ส.นักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย จัดอบรมนักข่าวทีวีด้านสืบสวนฯ รุ่น 1

invest010004

สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย จัดโครงการอบรมนักข่าวโทรทัศน์ด้านการสืบสวนสอบสวน เพื่อให้นักข่าวและช่างภาพเกิดความรู้ ความเข้าใจ และมีทักษะในการทำข่าวโทรทัศน์เชิงสืบสวนสอบสวนมากขึ้น

เพื่อนำไปสู่เป้าหมายในการเพิ่มจำนวนข่าวสืบสวนสอบสวนทางโทรทัศน์อันจะนำไปสู่เป้าหมายสูงสุดในสร้างสังคมแห่งการตรวจสอบและโปร่งใส โดยจัดโครงการระหว่างวันที่ 14 – 16 ธันวาคม 2555 อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา โดยมีผู้สื่อข่าวและช่างภาพเข้าร่วมโครงการฯ ทั้งหมด 22 คน จาก 12 สถานี โดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ตรงในการทำข่าวและสารคดีเชิงข่าวด้านการสืบสวนสอบสวน ร่วมบรรยายถึงแรงบันดาลใจและประสบการณ์การก้าวเข้าสู่เส้นทางนักข่างโทรทัศน์เชิงสืบสวนสอบสวนอย่างเข้มข้น นำโดย คุณสุรชา บุญเปี่ยม, คุณอลงกรณ์ เหมือนดาว, คุณนิพนธ ตั้งแสงประทีป, คุณสถาพร พงษ์พิพัฒน์วัฒนา, คุณพิภพ พานิชภักดิ์ และ คุณธนานุช สงวนศักดิ์ ซึ่งวิทยากรได้นำเทคนิค ทักษะ และแนวคิดที่หลากหลายมาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านประสบการณ์

2

“เริ่มจากงานที่กรีนเน็ตที่ทำเรื่องผักปลอดสารพิษ เป็นเอ็นจีโอ ได้ช่วยเหลือชาวบ้าน แล้วก็เรียนรู้ที่จะเริ่มทำข่าว นักข่าวสามารถช่วยชาวบ้านได้ ถ้าเราสนใจที่จะทำข่าวนำเสนออย่างต่อเนื่อง การเป็นนักข่าวเป็นเรื่องที่มีเสน่ห์นะผมว่า เพราะมันมีเรื่องจริงที่ไม่ตรงกับสิ่งที่ปรากฏอยู่ อย่างที่บอกว่าจมูกข่าวหรือคำบอกใบ้ของข่าวที่เราได้มา บางทีมันมาจากหลากหลายด้าน จากชาวบ้านหรืออาจจะเป็นเอกสารส่งมา ผมอยู่ที่ภูเก็ตมีคนส่งเอกสารมาให้เยอะมาก” นิพนธ ตั้งแสงประทีป

“นักข่าวเป็นอาชีพที่ช่วยคนได้มากกว่า ผมไม่สนใจตำรวจ สมัยก่อนมีบ่อนเขาจ้างดูต้นทางครั้งละบาท เวลาตำรวจมา เขาจะให้ตะโกนว่า พ่อมาแล้ว! แต่ยังไม่ทันอ้าปาก ตำรวจก็มาดึงคอถามว่าบ่อนอยู่ไหน แล้วก็ชี้ว่าบ้านหลังไหน ผมเลยไม่ชอบตำรวจตั้งแต่นั้นเพราะโดนดึงคอ ส่วนที่มาเป็นนักข่าวได้ เพราะว่าผมชอบข้อมูล เช่นเวลามีอุบัติเหตุ ผมวิ่งไปถึงก่อนคนแรก เขาก็จะถามว่ามีคนตายไหม ผมจะตอบได้ทันทีว่า ไม่มีคนตาย แต่มีคนบาดเจ็บ” อลงกรณ์ เหมือนดาว

“สมัยเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ผมเอนทรานส์เข้า วารสารศาสตร์ ธรรมศาสตร์ แล้วก็ตั้งใจว่าจะทำอาชีพนี้เลย อยากไปทำข่าวไปดูกีฬาโอลิมปิกสักครั้งหนึ่ง ช่วงหลังจากนั้นก็เริ่มมีการทำข่าวเจาะแล้ว แต่ก็มีอย่างเรื่องอาชญากรรมมากกว่า เพราะเรื่องการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารไม่ได้เหมือนอย่างทุกวันนี้” สุรชา บุญเปี่ยม

“สมัยเรียนเขียนข่าวโทรทัศน์ ก็เรียนได้ดีมาก ไม่ค่อยเข้าค่ายพัฒนาชุมชน แต่ไม่คิดว่าจะมาเขียนข่าวทำข่าว ด้วยความไม่อยากขอเงินพ่อแม่ ไม่อยากอยู่บ้านชนบท พอมีคนมาบอกว่าเราทำข่าวไม่ได้หรอกเพราะเราไม่เคยเข้าค่ายชุมชน ซึ่งจริงๆก็รู้หมด เพราะทุกครั้งที่ลงชุมชน แม่เรา คนที่บ้านเราก็คิดอย่างนี้แหละ บางทีแม้จะเป็นอะไรที่ราบเรียบมันก็มีความท้าทายอยู่ในตัวของมัน” ธนานุช สงวนศักดิ์

หลังจากนั้น ผู้เข้าอบรมจะได้เรียนรู้การสืบค้นข้อมูลทางคอมพิวเตอร์เพื่องานข่าวสืบสวนสอบสวน โดย ดร.จารุภา พานิชภักดิ์ Computer Assisted Reporting

“ยอมรับว่านี่เป็นความรู้ใหม่ ผมเคยใช้เพียงแค่เว็บสืบค้น หาข้อมูลและประวัติบางอย่างซึ่งได้ในระดับทั่วไป แต่พอวิทยากรได้แนะนำวิธีการใช้ พบว่าทุกวันนี้เราหาข้อมูลกันแค่เพียงผิวเผินได้แค่ร้อยละ10 โดยที่อินเตอร์เน็ตสามารถทำอะไรได้มากกว่าที่เราเคยทำ เพียงแต่สื่อเราไม่ได้โอกาสหรืออาจจะขาดความเข้าใจในวิธีการสืบค้นทั้งๆที่งานของเราอยู่กับข้อมูลตลอด” นายอนนท์ธวัส บุตรอินทร์ ผู้เข้ารับการอบรมกล่าว

3

 

ช่วงต่อมา คุณนิธิกร หอมบุญ ช่างภาพรายการข่าว 3 มิติ ได้ร่วมแนะนำผู้เข้าอบรมในด้านเทคนิคและทักษะการถ่ายภาพข่าวเชิงสืบสวนสอบสวน ทั้งเรื่องแนวการถ่ายภาพสื่อความหมาย และการถ่ายภาพด้วยวิธีปกปิด รวมถึงเรื่องแฝงตัวให้ปลอดภัย

“เวลาบรรณาธิการหรือนักข่าว เลือกเรื่องที่จะทำข่าวที่เกิดผลกระทบทางสังคมเพื่อที่จะนำไปสู่การแก้ไข หลังจากที่เราได้ประเด็นชัดเจนแล้วผมจะให้ความสำคัญที่จะถ่ายเลย มีการวางแผนลงพื้นที่ หาโลเคชั่น เลือกเวลาและการถ่ายที่เราถ่ายแล้วคิดว่าเห็นได้ชัด เพื่อที่จะได้แก้ไขงานได้ แต่ทุกวันนี้วิวัฒนาการของกล้องก็มีมากมาย เราก็เลยกลายเป็นโรคจิตเพราะอุปกรณ์ เช่นคาดไปว่าคนข้างๆจะมีกล้องแบบนี้ ส่วนเรื่องของการปลอมตัว ก็ต้องไปอยู่ในที่ที่เขาอยู่ เช่นการเช่าห้องอยู่สัก14วัน ก็เพื่อดูว่าพฤติกรรมเขาเป็นอย่างไร สภาพแวดล้อมเป็นอย่างไร เราไม่รู้หรอกว่ามันเป็นยังไง แต่เวลาเราได้ประเด็นมา ช่างภาพต้องคิด ต้องจินตนาการภาพออกมาว่า ข่าวสืบสวนสอบสวนจะต้องเป็นยังไง”

