“สื่อมวลชนเป็นกุญแจสำคัญสร้างสันติสุขให้สังคม การปฏิรูปสื่อต้องทำให้สื่อเข้มแข็ง เพื่อรักษามาตรฐานการผลิตเนื้อหาหลัก”

22-06-2560 001

สื่อมวลชนเป็นกุญแจสำคัญสร้างสันติสุขให้สังคม การปฏิรูปสื่อต้องทำให้สื่อเข้มแข็ง มีจริยธรรมและอิสรภาพทางด้านการเงิน เพื่อรักษามาตรฐานการผลิตเนื้อหาหลักที่น่าเชื่อถือ

วันนี้ (22 มิถุนายน 2560) ณ สมาคมธรรมศาสตร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ คณะอนุกรรมการ ประสานงานเครือข่ายสื่อสารมวลชน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ จัดสัมมนาวิชาการ “ภาระและหน้าที่สื่อมวลชนในการปฏิรูปประเทศ” โดย นายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ คนที่ 1 เป็นประธานเปิดการสัมมนาฯ ว่า เรื่อง “การปฏิรูปด้านสื่อสารมวลชนเป็น 1 ใน 11 ด้านของการปฏิรูปประเทศ และยุทธศาสตร์ชาติ ว่า สื่อมวลชนมีบทบาทสำคัญในการปฏิรูปประเทศ การปฏิรูปประเทศครั้งนี้เป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคนที่ต้องช่วยกันขับเคลื่อนประเทศไปเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว สื่อมวลชนเป็นพลังขับเคลื่อนที่สำคัญที่จะทำให้สังคมเกิดการตื่นตัว และเข้ามามีส่วนร่วมในการปฏิรูปประเทศ เพราะการปฏิรูปประเทศเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคน สื่อมวลชนต้องทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมข้อมูลข่าวสารสองทาง นำเสนอข้อมูลข่าวสาร และอีกด้านคือสื่อต้องทำหน้าที่สะท้อนเสียงจากประชาชนกลับมายังภาครัฐเพื่อให้เกิดความสมดุลและความเหมาะสมแห่งการบริหาราชการแผ่นดิน

“และที่สำคัญสื่อมวลชนต้องปฏิรูปตัวเอง สื่อต้องทำหน้าที่อย่างเป็นกลาง ไม่เลือกข้างปราศจากการครอบงำจากนายทุนและภาครัฐ ต้องทำงานภายใต้จรรยาบรรณและความรับผิดชอบต่อสังคม นำเสนอข้อมูลอย่างรอบด้านและครบถ้วนทุกมิติ หลีกเลี่ยงการนำเสนอด้วยถ้อยคำที่สร้างความเกลียดชัง นำเสนอข้อมูลข่าวสารอย่างสร้างสรรค์ เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจและความตระหนักรู้ให้กับประชาชนในสังคม ทำหน้าที่เป็นโรงเรียนแห่งองค์ความรู้ และอีกบทบาทหนึ่งที่สำคัญคือ สื่อมวลชนเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยสร้างความสามัคคีปรองดอง และความสันติสุขให้เกิดขึ้นในสังคมไทย และในช่วงเปลี่ยนผ่านที่สำคัญของประเทศในขณะนี้ ทุกคนต้องร่วมมือกันปฏิรูปประเทศ เพื่อนำประเทศก้าวไปสู่การเปลี่ยนแปลงดีขึ้น เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนไทยทุกคน มิใช่เพื่อกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง”     รองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศคนที่ 1 กล่าวในเวทีสัมมนาฯ….

