ทิศทางสื่อวิทยุโทรทัศน์ต้องปรับตัวเข้ากับสื่อใหม่ ยึดมั่นจริยธรรมสื่อ

106

 

โรงแรมดิเอมเมอรัล 17 ก.ย.- ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อวิทยุและโทรทัศน์มองทิศทางสื่อในอนาคต ระบุสื่อกระแสหลักต้องปรับตัวเข้ากับ “สื่อใหม่” สื่อต้องก้าวให้ทันบริบทสังคม การเมือง เศรษฐกิจ เพิ่มการวิเคราะห์ เจาะลึก เป็นผู้นำทางความคิด กระตุ้นการเรียนรู้ การทำหน้าที่ตรวจสอบ ทำเรื่องลึกลับให้โปร่งใส โดยยึดมั่นใน “จริยธรรมวิชาชีพ” จะเป็นที่เชื่อถือ ศรัทธาของประชาชน

สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย จัดงาน “จากทศวรรษสู่อนาคต : 10 ปี 10 ความคิดทิศทางสื่อ” ในโอกาสครบรอบ 10 ปีการก่อตั้งสมาคมฯ นายวิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์ นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย กล่าวว่า   สิ่งที่จะทำให้สื่ออยู่รอดและเข้มแข็งคือ การพิสูจน์ถึงความมุ่งมั่นที่จะปฏิรูปสื่อเพื่อประชาชน พัฒนาสื่อให้มีคุณภาพ สร้างคนรุ่นใหม่ที่รับผิดชอบต่อสังคม  อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสื่อโทรทัศน์ วิทยุ ในปัจจุบันมีความเป็นอิสระมากขึ้น แต่ยังถูกแทรกแซง ทำให้ถูกมองว่า สื่อไม่เป็นกลาง จึงต้องการให้สื่อหันกลับมาดูบทบาทตัวเอง ยืนหยัดทำงานอยู่บนพื้นฐานของจริยธรรมสื่อ ยึดหลักความถูกต้อง ไม่มีอคติ ไม่ตกเป็นเครื่องมือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ไม่แบ่งสีหรือเลือกข้าง รวมถึงปรับตัวให้ทันกับ “สื่อใหม่” เช่น เคเบิล ดาวเทียม สื่อสังคมออนไลน์
โอกาสนี้ได้จัดเวที “10 ปี 10 ความคิดทิศทางสื่อ” โดยนายเทพชัย หย่อง ผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส กล่าวว่า คนทำงานสื่อพบกับสิ่งท้าทายตั้งแต่การเมือง สังคม เทคโนโลยี ก่อนนั้นประชาชนเป็นเพียงผู้รับสารแต่เทคโนโลยีในปัจจุบันทำให้ประชาชนเป็นผู้ส่งข่าวสาร เป็นนักสื่อสารเองโดยใช้ “สื่อใหม่” รายงานเหตุการณ์ทางเฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ โซเชียลมีเดียอื่น ๆ ถือเป็น “บริบทใหม่” ที่ท้าทายสื่อมวลชนหลัก  ทิศทางของสื่อมวลชนจึงต้องมีการปรับตัว มีบทบาทมากขึ้นในบริบทสังคมที่เปลี่ยนแปลง   สื่อต้องให้ข้อมูลครอบคลุมบริบทสังคมที่กว้างขวางมากขึ้น มีบทวิเคราะห์ มีความลึก กระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ในสังคม เป็นผู้นำด้านความคิด
นายอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ กรรมการอำนวยการ บมจ.เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า สื่อหลักกำลังเผชิญกับ Perfect Storm  โทรทัศน์ฟรีทีวีไม่ได้ผูกขาดการทำข่าวอีกต่อไป ปัจจุบันมีโทรทัศน์ดาวเทียม เคเบิ้ลทีวี อินเตอร์เน็ตทีวี  อีก 2-3 ปีทุกครัวเรือนจะเข้าเข้าถึงสื่อเหล่านี้ และโซเชียล มีเดีย คือ เฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ บล็อกเป็นช่องทางให้ภาคพลเมืองส่งข่าวสารได้  ประชาชนกำหนดช่องทางการรับข่าวได้เอง หากสื่อหลักไม่ปรับตัวก็ไปไม่รอด แนะสื่อต้องปรับตัวหลอมรวมสื่อประเภทต่าง ๆ เข้าด้วยกัน นำเสนอข่าวอย่างครบวงจร  เป็น “Multi platfrom” นอกจากนี้ทุกส่วนในองค์กรต้องปรับตัว ทั้งฝ่ายบริหาร คนทำงานรุ่นเก่า รุ่นใหม่ สร้างบรรยากาศให้เกิดการลองลงมือทำ
ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล นักวิชาการและนักวิชาชีพด้านสื่อ กล่าวว่า เส้นทางสื่อมวลชนไทยในปัจจุบันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศตะวันตกเมื่อ 30 ปีที่แล้ว โดยกล่าวถึงการเข้าทำงานในตำแหน่งผู้บริหารฝ่ายข่าวสถานีโทรทัศน์ไอทีวีของกลุ่มชิน คอปอร์เรชั่น เมื่อปี 2543 พบความพยายามในการเข้าครอบงำสื่อของนักธุรกิจการเมือง ซึ่งมีข้อเสนอและเป้าหมายเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตัวเอง เข้าครอบงำสื่อต่าง ๆ ผ่านงบโฆษณาเพื่อสนับสนุนฝ่ายการเมือง ทั้งนี้จากการวิจัยด้านสื่อของสหรัฐอเมริกาสรุปว่า สื่อหลักยังคงมีอยู่ แต่ต้องสร้างความน่าเชื่อถือโดยยึด “จริยธรรมวิชาชีพสื่อ” คือ ยึดการนำเสนอความจริง มีวินัยในการตรวจสอบความจริง ทุ่มเททรัพยากรทุกอย่างในการค้นหาความจริง จงรักภักดีต่อผู้ฟัง ขณะเดียวกันต้องปรับตัวเข้ากับสื่อใหม่

