ข้อเสนอทางออกข้อพิพาทไทยกัมพูชา จากเวทีมุมมองสื่อ

099

 

ฟังข้อมูลจากทุกฝ่ายโดยปราศจากอคติ ตั้งเป็นวาระแห่งชาติ  เร่งมาตรการเชิงรุก เจรจา ไปศาลโลก หรือว่าจะทำสงคราม?

(26 ก.พ.54) สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย จัดเวทีเสวนาเรื่อง “มองมุมสื่อ : ทางออกข้อพิพาทไทยกัมพูชา”มีผู้ร่วมเสวนาคือ นายวีระ ธีระภัทรานนท์ นักจัดรายการวิทยุและโทรทัศน์ ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ประเทศกัมพูชา น.ส.รุ่งมณี เมฆโสภณ นักข่าว นักคิดและนักเขียนเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลง รอยต่อทางประวัติศาสตร์ประเทศกัมพูชา นายเสริมสุข กษิติประดิษฐ์ บรรณาธิการข่าวการเมือง ความมั่นคง และบรรณาธิการข่าวภาคสนาม สถานีโทรทัศน์ทีวีไทย    โดยนายเทพชัย หย่อง ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.)  เป็นผู้ดำเนินการเสวนา
นายวีระ  ธีระภัทรานนท์ กล่าวว่า ไทย-กัมพูชา มีทั้งความร่วมมือและขัดแย้งกัน แต่ในเวทีนี้จะพูดถึงเฉพาะกรณีพิพาทระหว่างไทย-กัมพูชาใน 2 ประเด็นคือ 1.คำตัดสินของศาลโลก ปี 2505 ให้ปราสาทพระวิหารอยู่ในอาณาเขตของกัมพูชา และ 2.กรณีกัมพูชาเสนอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกปี 2551
“คำตัดสินของศาลโลกยังเป็นเรื่องคาใจของคนไทย เรื่องนี้ต้องย้อนไปดูประวัติศาสตร์ ปี 2450 ไทยต่อสู้อาณาเขตปราสาทพระวิหารด้วยการใช้สันปันน้ำ แต่กัมพูชาใช้แผนที่อัตราส่วน 1:200,000  ศาลโลกจึงตัดสินว่า ปราสาทพระวิหารอยู่ในอาณาเขตกัมพูชา ตั้งแต่ปี 2450-2502 เราไม่เคยพูดถึงแผนที่ เราใช้เส้นแบ่งเขตแดนด้วยสันปันน้ำ ตรงนี้ทำให้ข้อมูลไม่ตรงกัน ตีความต่างกัน แกนกลางของปัญหาไทย-กัมพูชา คือผูกไว้กับแผนที่ และทั้งสองประเทศเอาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมาเคลื่อนไหวเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองภายในประเทศ”นายวีระ กล่าว
สำหรับทางออกในมุมมองของนายวีระ ต่อกรณีข้อพิพาทไทย-กัมพูชา มี  4 แนวทางคือ 1.ทำสงคราม รบกัน ซึ่งอาจจะมีคนตายนับพันคน ณ เวลานี้ ทหารกัมพูชาอยากรบ เพื่อจะได้รับการยอมรับและการดูแลด้านงบประมาณจากรัฐบาลกัมพูชา      2.การเจรจา ทั้งระดับทวิภาคี พหุภาคีหรือระดับนานาชาติ ตรงนี้ต้องกำหนดให้ชัดว่า ใครเป็นผู้เจรจา ประเด็นใดบ้าง 3.ฟ้องศาลโลก แสดงหลักฐานเรื่องเขตแดนให้ชัดเจน จะใช้แผนที่หรือสันปันน้ำ ซึ่งการจะฟ้องศาลโลกเพื่อรื้อคดีใหม่ต้องดูว่าคดีหมดอายุความหรือไม่?  มีหลักฐานใหม่หรือไม่?  4 คือ ทำสงครามสู้รบร่วมกับเจรจาและฟ้องศาลโลก ซึ่งกรณีนี้จะใช้วิธีใดบ้างคงขึ้นกับเวลา และสถานการณ์
ส่วน นายเสริมสุข กษิติประดิษฐ์  กล่าวว่า ได้ส่งทีมข่าวลงพื้นที่ทับซ้อน หลังกัมพูชาเสนอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2551 แต่เมื่อทหารกัมพูชาเห็นช่างภาพ ทหารกัมพูชาได้จัดการลบภาพในกล้องจนหมด แสดงว่า ไทยเสียอธิปไตย ขณะที่กัมพูชาได้ทยอยสร้างสิ่งปลูกสร้าง ทั้งวัดแก้วสิกขาคีรีสวาระ ตั้งชุมชน สร้างกระเช้าลอยฟ้าขึ้นภูมะเขือ ขณะที่ทหารไทยได้แต่เฝ้าดูสถานการณ์ อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวทางทหารบอกว่า ทหารกัมพูชาอยากสู้รบ ต้องการยกระดับความขัดแย้งเพื่อผลประโยชน์
“ตั้งแต่ปี 2548 นายทหารไทยเสนอจะนำกำลังเข้าผลักดันชุมชนชาวเขมร แต่ไม่ได้รับไฟเขียวจากรัฐบาลสมัยนั้น เพราะมีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้นำรัฐบาลของทั้งสองประเทศ กับประเทศกัมพูชา ห่วงว่าจะกระทบความสัมพันธ์ ตั้งแต่ 7 ก.ค.51 เป็นต้นมา กัมพูชาทำถนน สร้างกระเช้าเพื่อส่งบำรุงกำลัง แต่ประเทศไทยไม่ได้ทำอะไรเลย แค่ปลูกต้นไม้ใช้ป่ายึดพื้นที่ แต่เขมรเอาคนเข้ามาอยู่ เมื่อประเทศไทยตัดถนน กัมพูชาไม่ยอม ทำให้เกิดการปะทะกัน มีข้อมูลยืนยันว่า วัดแก้วฯ เสียหายหนัก”นายเสริมสุข กล่าว
ด้านน.ส.รุ่งมณี  เมฆโสภณ แสดงความเห็นว่า กรณีปราสาทพระวิหาร จะเห็นว่า กัมพูชามียุทธศาสตร์และกลวิธีสู่เป้าหมายอย่างต่อเนื่อง มีคนเกาะติดเป็นทีม แต่ไทยไม่มี  ส่วนทางออกของข้อพิพาทไทย-กัมพูชา เสนอให้รัฐบาลนำเรื่องนี้เป็น “วาระแห่งชาติ” ขณะเดียวกันคนทำสื่อ ต้องทำงานหนักขึ้นในการย่อยปัญหาใหญ่ ๆ ให้ประชาชนเข้าใจอย่างสร้างสรรค์ ไม่ยุแยงให้แตกแยก
“ไม่ว่าปัญหาอยู่ระดับใด ขอให้เราชัดเจน เราจะใช้ใครต่อสู้เรื่องนี้ อยากให้เราวางอคติลง การที่พันธมิตร นักวิชาการ พูดถึงประเด็นปราสาทพระวิหาร ถ้าเราเปิดใจฟัง เราจะได้ประโยชน์ ระดับประเทศจะพิพาทกันแต่ภาคประชาชนตามชายแดน เขายังมีเครือญาติ คนกัมพูชาก็ไมได้น่ารังเกียจ เขาไม่ได้ทำอะไรผิด อยากให้ตระหนักตรงนี้”น.ส.รุ่งมณี กล่าว

แท็ก คำค้นหา