………สำหรับการสัมมนาในหัวข้อ “ภาระและหน้าที่สื่อมวลชนในการปฏิรูปประเทศ” ยังมีวิทยากรร่วมเสวนาฯ คือ นายสันตศักย์ จรูญงามพิเชษฐ์ ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการด้านเศรษฐกิจ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ, นายพิเชียร อำนาจวรประเสริฐ ประธานคณะทำงานจัดกิจกรรมเครือข่ายสื่อ, พลเอก ดร.กิตติศักดิ์ รัฐประเสริฐ รองประธานอนุกรรมการประสานงานเครือข่ายสื่อสารมวลชน, ดร. นิพนธ์ นาคสมภพ รองประธานอนุกรรมการประสานงานเครือข่ายสื่อสารมวลชน และ นายอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ อดีตกรรมการผู้จัดการ เครือ บมจ.เนชั่น ดำเนินรายการโดย ธนกร มณีโชติ อนุกรรมการประสานงานเครือข่ายสื่อสารมวลชน ซึ่งมีรายละเอียดโดยสังเขปดังนี้
……..นายอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ อดีตกรรมการผู้จัดการเครือ บมจ.เนชั่น กล่าวถึงมุมมองภาระและหน้าที่ความรับผิดชอบของสื่อมวลชนมีมากมาย และสื่อยินดีที่จะให้วิพากษ์อยู่แล้ว แต่สังคมไทยมักจะเหมารวมสื่อโดยไม่จำแนกชัดเจนซึ่งควรชี้เฉพาะสื่อที่ต้องการวิพากษ์วิจารณ์อย่างชัดเจน และปัจจุบันบางครั้งการวิพากษ์วิจารณ์จะมาจากพลเมืองทั่วไปที่เป็นผู้ส่งต่อข้อมูลข่าวสารบนโซเชียลมีเดีย จึงเห็นว่าสิ่งแรกที่ควรทำนั่นคือปฏิรูปทุกคน เพราะสื่อจะสามารถอยู่ในสังคมได้ต้องมีพลเมืองที่ตื่นรู้ รับข้อมูลข่าวสารต้องตั้งสติ มีความรู้เพียงพอและรู้เท่าทันสื่อ
“เพราะถ้าส่งต่อข้อมูลข่าวสารที่ผิดเพี้ยนไปหรือข้อมูลไม่ครบถ้วนย่อมส่งผลกระทบต่อสังคมได้ ส่วนเรื่องการจะมีกฎหมายมาควบคุมกำกับดูแลสื่อนั้นอยากขอให้สื่อกำกับดูแลกันเองได้หรือไม่ แต่สื่อไม่ปฏิเสธที่จะให้เข้ามาตรวจสอบเพียงแต่อยากให้เป็นองค์กรที่ชัดเจนว่าตรวจสอบในเรื่องใดและผู้ตรวจสอบต้องไม่มีอคติกับสื่อ มีวิจารณญาณเพียงพอในการตรวจสอบ รวมทั้งต้องเข้าใจกระบวนการทำงานของสื่อมวลชนด้วย”
………นายอดิศักดิ์ กล่าวต่ออีกว่า “การเรียกร้องภาระและหน้าที่ของสื่อไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะปัจจุบันไม่มีสื่อไหนที่แข็งแรง ซึ่งทำให้เห็นว่าควรพูดถึงการปฏิรูปสื่อเพื่อให้สื่อมีความเข้มแข็งมากกว่า สื่อจะเข้มแข็งได้ก็ต้องมีอิสรภาพทางการเงิน ซึ่งหมายถึงสื่อต้องไม่แบกภาวะเกินความจำเป็น ทำให้เป็นอุปสรรคในการประกอบการของสื่อ เมื่อสื่อไม่แข็งแรงและประกอบการต่อไม่ได้ผู้ผลิตเนื้อหาหลักที่น่าเชื่อถือจะหายไป นั่นหมายถึงข้อมูลข่าวสารที่ไม่น่าเชื่อถือจะเกิดขึ้นในสังคมมากมาย ซึ่งจะส่งผลอันตรายต่อสังคมได้ในระยะยาว”
……..ดร.นิพนธ์ นาคสมภพ รองประธานอนุกรรมการประสานงานเครือข่ายสื่อสารมวลชน กล่าวว่า “การแยกแยะสื่อแท้และสื่อเทียม โดยอ้างอิงจากงานวิจัยเรื่องการศึกษาความเป็นวิชาชีพขององค์กรข่าว สื่อแท้จะเป็นองค์กรข่าวที่มีมาตรฐานในเรื่องความรู้ นำเสนอความจริงความถูกต้อง ครบถ้วน รอบด้าน มีความรวดเร็วมีคุณค่าเข้าถึงประชาชนทุกระดับ เป็นที่สนใจรับรู้ มีส่วนร่วมเกิดประโยชน์สาธารณะและพัฒนาสังคม ที่ต้องมีความรับผิดชอบ เป็นวิชาชีพที่มีจรรยาบรรณในการนำเสนอข่าวสาร ส่วนสื่อเทียมจะถูกครอบงำโดยกลุ่มการเมืองหรือกลุ่มทุนเพื่อต้องการเผยแพร่ข่าวสารโดยเจตนาและการโฆษณาชวนเชื่อโดยโน้มน้าวเพื่อประโยชน์ส่วนตน ทั้งนี้เห็นว่าควรส่งเสริมให้สื่อมวลชนควบคุมกำกับดูแลกันเอง ประชาชนสามารถตรวจสอบสื่อได้ องค์กรสื่อไม่เหมือนองค์กรวิชาชีพอื่นที่ไม่จำเป็นต้องมีการเขียนระบุไว้ เคยมีคำพูดที่ระบุไว้ว่าถ้านำรัฐบาลเข้ามาจัดตั้งองค์กรข่าววิชาชีพหรือเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องจะไม่มีโอกาสประสบความสำเร็จนอกจากนี้ปัจจุบันประเทศไทยได้มีกฎหมายที่เกี่ยวกับสื่อมวลชนเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคในแต่ละด้านเป็นจำนวนมากอยู่แล้ว”
ด้าน นายสันตศักย์ จรูญงามพิเชษฐ์ และ นายพิเชียร อำนาจวรประเสริฐ ประธานคณะทำงานจัดกิจกรรมเครือข่ายสื่อ กล่าวถึงการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจและการเงิน การนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่ส่งเสริมด้านเศรษฐกิจความพยายามยกระดับมาตรฐานของสื่อมวลชนให้สูงขึ้นโดยเฉพาะในเรื่องความรับผิดชอบในการนำเสนอของสื่อมวลชน
….ส่วน พลเอก ดร.กิตติศักดิ์ รัฐประเสริฐ กล่าวถึงหลักธรรมาภิบาลเป็นหลักคุณธรรมเพื่อยกระดับสังคมเป็นทางออกของสังคมไทยเป็นการเดินตามรอยของพระราชาที่ปกครองบ้านเมืองด้วยทศพิธราชธรรม โดยสื่อต้องมีหน้าที่นำเสนอองค์ความรู้ไปสู่ประชาชน ช่วยกันปฏิรูปประเทศโดยใช้หลักธรรมาภิบาลตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560-2564) ซึ่งก่อนที่สื่อมวลชนจะสามารถนำเสนอองค์ความรู้ดังกล่าวได้นั้นต้องมีการปฏิรูปสื่อก่อน
———————————————————

เรียบเรียงโดย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
22 มิถุนายน 2560

แท็ก คำค้นหา