ในการอบรมวันต่อมา วิทยากร ได้แก่ คุณสุรชา, คุณอลงกรณ์, คุณนิพนธ, คุณสถาพร, คุณพิภพ และคุณธนานุช นำเสนอตัวอย่างผลงานของตนพร้อมกับอธิบายลักษณะ และเทคนิคส่วนตัว ตลอดจนขั้นตอนวิธีการเตรียมตนเองกับข้อมูลในการทำข่าว

“สมัยที่ทำข่าวสืบสวนเรื่อง ปล่อยแพะจอบิ ตอนนั้นก็ทำเพราะเกิดความสงสัย สัญชาตญาณของนักข่าวบอกให้เรารู้เลยว่าเรื่องนี้ไม่ชอบมาพากล ก็ทำให้เราต้องติดตามลงพื้นที่ ความเป็นไปได้ที่จอบินั้นจะเป็นผู้ร้ายนั้นก็ไม่เป็นไปอย่างที่เจ้าหน้าที่ตั้งข้อสงสัยเลย และต้องใช้ความละเอียดรอบคอบกว่าจะทำให้ได้งานที่ทำมีความรอบด้าน” สุรชา บุญเปี่ยม

“ผมได้นำกรณีเกี่ยวกับกรณีจอบิ ต่อจากพี่สุรชาในอีก 7 ปีหลังจากนั้น เพื่อหาข้อมูลเพิ่มเติมต่างๆ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงไปของคนที่นั่น ที่ตั้งใจนำมาตามต่อ เพราะเห็นว่าเมื่อเวลาผ่านไป คนก็จะลืมไปเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว และอาจจะไม่ทราบถึงผลและการเปลี่ยนแปลงไป ขนาดจอบิยังเปลี่ยนชื่อกับนามสกุล มีอาชีพแล้ว ที่สำคัญคนในพื้นที่ยังมีความรู้สึกอย่างไรต่อเหตุการณ์ที่ผ่านมา” อลงกรณ์ เหมือนดาว

นิพนธ ตั้งแสงประทีป “ผมทำข่าวเกี่ยวกับพื้นที่เกาะยาวในเขตอุทยานที่ติดกับรอยต่อกับพื้นที่ดูแลโดยกองทัพเรือ รู้ว่าจะต้องไปสอบถามนายทหารยศสูงท่านหนึ่ง ก็เลยเตรียมข้อมูลที่มีทุกอย่างเตรียมเอาไว้ พอไปถึงนายทหารก็กล่าวในท่าทีว่ามีคนมาทำข่าวหลายคนแล้ว แต่ได้ปฏิเสธไปและยังยืนยันว่าพื้นที่ที่ครอบครองนั้นได้มาอย่างถูกต้อง พร้อมทั้งแสดงเอกสารหลักฐานเหมือนที่เรามี แต่เมื่อถามว่ากลับเรื่องเดิมว่าถ้าหากถูกต้องจริง ทำไมไม่ให้สัมภาษณ์อธิบายไปเลยว่าได้มาอย่างไร คำตอบที่ได้รับจึงเป็นการบ่ายเบี่ยงไปต่างๆ ตอนนั้น น้ำแก้วหนึ่งที่วางก็ยังไม่กล้าดื่มเลย สุดท้ายก็บอกว่าขออนุญาตกลับ แล้วเขาก็ยื่นซองมา คิดว่าจำนวนคงเป็นหลักแสน ที่เล่าให้ฟังคือตั้งใจจะบอกคือหากตั้งใจลงมาทำข่าวสืบสวนฯ มันต้องเจอกับลักษณะนี้ ต้องย้อนกลับมาถามตนเองว่าจรรณยาบรรณของวิชาชีพที่เราทำอยู่ เราทำเพื่ออะไร”

