิดทฤษฎีการครองอำนาจให้ยาวนาน ต้องยึดกุมสภาพการเมือง เศรษฐกิจ ราชการ รัฐวิสาหกิจและองค์กรอิสระ ให้อยู่ภายใต้การควบคุมและสั่งการได้

เมื่อหนังสือพิมพ์มติชน เป็นช่องทางหรือพาหนะในการถ่ายทอด เผยแพร่ความคิดและแหล่งกำเนิดหรือตัวประกอบในการสร้างสรรค์ความเป็นจริง ที่สามารถสร้างทัศนคติ ค่านิยม ไปในทางที่อาจมีทิศทางตรงข้ามกับทุนนิยมเผด็จการรวมศูนย์ประชานิยม

จึงจำเป็นต้องเข้าครอบงำโดยกระบวนการในระบบการเล่นหุ้น ซึ่งมติชนเปิดช่องโหว่ในการระดมทุนในตลาดหุ้น แต่เรื่องไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะพลังเงียบของเหล่าปัญญาชนได้ออกมาโดยไม่ได้นัดหมายทั่วประเทศ

ทำให้ต้อง “ชะลอ” และถอยมาตั้งหลัก ณ จุดเดิมก่อน รอคอยโอกาสเพลี่ยงพลั้งใหม่ ชัยชนะของหนังสือพิมพ์มติชนจึงเป็นชัยชนะในสถานการณ์ชั่วคราว ไม่ใช่ชัยชนะต่อความคิดหรือทฤษฎีการครอบงำทุกระบบของสังคม เพื่อดำรงอำนาจรัฐอย่างยั่งยืน

มี 2 แนวคิดในการมองเหตุการณ์นี้ แนวคิดแรกมองว่า การออกมาร่วมคัดค้านของพลังปัญญาชน ทำให้การครอบงำไม่สุด มันกระเด้งคืนรวดเร็วไป ความอ่อนไหวเร็วเกินไป เมื่อมีแรงกดแล้วสะท้อนกลับทันที ทำให้ไม่สามารถมองเห็นหน้ากากหรือเบื้องหลังแห่งการครอบงำได้ชัดเจน

แนวคิดที่สอง มองว่าควรให้แกรมมี่ยึดมติชนจะได้ค่อยๆ เผยโฉมการครอบงำที่กระทำได้เสร็จทุกระบบ เท่ากับแรงกดได้กดดันสังคมจนสุดสุด แล้วประชาชนจะได้ลุกขึ้นมาต่อสู้และขับไล่ระบบเผด็จการทุนนิยมรวมศูนย์ประชานิยม ตามทฤษฎีมีแรงกดย่อมมีแรงต้าน การออกมาคัดค้านและต่อสู้เร็วเกินไป ทำให้มายาภาพหรือภาพลวงตาของอำนาจสามารถทำหน้าที่หลอกลวงสังคมได้ต่อไป และหนังสือพิมพ์มติชนได้ชัยชนะเพียงชั่วคราวเท่านั้น ไม่ใช่ชัยชนะของประชาชนทั้งมวล

บทเรียนและประสบการณ์สะท้อนว่า พลังปัญญาชน/ชนชั้นกลางยังมีอยู่ในยามที่เดือดร้อนเกิดวิกฤต การต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงในทางที่ไม่ดี จะบังเกิดขึ้นอย่างเป็นขบวนการโดยไม่ต้องจัดตั้งอย่างเป็นระบบ

มติชนมีพันธมิตรที่รัก หวงแหน เป็นสื่อคุณภาพของชนชั้นกลาง สามารถเรียนรู้ได้ว่ายามสุขสงบ มติชนอยู่ได้ดีและอาจคิดคำนึงถึงผู้คนส่วนใหญ่ที่เดือดร้อนและความคิดเห็นของพลังปัญญาชน โดยเปิดพื้นที่สาธารณะในหนังสือพิมพ์ให้ได้ไม่มากเพียงพอเท่ากับการถูกผู้มีอำนาจใช้สื่อครอบงำสังคมเป็นส่วนใหญ่

ผลตอบแทนที่มติชนควรให้กับพันธมิตรคือ การเปิดพื้นที่สะท้อนข่าว ปัญหา ข้อมูล ความคิดเห็น การวิเคราะห์และการเสนอทางเลือกที่ดีกว่าสังคม ให้แก่ประชาชนรากหญ้า ผู้นำชุมชนและคนชั้นกลางมากขึ้น

สำหรับแกรมมี่ และกลุ่มผู้มีอำนาจคงได้เรียนรู้ว่าการจะใช้สื่อเพื่ออำนาจและผลประโยชน์นั้นไม่ง่ายอย่างที่คิด ด้วยสิ่งใดก็ตาม ที่กระทบกับความเป็นเจ้าของสมบัติที่มีของสาธารณะ สิ่งนั้นย่อมอ่อนไหวเกินกว่าการครอบงำได้ จำเป็นต้องคิดกลยุทธ์ที่แนบเนียนกว่าเดิม

มีแรงกดย่อมมีแรงต้าน มีครอบงำย่อมมีอิสระ การต่อสู้ของผู้ที่ต้องการครอบงำและผู้ต้องการอิสระเสรีภาพและความเป็นธรรม ยังคงมีแพ้ ชนะ ดำรงคู่กันตลอดไป

จนกว่าประชาชนจะเรียนรู้ เติบโตและพัฒนาได้เท่าทันต่อการครอบงำที่อบอวลด้วยภาพมายาคติ ความเป็นจริงจึงจะเผยโฉมหน้าและช่วยเหลือสังคมให้หลุดพ้นจากวงจรอุบาทว์แห่งอำนาจและผลประโยชน์ได้

หน้า 7มติชน 28 ก.ย.48

แท็ก คำค้นหา