อยากเห็นอะไรในแผนแม่บท

จากผู้ประกอบการ-ผู้บริโภคถึง กทช. วิชัย เบญจรงคกุล – หาก กทช.ยังไม่มีการสร้างกฎเกณฑ์การแข่งขันที่เป็นธรรม โดยมีเงื่อนไขให้เกิดการแปรสัญญา ดีแทคก็จะเรียกร้องความเป็นธรรมในทุกรูปแบบเพื่อยับยั้งการออกกฎเกณฑ์ที่ไม่เป็นธรรม

สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ – สิ่งที่เป็นข้อสังเกตสำหรับการระดมความเห็นในครั้งนี้คือ ไม่มีวิธีการนำไปสู่การแข่งขันเสรี และเป็นธรรม เป็นกรอบในวงกว้างกว่ากฎหมายประกอบกิจการโทรคมนาคม

การจัดทำประชาพิจารณ์เรื่อง แผนแม่บทกิจการโทรคมนาคม ที่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) เป็นโต้โผจัดทำเมื่อวันที่ 9 มิ.ย.ที่ผ่านมา จบลงไปพร้อมกับ “ความชัดเจน” ของข้อเสนอแนะใน “รายละเอียด” ที่ผู้ประกอบการ และภาคประชาชนต้องการเห็นปรากฏอยู่ในแผนแม่บทฉบับใหม่ รับยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมสื่อสารไทย สู่การแข่งขันเต็มรูปแบบ

ทว่าในทางกลับกัน “บทบาท” ในฐานะการเป็นองค์กรกลาง ผู้กำกับกิจการโทรคมนาคมของ กทช.กลับยังเป็นภาพที่ “คลุมเครือ” สำหรับผู้รอความหวังทั้งหลาย เพราะนอกเหนือจากบทบาทกว้างๆ ที่กำหนดไว้เป็นลายลักษณ์อักษรในขั้นตอนการแต่งตั้งองค์กรแห่งนี้แล้ว ปัจจุบันก็ยังไร้ซึ่งรายละเอียดที่ กทช.จะต้องนำมาเติมเต็มเพื่อเสริมความแกร่งในการนำไปปฏิบัติ

การทำประชาพิจารณ์แผนแม่บทครั้งแรก และครั้งเดียวซึ่ง กทช.ชุดนี้จัดขึ้น ได้กระจายการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะตาม 5 หัวข้อหลัก โดยแบ่งแยกเป็นห้องๆ ไป ทำให้ผู้เข้าร่วม และ กทช. มองภาพรวมได้ยาก

ร้อง กทช.จัดสรรความถี่มือถือโดยตรง

บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือดีแทค ผู้ให้บริการมือถืออันดับ 2 ของไทย ด้วยยอดลูกค้าประมาณ 7 ล้านราย ดูเหมือนจะทำการบ้านมาอย่างดีสำหรับงานนี้ โดยจัดทำข้อเสนออย่างเป็นทางการยื่นต่อ กทช.ในหลายๆ ประเด็นปัญหาสำหรับธุรกิจสื่อสาร

โดยเสนอให้มีการกำหนดจัดสรรคลื่นความถี่แก่ผู้ประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่โดยตรง เนื่องจากในข้อ 3.2 ของแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคม มีข้อความที่กล่าวถึงการใช้คลื่นความถี่โดยทั่วไป แต่มิได้เจาะจงประเด็นเกี่ยวกับการใช้คลื่นความถี่ของผู้ประกอบการในปัจจุบัน

ทั้งนี้ บริษัทให้เหตุผลว่า คลื่นความถี่วิทยุที่ผู้ให้บริการมือถือใช้อยู่ปัจจุบัน เป็นคลื่นที่ บมจ.ทีโอที และ บมจ. กสท โทรคมนาคม ได้รับการจัดสรรมาตั้งแต่ต้น และนำมาให้สิทธิใช้แก่ผู้ประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่อีกทอดหนึ่ง ผ่านทางสัญญาสัมปทานเดิม

ดังนั้น บริษัทจึงเสนอให้มีการประกาศยกเลิกคลื่นความถี่วิทยุที่เคยมีการจัดสรรให้แก่ ทีโอที และ กสท เพื่อให้ผู้ประกอบกิจการมือถือแต่ละราย ได้รับอนุญาตโดยตรงจาก กทช.สำหรับการใช้คลื่นความถี่เดิมซึ่งเคยได้รับการจัดตามสัญญาสัมปทาน สอดคล้องกับบทบัญญัติมาตรา 10 แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544

