ทางเลือกของการปฏิรูปสื่อให้มีความรับผิดชอบ (บทความ)

โดย : ผศ.ดร.พิรงรอง รามสูต รณะนันทน์ วันที่ 10 มีนาคม 2558, 01:00

 

วันที่ 5 มีนาคมที่ผ่านมาเป็น “วันนักข่าว” ซึ่งเป็นภาคส่วนของสื่อมวลชนที่โดดเด่นที่สุดในแง่ของการเป็นเป้าหมายสำหรับ “การปฏิรูปสื่อ” อันเป็นวาระแห่งชาติในขณะนี้

 

หากจะถามว่า ทำไมนักข่าว หรือ สื่อประเภทวารสารศาสตร์ จึงถูกคาดหวังให้ถูกปฏิรูปมากที่สุด ทั้งๆ ที่ไม่ใช่สื่อประเภทเดียวที่ดูจะมีปัญหา ก็คงต้องยอมรับว่า เพราะสื่อที่ผลิตเนื้อหาประเภทอื่น ไม่ว่าจะเป็น สื่อบันเทิง สื่อโฆษณา ไม่ได้ส่งผลต่อการรับรู้ความเป็นไปในสังคม หรือ ต่อมติสาธารณะ (หมายถึง ภาพรวมของทัศนคติ ความเชื่อ และความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับประเด็น/เรื่องใดเรื่องหนึ่ง) มากเท่ากับ สื่อวารสารศาสตร์ซึ่งมีหน้าที่หลักในการนำเสนอข่าวสารและข้อมูลอันมีพื้นฐานมาจากข้อเท็จจริง

 

ยิ่งไปกว่านั้น สื่อวารสารศาสตร์ยังเป็นสถาบันหลักที่ถูกคาดหวังให้สร้างประโยชน์แก่สาธารณะด้วยการช่วยวางรากฐานที่สำคัญของประชาธิปไตย ผ่านการสร้างพลเมืองที่มีความรู้ด้านข่าวสารเพื่อจะได้มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายสาธารณะและการร่วมเฝ้าระวังการทำงานของผู้ใช้อำนาจรัฐและผู้ที่มีอิทธิพลในสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ

 

ด้วยเหตุนี้ เมื่อสังคมเกิดวิกฤติการณ์การเมือง “สงครามเสื้อสี” อย่างที่เป็นมาในช่วงเกือบๆ หนึ่งทศวรรษก่อนจะเกิดเหตุการณ์รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม ปีที่แล้ว สื่อการเมืองเสื้อสีต่างๆ ซึ่งไม่ได้มุ่งทำหน้าที่ใดๆ ดังกล่าวไปข้างต้น หากแต่ดำรงอยู่และมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อสนองวาระทางการเมืองของกลุ่มตน จึงถูกชี้นิ้วว่าเป็นสาเหตุสำคัญของการแบ่งแยกและแตกร้าวในสังคมไทย เนื่องจากมีบทบาทหลักในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร และโฆษณาชวนเชื่อทางการเมือง ไปจนถึงประทุษวาจาที่ทำร้ายฝ่ายตรงข้ามและทำลายโอกาสของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติของคนในสังคม

 

และสื่อเหล่านี้เองที่สร้าง “ภาพประทับ” เกี่ยวกับสื่อสารมวลชนในการรับรู้ของประชาชนทั่วไป ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง สื่อเหล่านี้เป็นสื่อใหม่ที่มีขนาดเล็กกว่าและเน้นสื่อสารเฉพาะกลุ่มที่มีความสนใจร่วมกันเท่านั้น ไม่ใช่สื่อมวลชนตามความหมายดั้งเดิมมา

 

เมื่อเกิดการปฏิรูปสื่อหลังการรัฐประหารโดยคสช. คณะกรรมาธิการปฏิรูปสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศได้ถูกจัดตั้งขึ้น ในสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) โดยกำหนดสามวาระหลักของการปฏิรูปคือ 1) การปฏิรูปด้านเสรีภาพสื่อบนความรับผิดชอบ 2) การปฏิรูปด้านการกำกับดูแลสื่อ และ 3) การปฏิรูปด้านการป้องกันการแทรกแซงสื่อ และได้มีการตั้งคณะอนุกรรมาธิการต่างๆ ขึ้นมาเพื่อรับผิดชอบศึกษา ประมวลข้อมูล ออกแบบกลไกและกระบวนการปฏิรูปตามวาระดังกล่าวข้างต้น

 

