องค์กรวิชาชีพสื่อ เข้าพบเลขาธิการ กปปส. และ ศอ.รส. เพื่อยื่นหนังสือและพูดคุยทำความเข้าใจถึงบทบาทหน้าที่ของสื่อมวลชนกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

901571

องค์กรวิชาชีพสื่อ ห่วงความปลอดภัยและการถูกขัดขวางในการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชนทุกแขนง และเพื่อการรักษาไว้ซึ่งสิทธิในการรับรู้ข่าวสารของประชาชน จึงเข้าพบเลขาธิการ กปปส. และ ศอ.รส. เพื่อยื่นหนังสือและพูดคุยทำความเข้าใจถึงบทบาทหน้าที่ของสื่อมวลชนกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

(8 ม.ค. 57) นายวิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์ นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และ นายประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ในฐานะตัวแทน 2 องค์กรวิชาชีพสื่อ คือ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้เข้าพบ นายสุเืทพ เืืิทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส เพื่อขอความร่วมมือ กปปส. ในการจัดพื้นที่ปลอดภัย ให้กับสื่อมวลชนทุกประเภทและทุกสังกัด ในวันที่ 13 ม.ค. 57 ซึ่ง ทาง กปปส. ประกาศเคลื่อนมวลชนไปสถานที่ต่างๆ

และต่อจากนั้น นายกทั้งสองสมาคม ได้เข้าพบ พลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงห์แก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะที่ ศอ.รส. มีหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อยของประเทศภายใต้กรอบของกฏหมาย เพื่อยื่นหนังสือ ขอความร่วมมือกับ ศอ.รส. 4 ข้อ

—————————————————-
*** จดหมายถึง เลขาธิการ กปปส.

8 มกราคม 2557

เรียน เลขาธิการคณะกรรมการประชาชนเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.)

เนื่องจากคณะกรรมการประชาชนเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ประกาศเคลื่อนมวลชนออกมาปิดกรุงเทพฯ ในวันที่ 13 มกราคม 2557 นั้น เพื่อความปลอดภัยและไม่ถูกขัดขวางในการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชนทุกแขนงและเพื่อการรักษาไว้ซึ่งสิทธิการรับรู้ข่าวสารของประชาชน องค์กรวิชาชีพสื่อ ซึ่งประกอบด้วย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย จึงขอความร่วมมือจากคณะกรรมการ กปปส. ดังต่อไปนี้

1.ขอให้จัดพื้นที่ปลอดภัย (Safety Zone) ให้กับสื่อมวลชนในแต่ละเวทีปราศรัย ซึ่งจะเป็นที่รวมสื่อมวลชนในทุกสังกัด ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์ ทั้งนี้หากเป็นไปได้ควรจัดพื้นที่สำหรับจุดถ่ายทอดรายงานสดของสถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆ ด้วย

2. สืบเนื่องจากกรณี กปปส.ประกาศเคลื่อนมวลชนออกมาปิดกรุงเทพฯ นั้น ซึ่งโดยข้อเท็จจริงในหลายพื้นที่มีสำนักงานของสื่อมวลชนตั้งอยู่ด้วย โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ต้องมีการขนส่งหนังสือพิมพ์กระจายไปยังผู้อ่านตามจุดต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่ง กปปส. ควรให้ความร่วมมืออำนวยความสะดวกให้กับรถขนส่งหนังสือพิมพ์หากมีความจำเป็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องผ่านพื้นที่การชุมนุมในบางจุด รวมทั้งไม่ขัดขวางรถขนส่งหนังสือพิมพ์และรถถ่ายทอดสดของสถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆ ในทุกกรณี

3.ขอความร่วมมือคณะกรรมการ กปปส. ได้ทำความเข้าใจกับผู้ปราศรัยบนเวที ควรหลีกเลี่ยงการใช้ถ้อยคำหรือการใส่ร้ายป้ายสีสื่อมวลชน ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดของผู้ชุมนุมจนนำไปสู่การกระทบกระทั่งหรือปิดล้อมนักข่าวที่ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ชุมนุมในช่วงเวลาที่ผ่านมา ส่งผลให้นักข่าวรู้สึกได้ถึงความไม่ปลอดภัย แม้ว่าแกนนำ กปปส.ได้ร่วมเข้ามาแก้ปัญหาอย่างเต็มที่ในแต่ละเหตุการณ์ แต่องค์กรวิชาชีพสื่อไม่ต้องการให้เกิดความเข้าใจผิดระหว่างผู้ชุมนุมกับนักข่าวในพื้นที่การชุมนุมเกิดขึ้นอีก