นอกจากนี้ ยังเสนอให้ กทช.กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการจัดสรรเลขหมายโทรคมนาคมโดยเร่งด่วน และกำหนดหลักเกณฑ์ว่าด้วยสิทธิการคงเลขหมาย (Number Portability) ให้แล้วเสร็จ และประกาศใช้ภายในปี 2549 เป็นอย่างช้า

ขณะเดียวกัน ดีแทค ยังชูประเด็นเกี่ยวกับการแข่งขันประกอบกิจการโทรคมนาคม และการกำหนดโครงสร้างอัตราค่าธรรมเนียมและค่าบริการในกิจการโทรคมนาคมเป็นประเด็นนำ เรียกร้องให้แผนแม่บทเข้ามามีบทบาทแก้ไขแนวปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม และมีลักษณะเป็นการผูกขาดทางการค้า

ถึงเวลายกเลิกสัมปทาน ยุติสัญญา “ทาส”

พร้อมกันนี้ ดีแทค เสนอว่า แผนแม่บทควรกำหนดชัดเจนให้ กทช.เป็นหน่วยงานที่มีอำนาจกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมแต่เพียงผู้เดียว และข้อสัญญาสัมปทานข้อใดที่ให้อำนาจแก่ ทีโอที และ กสท ในการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม ก็ควรสิ้นผลใช้บังคับ เพื่อไม่ให้มีผลผูกพันคู่สัญญาต่อไป ภายหลังจากทั้งสองหน่วยงานได้ใบอนุญาตจาก กทช.ซึ่งจะสอดคล้องกับ พ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 ที่สนับสนุนการแข่งขันโดยเสรี และเป็นธรรม

นายวิชัย เบญจรงคกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม ดีแทค กล่าวว่า หาก กทช.ยังไม่มีการสร้างกฎเกณฑ์การแข่งขันที่เป็นธรรม โดยมีเงื่อนไขให้เกิดการแปรสัญญา ดีแทคก็จะเรียกร้องความเป็นธรรมในทุกรูปแบบเพื่อยับยั้งการออกกฎเกณฑ์ที่ไม่เป็นธรรม เพราะต่อไป กทช.ต้องมาเป็นคนกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมทั้งหมด ไม่ใช่ ทีโอที หรือ กสท อีกต่อไปแล้ว

“ค่าเชื่อมโครงข่าย” ปัญหาโลกแตก

สำหรับประเด็นการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม และค่าเชื่อมต่อโครงข่าย ก็ยังดูเหมือนเป็นปัญหาคาใจของหลายฝ่ายอยู่ โดย ดีแทค เสนอให้ กทช. ระบุอัตราค่าเชื่อมต่อโครงข่าย “ที่สะท้อนต้นทุน” ให้ชัดเจน ทั้งนี้ เพื่อให้สอดรับกับแนวทางปฏิบัติที่ได้รับการยอมรับโดยทั่วไปในระดับสากล และควรกำหนดอัตราค่าเชื่อมต่อโครงข่ายให้แล้วเสร็จ ก่อนออกใบอนุญาตแก่ กสท และ ทีโอที

อย่างไรก็ตาม นายเหรียญชัย เรียววิไลสุข กรรมการ กทช.กล่าวว่า เงื่อนไขการใช้ค่าเชื่อมต่อโครงข่าย (อินเตอร์คอนเนคชั่น ชาร์จ) ในการขอใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม ที่คาดว่าจะออกได้ในเดือน ก.ค.นี้ จะยังไม่กำหนดอัตราค่าบริการไว้ แต่จะออกหลักเกณฑ์เฉพาะเรื่องออกมาอีกครั้งหนึ่ง

ทั้งนี้ กทช.จะจัดทำทีโออาร์ว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญจัดทำเรื่องนี้ โดยมุ่งสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ซึ่งคาดว่าจะเสร็จภายในไม่เกิน 6 เดือน

ไอเอสพี ลุ้นเริ่มต้นใหม่กับ กทช.

น.ส.กนกวรรณ ว่องวัฒนะสิน ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท อินเตอร์เน็ต เซอร์วิส โซลูชั่น โพรวายเดอร์ จำกัด (ไอเอสเอสพี) กล่าวว่า ไอเอสพีทุกรายต้องการให้ กทช.ยกเลิกสัญญาระหว่างผู้ให้ และผู้รับสัมปทานไปเลย แล้วเริ่มต้นใหม่ทั้งหมด เพื่อความเท่าเทียมกันของผู้ให้บริการรายใหม่และรายเดิม

โดยให้ทั้งหมดมาขึ้นตรงกับ กทช.เพราะถ้ารายเก่าอยู่กับ กสท ขณะที่รายใหม่อยู่กับ กทช.