ด้านคุณอลงกรณ์ กล่าว่า กรณีเรื่องทุจริตลำไยภาคเหนือ เป็นงานที่ท้าทายมาก มักจะใช้วิธีการเข้าไปตรวจสอบกับคนในพื้นที่โดยไม่แจ้งให้ทราบ แต่สำหรับกับเจ้าหน้าที่นั้น ต้องอาศัยทักษะและการเข้าถึงข้อมูลทางราชการ ซึ่งกว่าที่จะได้ข้อมูลมาเทียบกันแล้วพบว่ามีนัยยะและไม่ตรงกัน ต้องอยู่ในพื้นที่ค่อนข้างนาน แม้ว่าจะพยายามไปหาติดตามประเด็นอื่น แต่ก็ยังถูกให้อยู่ในพื้นที่เพื่อสืบค้นต่อไป

“ผมอาศัยลักษณะของคนเหนือที่มีความนุ่มนวลในการเดินเข้าไปสอบถามแบบไม่ทันตั้งตัว หากเป็นที่อื่นคงถูกไล่ถูกเตะลงบ้านไปแล้ว แต่ที่น่าสนใจคือ บ้านที่ถูกแอบอ้างว่ามีสวนลำไยนั้น บางครอบครัวไม่มีปรากฏการครอบครองสวนเลย บางแห่งมีลำไยในรั้วบ้านแค่ 3 ต้นเท่านั้น แล้วสัญญาจำนำลำไยที่เจ้าหน้าที่มี มันทำไมถึงมีมูลค่าสูง” อลงกรณ์ เหมือนดาว

“ผมตั้งใจถ่ายทำเรื่องเขื่อนไซยะบุรีไว้ 2 ชุด คือแบบยาวและแบบสั้น ที่ต้องถ่ายทำแบบสั้นเพราะป้องการการขโมยช็อตที่ผู้ชมทางอินเตอร์สามารถนำไปใช้ได้ การตัดต่อจึงมีความสำคัญ การเดินทางไปคราวนั้นก็ไปแบบง่าย ถ่ายกันแบบธรรมดา ที่ผมจะเน้นก็คือเน้นให้เห็นถึงวิถีชีวิตของคนบริเวณที่จะตั้งเขื่อนว่าอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงไปมากหลังจากนี้ ต้องสะท้อนออกมาแล้วทำให้คนดูได้ฉุกคิดตาม” พิภพ พานิชภักดิ์

“ก่อนเริ่มทำเรื่องโรฮิงญา ได้ประเด็นมาจากการที่เพิ่งรู้ว่าคนขายโรตี ส่วนมากเป็นชาวโรฮิงญาพลัดถิ่น จากนั้นความสงสัยก็เลยทำให้หาข้อมูล โทรสอบถามคนที่คุ้นเคยกับผู้อพยพ และเริ่มสัมภาษณ์ถ่ายทำกับชาวโรฮิงญาที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยก่อน แล้วที่น่าประหลาดใจคือ ได้ยินเจ้าหน้าที่คนไทย ถามกลับเราว่า คนโรฮิงญามีผู้หญิงด้วยหรือ สุดท้ายเราก็ไปเจอและได้สัมภาษณ์ผู้หญิงชาวโรฮิงญาด้วย จากนั้นจึงได้ไปลงพื้นที่รัฐอารากัน ชาวโรฮิงญาที่นั่นต้องอาศัยอยู่ในค่ายกักกัน และก็ต้องนัดเขามาสัมภาษณ์นอกค่าย ภาพที่นำเสนอจึงไม่ได้ปรุงแต่ง แต่เป็นสภาพจริงที่เกิดขึ้นทั้งหมดและยังไม่ได้รับความสนใจจากสื่อสักเท่าไหร่” ธนานุช สงวนศักดิ์