ในส่วนของการปฏิรูปด้านเสรีภาพสื่อบนความรับผิดชอบคณะอนุกรรมาธิการปฏิรูป สิทธิเสรีภาพ จริยธรรม และ การกำกับดูแลกันเองของสื่อได้ทำการศึกษาข้อมูลการวิจัยและเอกสารที่เกี่ยวข้องตลอดจัดการประชุมกลุ่มย่อยกับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งในและนอกวงการสื่อมวลชน เพื่อดูความเป็นไปได้ของโมเดลต่างๆ ในการปฏิรูป

 

โมเดลแรกที่ได้มีการหยิบยกขึ้นมาเป็นทางเลือกสำหรับปฏิรูปคนทำสื่อ (ซึ่งตามขอบเขตที่กำหนดไว้จะครอบคลุมเฉพาะ “สื่อวิชาชีพ” และไม่ครอบคลุมสื่อนอกวิชาชีพหมายถึง “บุคคลทั่วไปที่เข้าไปสื่อสารออนไลน์ ซึ่งมีมาตรการกำกับดูแลโดยกฎหมายฉบับต่างๆ อยู่แล้ว”) คือ การจัดให้มีการออกใบอนุญาตให้ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ ในรูปแบบเดียวกับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมของแพทย์ หรือ ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทนายความ กล่าวคือจะต้องมีการกำหนดคุณสมบัติที่ชัดเจนของผู้ขอจดทะเบียนและรับใบอนุญาต ตลอดจนมีขั้นตอนของการคัดกรองที่เป็นระบบอันยุติธรรมและโปร่งใส เช่นการสอบวัดความรู้ หรือคุณสมบัติ ก่อนเข้าสู่การเป็นผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ

 

นอกจากนี้ ในทางปฏิบัติ การจดทะเบียนและรับใบอนุญาตดังกล่าวต้องมีการรองรับตามกฎหมาย อย่างของวิชาชีพแพทย์ก็จะมีเป็นบทบัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 หรือของวิชาชีพทนายความก็จะอยู่ใน พ.ร.บ.ทนายความ พ.ศ.2528 เพื่อให้เกิดผลบังคับใช้ในเรื่องของการคัดกรองบุคคลเข้าสู่วิชาชีพ ตลอดจนการกำกับดูแลพฤติกรรมของผู้ได้รับใบอนุญาตไม่ให้ขัดต่อข้อบังคับจริยธรรมหรือจรรยาบรรณวิชาชีพ โดยมีองค์กรวิชาชีพคือ แพทยสภา และสภาทนายความเป็นผู้รับผิดชอบผ่านอำนาจในการรับเรื่องราวร้องเรียน ตรวจสอบ วินิจฉัย และลงมติพักใช้ หรือเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเป็นกลไกสำคัญในการบังคับใช้กฎ

 

จากที่ได้รับฟังหลายฝ่ายนอกวงการสื่อ โมเดลใบอนุญาตดูจะเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ เพราะสามารถคัดกรองผู้ที่จะทำหน้าที่สื่อมวลชนได้ตั้งแต่ต้นสาย และเป็นการผูกโยงภาระการรับผิดของผู้ประกอบวิชาชีพกับโอกาสในการทำมาหากินโดยตรงผู้ใหญ่ในวงการศึกษาด้านรัฐศาสตร์ท่านหนึ่งออกปากกับผู้เขียนถึงเรื่องนี้ว่า

 

“สื่อมีความสำคัญมากถึงมากที่สุดในสังคมยุคใหม่ ถ้าปล่อยให้ทำกันอย่าง Laisser-faire (หมายถึงให้มีเสรีภาพอย่างเต็มที่ และมีข้อจำกัดน้อยถึงน้อยที่สุด) อย่างที่เป็นมาก็จะทำให้สังคมวุ่นวายยุ่งเหยิงไม่สิ้นสุด ควรจะต้องหาทางคัดกรองคนมาทำหน้าที่ตรงนี้ตั้งแต่ต้นสาย และมีระบบตรวจสอบไปตลอดสายจะดีที่สุด”

 

ตามที่ได้มีการจัดสนทนากลุ่มกับตัวแทนสื่อในระดับภูมิภาค โดยเฉพาะสื่อต่างจังหวัด ก็ดูจะสนับสนุนแนวคิดเรื่องใบอนุญาตเพราะหลายคนมองว่าเป็นการช่วยสร้างฐานที่เท่าเทียมมากขึ้นระหว่างสื่อต่างจังหวัดกับสื่อของส่วนกลางในด้านต่างๆ อีกทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสให้สื่อภูมิภาคได้รับการดูแลหรือการเสริมศักยภาพจากองค์กรวิชาชีพมากขึ้นด้วย

 