แสดงว่าใช้หลักเกณฑ์ต่างกัน ย่อมไม่เกิดความเป็นธรรมขึ้น

ผู้ประกอบการที่มีสัญญาร่วมทุนกับ กสท จะมีผลให้อุปกรณ์ที่ใช้ให้บริการต้องโอนเป็นกรรมสิทธิ์ของ กสท และมีลักษณะเป็นบริษัทร่วมทุนที่ กสท ถือหุ้นอยู่ 32% รวมถึงมีการจำกัดสิทธิในการทำธุรกรรมอื่นๆ โดยต้องขออนุญาตก่อน ทำให้การแข่งขันไม่เป็นไปอย่างเสรี

“ยิ่งเมื่อ กสท มีสภาพเป็น บมจ.แล้ว เมื่อมีการแข่งขันในตลาด ถ้าผู้ให้บริการรายอื่นต้องแจ้งขออนุญาตในการทำเรื่องใดๆ ก็เท่ากับว่าจะเกิดข้อได้เปรียบเสียเปรียบขึ้น” น.ส.กนกวรรณ กล่าว

ควรกำหนดวิธีการที่เป็น “รูปธรรม”

นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ผู้อำนวยการวิจัยโครงการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า สิ่งที่เป็นข้อสังเกตสำหรับการระดมความเห็นในครั้งนี้คือ ไม่มีวิธีการนำไปสู่การแข่งขันเสรี และเป็นธรรม เป็นกรอบในวงกว้างกว่ากฎหมายประกอบกิจการโทรคมนาคม

ดังนั้น ควรกำหนดวิธีการให้เป็นรูปธรรม เช่น การใช้เลขหมายเดียวทุกระบบ (นับเบอร์ พอร์ตบิลิตี) ควรเร่งให้เกิดขึ้น ไม่ใช่รอถึงปี 2550 เพราะเวลานั้นตลาดของโทรศัพท์เคลื่อนที่ก็เริ่ม “วาย” แล้ว การแข่งขันก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ หรือหากผู้ประกอบการรายใดมีอำนาจเหนือตลาด ก็ต้องกำหนดสูตรเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในหลักเกณฑ์นั้นๆ

ขณะที่ บทบาทของ กทช.ควรมีทิศทางเดียวกัน และชัดเจนว่าเรื่องใด ทำได้หรือไม่ ตัวอย่าง บทบาทการแปรสัญญาสัมปทานที่ไม่ชัดเจน เช่น กทช.บางรายบอกผู้ประกอบการให้ขอใบอนุญาตใหม่ เพื่อโอนย้ายลูกค้าจากโครงข่ายสัมปทานเดิมมาได้ ขณะที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ก็มีนโยบายประกาศว่าจะไม่มีการแปรสัญญาสัมปทาน

กทช.ไม่ทำประชาพิจารณ์อีกแล้ว

นายเศรษฐพร คูศรีพิทักษ์ กรรมการ กทช.กล่าวว่า กทช.จะนำข้อเสนอจากการประชาพิจารณ์ ไปพิจารณา และตั้งเป้าออกร่างฉบับสมบูรณ์ที่แก้ไขแล้ว ได้ภายในวันที่ 9 ก.ค.นี้ แต่จะไม่จัดประชาพิจารณ์อีกแล้ว

อย่างไรก็ตาม หากใครต้องการแสดงความคิดเห็นใดๆ ก็ส่งเป็นลายลักษณ์อักษรเข้าไปได้ตลอดเวลา แม้แผนแม่บทจะออกฉบับจริงมาแล้ว ก็พร้อมจะแก้ไขใหม่

พร้อมกับกล่าวถึงข้อเรียกร้องให้ กทช.เข้าไปจัดการแก้ปัญหาสัญญาสัมปทานโทรคมนาคมเดิมว่า กรณีที่มีสัญญาเก่าอยู่ จะเป็นเรื่องลำบากที่ กทช.จะเข้าไปจัดการ เพราะอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายระบุให้ดูแลผู้ให้บริการภายใต้ใบอนุญาตใหม่เท่านั้น ไม่ได้ครอบคลุมไปถึงสัญญาเดิม ดังนั้น ภาระเก่าอาจต้องสะสางกันเองก่อน

“หาก กทช.ทำนอกเหนือจากขอบเขตที่เขียนไว้ในกฎหมาย ก็จะต้องถูกฟ้องขึ้นศาลไม่รู้จบแน่ๆ” นายเศรษฐพร กล่าว

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ 11มิ.ย.48

แท็ก คำค้นหา