ช่วงถัดมา คุณประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการบริหาร สถาบันอิศราฯ บรรยายเทคนิค วิธีการสืบค้นข้อมูลทางเอกสารเพื่อการทำข่าวสืบสวนสอบสวน และกฎหมายที่สื่อควรรู้ หลังจากนั้น วิทยากรได้ตั้งโจทย์โดยกำหนดหัวข้อ ประเด็นและวิธีการนำเสนอ เพื่อฝึกทักษะปฏิบัติและการนำเสนอชิ้นงานข่าวสืบสวนสอบสวน

สำหรับวันสุดท้ายของการอบรม คุณพิภพ พานิชภักดิ์ แนะนำการคุณลักษณะ ท่าทาง การใช้อุปกรณ์ภาพข่าวเบื้องต้น เพื่อปรับทัศนะคติของช่างภาพข่าวที่เคยแสดงออกเป็นทางการ เปิดเผย และยึดติดกับการแสดงออกด้วยท่าทาง มาเป็นการถ่ายทำแบบง่าย ใช้ความเป็นกันเองและลักษณะที่สามารถสร้างความเชื่อใจให้กับแหล่งข่าว รวมทั้งการใช้อุปกรณ์ที่พยายามเน้นให้ความสะดวกและได้ทั้งภาพและข่าวที่ไม่ต่างจากอุปกรณ์ขนาดใหญ่

“สำหรับผมแล้ว อะไรที่สะดวก ง่าย และดูไม่โดดเด่น เป็นวิธีการพื้นฐานที่ทำให้ถ่ายทำงานของเราได้ดี อาศัยลักษณะทางกายภาพของตัวเราเอง เช่น อายุ การทำตัวให้เข้ากับบรรยากาศ การแฝงตัว และปัจจัยอีกหลายที่ไม่ทำให้เจ้าหน้าที่ หรือแหล่งข่าวเกิดความตระหนก หวาดระแวง และมีท่าทีไม่ไว้วางใจ หรือถูกห้ามไม่ให้ถ่ายภาพ ปฏิภาณไหวพริบส่วนบุคคลก็เป็นเรื่องสำคัญ ต้องฝึก กล้องของคุณเองก็เช่นกัน นำมันมาใช้บ่อยๆ ให้เกิดความคุ้นเคยกับมัน อย่าวางทิ้งไว้พอจะใช้แล้วค่อยยกมา ประสิทธิภาพมันต่าง” พิภพ พานิชภักดิ์

4

วันสุดท้ายของโครงการอบรมฯ ผู้เข้าอบรมจากสถานีโทรทัศน์ต่างๆ ร่วมกันนำเสนอผลงานการฝึกทักษะปฏิบัติ การทำข่าวสืบสวนสอบสวนจำนวน 11 ทีม โดยมีวิทยากรร่วมรับฟังและให้ข้อเสนอแนะกับทุกคน ก่อนที่จะมีการสรุปผลการอบรม พิธีปิดการอบรมและมอบเกียรติบัตรโดยวิทยากรโครงการ

 


ประมวลภาพผู้เข้าอบรมรับมอบเกียรติบัตร

1 2 3 4 5 6 7 8 9 10 11 12

 

 

 

 

 

 

 


คลิปประมวลการอบรม ตอนที่ 1 http://youtu.be/cfOEqedLXM0

คลิปประมวลการอบรม ตอนที่ 2 http://youtu.be/CMvUGLlsCHE

 

แท็ก คำค้นหา