‘ปฏิรูปสื่อ’ฉบับ สปช.

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้พิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการปฏิรูปการสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยี สารสนเทศ  ในวาระที่ว่าด้วย การกำกับดูแลสื่อ  สิทธิเสรีภาพบนความรับผิดชอบ  และการป้องกันแทรกแซงสื่อ

 

ที่น่าสนใจคือในตอนท้ายของการเสนอรายงาน ได้มีการเสนอ “ร่างพระราชบัญญัติการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. …” โดยเนื้อหาของกฎหมายฉบับนี้ถูกจับตาไปที่การจัดตั้งสภาวิชาชีพ ที่มีหน้าที่ควบคุมสื่อ โดยใช้ชื่อว่า “สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ”

 

โดยอำนาจข้อหนึ่งท่ีกำหนดไว้ตามกฎหมายคือ การขึ้นทะเบียนสมาชิก การออกและเพิกถอนใบรับรองสมาชิก ซึ่งจุดนี้นี่เองที่ถูกมองว่า เป็นการขึ้นทะเบียน “สื่อมวลชน” และจะหมายถึงการเข้ามาควบคุมสื่อโดยภาครัฐ

 

เมื่อถามว่าทำไมจึงมองว่าเป็นการแทรกแซงโดยภาครัฐ ทั้งๆ ที่สภาวิชาชีพฯ นี้มาจากสัดส่วนผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนด้านต่างๆ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะองค์กรแห่งนี้มีเรื่องรายได้ ที่มาและผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง และรายได้ที่ว่านั้นส่วนหนึ่งมาจากภาครัฐ

 

จากการกำหนดตามกฎหมายระบุให้สภาวิชาชีพมีรายได้จาก 1.รัฐบาลจ่ายให้เป็นทุนประเดิม 2.เงินจากไทยพีบีเอส ที่ต้องนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินร้อยละห้า แต่ต้องไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท 3.เงินอุดหนุนเพิ่มเติมจากรัฐหากเงินที่มีไม่เพียงพอ 4.รายได้และผลประโยชน์จากการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของกรรมการและสภา วิชาชีพฯ และ 5.เงินและทรัพย์สินที่ีมีผู้บริจาคให้

 

เท่ากับว่าสภาวิชาชีพแห่งนี้จะไม่ได้เป็นสภาแห่งผู้ประกอบวิชาชีพอย่างเดียว หรือเป็นสภาวิชาชีพที่มีความเป็นอิสระ หากแต่เป็นสภาที่ต้องอยู่ภายใต้การบังคับของรัฐ อย่างน้อยก็ต้องมีการชี้แจงการใช้จ่ายเงินต่อสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน

 

ยิ่งไปกว่านั้นในกรณีที่เรื่องเงินอุดหนุนเพิ่มเติมจากภาครัฐทำให้มองว่า องค์กรแห่งนี้อาจจะไม่เป็นอิสระเพียงพอ

 

และด้วยความที่เป็นองค์กรที่อาจจะไม่เป็นอิสระ ซ้ำยังมีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง อย่างน้อยก็ปีละ 50 ล้านบาท อาจจะทำให้องค์กรที่กำลังจะเกิดขึ้นใหม่นี้ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ตั้งต้น

 

การออกและเพิกถอนใบรับรองสมาชิก ทำให้มี สปช.ค้านว่าการทำเช่นนี้ อาจทำให้เกิดองค์กรมาเฟียใหม่ขึ้นมาก็เป็นได้

 

สิ่งหนึ่งที่เหล่ากรรมาธิการอาจจะลืมไปคือ สภาพสื่อทุกวันนี้มิใช่สื่อเมื่อ 30-40 ปีที่แล้ว ที่มีสื่อหลักอยู่ไม่เท่าไหร่ หากแต่โลกทุกวันนี้ทุกคนเป็นสื่อได้ด้วยตัวเองอยู่แล้ว เพราะช่องทางที่พวกเขาจะทำสื่ออยู่ทุกที่ แม้กระทั่งในกำมืออย่างสมาร์ทโฟน

 

จริงๆ แล้วสื่อไม่จำเป็นต้องมีสิทธิเสรีภาพอะไรที่มากมายไปกว่าปกติ เพราะสิทธิเสรีภาพของสื่อนั้นเป็นสิทธิเสรีภาพเดียวกับประชาชนนั่นเอง ประชาชนย่อมมีสิทธิรับรู้ มีสิทธิเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร มีสิทธิในการแสดงความคิดเห็น ดังนั้น ประชาชนทุกคนจึงสามารถเป็นสื่อได้และสื่อทุกคนก็ใช้สิทธิเสรีภาพในฐานะ ประชาชนเช่นกัน

 

การแสดงความคิดเห็นหรือการนำเสนออะไรก็ล้วนแล้วแต่ มีความรับผิดชอบเช่นเดียวกับประชาชนอื่นทั้งสิ้น โดยมีกฎหมายปกติเช่นหมิ่นประมาทคอยควบคุมดูแลอยู่แล้ว อีกทั้งหากสื่อแขนงใดหรือสื่อมวลชนคนใดนำเสนอสิ่งที่ไม่ถูกต้องก็ย่อมจะถูก มาตรการทางสังคมลงโทษอยู่แล้ว

 

หากปิดกั้นก็เท่ากับปิดกั้นสิทธิเสรีภาพของประชาชนทั่วไปเช่นกัน การปิดกั้นสื่อหรือการจะห้ามคนทำสื่อพูดหรือคิดอะไรจึงมิใช่จุดมุ่งหมาย เพียงแค่ห้ามสื่อคิดหรือแสดงออกเท่านั้น แต่จุดหมายสูงสุดคือห้ามประชาชนใช้สิทธิในการคิด ห้ามประชาชนใช้สิทธิในการแสดงความเห็นนั่นเอง

 

แต่ร่างกฎหมายฉบับนี้ที่ออกมา ก็ไม่ถือว่าเหนือกว่าความคาดหมายแต่อย่างใด เพราะคาดการณ์กันได้แต่เมื่ออำนาจเปลี่ยนมือ มีการตั้ง สปช. โดยอ้างการปฏิรูป ก็พอเห็นเค้าลางอยู่แล้วว่าจริงๆ แล้วต้องการอะไรจากสื่อกันแน่ ต้องการอิสระ ต้องการมาตรการลงโทษทางสังคม หรือต้องการจำกัดสื่อกันแน่ โดยผ่านวาทกรรมเพื่อให้สื่อมีมาตรฐานกลางทางจริยธรรมและวาทกรรมสื่อแท้สื่อ เทียม เพื่อสร้างความชอบธรรมในการเข้าครอบคลุม

 

มิพักที่เพื่อนพ้องน้องพี่จะตักเตือนมิให้คนประกอบวิชาชีพสื่อเข้าไปร่วม สังฆกรรมครั้งนี้ แต่ก็มีผู้ที่กระหายอยากเข้าไปร่วมวงศ์ไพบูลย์ โดยอ้างว่าเพื่อเข้าไปปกป้องสิทธิเสรีภาพสื่อ แต่เมื่อวันเวลาผ่านไปแล้วทุกอย่างก็คงแจ่มชัดยิ่งขึ้นว่าสื่อที่เข้าไปนั้น สามารถปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้แค่ไหน

 

หรือสุดท้ายมีค่าเพียงเป็นตรายางประทับกฎหมายที่ถูกเสนอเพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพ และอ้างว่า “พวกคุณก็เข้ามาร่วมแล้วนะ”

 

ที่มา : คมชัดลึกออนไลน์ วันพุธที่ 22 กรกฎาคม 2558

แท็ก คำค้นหา