นายสุทธิพงษ์  ธรรมวุฒิ กรรมการผู้จัดการบริษัททีวีบูรพา จำกัดและผู้ดำเนินรายการคนค้นคน กล่าวว่า ในฐานะคนทำสื่อ และอยู่ในภาคธุรกิจด้วย ตนมักถูกผู้สื่อข่าวสายเศรษฐกิจถามถึงการเติบโตของธุรกิจในแต่ละปีว่าจะโตอย่างไร  จึงอยากตั้งคำถามว่า ทำไมสื่อต้องโต ต้องทำกำไร เราจะพอใจในสิ่งที่เป็นอยู่ได้หรือไม่ อีกทั้งมีคำถามถึงสื่อว่า จะวางตัวอย่างไรไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของกิเลส ความโลภ อำนาจ  เราจะสร้างและรักษาศรัทธาของประชาชนที่มีต่อสื่อให้คงอยู่อย่างไร
นางนิรมล เมธีสุวกุล ผู้ผลิตและพิธีกรรายการโทรทัศน์ บริษัท ป่าใหญ่ครีเอชั่น จำกัด กล่าวว่า  ตนมีหลักคิดว่า “ทุกวันเป็นวันสำคัญ ทุกวันเป็นวันที่มีคุณค่า มีความหมาย” การทำงานในแวดวงสื่อมาครบ 30 ปี ตนเลือกทำงานที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม เด็ก ภูมิปัญญาชาวบ้าน  เห็นการเชื่อมโยงของสิ่งเหล่านี้ว่า มีคุณค่าอย่างไร อยากให้สื่อนำเสนอเชื่อมโยงเรื่องราวเหล่านี้ให้เกิดความตระหนัก เข้าใจโลก สภาวะแวดล้อม รับผิดชอบต่อสังคม สื่ออย่านำความคิดที่เป็นสูตรตายตัวจากคนอื่นๆ มาเป็นสิ่งที่เชื่อและผลิตซ้ำ ฯ นั่นคือสิ่งที่ล้มเหลวและน่าผิดหวังที่สุด
นายวงศ์ทนง  ชัยณรงค์สิงห์ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิ a day foundation กล่าวว่า ส่วนตัวยังมีความเชื่อมั่นเรื่องของระบบการตรวจสอบ  สื่อก็ควรถูกตรวจสอบด้วย ซึ่งการตรวจสอบเหมือนกับการดักและกรองน้ำให้ตกตะกอน เพื่อนำเศษสิ่งสกปรกออกไป ซึ่งในชั่วชีวิตตัวเองไม่เคยเห็นยุคไหนที่สื่อมวลชนถูกตั้งคำถามทางจริยธรรมเท่ากับยุคนี้ ส่วนสื่อที่ต้องการเห็นมีคุณลักษณะสำคัญ 5 ประการ คือ1.ทำหน้าที่ให้การศึกษา ให้ความรู้ ความคิดที่ถูกต้องกับประชาชน  คนทำสื่อควรตระหนักเรื่องนี้ให้มาก ก่อนที่จะปล่อยเนื้อหาออกไป 2. สื่อมวลชน ควรหาความรู้ให้มาก  เปิดรับความคิดใหม่ๆ  เพราะก่อนที่จะให้ความรู้กับใคร ตัวเองก็ควรมีต้นทุนอยู่พอสมควร 3.  คนทำสื่อต้องทันสมัย   เพราะปัจจุบันมีสื่อใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย แต่ก็มีข้อควรระวังคือ “ การมีสื่อจำนวนมาก  อาจไม่ใช่เรื่องดีเสมอไป  ถ้าส่วนใหญ่เป็นรายการไม่มีคุณภาพ”  4.ต้องระมัดระวังการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่รวดเร็ว แต่ขาดความรอบคอบ เพราะอาจทำให้เกิดข้อผิดพลาดได้  หากไม่มีการตรวจสอบที่รัดกุมเพียงพอ 5.คนทำสื่อ ต้องรักษาความเป็นกลาง  และเริ่มต้นการทำงานด้วยความเป็นกลางคือ ยึดถือความเสมอภาค เท่าเทียม และให้โอกาสฝ่ายต่างๆได้ใช้พื้นที่ในสื่อในการนำเสนอเนื้อหาและความคิดของตัวเองอย่างสมดุล