อย่างไรก็ดี โมเดลนี้ไม่เป็นที่ถูกใจสื่อกระแสหลักที่มีบทบาทอยู่ในองค์กรวิชาชีพสื่อด้านวารสารศาสตร์อย่าง สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยเท่าใดนัก เนื่องจากหวั่นเกรงกันว่า การสร้างระบบจดทะเบียนและใบอนุญาตจะเป็นการเปิดช่องให้อำนาจรัฐ สามารถเข้ามาครอบงำการทำงานของสื่อ และจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกของสื่อ โดยเฉพาะในแง่ที่เป็นการไปตรวจสอบอำนาจรัฐและความไม่ชอบมาพากลทางนโยบายใดๆ

 

จริงอยู่ว่า ในประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยและถูกมองว่ามีแบบแผนปฏิบัติที่ดี อย่างอังกฤษ หรือ สหรัฐอเมริกา การจดทะเบียนและออกใบอนุญาตสื่อเป็นสิ่งที่ไม่เห็นประพฤติปฏิบัติกัน หากจะเน้นในเรื่องระบบกำกับดูแลตนเองของสื่อประกอบกับการกำกับดูแลโดยองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระในส่วนของสื่อวิทยุและโทรทัศน์ ระบบใบอนุญาตนักวิชาชีพสื่อจะมีให้เห็นก็เฉพาะในสังคมเผด็จการหรือประเทศประชาธิปไตยแบบอำนาจนิยมเท่านั้น ข้อโต้เถียงขององค์กรวิชาชีพสื่อกระแสหลักจึงค่อนข้างจะมีหลักฐานสนับสนุนชัดเจน

 

แต่ในขณะเดียวกัน เราก็ไม่สามารถมองข้ามความเป็นจริงในสังคมไทย ที่องค์กรวิชาชีพสื่อแนวโน้มจะทำหน้าที่เพื่อพิทักษ์ประโยชน์ของสื่อเป็นหลักและผลประโยชน์ของสาธารณชนที่ได้รับผลกระทบจากสื่อเป็นรอง หรือ ความอ่อนด้อยไร้ประสิทธิภาพขององค์กรกำกับดูแลของรัฐอย่าง กสทช.ในการจัดการกับสื่อการเมือง (ในช่วงก่อนที่จะมีคสช.มาคอยชี้แนะสั่งการ) ไปได้

 

และทั้งหมดนี้ ปัญหาดูเหมือนจะอยู่ที่ “คน” และ “สำนึก” ของคนที่เกี่ยวข้องทั้งในองค์กรเหล่านี้และในองค์กรสื่อทั้งที่เป็นเจ้าของ ผู้บริหารและนักวิชาชีพที่ไม่ได้พยายามทำให้บรรลุผลในแง่ของการช่วยรังสรรค์สื่อที่มีความรับผิดชอบมากกว่าจะอยู่ที่สาระสำคัญของกฎหมาย จรรยาบรรณวิชาชีพ หรือแม้แต่กลไกการบังคับใช้กฎ

 

ขณะนี้ ทางคณะอนุกรรมาธิการปฏิรูป สิทธิเสรีภาพ จริยธรรม และ การกำกับดูแลกันเองของสื่อใน สปช.ได้ละโมเดลเรื่องใบอนุญาตการประกอบวิชาชีพสื่อไปโดยสิ้นเชิงแล้ว และกำลังเสนอโมเดลของการสร้างองค์กรผู้ตรวจการสื่อ (media ombudsman) ในระดับชาติเป็นองค์กรร่มใหญ่ที่องค์กรวิชาชีพของสื่อต่างๆ จะต้องเป็นสมาชิก เพื่อสร้างการยึดโยงในการกำกับดูแล ไปจนถึงตัวนักวิชาชีพที่สังกัดองค์กรนั้นๆ รวมไปถึงการกำหนดให้มีหน้าที่ในด้านการส่งเสริมสวัสดิภาพ การให้ความรู้แก่นักวิชาชีพสื่อ และการสร้างการรู้เท่าทันสื่อให้กับสังคม เพื่อจะได้ช่วยตรวจสอบการทำงานของสื่ออีกแรงหนึ่ง

 

ขอบเขตหน้าที่ และอำนาจขององค์กรผู้ตรวจการสื่อที่ว่าทำให้นึกไปถึง ซูเปอร์ฮีโร่ที่จะมากอบกู้โลก เพราะน่าจะมีภาระหนักอึ้งเอาการ โดยเฉพาะในภาวะที่ภูมิทัศน์สื่อเปลี่ยนแปลงไปจนหลากหลายและซับซ้อนมากอย่างที่เป็นอยู่

 

คงต้องรอดูกันต่อไปว่าหน้าตาของซูเปอร์ฮีโร่นี้จะออกมาเป็นแบบใด
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ  www.bangkokbiznews.com

แท็ก คำค้นหา