ผลการตัดสินรางวัลสายฟ้าน้อยครั้งที่ 7

108

 

ผลการตัดสินรางวัลสายฟ้าน้อยครั้งที่ 7 ยามเฝ้าทะเล ม.วลัยลักษณ์คว้าดีเด่นสารคดีเชิงข่าววิทยุ  ม.เกษมบัณฑิต ชมเชยอันดับ 1 สารคดีเชิงข่าวโทรทัศน์ รับเงินรางวัลสูงสุด 20,000 บาท จากผลงานข่าววิทยุเข้ารอบ 4 เรื่อง สารคดีเชิงข่าววิทยุเข้ารอบ 5 เรื่อง สารคดีเชิงข่าวโทรทัศน์เข้ารอบ 10 เรื่อง

 

(16 ธ.ค.54) สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ร่วมกับ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น จัดงานประกาศผลรางวัลสายฟ้าน้อย ครั้งที่ 7 ประจำปี พ.ศ. 2554  โดยมีผู้ส่งผลงานเข้าประกวดทั้งหมด 88 เรื่อง แบ่งเป็นประเภทข่าวประกอบเสียงวิทยุดีเด่น จำนวน 18 เรื่อง จาก 8 สถาบันการศึกษา ซึ่งมีผลงานที่เข้ารอบจำนวน 4 เรื่องจาก 3 สถาบันการศึกษา ดังนี้ เรื่องโครงการจำนำข้าว จาก มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ , เรื่องมาตรการพิเศษแทนการดำเนินคดีอาญา จาก มหาวิทยาลัยกรุงเทพ , เรื่องนักวิชาการ-ผู้ประกอบการตั้งคำถามกับโครงการ Clean Food Good Taste จาก มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และเรื่องกฎหมู่เหนือกฎหมาย จากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ  และทั้ง 4 เรื่องได้รับรางวัลชมเชย แต่ไม่มีเรื่องใดได้รับรางวัลดีเด่น

ผลงานสารคดีเชิงข่าววิทยุ ผ่านเข้ารอบ 5 เรื่อง จากที่ส่งมาทั้งหมด 37 จาก 14 สถาบันการศึกษา มีดังนี้  เรื่อง“ตระหนักรับมือภัยพิบัติ” จาก มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ , เรื่อง“ยามเฝ้าทะเล” จาก มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ , เรื่อง “ข่าวเก่าในสื่อใหม่” จาก มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม , เรื่อง “แรงงานรายวัน..เรื่องเล็ก ปัญหาใหญ่” จาก มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ , เรื่อง “รับมืออย่างไรกับเทคโนโลยีใหม่ อย่าง “แท็ปเล็ต” จาก มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ผลงานที่ได้รับรางวัลชมเชยคือ เรื่อง“ตระหนักรับมือภัยพิบัติ” จาก มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และ , เรื่อง “รับมืออย่างไรกับเทคโนโลยีใหม่ อย่าง “แท็ปเล็ต” จาก มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้รับโล่เกียรติยศและเงินรางวัลๆ ละ 5,000 บาท ผลงานที่ได้รับรางวัลดีเด่นคือ เรื่อง“ยามเฝ้าทะเล” จาก มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้รับโล่เกียรติยศและเงินรางวัล 15,000 บาท