นาวสาวสฤณี อาชวานันทกุล นักเขียนอิสระ กล่าวว่า ยุคปัจจุบันเป็นโลกที่ประชาชนเป็นสื่อมวลชนไปด้วย  โดยไม่สามารถแยกขาดออกจากสื่อมวลชนอาชีพอีกต่อไป  ดังนั้น  สิ่งนี้คือความท้าทายของคนทำสื่อ  พร้อมตั้งคำถามกับบทบาทหน้าที่และภารกิจที่สื่อมวลชนจะต้องทำอาทิ  การแสดงบทบาทให้สังคมได้รับรู้สภาพปัญหาที่เป็นประเด็นร่วมและส่งผลกระทบต่อโลกโดยรวมมากเพียงพอหรือยัง เช่นปัญหาสิ่งแวดล้อม สังคม   เศรษฐกิจ และการเมือง สื่อจะนำเทคโนโลยีมาเป็นเครื่องมือเพื่อสนับสนุนและสร้างความน่าเชื่อถือในความเป็นมืออาชีพอย่างไร เพราะรากฐานสำคัญที่สุดของสื่อ คือ “ความน่าเชื่อถือ” และความเป็น “มืออาชีพ” และ สิ่งที่สื่อ เลือกจะ “ไม่รายงาน” บางครั้งก็ส่งผลกระทบและความเสียหาย ผลร้ายแรงต่อสังคม ดังนั้นจึงต้องเลือกอย่างระมัดระวัง
นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ว่าที่ กสทช ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค(โทรคมนาคม) แสดงความเห็นว่า โลกปัจจุบัน เทคโนโลยี ได้นำและสร้างการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆอย่างมหาศาลในสังคม ดังนั้น  สื่อและประชาชนจึงต้องรู้เท่าทัน เมื่อโลกพัฒนาขึ้น การผูกขาดทางวิชาชีพจะลดลงในทุกวงการ   เทคโนโลยีจะทำให้คนเข้าถึงสื่อได้อย่างสะดวกง่ายดายและกว้างขวางมากขึ้น แต่มีข้อควรระวังคือ  การนำเสนอโดยขาดการตรวจสอบและไม่คำนึงถึงจริยธรรมวิชาชีพ จะเป็นเส้นแบ่งระหว่างสื่อมืออาชีพกับสื่อที่ไม่ได้ทำเป็นอาชีพ เพราะส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของข้อมูลข่าวสาร  แต่การขีดเส้นแบ่งนั้นเพื่อนำไปสู่การพัฒนา ไม่ใช่การแบ่งแยกหรือควบคุม “อยากให้สื่อทำเรื่องลึกลับให้โปร่งใส  แต่ไม่จำเป็นต้องทำทุกเรื่อง เพราะอาจเป็นเรื่องส่วนตัวที่เสี่ยงต่อการถูกละเมิด” และฝากคำถามท้าทายวงการสื่อ ในอนาคต เมื่อสื่อรวมกันเป็น multimedia   แล้วสมาคมวิชาชีพสื่อ ควรต้องพิจารณาเรื่องการแยกประเภทองค์กร ตามประเภทสื่อ เช่นเดิมอยู่หรือไม่

นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ ว่าที่ กสทช ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค (วิทยุโทรทัศน์) กล่าวว่า  สื่อวิทยุและโทรทัศน์ไทย  เกิดขึ้นและถูกใช้ประโยชน์เพื่อการเมืองและทุนธุรกิจมาโดยตลอด  ขณะนี้เข้าสู่ยุคของเทคโนโลยีข่าวสารและการหลอมรวมสื่อ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกฝ่ายต้องคุยกันเพื่อหาจุดสมดุลในการทำให้สื่อได้ทำหน้าที่เพื่อเกิดประโยชน์ต่อสังคมมากที่สุด  “สายใยของสื่อมวลชนต่อสังคม คือการลดช่องว่างความไม่เข้าใจซึ่งกันและกัน โดยให้คนยอมรับความแตกต่างหลากหลาย  อยากให้คนในสังคมได้ใช้ กสทช.เป็นเครื่องมือเพื่อทำให้สังคมดีขึ้น”

แท็ก คำค้นหา