4.ในกรณีที่มีการปิดล้อมสถานที่ราชการบางแห่ง เมื่อมีการแสดงตัวว่าเป็นสื่อมวลชน ด้วยสัญลักษณ์ต่างๆเช่น บัตรประจำตัวนักข่าวจากต้นสังกัด หรือแสดงปลอกแขนสื่อสีเขียวอ่อน ควรปล่อยตัวนักข่าวให้ออกจากพื้นที่ปิดล้อมในทันที

5.จัดให้มีการประสานงานที่ชัดเจน โดยการกำหนดตัวบุคคลในการทำหน้าที่ประสานงานของแต่ละฝ่าย เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินสามารถประสานเพื่อให้การช่วยเหลือได้ทันที

—————————————————-
*** จดหมายถึง ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.)

8 มกราคม 2557

เรียน ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.)

เนื่องจากคณะกรรมการประชาชนเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ประกาศเคลื่อนมวลชนออกมาปิดกรุงเทพฯ ในวันที่ 13 มกราคม 2557 นั้น ในฐานะที่ ศอ.รส. มีหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อยของประเทศภายใต้กรอบของกฎหมายนั้น องค์กรวิชาชีพสื่อ ประกอบด้วย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย มีความเป็นห่วงความปลอดภัยและการถูกขัดขวางในการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชนทุกแขนง จึงขอความร่วมมือกับ ศอ.รส. ดังต่อไปนี้

1. ในการปฏิบัติหน้าที่ในการรักษาความสงบเรียบร้อยก็ดี หรือการปฏิบัติการควบคุมฝูงชนก็ดี นอกจากต้องคำนึงถึงความปลอดภัยในชีวิต ทรัพย์สินของประชาชนแล้ว ขอให้คำนึงถึงความปลอดภัยในการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนที่อยู่ในทุกพื้นที่ของการชุมนุมด้วย

2. ในบางสถานการณ์ เจ้าหน้าที่อาจประกาศบางพื้นที่เป็นพื้นที่ปฏิบัติการพิเศษ หรือในกรณีที่มีการปิดล้อมสถานที่ เมื่อมีการแสดงตัวว่าเป็นสื่อมวลชน ด้วยสัญลักษณ์ต่างๆ เช่น บัตรประจำตัวนักข่าวจากต้นสังกัด หรือการแสดงปลอกแขนสื่อสีเขียวอ่อน ขอความร่วมมืออำนวยความสะดวกให้นักข่าวออกจากพื้นที่ดังกล่าวด้วยความปลอดภัย

3. ขอความร่วมมือ ศอ.รส. ระมัดระวังในการให้ข้อมูลข่าวสารผ่านเครือข่ายโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ เพื่อป้องกันการตื่นตระหนกและเกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนในหมู่ประชาชน จนอาจสร้างความเกลียดชังและเกิดความขัดแย้งขยายรุนแรงยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกัน โทรทัศน์ในเครือข่ายรวมการเฉพาะกิจ ไม่จำเป็นถ่ายทอดสดแถลงการณ์ของรัฐบาล หรือ ศอ.รส.ในทันที แต่ควรพิจารณาว่าเนื้อหาของแถลงการณ์มีความสำคัญต่อสถานการณ์มากน้อยเพียงใด ทางสถานีโทรทัศน์แต่ละสถานี สามารถใช้ดุลพินิจนำไปเสนอเป็นข่าวทั่วไปเช่นเดียวกับข่าวอื่นๆ ได้เช่นเดียวกัน

4. ควรมีระบบการประสานงานที่ชัดเจนด้วยกำหนดตัวบุคคลในการทำหน้าที่ประสานงานของทุกฝ่าย เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินสามารถประสานเพื่อให้การช่วยเหลือได้ทันท่วงที

แท็ก คำค้นหา