ส่วนผลงานสารคดีเชิงข่าวโทรทัศน์ผ่านเข้ารอบ 10 เรื่อง จากที่ส่งมาทั้งหมด  33 เรื่อง จาก 14 สถาบันการศึกษา มีดังนี้ เรื่อง “ส่งวิญญาณสัตว์เลี้ยง” จาก มหาวิทยาลัยศรีปทุม , เรื่อง “ถั่วต้มน้ำคลอง” จาก มหาวิทยาลัยรังสิต , เรื่อง “โรคในบาตร” จาก มหาวิทยาลัยรังสิต , เรื่อง “ปรากฏการณ์คันหู” จาก มหาวิทยาลัยรังสิต , เรื่อง “พนักงานบริการวัยชรา ผู้โหยหาความเท่าเทียมจากสังคม” จาก มหาวิยาลัยเกษมบัณฑิต , เรื่อง “ตามรอยฝัน…วันของม้ง” จาก มหาวิทยาลัยกรุงเทพ , เรื่อง “ทิ้งพระ” จาก มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ , “เรื่องใหญ่ของปูตัวเล็ก” จาก มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ , เรื่อง “น้ำต้มใบกระท่อมเครื่องดื่มสุดฮิตของวัยโจ๋” จาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี , เรื่อง “หมู่บ้านปลาค้าว จังหวัดอำนาจเจริญ” จาก มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มีผลงานทีได้รับรางวัลชมเชยทั้งหมด 4 อันดับ คือ ชมเชยอันดับ 4 “เรื่องใหญ่ของปูตัวเล็ก” จาก มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ได้รับโล่เกียรติยศและเงินรางวัล 15,000 บาท  ชมเชยอันดับ 3 เรื่อง “ตามรอยฝัน…วันของม้ง” จาก มหาวิทยาลัยกรุงเทพ  ได้รับโล่เกียรติยศและเงินรางวัล 16,500 บาท ชมเชยอันดับ 2 เรื่อง “ทิ้งพระ” จาก มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ได้รับโล่เกียรติยศและเงินรางวัล 18,500 บาท และ  ชมเชยอันดับ 1  เรื่อง “พนักงานบริการวัยชรา ผู้โหยหาความเท่าเทียมจากสังคม” จาก มหาวิยาลัยเกษมบัณฑิต ได้รับโล่เกียรติยศและเงินรางวัล 20,000 บาท

สำหรับคณะกรรมการตัดสินรางวัลทั้งประเภทวิทยุและโทรทัศน์ โดยรางวัลประเภท “ข่าวและสารคดีเชิงข่าววิยุ”  คือนายบรรยงค์  สุวรรณผ่อง ผู้ทรงคุณวุฒิ, นางสาวอรนุช อนุศักดิ์เสถียร อดีตผู้ผลิตรายการอาวุโสบีบีซี ประเทศอังกฤษ,            นางเพ็ญสิน สงเนียม ผู้ประกาศ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย,  นางสาวอัญชนก แข็งแรง ผู้จัดการ สถานีวิทยุครอบครัวข่าว FM 106 MHz และ นายจักรกฤษณ์ ทรัพย์พึ่ง สถานีจราจรเพื่อสังคม FM 99.5 MHz และกรรมการ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย

คณะกรรมการตัดสินประเภท “สารคดีเชิงข่าวโทรทัศน์” คือ นายปฎิวัติ วสิกชาติ บรรณาธิการข่าว สถานีข่าว TNN 24นายประสาน อิงคนันท์ ผู้ผลิตและผู้ดำเนินรายการ บริษัท ทีวีบูรพา, จำกัด นายวิทยา วิทย์ปฐมวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญสายงานสื่อสารองค์กร กลุ่ม บมจ.ทรู, นางสาวอรพิน ลิลิตวิศิษฎ์วงศ์ บรรณาธิการ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส และ นางสาวธนานุช สงวนศักดิ์ บรรณาธิการสารคดีเชิงข่าว สถานีโทรทัศน์เนชั่น แชนแนล และอุปนายกฝ่ายวิชาการสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย)

สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยได้จัดให้มีการประกวดผลงานสารคดีเชิงข่าวครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2548 เพื่อส่งเสริมและพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ ในการผลิตรายการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ที่มีคุณภาพของนิสิตนักศึกษา หลักสูตรนิเทศศาสตร์ สาขาวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ซึ่งถือว่าเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับนิสิตนักศึกษาก่อนเข้าสู่วิชาชีพด้านวิทยุและโทรทัศน์ อีกทั้งยังประสานความร่วมมืออย่างใกล้ชิด ระหว่างสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สถาบันอุดมศึกษา และหน่วยงานเอกชนที่สนับสนุนโครงการฯ สำหรับการพิจารณาตัดสินรางวัลสายฟ้าน้อยสมาคมฯ ได้สรรหากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและกำหนดหลักเกณฑ์การตัดสินรางวัลไว้ดังนี้ ด้านคุณภาพ(Quality) คุณค่า(Value) ผลงาน(Performance) และจรรยาบรรณ(Code of Ethics)

แท็ก คำค้นหา